ค้นรากเหตุปัจจัย “จีนแต้จิ๋ว” อพยพมาไทยมหาศาล สู่กำเนิด “เจียรวนนท์” ที่ยิ่งใหญ่ภายหลัง

ธนินท์ เจียรวนนท์ ตอบคำถามระหว่างร่วมงาน Nikkei Global Management Forum ที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ 12 พ.ย. 2014 (ภาพจาก AFP PHOTO/Toru YAMANAKA TORU YAMANAKA / AFP)

ปฏิเสธได้ยากว่าชาวจีนมีอิทธิพลต่อการพัฒนาประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมาก โดยเฉพาะคนจีนแต้จิ๋วซึ่งเป็นชาวจีนกลุ่มใหญ่ที่ขยายตัวในสยามอย่างรวดเร็ว เอกลักษณ์ที่สำคัญของจีนแต้จิ๋วซึ่งทั่วโลกรับทราบกันดีคือความสามารถในการค้า ทำให้พวกเขาก่อร่างสร้างตัวอย่างมั่นคงนอกจีน มีนักธุรกิจที่ร่ำรวยอันดับต้นๆ มากมายเป็นจีนแต้จิ๋ว เช่นเดียวกันกับตระกูลเจียรวนนท์ ที่ติดอันดับบุคคลที่ร่ำรวย 100 อันดับแรกจากการจัดอันดับของสื่อระดับโลก

ในบรรดาบุคคลชาวไทยที่ติดอันดับรายชื่อผู้ร่ำรวยที่สุดในโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2562) จากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส ตระกูลเจียรวนนท์ มีชื่อนายธนินท์ ติดอันดับที่ 66 ของโลกและเป็นที่ทราบกันดีว่า ครอบครัวของนายธนินท์ มีเชื้อสายแต้จิ๋ว

ภูมิหลังอันเกี่ยวกับพื้นที่แต้จิ๋วของตระกูลเจียรวนนท์ ปรากฏอยู่ในบันทึกหลายแห่ง บทความเรื่อง จากเมืองแต้จิ๋ว สู่การตั้งรกรากที่กรุงเทพฯ (2)” ที่ระบุว่ามาจากการบอกเล่าของ ธนินท์ เจียรวนนท์ แปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยโดยคุณภรณี จิรวงศานนท์ สำนักประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และมร.หวง เหวยเหว่ย ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายพัฒนาโครงการ บริษัท ซีที อินฟราสตรักเจอร์ ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด เนื้อหาระบุที่มาว่ามาจากหนังสือพิมพ์ “นิกเคอิ” แต่ไม่ได้ระบุวันที่และปีที่เผยแพร่ เมื่อสืบค้นพบว่า มีบางแหล่งเชื่อว่าเป็นบทสัมภาษณ์ใน “Nikkei Asian Review” ราวช่วงปี 2559

บ้านเกิดที่แต้จิ๋ว

เนื้อหาส่วนหนึ่งในบทความบอกเล่าภูมิหลังว่า

“บ้านเกิดคุณพ่อของผมอยู่ที่อำเภอเถ่งไฮ่ เมืองแต้จิ๋ว ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออก ของเมืองกวางตุ้ง ทางใต้ของเมืองแต้จิ๋วอยู่ติดกับท่าเรือเมืองซัวเถา เมืองแต้จิ๋วกับเมืองซัวเถา เรียกรวมกันว่า ‘แต้ซัว’…” (ธนินท์ เจียรวนนท์, 2559)

เช่นเดียวกับการบอกเล่าในหนังสือ ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว อันเป็นหนังสือเล่มแรกที่บอกเล่าเรื่องราว แนวคิดการสร้างธุรกิจจากเจ้าของเรื่องตัวจริงนั่นคือคุณธนินท์ เจียรวนนท์ โดยตรง เนื้อหาส่วนหนึ่งระบุภูมิหลังของครอบครัวไว้ว่า

“เดิมทีครอบครัวของเราตั้งรกรากอยู่ที่ตำบลฮั่วซัว อำเภอเท่งไฮ้ มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน คุณทวดมีที่ดินให้ชาวนาเช่า พอมาถึงรุ่นคุณปู่ก็ได้มรดกจากคุณทวดมาทั้งหมด เพราะคุณปู่เป็นลูกคนเดียวจึงไม่ต้องแบ่งกับใคร…”

ไม่เพียงแค่ตระกูลเจียรวนนท์ ที่เป็นจีนแต้จิ๋วซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงในการประกอบการค้าในไทย ชื่อของนายชิน โสภณพานิช นักธุรกิจผู้ก่อตั้งธนาคารกรุงเทพ ก็เป็นบุตรของชาวจีนแต้จิ๋วอพยพเช่นกัน

ชื่อเสียงของชาวจีนในเรื่องความขยัน ประหยัด และทักษะความเชี่ยวชาญด้านการค้า เป็นที่เลื่องลือไม่เพียงแค่ในไทยแต่กระจายไกลทั่วโลก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงขนานนามชาวจีนว่า “พวกยิวแห่งบูรพทิศ” สำหรับคนแต้จิ๋ว ในประเทศจีนยังยกให้เป็น “ยิวแห่งประเทศจีน” สืบเนื่องมาจากความเก่งกาจในการทำธุรกิจและการค้า จีนแต้จิ๋วจำนวนไม่น้อยทำการค้าและคุมเศรษฐกิจทั่วจีนและในถิ่นจีนโพ้นทะเลทั่วโลกลักษณะดังกล่าวทำให้ชวนนึกถึงชาวยิว แม้แต่ในฮ่องกงเองซึ่งแต้จิ๋วมีสัดส่วนน้อยกว่าจีนกวางตุ้ง (ถาวร สิกขโกศล, 2554) แต่ข้อมูลเกี่ยวกับการเงินของนักธุรกิจอันดับต้นๆ ก็ยังมีชื่อ “หลี่เจียเฉิง (หลีเกียเซ้ง)” (Li Ka Shing) นักธุรกิจชาวจีนแต้จิ๋วซึ่งปัจจุบันเป็นนักธุรกิจที่รวยอันดับ 2 ในฮ่องกงจากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส ข้อมูล ณ วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ไม่เพียงอิทธิพลจากบุคลากร ถิ่นแต้จิ๋วในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมายังเป็นแหล่งผลิตสินค้าระดับโลกหลายแห่ง อำเภอเท่งไฮ้ (เฉิงไห่) ถูกมองว่าเป็นแหล่งผลิตของเล่นเด็กแห่งใหญ่อันดับต้นของโลก (ถาวร สิกขโกศล, 2554)

สถานกงกสุลของอเมริกาที่เมืองซัวเถา เมื่อประมาณปี 2433 (ภาพจาก Memories of Old Swatow พิมพ์โดยสมาคมแต้จิ๋ว ประเทศสิงคโปร์ ปี 1993)

ความเป็น “แต้จิ๋ว”

ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องราวที่เป็นผลให้เกิดสภาพดังกล่าว ในที่นี้ต้องเอ่ยถึงนิยามจีนแต้จิ๋วก่อน ถาวร สิกขโกศล อธิบายว่า “…เมืองแต้จิ๋วแยกเป็นสามจังหวัดคือจังหวัดแต้จิ๋ว จังหวัดซัวเถา และจังหวัดกิ๊กเอี๊ย รวมเรียกว่า เตี่ยซัวซาฉี หมายถึงถิ่นแต้ซัว 3 จังหวัด…

ถิ่นแต้จิ๋ว 3 จังหวัดตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลกวางตุ้ง…เป็นพื้นที่ภูเขา 50.4% ที่ราบ 35.5% อ่าวและชายฝั่งทะเล 14.1% ลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาและผาม่อนเสียกว่าครึ่ง มีที่ราบเพียง 1 ใน 3 คือ 3,200 กว่ากม. เท่านั้น”

ส่วนในแง่ประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ถาวร สิกขโกศล อธิบายว่า มีคนพื้นเมืองอาศัยมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ กระทั่งในช่วงรัชกาลจิ๋นซีฮ่องเต้ จีนเพิ่งขยายอำนาจเข้ามาและตั้งกองบัญชาการทหารที่ดอยกิ๊กเอี๊ย ในช่วงตั้งแต่ราชวงศ์สุย จนถึงราชวงศ์ชิง แต้จิ๋วมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เมื่อมาถึงยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2449 จึงเริ่มเปิดเส้นทางรถไฟสายแต้จิ๋ว-ซัวเถา เรียกโดยย่อว่า สายแต้ซัว จึงเกิดคำนี้เป็นครั้งแรก

ในด้านภูมิศาสตร์ แต้จิ๋วเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์แต่ภัยธรรมชาติรุนแรง อีกทั้งการสัญจรทางทะเลเปิด แตกต่างจากทางบกที่ค่อนข้างปิด โดยมีทิวเขาเป็นปราการธรรมชาติหลายด้าน ลักษณะทางภูมิศาสตร์นี้ นักวิชาการจีนศึกษาอย่างถาวร สิกขโกศล เชื่อว่า เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนแต้จิ๋วมีเอกลักษณ์ของตัวเองต่างจากจีนกว้างตุ้งและจีนแคะ

ข้อมูลที่กล่าวเป็นลักษณะโดยรวม หากเปรียบเทียบกับข้อความในบทความ “จากเมืองแต้จิ๋ว สู่การตั้งรกรากที่กรุงเทพฯ (2)” ที่ระบุจากปากคำของทายาทตระกูลผู้อยู่อาศัยอาจพอเห็นภาพเจาะจงขึ้น ดังใจความส่วนหนึ่งว่า

“…แต้ซัวเป็นสถานที่ที่มีการค้าเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยโบราณ คนที่เกิดที่นั่นเรียกตนเองว่าคนซัวเถา สมัยนั้นซัวเถายังรายล้อมไปด้วยภูเขา ถนนหนทางก็เดินทางไม่สะดวก ถ้าต้องการออกไปหาลู่ทางทำมาหากินภายนอก การเดินทางด้วยเรือเป็นทางเดียวที่สะดวกที่สุด…”

ที่ราบของถิ่นแต้จิ๋วเป็นที่ราบริมฝั่งและปากแม่น้ำ มีแม่น้ำสำคัญ 5 สาย สายที่สำคัญซึ่งจำเป็นต้องเอ่ยในที่นี่คือแม่น้ำหั่งกัง (หรือหางเจียง) แต่โดยรวมแล้วปากแม่น้ำเหล่านี้มีสาขาย่อยมากมาย ทำให้อุดสมบูรณ์ หากสภาพอากาศเป็นไปตามปกติก็มักมีฝนตกชุก การเกษตรได้ผลดีมาก แม้จะอุดมสมบูรณ์ แต่ข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ประการหนึ่งคือ พื้นที่ราบมีน้อยเพียง 3,200 กว่าตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา และผาม่อนหรือโขดเขิน

เมื่อพิจารณาข้อมูลพื้นที่ราบ กับข้อมูลเนื้อหาในบทความ “จากเมืองแต้จิ๋ว สู่การตั้งรกรากที่กรุงเทพฯ (2)” โดย ธนินท์ เจียรวนนท์ แล้ว มีเนื้อหาส่วนหนึ่งที่อาจพอบ่งชี้สถานะของบรรพบุรุษตระกูลเจียรวนนท์ ในถิ่นดั้งเดิมจากเนื้อหาส่วนหนึ่งที่เล่าว่า

“…เดิมทีครอบครัวของคุณพ่อเป็นเจ้าของที่ดิน คุณปู่ของผมก็เป็นเจ้าของที่ดิน รายได้ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน มาจากการเก็บค่าเช่าที่ดินเพียงอย่างเดียว ซึ่งก็เป็นรายได้ที่เพียงพอ คุณปู่ไม่จำเป็นต้องไปทำงานอื่นอีก …”

ข้อเสียอีกประการคือมักมีภัยธรรมชาติอย่างน้ำท่วมและไต้ฝุ่น เมื่อมีภัยแล้งก็รุนแรงมาก ประกอบกับภัยธรรมชาติอื่นๆ เช่น แมลงระบาด นักวิชาการเชื่อว่า ลักษณะเหล่านี้เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้คนจีนแต้จิ๋วหนีมาเมืองไทยกันมาก

การอพยพของชาวแต้จิ๋วมาไทยช่วงระยะแรก

การศึกษาการอพยพของชาวแต้จิ๋วมาไทยในระยะแรกนั้น ปรากฏในบทความ “อ่าวจังหลินที่อำเภอเฉิงไห่ (เทงไฮ้) กับชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพมายังไทยระยะแรก” ของ ต้วน ลี่ เซิง ซึ่งอธิบายว่า บริเวณที่ราบแต้จิ๋วในยุคนั้นมีประชากรหนาแน่นแต่พื้นที่น้อย ผลผลิตไม่เพียงพอประชากร คนในพื้นที่หันพึ่งการประมงมากกว่าร้อยละ 70 ประกอบกับเกิดภัยธรรมชาติหลายครั้งในช่วงราชวงศ์เช็ง ชาวนาล้มละลาย เริ่มต้องอพยพกันไปทั่ว

ขณะเดียวกัน ในช่วงต้นรางวงศ์เช็ง ทางการสั่งห้ามประชาชนออกไปโพ้นทะเล ปีแรกของสมัยกษัตริย์คังซี ทางการยังตรากฎหมายให้ประชาชนที่อยู่ริมทะเลอพยพเข้าไปจากชายฝั่ง 50 ลี้ เนื่องจากมีกองกำลังของเจิ้งเฉิงกง โจมตีเมืองหลายแห่งซึ่งทำให้ราชวงศ์เช็งปั่นป่วนอย่างมาก

กระทั่งปีที่ 22 ของกษัตริย์คังซี (ค.ศ. 1683) กลุ่มผู้ก่อการยอมสยบต่อราชวงศ์ ทางการแก้นโยบาย อนุญาตให้ประชาชนริมฝั่งออกทะเลได้ หลังจากนั้นสภาพในพื้นที่ก็เจริญไปตามลำดับ

