ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“สาธารณกุศล” ในสังคมสมัยใหม่ช่วยเหลือและสร้างสิ่งดีๆ ต่อสมาชิกในชุมชนได้มากมาย บนเส้นทางของกลุ่มคนที่รวมตัวกันทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ในประวัติศาสตร์ไทยมีบันทึกเกี่ยวกับกลุ่มป่อเต็กตึ๊ง มูลนิธิซึ่งดำเนินงานสาธารณกุศลบนแผ่นดินไทยปรากฏอยู่ด้วย ไม่เพียงแต่ประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่อย่างน้อยเสี้ยวหนึ่งของกิจกรรมนี้สร้างแรงบันดาลใจสู่คนในสังคม และต่อยอดกลายมาเป็นกำลังในการสานต่อเจตนารมณ์แห่งสาธารณกุศล
ก่อนที่จะเอ่ยถึงมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง คงต้องกล่าวก่อนว่าปัจจุบันมีมูลนิธิที่ดำเนินงานด้านสาธารณกุศลมากมาย กลุ่มที่ทำกิจกรรมเพื่อ “การกุศล” อย่างแท้จริง ล้วนส่งผลดีต่อเพื่อนร่วมชุมชน ในที่นี้มุ่งเป้าไปที่การก่อตัวของกลุ่มมูลนิธิที่ปรากฏในเอกสารราชการไทยและมีความเป็นมายาวนานอย่างมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง อันเป็นกลุ่มที่ส่งอิทธิพลต่อสังคมโดยรวม ไม่เพียงแค่เชิงผลจากกิจกรรม แต่ยังส่งผลต่อเชิงแนวคิด ดังเช่นคำบอกเล่าของบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ นักแสดงและคนเบื้องหลังที่คลุกคลีในวงการบันเทิงมาอย่างยาวนานเคยเอ่ยถึง
บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ เป็นคนในวงการบันเทิงอีกรายที่มักทำกิจกรรมด้านการกุศล การให้สัมภาษณ์กับสื่อหลายแห่งเกี่ยวกับที่มาที่ไปของการเข้าร่วมกิจกรรม บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ เล่าว่า ประสบการณ์ในวัยเด็กซึ่งมักพักอยู่ใกล้โรงเจในบ้านเกิด และพบเห็นกิจกรรมเก็บศพไร้ญาติประจำปี อีกทั้งยังพบเห็นมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง (บางแห่งอ้างอิงว่า บิณฑ์ เอ่ยถึงมูลนิธิร่วมกตัญญูด้วย) ซึ่งทำกิจกรรมแจกอุปกรณ์ด้านการศึกษาแก่เด็กในจังหวัดต่างๆ บิณฑ์ เล่าว่า เคยได้รับของแจกในโรงเรียนด้วย ภาพจำและสิ่งที่สัมผัสในวัยเด็กมีผลต่อการตัดสินใจทำกิจกรรมช่วยเหลือคนอื่นในปัจจุบัน (Sanook, 2559 และ The People, 2562)
สำหรับมูลนิธิด้านสาธารณกุศลในไทยที่มีความเป็นมายาวนานอย่างมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ต้องย้อนกลับไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน ซึ่งติดต่อด้านการค้ามาอย่างยาวนาน
ความสัมพันธ์ไทย-จีน