ค.ศ. 1722 มณฑลกวางตุ้ง และฮกเกี้ยนประสบปัญหาขาดแคลนข้าว ทางการรับรู้สภาพความอุดมสมบูรณ์ของสยามจากทูตที่เดินทางไปเยือนจึงส่งเสริมให้ไปซื้อข้าวจากสยาม กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ชาวแต้จิ๋วผูกพันกับแผ่นดินไทย

ในช่วงราชวงศ์เช็ง อ่าวจังหลินซึ่งเป็นปากน้ำที่แม่น้ำหานเจียงไหลมาสู่ทะเล เป็นอ่าวที่เรือขนาดใหญ่เทียบจอดได้ มีความเจริญค่อนข้างมาก นับตั้งแต่ชาวจังหลินเริ่มค้าข้าวกับสยาม อ่าวจังหลินก็เจริญอย่างรวดเร็ว บริเวณท่าเรือเริ่มสร้างถนน ร้านค้าเกิดขึ้นตามข้างทาง มีโกดังเก็บของ และยังมีหอมองทะเล

ระหว่างที่มีติดต่อการค้ากัน ต้วน ลี่ เซิง ระบุว่า ช่วงเวลานี้พ่อค้าจีนแต้จิ๋วจำนวนมากอพยพไปอยู่ในสยาม ข้อมูลส่วนนี้อ้างอิง “ประวัติเจียซิ่ง” ซึ่งเคยกล่าวว่า “ชาวเมืองเฉิงไห่ได้ขอใบอนุญาตไปซื้อข้าวเมืองสยาม เพื่อนำกลับมาช่วยแก้ปัญหาอดอยาก แม้จะดำเนินมากว่า 40 ปีแต่จากคำบอกเล่า ที่ไปแล้วกลับมามีไม่เกินห้าหรือหกในสิบเท่านั้น”

นอกจากผู้ที่ลงเรือสำเภาเพื่อการค้าแล้ว ยังมีกลุ่มชาวนาล้มละลาย และชาวนายากจนไร้อาชีพ ซึ่งต้วน ลี่ เซิง ระบุว่า กลุ่มนี้มีเพียงไม้ไผ่ ไม้คานไม้ไผ่ และหมอนไม้ไผ่อย่างละชิ้นติดตัวไปเท่านั้น สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตช่วงจากบ้านเกิดที่อยู่ในสภาพค่อนข้างยากลำบาก

“การเดินทางจะเริ่มราวเดือน 9 เดือน 10 ของแต่ละปี อาศัยลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดพาไป ใช้เวลาประมาณเดือนครึ่งจึงถึงประเทศสยาม คนที่ออกทะเลมักจะนึ่งขนมเข่งติดตัวไปเป็นเสบียงระหว่างทาง เพราะว่าขนมเข่งทำจากข้าวเหนียว เก็บได้นานและอยู่ท้อง นอกจากนี้ก็ยังนำฟักเขียวไปด้วย เพราะมีประโยชน์หลายอย่าง ต้มน้ำแกงดื่มแทนน้ำก็ได้ และเมื่อเรือแตกก็ใช้แทนห่วงชูชีพ”

นักวิชาการส่วนหนึ่งมองว่า ในจำนวนชาวแต้จิ๋วที่อพยพสู่สยามในระยะแรกของราชวงศ์เช็ง มีครอบครัวหนึ่งซึ่งทำให้เกิดผลสะเทือนต่อประวัติศาสตร์ไทย นั่นก็คือครอบครัวของแต้สิน (ตากสิน) ผู้สร้างกรุงธนบุรีขึ้นในภายหลัง แม้จะยังเป็นที่วิเคราะห์กันถึงถิ่นกำเนิดของพระเจ้าตากสินมหาราช ต้วน ลี่ เซิง เล่าว่า ในอำเภอเฉิงไห่ก็มีศาลเจ้าตระกูลแต้อยู่ (ช่วงพ.ศ. 2526) สภาพเป็นตึกแถวชั้นเดียว สามหลังเรียงติดกัน ลานนอกหมู่บ้านก็มีหลุมเสื้อผ้าของบิดาแต้สิน จากที่ไม่มีศพฝังจึงนำเสื้อผ้ามาฝังแทน

ข้อมูลเรื่องพระเจ้าตากสินมหาราชที่เชื่อมโยงกับแต้จิ๋ว ยังมีระบุในการศึกษาทางวิชาการของ จี. วิลเลียม สกินเนอร์ (G. William Skinner) ที่รวบรวมเป็นหนังสือ “สังคมจีนในไทย” ที่เล่าว่า บิดาของพระยาตากสิน อพยพมาสู่อยุธยาจากตำบลหัว-ฝู่ ในเฉิง-ไห่

อ่านเพิ่มเติมสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเป็นผู้ดีกรุงเก่า ลูกเจ้า-โอรสลับ หรือลูกจีนกันแน่?

ชาวจีนที่ตั้งหลักแหล่งในกรุงเทพฯ

สำหรับการตั้งหลักแหล่งในกรุงเทพฯ นั้น ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่ามีตั้งหลักแหล่งก่อน พ.ศ. 2310 แต่สกินเนอร์ อ้างอิงจากงานของ Wilhelm Credner ที่พอจะทำให้สันนิษฐานได้ว่า ชาวจีนมาตั้งหลักแหล่งที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 17 หลังจากพระเจ้าตากสินมหาราชขึ้นครองราชย์แล้ว บันทึกของจอห์น ครอว์เฟิร์ด ชาวยุโรปคนแรกที่มาเยือนสยามหลังพระเจ้าตากสินมหาราชขึ้นครองราชย์สมบัติแล้วบันทึกว่า

“การที่พระองค์สนับสนุนคนจีนเป็นพิเศษ จึงเท่ากับชักชวนให้พวกเหล่านี้เข้ามาอยู่อาศัยในสยามและตั้งหลักแหล่งอยู่ได้เป็นจำนวนมากเช่นนี้ การยินยอมพลเมืองชาวจีนเป็นกรณีพิเศษนี้ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านวัตถุซึ่งเกิดขึ้นในราชอาณาจักรมานานนับศตวรรษๆ แล้ว แต่ครั้งนี้เกือบจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุด”

ด้วยสภาพหลักฐานเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สกินเนอร์ เชื่อว่า นโยบายของพระเจ้าตากสินดึงดูดชาวแต้จิ๋วจำนวนมากให้เข้ามาสู่กรุงเทพฯ ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับจีนดำเนินเรื่อยมาจนถึงช่วงต้นราชวงศ์จักรี มีเหตุการณ์และนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทสังคมและการเมืองแต่ละช่วงเวลา

เมื่อมาถึงช่วง พ.ศ. 2398 ถึง สงครามโลกครั้งที่ 1 สกินเนอร์ บรรยายว่า ยุคของการค้าเสรีซึ่งเกิดขึ้นจากสนธิสัญญาเบาว์ริง ทำให้ชาวจีนและชาวยุโรปได้รับโอกาสใหม่ๆ ขณะเดียวกันสิ่งที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศช่วงสมัยนี้คือ การขยายตัวขนาดใหญ่ของการปลูกข้าวซึ่งอยู่ในมือคนไทย มีความต้องการแรงงานมากขึ้น ขณะเดียวกันการอพยพก็ทำได้ง่ายขึ้นแล้ว ระหว่าง พ.ศ. 2408-2429 เรือกลไฟทยอยนำผู้โดยสารจำนวนมากเดินทางไปมาระหว่างจีนตอนใต้กับสยาม ปลอดภัยมากขึ้นและค่าโดยสารต่ำลง สกินเนอร์ เชื่อว่า ความเจริญด้านนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญอีกประการที่ทำให้การอพยพออกมีมากขึ้นด้วย

อ่านเพิ่มเติมชาวจีนในไทยมาจากไหน เปิดประวัติการอพยพยุคแรกเริ่ม ถึงการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม

วิวัฒนาการของการเดินเรือ

หากพูดถึงเรื่องวิวัฒนาการเดินเรือ ส่วนหนึ่งนั้น เรือสำเภาจีนเริ่มมีสัญญาณหมดความสำคัญในการค้าระหว่างสยามกับจีนมาก่อนช่วงกลางศตวรรษที่ 19 โดยไม่ได้มาจากเรือกลไฟ แต่มาจากเรือกำปั่นต่างๆ (เรือใบ 3 เสา เรือใบ 2 เสา และชนิดที่มีใบขึงตามยาว) การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อการค้าของหลวงของไทยใช้เรือกำปั่น เมื่อเรือกำปั่นเข้ามามีบทบาทในวงการค้า เมืองท่าตอนในสำหรับเรือสำเภาก็เสื่อมลงในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ความเสื่อมลงของเมืองท่าสำหรับเรือสำเภาเห็นสภาพชัดเจนเมื่อสถาปนาฮ่องกง และเปิดเมืองท่า 5 แห่งตามสนธิสัญญา ใน พ.ศ. 2385 กวางตุ้งที่เคยมีความสำคัญมาก่อนเสียสถานภาพแก่ฮ่องกง

ซัวเถาอันเป็นเมืองท่าติดมหาสมุทรและเปิดเป็นเมืองท่าตามสนธิสัญญาก็บดบังรัศมีเมืองท่าดั้งเดิม จะมีแต่จางหลินที่เป็นเมืองท่าเก่าแก่แห่งสุดท้ายที่ยังคงสถานะไว้ได้ เรือกำปั่นหายไปจากกรุงเทพฯ ประมาณ พ.ศ. 2450 จากนั้นจึงเริ่มเป็นยุคเรือกลไฟเข้ามาแข่งขัน

(อย่างไรก็ตาม ยังพบเรือสำเภาค้าขายทางทะเลของจีนในท่าเรือกรุงเทพฯ มาจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่หลังการเปลี่ยนศตวรรษก็ไม่พบการอพยพของชาวจีนโดยสำเภาอีก ยกเว้นการอพยพของชาวไหหลำ) (สกินเนอร์, 2548)

ช่วงทศวรรษ 1860 (พ.ศ. 2403) พบการเดินเรือกลไฟเป็นตารางเวลาประจำระหว่างฮ่องกง และเมืองท่าสำคัญสามแห่งในจีนทางใต้ เช่น กวางตุ้ง ซัวเถา และเอ้หมึง การเดินทางจากเมืองท่าเหล่านี้สามารถมาโดยเรือกลไฟจากฮ่องกงถึงสิงคโปร์และปีนัง ย่อมสะดวกแก่การเดินทางเข้ามาสยามโดยเฉพาะทางตอนใต้ ต่อมา ในช่วงพ.ศ. 2416 ก็เริ่มมีการเดินเรือกลไฟตามตารางเวลาระหว่างกรุงเทพฯ กับฮ่องกง

ภาพคัดลอกลายเส้นจากภาพสลักลายเส้น “เรือกำปั่น” บนแผ่นศิลาประดับฐานเสาประทีปหน้าพระอุโบสถวัดโพธิ์ ด้านทิศตะวันออก จากหนังสือ “ตุ๊กตาจีนวัดโพธิ์” พิมพ์ พ.ศ. 2548

เมื่อกลับมาดูเนื้อหาในบทความ จะเห็นได้ว่า เอ่ยถึงการเปิดท่าเรือพาณิชย์ในพ.ศ. 2403

“…การค้าขายระหว่างแต้ซัว และญี่ปุ่นมีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง (ปีพ.ศ. 1503-1822) หลังจากที่เมืองซัวเถาเปิดท่าเรือพาณิชย์ในปีพ.ศ. 2403

ชาวแต้จิ๋วจำนวนมากก็มีโอกาสได้ออกไปแสวงหาที่ทำกินใหม่ๆ บ้างก็ไปฮ่องกงซึ่งตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ บ้างก็มาประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศไทย ชาวจีนแต้จิ๋วจำนวนไม่น้อยที่อพยพไปทำการค้าที่ฮ่องกงและประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างประสบความสำเร็จทั้งสิ้น จนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าชาวจีนแต้จิ๋วเป็นชาวจีนที่มีความสามารถในการทำการค้า…”

ธนินท์ เจียรวนนท์ ยังเล่าในบทความอีกว่า

“…แม้ว่าคุณพ่อจะเกิดในตระกูลที่เป็นเจ้าของที่ดิน ไม่มีความรู้ด้านการทำการค้ามาก่อน แต่กลับสามารถทำการค้าขายไปต่างประเทศได้เอง…

ผักของแต้จิ๋วมีชื่อเสียงด้านคุณภาพและรสชาติ แต่เมื่อนำเมล็ดพันธุ์นี้ไปปลูกในต่างประเทศ จะสามารถปลูกได้แค่ครั้งเดียว … ไม่เช่นนั้นคุณภาพและปริมาณผลผลิตจะลดลง ดังนั้นในแต่ละปีต้องมีการซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ๆ จากเมืองแต้จิ๋ว คุณพ่อเห็นว่านี่เป็นโอกาสในการค้าขาย จึงเริ่มคัดสรรเมล็ดพันธุ์ผัก และทำธุรกิจค้าเมล็ดพันธุ์ผัก โดยคุณพ่อตัดสินใจเลือกมาทำการค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้…”

สกินเนอร์ ได้วิเคราะห์ถึงลักษณะความเชี่ยวชาญด้านการเกษตรของชาวแต้จิ๋วว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้จำนวนชาวแต้จิ๋วในไทยเพิ่มอย่างรวดเร็ว ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ประมาณ พ.ศ. 2353 ความต้องการผลผลิตการเกษตรในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างมาก การเกษตรในสยามภาคตะวันออกเฉียงใต้และตอนล่างจึงเริ่มพัฒนา ช่วงเวลานั้นชาวจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นในสยามอยู่แล้วเริ่มนำอ้อยมาปลูก 2-3 ปีต่อมา อ้อยเริ่มเป็นพืชส่งออกที่สำคัญอีกชนิด ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 19 พื้นที่ในแถบของชาวแต้จิ๋วในจีนก็มีเสียงร่ำลือเรื่องการผลิตน้ำตาลส่งออก