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ด้านการค้าแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมนั้น ผู้สืบค้นทางประวัติศาสตร์เชื่อว่า บ้านเมืองในสุวรรณภูมิติดต่อกับฮั่นไม่ต่ำกว่า 2,000 ปี มาแล้ว ส่วนหลักฐานด้านการค้าแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมพบว่ามีการค้าขายแลกเปลี่ยนในสมัยสุโขทัย ตรงกับปลายราชวงศ์ซ่ง (ประมาณ พ.ศ. 1503-1822) พบการมาของคณะทูตจีนเมื่อ พ.ศ. 1825 (สกินเนอร์, 2548) และสัมพันธ์สืบเนื่องต่อมาถึงราชวงศ์หยวน (พ.ศ. 1822-1911) (กรรณิการ์ ตันประเสริฐ, แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย และคณะ, 2545)
นับตั้งแต่นั้นมาก็เริ่มปรากฏชาวจีนอพยพมาตั้งถิ่นฐานในดินแดนแถบนี้เรื่อยมา หลักฐานปรากฏชัดตั้งแต่สมัยอยุธยา กระทั่งถึงต้นรัตนโกสินทร์ ในบรรดาพ่อค้าชาวจีนที่มาตั้งรกรากนี้มี “พ่อค้าจีนธรรมรายหนึ่ง” เชิญรูปเคารพ “ไต้ฮงกง” มายังสยาม แล้วจึงเริ่มมีกิจกรรมเก็บศพไร้ญาติ นั่นจึงเป็นการเริ่มต้นของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ซึ่งก่อตั้งโดยชาวจีนในสมัยรัชกาลที่ 5
ความเชื่อเรื่องความตายสู่สุสานสาธารณะ
แม้ว่าชาวจีนส่วนหนึ่งจะประสบความสำเร็จ สามารถยกระดับสถานะของตัวเองมาเป็นชนชั้นแนวหน้าได้ แต่บางส่วนก็ไม่สำเร็จดังหมายต้องเดินทางกลับจีน หรือบางรายที่ไม่มีโอกาสก่อร่างสร้างตัว บางคนจบชีวิตโดยไร้ญาติขาดมิตร ชาวจีนเชื่อกันว่า การตายโดยไม่มีหลุมฝังศพจะทำให้จิตวิญญาณไม่เป็นสุข ประกอบกับชาวจีนไม่นิยมเผาศพ เพราะถือว่าร่างกายเป็นของที่บรรพบุรุษให้มา ต้องรักษาให้ดีที่สุด จึงเกิดสุสานสาธารณะที่เรียกว่า “หงี่ซัว” ที่เชิงเขา ถือเป็นที่พึ่งสุดท้ายยามยากของชาวจีนอพยพ
หากไม่ลงเอยที่สุดท้าย สภาพร่างที่เป็นศพไร้ญาติอาจเคราะห์ไม่ดี ถูกทิ้งไว้ 2-3 วัน ดังบันทึกของขุนวิจิตรมาตรา (กาญจนาคพันธุ์) ที่เขียนถึงสภาพบ้านเมืองสมัยปลายรัชกาลที่ 5 ว่า
“…ข้างกำแพงวัดมหาธาตุมีต้นมะขามใหญ่มากต้นหนึ่ง มีคนนอนตายอยู่โคนต้นมะขามถึง 2-3 วัน จนขึ้นอืดไม่เห็นมีใครมาจัดการอย่างไร (คงจะเป็นคนขอทานหรืออย่างไรไม่ทราบ) ข้าพเจ้าออกไปดูทุกวันจนกระทั่งศพหายไป แสดงว่าพลตระเวณ หรือกรมสุขาภิบาลอะไรยังล้าหลังเหลือเกิน”
“หงี่ซัว” ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมในช่วง พ.ศ. 2442-2443 โดยชาวจีนเรี่ยไรเงินซื้อที่นาแถบตำบลวัดดอน และตำบลทุ่งคอกกระบือ ทางด้านใต้ของชุมชนจีนริมแม่น้ำเจ้าพระยาในอำเภอบ้านทวายเพื่อทำป่าช้า (ทั้งสองตำบลในสมัยใหม่อยู่ในอำเภอยานนาวา อันมีที่ตั้งสุสานจีนหลายแห่ง)
ในหนังสือ “ป่อเต็กตึ๊ง บนเส้นทางประวัติศาสตร์สังคมไทย” เล่ากระบวนการช่วยเหลือผู้ตายโดยไร้ญาติว่า การช่วยเหลือเป็นระบบมากขึ้นภายหลังพ่อค้าชาวจีน 12 คนร่วมตั้ง “คณะเก็บศพไต้ฮงกง” เมื่อ พ.ศ. 2452 เก็บศพไร้ญาติโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ คณะเก็บศพฯ นี้เองเป็นรากฐานของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ที่อยู่คู่สังคมไทยมายาวนานกว่า 90 ปี
ไต้ฮงกง
สำหรับประวัติของไต้ฮงกง ปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุอำเภอเตี้ยเอี้ย (เฉาหยัง) เมืองแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง แต่ก็ต้องยอมรับประวัติส่วนหนึ่งเป็นการบอกเล่ากันต่อมา ประวัติส่วนหนึ่งเล่าว่า ไต้ฮงกง เกิดในเมืองเวินโจว เมื่อ พ.ศ. 1582 เดิมชื่อหลิงเอ้อ เกิดในครอบครัวฐานะดี สอบได้เป็นบัณฑิตระดับจิ้นซื่อ เข้ารับราชการเป็นนายอำเภอเมื่ออายุ 54 ปี แต่ออกจากราชการเพราะเบื่อหน่ายการแก่งแย่งและสภาพผันแปรทางการเมือง และมาอุปสมบทเผยแพร่ธรรมะในมณฑลฮกเกี้ยนอย่างยาวนาน
ไต้ฮงกงปฏิบัติธรรมและยังจัดการเก็บศพผู้ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติในดินแดนทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน และตั้งศาลาทานรักษาโรค จัดหาอาหารและสิ่งของให้ผู้ยากไร้ ชักชวนชาวบ้านและศิษย์ให้ประกอบกุศล จนชาวจีนทางตะวันออกเฉียงใต้เลื่อมใสศรัทธาสืบต่อกันมา
ไต้ฮงกงในไทย
ความเลื่อมใสในไต้ฮงกงเข้ามาในไทยอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรก เมื่อนายเบ๊ยุ่น พ่อค้าชาวจีนโพ้นทะเลจากฮั่วเพ้ง อัญเชิญรูปจำลองไต้ฮงกงมากรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2439 ในสมัยรัชกาลที่ 5 สันนิษฐานว่าอัญเชิญมาทางเรือกลไฟจากท่าเรือซัวเถา อันเป็นวิธีเดินทางของพ่อค้าส่วนใหญ่ นายเบ๊ยุ่น อัญเชิญไต้ฮงกงมาที่ร้านค้าของเขาชื่อร้านกระจกย่งชุ้นเชียงแถววัดเลียบ หลังจากนั้นก็เริ่มแผ่ขยายความเลื่อมใสมายังชาวจีนในกรุงเทพฯ
ช่วงเวลา 3-4 ปี (พ.ศ. 2442-2443) หลังจากการอัญเชิญพระพุทธรูปไต้ฮงกงมาบูชาในสยาม ชาวจีนเริ่มจัดซื้อที่นาที่ตำบลวัดดอนและวัดทุ่งคอกกระบือในอำเภอบ้านทวายเพื่อทำป่าช้าสาธารณะ โดยมีการเรี่ยไรเงิน ปรากฏผู้บริจาค 710 ราย รวมทั้งหมด 74,199 บาท (สมัยนั้น 1 ตำลึงใช้เป็นค่าภาษีผูกปี้ทดแทนแรงงานได้ 3 ปี)
ช่วงเวลานั้นมีป่าช้าขนาดใหญ่ไม่กี่แห่ง แต่มีการฝังศพมากกว่าปีละ 800 ศพ กระทั่งใน พ.ศ. 2452 พ่อค้าชาวจีน 12 คนรวมตัวกัน (ปรากฏนามบุคคลหรือยี่ห้อตามเอกสารในหอจดหมายเหตุด้วย) เรี่ยไรจัดตั้งคณะเก็บศพไม่มีญาติ ทำสาธารณประโยชน์ในชื่อกลุ่ม “คณะเก็บศพไต้ฮงกง” กลายเป็นรูปธรรมของการสาธารณกุศลที่สำคัญอีกแห่งของไทย ปรากฏการจ้างพนักงานนำโลงกับเครื่องนุ่งห่มสำหรับศพ ไปหามศพมาจัดการฝัง เรียกได้ว่าเป็นการสอนต่อเจตนารมณ์ของไต้ฮงกง และคณะฯ นี้เองกลายเป็นจุดเริ่มต้นของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งแห่งประเทศไทย
พ่อค้าชาวจีน 12 คน สู่คณะเก็บศพไต้ฮงกง