นักวิชาการจีนศึกษาวิเคราะห์ว่า การเพิ่มผลผลิตของน้ำตาล พริกไทย และผลิตผลการเกษตรอื่นๆ ที่ชาวจีนปลูกกันในสยามภาคกลางระหว่างครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ดึงดูดชาวแต้จิ๋วให้มากรุงเทพฯ

บทความ “จากเมืองแต้จิ๋ว สู่การตั้งรกรากที่กรุงเทพฯ (2)” เล่าต่อว่า “ประมาณปีพ.ศ. 2462 คุณพ่อเดินทางมาประเทศไทยและอาศัยอยู่กับญาติ สมัยนั้น รัฐบาลไทยสนับสนุนการเข้ามาของชาวจีนโพ้นทะเล ชาวจีนแต้จิ๋วจำนวนไม่น้อยจึงได้เข้ามาประเทศไทย” และอธิบายว่าด้วยลักษณะที่ไทยยังไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก ขณะเดียวกันไทยก็ไม่เป็นรัฐบาลที่ล่าอาณานิคม ประกอบกับ “…ขณะนั้นยังไม่มีธุรกิจขนาดใหญ่จากอเมริกาและยุโรปมาขยายการลงทุนในไทย คุณพ่อจึงเห็นช่องทางการค้าขายในประเทศไทย หลังจากอพยพมากรุงเทพฯ คุณพ่อก็ได้ลงหลักปักฐานที่เยาวราช

ชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพมาส่วนใหญ่จะยึดอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก คุณพ่อนำเมล็ดพันธุ์ที่นำมาจากเมืองจีนขายให้แก่เกษตรกรและส่งขายให้ร้านค้าปลีก…”

ชาวจีนในไทยช่วงพ.ศ. 2400-2470

ในช่วงเวลาที่เอ่ยถึงในบทความ เป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับเหตุการณ์การผละงานของชาวจีนในช่วงพ.ศ. 2453 ด้วยเหตุเรื่องไม่พอใจนโยบายการเสียภาษี การผละงานส่งผลลบต่อชาวจีนทำให้ภาพลักษณ์ของพวกเขาติดลบ แต่หลังจากนั้น 2-3 เดือน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชสมบัติ ในวโรกาสพิธีราชาภิเษก ในพ.ศ. 2454 หัวหน้าชุมชนชาวจีนนำของทูลเกล้าฯ ถวาย และเชื่อว่าทางราชสำนักก็ถูกร้องขอให้ขบวนแห่เสด็จเลียบผ่านพระนครผ่านเข้าไปในย่านคนจีน หลังจากนั้นกลุ่มชุมชนชาวจีนก็เริ่มพัฒนาขึ้นตามลำดับมีโรงเรียนและหอการค้า ขณะที่ในช่วงพ.ศ. 2461-2474 มีสถิติการอพยพเข้ามาอย่างมากหลังสงครามโลกครั้งที่ 1

ช่วงดังกล่าวนี้มีอัตราชาวจีนอพยพเข้ามาในสยามอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เฉลี่ยปีละ 95,000 คน (สกินเนอร์, 2548) จำนวนคนเดินทางออกก็ต่ำ สถิติในช่วงนี้อ้างอิงจาก 3 แหล่งที่ไม่เกี่ยวข้องกันคือ กองตรวจคนเข้าเมืองไทย , กรมศุลกากรจีน และกรมศุลกากรไทย แต่ละแห่งมีข้อมูลในทิศทางเดียวกันจึงเป็นไปได้อย่างยิ่งว่ามีความแม่นยำตามข้อเท็จจริงในเวลานั้น และทำให้สันนิษฐานได้ว่า มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าคนจีนซึ่งเกิดในจีนที่มาอยู่ในไทยในปัจจุบันนี้อพยพมาระหว่างช่วง พ.ศ. 2461-2474 (สกินเนอร์, 2548)

สาเหตุของการหลั่งไหลเข้ามานั้น มาจากหลายปัจจัย ทั้งบรรยากาศที่ดีในไทย และสภาพในจีนที่ไม่ค่อยสู้ดี โดยช่วง ทศวรรษ 1920 การผลิตยางและแร่ดีบุกในตอนใต้ของสยามเพิ่มขึ้นมาก กิจการสีข้าวและเลื่อยไม้ก็ขยายตัว การค้าต่างประเทศยังขยายตัวรวดเร็ว

แม้ในบทความไม่ได้เอ่ยถึงพาหนะที่ใช้เดินทาง และจุดต้นทาง แต่ในแง่การเคลื่อนย้ายถิ่นแล้ว มีข้อมูลการเดินทางสู่สยามที่น่าสนใจซึ่งสกินเนอร์ รวบรวมสถิติการเดินทางของผู้โดยสารซัวเถาทั้งหมดในช่วงเวลาหลัง พ.ศ. 2417 อ้างอิงจากบันทึกศุลกากรจีนระหว่าง พ.ศ. 2425-2460 ซึ่งอาจพอชี้ให้เห็นอัตราการเดินทางจากซัวเถามายังปลายทางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยมุ่งไปสยามมีจำนวนมากขึ้น

  • พ.ศ. 2417-2424 ประมาณร้อยละ 15 ของผู้อพยพซัวเถาทั้งหมดเดินทางมาสยาม
  • พ.ศ. 2425-2435 ประมาณร้อยละ 20 ของผู้อพยพซัวเถาทั้งหมดเดินทางมาสยาม
  • พ.ศ. 2436-2448 ประมาณร้อยละ 33 ของผู้อพยพซัวเถาทั้งหมดเดินทางมาสยาม
  • พ.ศ. 2449-2460 ประมาณร้อยละ 50 ของผู้อพยพซัวเถาทั้งหมดเดินทางมาสยาม

อย่างไรก็ตาม อัตราการอพยพเปลี่ยนแปลงแปรผันตามสถานการณ์ มีบางช่วงที่อัตราเพิ่มขึ้นจากความต้องการทางด้านแรงงาน บางช่วงลดลงเนื่องจากการกักเรือที่มาจากกรุงเทพฯ ในช่วงเกิดกาฬโรคระบาดในซัวเถา ช่วง พ.ศ. 2443

ขณะที่ในช่วง พ.ศ. 2444 การอพยพเพิ่มขึ้นอีกหลังจากควบคุมกาฬโรคได้แล้ว ตามมาด้วยอัตราอพยพที่เพิ่มเร็วในช่วง พ.ศ. 2445 อันสืบเนื่องมาจากการขาดแคลนอาหารในซัวเถาและที่เฉา-โจวประสบภาวะขาดแคลนพืชพันธุ์ธัญญาหารจนราคาข้าวเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันองค์ประกอบเรื่องการแข่งขันระหว่างกิจการเดินเรือเส้นทางซัวเถา-กรุงเทพฯ ก็ส่งผลต่ออัตราการอพยพเช่นกัน

กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 รายงานเกี่ยวกับการเพิ่มตัวของประชาการจีนในสยามจากดีอี มัลลอค ระบุว่า ประชากรจีนเพิ่มมากขึ้นในหัวเมืองต่างๆ กว่า 60 แห่งภายในราชอาณาจักรสยาม เมื่อเศรษฐกิจขยายตัวอันเป็นผลจากสนธิสัญญาเบาวร์ริง เมื่อ พ.ศ. 2398 ทำให้รูปแบบการตั้งหลักแหล่งของชาวจีนเปลี่ยนไป ช่วงท้ายของศตวรรษที่ 19 คนไทยได้รับการผ่อนปรนจากการถูกเกณฑ์แรงงาน และมีเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายเข้ามาในกรุงเทพฯ หลังจากนั้นคนไทยก็เริ่มมีประชากรพอๆ กับชาวจีน

ในที่นี้ต้องย้อนกลับไปเล็กน้อยเพื่ออธิบายว่า ช่วงทศวรรษ 1820 หรือพ.ศ. 2363 มีข้อมูลจากผู้สังเกตการณ์หลายรายบันทึกเรื่องประชากรชาวจีนมีจำนวนมากกว่าคนไทยในเมืองหลวงของไทย อาทิ ฟินเลย์สัน ที่บันทึกว่า “ในภาคที่มีประชากรหนาแน่นมากที่สุดของสยาม [กรุงเทพฯ] จะปรากฏมีชาวจีนถึง 3 ใน 4 ของประชากรเป็นอย่างน้อยที่สุด…” ส่วนครอเฟิร์ด ก็พูดเช่นกันว่า “คำนวณโดยทั่วไปว่าประชากรกรุงเทพฯ จำนวนครึ่งหนึ่งเป็นชาวจีน” ส่วนมัลคัม ซึ่งสอบถามผู้ใหญ่บ้าน นับจำนวนบ้านในบางเขต นับจำนวนของพระในช่วงพ.ศ. 2378 ให้ความเห็นว่ากรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียงมีประชากร “จีนและลูกหลานจีน 60,000 คน จากจำนวน 100,000 คน” เมื่อพ.ศ. 2392 มัลลอค ให้ข้อมูลประชากรโดยประมาณว่า มีคนจีนมากกว่าร้อยละ 50 เล็กน้อย และคนในต่ำกว่าร้อยละ 35 (สกินเนอร์, 2548)

ข้อมูลทางประชากรในช่วง พ.ศ. 2373 นักเขียนหลายรายให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่า กลุ่มแต้จิ๋วเป็นชนกลุ่มใหญ่ที่สุดในบรรดากลุ่มภาษาพูดจีนในกรุงเทพฯ ตามมาด้วยพวกฮกเกี้ยน จากนั้นจึงเป็นไหหลำ กวางตุ้ง และพวกแคะ ตามลำดับ อาทิ ข้อมูลจากดร. แดเนียล บี แบรดลีย์ บันทึกว่า ระหว่าง พ.ศ. 2378-2379 ชาวจีน 934 คนมารักษาที่โรงพยาบาลมิชชันนารีในกรุงเทพฯ เป็นชาวแต้จิ๋วถึง 713 คน เป็นฮกเกี้ยน 150 คน ไหหลำ 51 คน กวางตุ้ง 15 คน และแคะ 5 คน ข้อมูลเหล่านี้พอจะฉายภาพโดยคร่าว แต่หากจะบ่งชี้อย่างแน่ชัดนั้นยังต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนเพิ่มเติม

ภาพประกอบเนื้อหา ๑ พ่อค้าข้าวชาวจีน, ๒ ย่านการค้าบริเวณถนนเจริญกรุง และเวิ้งนาครเขษม ในสมัยรัชกาลที่ ๕, ๓ โรงสีข้าวส่วนใหญ่เป็นของชาวจีน คอยรับซื้อข้าวที่ล่องมาทางเรือ, ๔ ร้านค้าชาวจีนในย่านสำเพ็ง

การครองชีพหลังอพยพ

เมื่อพูดถึงการอพยพแล้ว ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือการครองชีพหลังจากเคลื่อนย้ายถิ่นแล้ว สกินเนอร์ แสดงความคิดเห็นว่า คนไทยรักที่จะทำงานด้านเกษตร รับราชการ และทำงานส่วนตัวเป็นอันดับต้นๆ ส่วนผู้อพยพชาวจีนและลูกหลานของพวกเขาก็รักทำงานด้านการค้าทุกประเภท ทำอุตสาหกรรม ทำงานด้านการเงิน เหมือง และงานทั่วไปที่ได้รับค่าจ้าง

ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 สกินเนอร์ เชื่อว่า พวกแต้จิ๋วและฮกเกี้ยนเป็นพวกที่มีฐานะดีที่สุด พวกแต้จิ๋วคุมกิจการค้าที่มีกำไรสูงเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งรวมทั้งการค้าข้าวและผลิตผลของท้องถิ่น บทความหนึ่งในหนังสือ The Siam Repository เมื่อค.ศ. 1870 (พ.ศ. 2413) มีใจความว่า

“พวกแต้จิ๋วรักเงินตราที่มีอานุภาพ พวกเขาจะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงินมาโดยชอบธรรม และพวกเขาก็มักจะกลายเป็นเศรษฐีและผู้มีอิทธิพล พวกกวางตุ้งจึงชิงชังพวกนี้ (แต้จิ๋ว) ที่มีอำนาจมากนัก”

อย่างไรก็ตาม สถานะทางการเงินและอาชีพของคนจีนจากหลักฐานหลายด้านก็ถือว่ามีหลากหลายตามแต่มุมมองหรือข้อมูลที่แต่ละคนประสบ แต่ท่ามกลางความหลากหลาย การเลื่อนสถานะทางสังคมในสังคมจีนมีอัตราสูงอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วง พ.ศ. 2423-2453 ผู้อพยพที่เข้ามาแม้จะมีทรัพย์สินติดตัวไม่มาก แต่จุดเด่นของพวกเขาคือความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการสร้างเนื้อสร้างตัว บางรายอาจโชคดีได้ญาติพี่น้องหรือพวกที่มาจากละแวกเดียวกันช่วยเหลือ

ตัวอย่างของชาวจีนที่เลื่อนฐานะตัวเองมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นจางติง ผู้ก่อตั้งบริษัทจิ้นเฉิงหลี (กิมเซ่งหลี) ที่มาจากเฉาอัน ตอนแรกยังเป็นหนี้ค่าเดินทาง 18 บาท ภายหลังตั้งตัวได้มีร้านส่งออกสินค้าเล็กๆ และได้แต่งงานกับหญิงสาวมีตระกูลทางเหนือของสยาม ภายหลังเขาได้รับสัมปทานป่าไม้สักชั้นยอด และยังเป็นผู้เช่าช่วงบ่อนการพนัน 3 แห่ง และโรงกลั่นสุราอีกแห่ง ในช่วงทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 20 ก็มีโรงสีหลายแห่ง แถมมีท่าเรืออีกแห่ง