สิ่งที่น่าสนใจของพ่อค้าชาวจีน 12 รายนี้ บางรายเป็นที่รู้จักและเป็นต้นตระกูลบุคคลสำคัญหลายวงการในปัจจุบัน อาทิ พระอนุวัตร์ราชนิยม (ยี่กอฮง) ต้นตระกูลเตชะวณิช, ตันลิบบ๊วย บุตรชายของตันฉื่อฮ้วง บรรพบุรุษต้นตระกูลหวั่งหลี, อึ๊งยุกหลง บุตรชายของอึ้งเหมี่ยวเหงี่ยน บรรพบุรุษต้นตระกูลล่ำซำ
งานวิจัยเจาะลึกเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของพ่อค้า 12 รายนี้ฉายภาพเพิ่มเติมว่า เป็นชาวจีนแต้จิ๋ว 10 คน จีนแคะ 1 คน และจีนฮกเกี้ยน 1 คน ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าจีนอิสระยุคคลื่นอพยพในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ไม่ได้เป็นกลุ่มนายทุนเจ้าภาษีที่สืบทอดฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมจากยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น กล่าวได้ว่า เป็นกลุ่มพ่อค้าที่ต่อสู้ก่อร่างสร้างตัวจากชนชั้นแรงงานเป็นส่วนใหญ่ ย่อมเข้าใจสภาพพื้นฐานในสังคมได้ดี
คณะเก็บศพฯ ที่ก่อตั้งในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ดำเนินไปอย่างราบรื่น 3 ปีแรกเก็บศพไปฝังที่สุสานสาธารณะในซอยวัดดอนประมาณปีละ 2,250 ศพ ค่าใช้จ่ายประมาณปีละ 15,000 บาท โดยส่วนใหญ่ได้มาจากการเรี่ยไรพ่อค้า ใน พ.ศ. 2455 คณะเก็บศพฯ ประสบภาวะเงินไม่พอใช้จ่าย สืบเนื่องมาจากเศรษฐกิจไม่ดี ฝนไม่ตกตามฤดูกาล คณะไต้ฮงกง จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาขอรับพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ หนังสือถึงเจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาล ลงวันที่ 16 กรกฎาคม ร.ศ. 131 (พ.ศ. 2455)
เจ้าพระยายมราชกราบบังคมทูลถวายความเห็นใจความตอนหนึ่งว่า
“…การที่คณะไต้ฮงกงได้จัดทำขึ้นนี้ก็เปนสาธารณะกุศลพิเศษส่วนหนึ่ง แลเปนประโยชน์แก่การศุขาภิบาลสำหรับพระนครด้วยมากอยู่ ถ้าจะเทียบกับโรงพยาบาลเนอซิงโฮมเซนหลุยก็หนักกว่า สมควรที่จะได้รับพระราชทานพระมหากรุณาให้ศุขาภิบาลออกเงินช่วยอุดหนุนคณะนี้สักปีละ 2,000 บาท พอให้เปนกำลัง อย่างที่ได้พระราชทานโรงพยาบาลเนอซิงโฮมอยู่ปีละ 960 บาทนั้น แต่เกรงว่าเงินในกรมศุขาภิบาลปีนี้อยู่ในอาการคับแคบจะไม่พอจ่ายรายการประจำ ถ้าจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เพิ่มงบประมาณเป็นพิเศษเฉภาะปีนี้ได้ก็จะเปนการสดวก…”
คณะผู้จัดทำวิจัยบรรยายว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเงินดังกล่าวแก่คณะเก็บศพไต้ฮงกง ทำให้สามารถดำเนินกิจการต่อ ปรากฏพระราชหัตถเลขาว่า
“ดีแล้ว อนุญาต”
การดำเนินงานในช่วงยุคแรกอยู่ภายใต้การดูแลของเบ๊ง่วนหลี และสืบทอดมาถึงรุ่นลูกคือเบ๊กุ่ยคิม การเก็บศพระยะแรกใช้การหาม ไม่กี่ปีก็ถึงจะใช้รถลาก แต่เป็นคนละแบบกับรถลากที่คนกรุงเทพฯ นิยม รถลากเก็บศพสมัยก่อนเป็นรถไม้ ใช้ล้อไม้ขนาดใหญ่ มีช่องพอดีวางศพ คนข้างหน้าลาก 1 คน คนข้างหลังใช้ผลักอีก 1 คน