หรือกรณีของเฉิน ฉือหง หนุ่มแต้จิ๋ววัย 20 ปีที่มาถึงกรุงเทพฯ ประมาณ พ.ศ. 2408 ไม่มีทรัพย์สินติดตัว เมื่อทำงานจนมีประสบการณ์พอ เขาก็เปิดบริษัทการค้าของตัวเอง และตั้งโรงสีโรงแรกเมื่อ พ.ศ. 2417 ในช่วงวัยชราก็ปลดเกษียณกลับไปอยู่ซัวเถา

ขณะที่ประสบการณ์ของตระกูลเจียรวนนท์ จากบทความ “จากเมืองแต้จิ๋ว สู่การตั้งรกรากที่กรุงเทพฯ (2)” ระบุว่า

“…คุณพ่อนำเมล็ดพันธุ์ที่นำมาจากเมืองจีนขายให้แก่เกษตรกรและส่งขายให้ร้านค้าปลีก ท่านค่อยๆ เก็บหอมรอมริบ เมื่อได้เงินก้อนหนึ่งในปีพ.ศ. 2464 คุณพ่อจึงเปิด “ร้านเจียไต๋จึง” ขึ้นบนถนนเยาวราช

“เจิ้งต้า” มาจากสุภาษิตจีน “เจิ้งต้ากวงหมิง” แปลว่า ซื่อสัตย์ ยุติธรรม เที่ยงตรง คุณพ่อของผมเคยเปิดร้านชื่อ “กวงต้า” ตั้งแต่สมัยที่ยังอยู่ที่ซัวเถา หลังจากอพยพมาที่ไทยแล้ว จึงเปิดร้าน “เจิ้งต้า” คำว่า “เจิ้งต้า” ในภาษาแต้จิ๋ว อ่านว่า “เจียไต๋” ซึ่งนี่ก็คือที่มาของชื่อเครือเจริญโภคภัณฑ์…”

หลังจากนั้นก็คงต้องใช้ประโยคอมตะที่ว่า “The rest is history.” 

“ที่เหลือก็อย่างที่รู้กัน”

สรุป

จากการรวบรวมข้อมูลของนักวิชาการที่ผ่านมา การย้ายถิ่นของชาวจีนแต้จิ๋วมาในสยามในช่วงแรกเกิดขึ้นหลังเริ่มมีการติดต่อการค้าระหว่างกันสมัยราชวงศ์เช็ง กลุ่มจีนแต้จิ๋วที่เดินทางมาสยามยุคแรกมีหลากหลาย ตั้งแต่พ่อค้า ชาวนาล้มละลาย และชาวนายากจนไร้อาชีพ เหตุปัจจัยของการอพยพในช่วงแรก ในแง่หนึ่งเกี่ยวข้องกับเชิงภูมิศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ กล่าวคือ บริเวณที่ราบแต้จิ๋วในยุคนั้นมีประชากรหนาแน่นแต่พื้นที่น้อย ผลผลิตไม่เพียงพอประชากร คนในพื้นที่หันพึ่งการประมงมากกว่าร้อยละ 70 ประกอบกับเกิดภัยธรรมชาติหลายครั้งในช่วงราชวงศ์เช็ง ชาวนาล้มละลาย เริ่มต้องอพยพกันไปทั่ว

หลังจากพระเจ้าตากสินมหาราชขึ้นครองราชย์ นโยบายของสยามค่อนข้างชัดเจนว่าสนับสนุนคนจีนเป็นพิเศษ นั่นเท่ากับชักชวนให้ชาวจีนเข้ามาอยู่อาศัยในสยามและตั้งหลักแหล่งอยู่ได้เป็นจำนวนมาก ผลที่ตามมาเป็นดังที่จอห์น ครอว์เฟิร์ด เห็นว่าการยินยอมพลเมืองชาวจีนเป็นกรณีพิเศษนี้ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

เมื่อเข้าถึงช่วงต้นราชวงศ์จักรี ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับจีนดำเนินเรื่อยมา แต่ก็มีเหตุการณ์และนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทสังคมและการเมืองแต่ละช่วงเวลา ข้อมูลทางประชากรในช่วง พ.ศ. 2373 นักเขียนหลายรายให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่า กลุ่มแต้จิ๋วเป็นชนกลุ่มใหญ่ที่สุดในบรรดากลุ่มภาษาพูดจีนในกรุงเทพฯ ตามมาด้วยพวกฮกเกี้ยน จากนั้นจึงเป็นไหหลำ กวางตุ้ง และพวกแคะ ตามลำดับ

ในช่วง พ.ศ. 2398 ถึง สงครามโลกครั้งที่ 1 ยุคของการค้าเสรีซึ่งเกิดขึ้นจากสนธิสัญญาเบาว์ริง ทำให้ชาวจีนและชาวยุโรปได้รับโอกาสใหม่ๆ ขณะเดียวกันสิ่งที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศช่วงสมัยนี้คือ การขยายตัวขนาดใหญ่ของการปลูกข้าวซึ่งอยู่ในมือคนไทย มีความต้องการแรงงานมากขึ้น ขณะเดียวกันการอพยพก็ทำได้ง่ายขึ้นแล้ว ระหว่าง พ.ศ. 2408-2429 เรือกลไฟทยอยนำผู้โดยสารจำนวนมากเดินทางไปมาระหว่างจีนตอนใต้กับสยาม ปลอดภัยมากขึ้นและค่าโดยสารต่ำลง สกินเนอร์ เชื่อว่า ความเจริญด้านนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญอีกประการที่ทำให้การอพยพออกมีมากขึ้นด้วย

เหตุปัจจัยที่มีผลอีกประการคือการพัฒนาของการเดินเรือ จากเรือสำเภาจีน เรือกำปั่น และเรือกลไฟ ล้วนทำให้สถานการณ์และการแข่งขันเปลี่ยนแปลงไป ในช่วง พ.ศ. 2403 พบการเดินเรือกลไฟเป็นตารางเวลาประจำระหว่างฮ่องกง และเมืองท่าสำคัญสามแห่งในจีนทางใต้ เช่น กวางตุ้ง ซัวเถา และเอ้หมึง การเดินทางจากเมืองท่าเหล่านี้สามารถมาโดยเรือกลไฟจากฮ่องกงถึงสิงคโปร์และปีนัง ย่อมสะดวกแก่การเดินทางเข้ามาสยามโดยเฉพาะทางตอนใต้ ต่อมา ในช่วงพ.ศ. 2416 ก็เริ่มมีการเดินเรือกลไฟตามตารางเวลาระหว่างกรุงเทพฯ กับฮ่องกงอีกด้วย

ช่วง พ.ศ. 2453 เกิดสถานการณ์คนจีนผละงานเนื่องจากไม่พอใจด้านนโยบายภาษี การผละงานของชาวจีนทำให้เกิดภาพลักษณ์เชิงลบ หลังจากนั้น 2-3 เดือน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชสมบัติ ในวโรกาสพิธีราชาภิเษก ในพ.ศ. 2454 หัวหน้าชุมชนชาวจีนนำของทูลเกล้าฯ ถวาย และเชื่อว่าทางราชสำนักก็ถูกร้องขอให้ขบวนแห่เสด็จเลียบผ่านพระนครผ่านเข้าไปในย่านคนจีน หลังจากนั้นกลุ่มชุมชนชาวจีนก็เริ่มพัฒนาขึ้นตามลำดับมีโรงเรียนและหอการค้า

การอพยพของชาวจีนมาสยามในช่วงพ.ศ. 2461-2474 มีสถิติการอพยพเข้ามาอย่างมากแบบไม่เคยมีมาก่อน สาเหตุของการหลั่งไหลเข้ามานั้น มาจากหลายปัจจัย ทั้งบรรยากาศที่ดีในไทย และสภาพในจีนที่ไม่ค่อยสู้ดี โดยช่วง ทศวรรษ 1920 การผลิตยางและแร่ดีบุกในตอนใต้ของสยามเพิ่มขึ้นมาก กิจการสีข้าวและเลื่อยไม้ก็ขยายตัว การค้าต่างประเทศยังขยายตัวรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม จากการเก็บรวบรวมสถิติจะเห็นได้ว่า อัตราการอพยพล้วนเปลี่ยนแปลงแปรผันตามสถานการณ์ มีบางช่วงที่อัตราเพิ่มขึ้นจากความต้องการทางด้านแรงงาน บางช่วงลดลงเนื่องจากการกักเรือที่มาจากกรุงเทพฯ ในช่วงเกิดกาฬโรคระบาดในซัวเถา ช่วง พ.ศ. 2443

ในแง่การครองชีพของชาวจีนในสยาม พวกแต้จิ๋วและฮกเกี้ยนเป็นพวกที่มีฐานะดีที่สุด พวกแต้จิ๋วคุมกิจการค้าที่มีกำไรสูงเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งรวมทั้งการค้าข้าวและผลิตผลของท้องถิ่น นักวิชาการด้านจีนศึกษาให้ข้อมูลเรื่องอาชีพและลักษณะของชาวจีนในสยามแตกต่างหลากหลายกันออกไป สกินเนอร์ มองว่า ผู้อพยพชาวจีนและลูกหลานของพวกเขาก็รักทำงานด้านการค้าทุกประเภท ทำอุตสาหกรรม ทำงานด้านการเงิน เหมือง และงานทั่วไปที่ได้รับค่าจ้าง

แต่ท่ามกลางความหลากหลาย สิ่งที่ชัดเจนคือการเลื่อนสถานะทางสังคมในสังคมจีนมีอัตราสูงอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วง พ.ศ. 2423-2453 ผู้อพยพที่เข้ามาแม้จะมีทรัพย์สินติดตัวไม่มาก แต่จุดเด่นของพวกเขาคือความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการสร้างเนื้อสร้างตัว

และด้วยจุดเด่นเรื่องความชำนาญและความนิยมทำการค้าของผู้อพยพชาวจีน (ซึ่งช่วงหนึ่งมีจีนแต้จิ๋วเป็นส่วนใหญ่) จึงมักพบเห็นผู้ประสบความสำเร็จในด้านการค้า อาทิ จางติง ผู้ก่อตั้งบริษัทจิ้นเฉิงหลี (กิมเซ่งหลี) และ เฉิน ฉือหง เช่นเดียวกับกรณีของบรรพบุรุษตระกูลเจียรวนนท์ ดังที่ธนินท์ เล่าว่า คุณพ่อเห็นช่องทางทำการค้า นำเมล็ดพันธุ์มาจากเมืองจีนขายให้เกษตรกรและส่งขายให้ร้านค้าปลีก จากนั้นจึงเปิดร้านที่เยาวราช กลายเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจการค้าที่ทำให้ตระกูลเจียรวนนท์ ประสบความสำเร็จกลายเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ผู้นำตระกูลติดอันดับบุคคลร่ำรวยที่สุดในโลก 100 อันดับแรกดังเช่นทุกวันนี้

เมื่อนำบริบทในข้อมูลที่มาจากการบอกเล่าของธนินท์ เจียรวนนท์ เข้าพิจารณาร่วมกับข้อมูลสถานการณ์ที่บทความนี้บรรยายไปอาจช่วยให้เห็นพัฒนาการและภูมิหลังต่างๆ ในภาพกว้างของการย้ายถิ่นที่เกิดขึ้น

แต่ภูมิหลังดังกล่าวนี้เป็นการฉายภาพกว้างในภาพรวมอันเกี่ยวกับการอพยพย้ายถิ่นของชาวจีน (ซึ่งมีตระกูลเจียรวนนท์เป็นหนึ่งในนั้น) คงไม่อาจเหมารวมได้ว่า ข้อมูลภูมิหลังเหล่านี้เป็นกระจกสะท้อนการอพยพย้ายถิ่นของเจียรวนนท์อย่างสมบูรณ์ไปทั้งหมด แต่อย่างน้อยภูมิหลังเหล่านี้ช่วยขยายหรือเป็นการอธิบายภาพกว้างเพิ่มเติมจากเคสของเจียรวนนท์ให้ผู้อ่านได้เห็นภาพโดยรวมได้มากขึ้น


อ้างอิง:

ถาวร สิกขโกศล. แต้จิ๋ว : จีนกลุ่มน้อยที่ยิ่งใหญ่. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554.

จี. วิลเลียม สกินเนอร์. สังคมจีนในไทย ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์. แปลโดย พรรณี ฉัตรพลรักษ์, ภรณี กาญจนัษฐิติ และคณะ. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2548

“ที่มาของชาวจีนแต้จิ๋ว อ่าวจังหลิน อพยพมาไทยระยะแรก ถึงครอบครัวของแต้สิน (ตากสิน)”. ใน ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เผยแพร่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2561. เข้าถึง 28 สิงหาคม พ.ศ. 2562. <https://www.silpa-mag.com/history/article_21403>

ธนินท์ เจียรวนนท์. “จากเมืองแต้จิ๋ว สู่การตั้งรกรากที่กรุงเทพฯ (2)”. แปลและเรียบเรียงโดย ภรณี จิรวงศานนท์, มร.หวง เหวยเหว่ย. ใน กรุงเทพธุรกิจ. ออนไลน์. เผยแพร่ 18 กันยายน พ.ศ. 2559. เข้าถึง 28 สิงหาคม พ.ศ. 2562. <https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/720073>

_____________. ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : มติชน, 2562

THE WORLD’S REAL-TIME BILLIONAIRES. Forbes. Online. Access 28 AUG 2019. <https://www.forbes.com/real-time-billionaires/#7137a5f3d788>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กันยายน 2562