เวลาต่อมา ปลายทศวรรษ 2470 จากการบอกเล่าของศิลปินนักดนตรีเก่าแก่ที่เกิดในย่านสี่พระยา บอกเล่าว่า เมื่อคนตายไม่มีญาติ มักบอกกันให้รถป๋องแป๋งมารับศพ จะใช้ตะโกนกัน และรถมาเร็วด้วย
“ป๋องแป๋งเขาจะเคาะกลองใบเล็กๆ ดังโป๋งปั๋งๆๆ เหมือนอย่างเจ๊กย้อมผ้า…แต่ว่าเจ๊กย้อมผ้าเขามีกลองอีกอย่าง …ชาวบ้านเห็นคนตายก็จะบอกว่าตายอยู่ตรงนั้น คือเป็นสื่อตลอดทาง คือหาง่าย เดี๋ยวนี้บ้านอยู่ติดกันยังไม่รู้จักเลยว่าบ้านไหน…”
เสียง “ป๋องแป๋ง” ในยุคนั้นเปรียบเสมือนเสียงไซเรน ซึ่งนายสมาน (ใหญ่) นภายน ผู้เล่าบอกไว้ว่า คำว่า “ป่อเต็กตึ๊ง” มาทีหลังคำว่า “ป๋องแป๋ง” เสียงเคาะนี้ยังมีความหมาย นายวัย วรรธนะกุล เล่าว่า “การเคาะเช่นนี้เป็นการภาวนา เหมือนกับการเคาะและภาวนาในพิธีกรรมต่างๆ แบบจีนอย่างที่เคยเห็นกัน เขาภาวนาแผ่กุศลให้ศพไร้ญาติ…”
สู่ป่อเต็กตึ๊ง
ใน พ.ศ. 2480 คณะเก็บศพฯ ปรับปรุงวัตถุประสงค์และจัดระเบียบข้อบังคับ พร้อมขออนุญาตจัดตั้งเป็นมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งใน พ.ศ. 2480 อันทำให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม กลายเป็นองค์กรที่ทำงานสังคมสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ยากไร้กว้างขวางยิ่งขึ้น และแบ่งเบาภาระราชการ ทั้งในช่วงที่บ้านเมืองประสบภัย อาทิ สงครามโลก และสงครามเย็น
(ในปีที่จัดตั้งคณะเก็บศพฯ มีการซื้อที่ดินถนนพลับพลาไชย และได้สร้างศาลเจ้าในที่ดินผืนนี้ ใช้ชื่อว่าศาลป่อเต็กตึ๊ง อัญเชิญพระพุทธรูปไต้ฮงกงที่นายเบ๊ยุ่นอัญเชิญมาจากจีน มาประดิษฐานเป็นพระประธาน ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ คณะกรรมการมูลนิธิสมัยที่ 1 เล่าความหมายของจารึกชื่อบนประตูทางเข้าว่า “ป่อเต็กตึ๊ง” ว่า ป่อเต็ก แปลว่า การสนองคุณ ตึ๊ง แปลว่า ศาลา หมายถึงสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกพระคุณท่าน)
เหตุการณ์ในช่วงทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา เกิดปัญหาทางสังคมและความผกผันทางการเมือง อันส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-จีนหลายครั้ง แต่มูลนิธิฯ ยังยืนหยัดเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือคนในสังคม บรรเทาสาธารณภัย ครั้งหนึ่งที่เกิดพายุโซนร้อนแฮเรียตเข้าทางภาคใต้ เมื่อ พ.ศ. 2505 สร้างความเสียหายรุนแรงใน 12 จังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะแหลมตะลุมพุก ผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายครั้งนั้นนับพันราย มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งร่วมกับมูลนิธิต่างๆ ในท้องถิ่น เก็บและฝังศพผู้เสียชีวิต โดยฝังเป็นหมู่ หลุมละ 6-7 ศพ เนื่องจากพื้นที่มีจำกัด เมื่อเหตุการณ์ผ่านแล้วจึงขุดหลุมชั่วคราวขึ้นมาประกอบพิธีทางศาสนา
ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร มูลนิธิฯ พัฒนาเครือข่ายและปรับปรุงการดำเนินงานมาตามลำดับ มีตั้งแต่การจัดตั้งโรงพยาบาลหัวเฉียว และสถานศึกษาคือวิทยาลัยหัวเฉียว เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่มูลนิธิฯ เสด็จพระราชดำเนินมามูลนิธิป่อเต็กตึ๊งหลายครั้ง ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2489 ตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ครั้งต่อมาใน พ.ศ. 2522 เสด็จฯ ทรงเปิดอาคาร 22 ชั้น โรงพยาบาลหัวเฉียว และ พ.ศ. 2537 เสด็จฯ พิธีเฉลิมพระเกียรติและสถาปนามหาวิทยาลัย พระราชทานนามมหาวิทยาลัยว่า “มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ”
เส้นทางจากจุดเริ่มต้นมาถึงการปรับปรุงเป็นมูลนิธิฯ สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยเฉพาะแง่ความสัมพันธ์ไทยจีน ซึ่งช่วยเพิ่มความใกล้ชิดท่ามกลางความทุกข์ยากสืบต่อกันมา และสอดคล้องกับหลักคุณธรรม 8 ประการที่ชาวจีนอบรมลูกหลาน คือ
ตง – ซื่อสัตย์สุจริต จงรักภักดี
ห่าว – กตัญญู
หยิ่ง – เมตตา กรุณา
ไอ่ – รัก
ชิ่ง – สัจจะ รักษาคำมั่นสัญญา
หงี – สัจธรรม ความเป็นธรรม
ฮั่ว – อ่อนโยน สมัครสมาน สามัคคี
เพ้ง – เสมอภาค สงบ
อ่านเพิ่มเติม :
- ค้นรากเหตุปัจจัย “จีนแต้จิ๋ว” อพยพมาไทยมหาศาล สู่กำเนิด “เจียรวนนท์” ที่ยิ่งใหญ่ภายหลัง
- ชาวจีนในไทยมาจากไหน เปิดประวัติการอพยพยุคแรกเริ่ม ถึงการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
กรรณิการ์ ตันประเสริฐ, แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย และคณะ. ป่อเต็กตึ๊ง บนเส้นทางประวัติศาสตร์สังคมไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน, 2545
จี. วิลเลียม สกินเนอร์. สังคมจีนในไทย ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์. แปลโดย พรรณี ฉัตรพลรักษ์, ภรณี กาญจนัษฐิติ และคณะ. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2548
“‘บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์’ 30 ปีกับชีวิตที่อุทิศเพื่อเพื่อนมนุษย์”. Sanook. ออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 19 มีนาคม พ.ศ. 2559. เข้าถึง 17 กันยายน พ.ศ. 2562. <https://www.sanook.com/men/12781/>.
สหธร เพชรวิโรจน์ชัย. “บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ การช่วยเหลือคนอื่นคือความสุขแบบธรรมชาติ”. The People. ออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 7 กันยายน พ.ศ. 2562. เข้าถึงเมื่อ 17 กันยายน พ.ศ. 2562. <https://thepeople.co/interview-bhin/>
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กันยายน 2562