ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2551 |
---|---|
ผู้เขียน | ปเรตร์ อรรถวิภัชน์ |
เผยแพร่ |
สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงได้รับการยกย่องให้เป็น “มหาราช” ด้วยคุณูปการอันใหญ่หลวงที่มีต่อปวงชนชาวไทยโดยเฉพาะบทบาทในการกอบกู้เอกราชของชาติ แต่ในขณะเดียวกันเรื่องราวของพระองค์ก็ยังคลุมเครืออยู่มากเนื่องจากพระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ ล้วนถูกชำระขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จึงทำให้ประวัติศาสตร์เต็มไปด้วยเงื่อนงำ เริ่มตั้งแต่ที่ประสูติ ชีวิตในวัยเยาว์ การขึ้นเป็นเจ้าเมืองตากไปจนถึงกรณีสวรรคต
จึงเป็นที่ถกเถียงกันมาตลอดว่าจริงๆ แล้วสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเป็นใคร มาจากไหน พระราชบิดา พระราชชนนีของพระองค์มีภูมิหลังอย่างไร รวมไปถึงคำถามที่ว่าพระองค์สวรรคตเมื่อไหร่ และโดยวิธีใดกันแน่?
พระราชประวัติก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินที่เราทราบกันดีนั้นส่วนใหญ่จะถูกลอกมาเป็นทอดๆ จากหนังสือเรื่องอภินิหารบรรพบุรุษ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเรื่องที่ ก.ศ.ร.กุหลาบ (กุหลาบ ตฤษณานนท์) นักประวัติศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังอื้อฉาวได้แต่งหรือ “กุ” ซึ่งหมายความว่าอาจจะมีทั้งเรื่องจริงและเรื่องเท็จปะปนกันโดยที่ผู้เขียนน่าจะได้ข้อมูลบางส่วนมาจากพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ผู้ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชและกวีเอกในรัชกาลที่ 4
หนังสือดังกล่าวจะเต็มไปด้วยเหตุการณ์อภินิหารเหนือธรรมชาติและได้ระบุว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 5 ขึ้น 15 ค่ำ ปีขาล จุลศักราช 1096 ซึ่งจะตรงกับปี พ.ศ. 2277 มีพระราชบิดาชื่อไหยฮองที่ขุนพัฒน์ ส่วนพระราชชนนีชื่อนกเอี้ยง โดยสองสามีภรรยาอาศัยอยู่ใกล้กับจวนของเจ้าพระยาจักรีแถวกำแพงเมืองพระนคร และเมื่อกุมาร (สมเด็จพระเจ้าตากสิน) คลอดได้ 3 วัน ก็มีงูเหลือมใหญ่มาขดตัวเป็นวงกลมอยู่รอบกายกุมาร ฝ่ายขุนพัฒน์ผู้เป็นบิดามาพบเห็นเกรงว่าจะเป็นลางร้ายตามธรรมเนียมจีน และตั้งใจจะนำบุตรไปทิ้งเสียให้พ้นบ้าน แต่เจ้าพระยาจักรีได้ทราบเรื่องและเกิดความสงสารจึงขอไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม
โดยในตอนหนึ่งของหนังสือได้พรรณนาว่า “จำเดิมแต่เจ้าพระยาจักรีได้รับบุตรจีนไหยฮองมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมจนเจริญก็ได้ลาภและทรัพย์สินสมบัติเป็นอันมาก เจ้าพระยาจักรีจึงตั้งชื่อกุมารว่านายสินเป็นเหตุนี้ที่กล่าวมานั้น ครั้นนายสินค่อยเจริญใหญ่อายุศม์ได้ 9 ขวบแล้ว เจ้าพระยาจักรีจึงได้นำกุมารไปฝากไว้ในสำนักพระอาจารย์ทองดี มะหาเถร ณ วัดโกษาวาศน์…” ตามเนื้อเรื่องที่ปรากฏนั้น เมื่อเด็กชายสินอายุได้ 13 ปี ก็ได้เป็นเจ้ามือแทงถั่วในวัดและโดนพระอาจารย์ทองดีจับได้จึงทำโทษโดยการจับมัดกับบันไดในเวลาที่น้ำขึ้นเพื่อเป็นตัวอย่างกับศิษย์คนอื่นๆ
หลังจากนั้นพระอาจารย์ก็ไปสวดพระพุทธมนต์ในพระอุโบสถจนถึงเวลาประมาณหนึ่งยามเศษ จึงนึกขึ้นได้ว่ายังมิได้ปลดเชือกให้เด็กชายสิน และนิมนต์พระสงฆ์จำนวนมากลงไปค้นหาที่แม่น้ำ แต่เมื่อไปถึงบริเวณดังกล่าวปรากฏว่าน้ำได้ท่วมเต็มตลิ่งแต่บันไดได้หลุดลอยขึ้นมา พระสงฆ์จึงช่วยกันแก้มัดและพาเด็กชายสินขึ้นไปในพระอุโบสถเพื่อสวดพระพุทธมนต์คาถาชยันตะมงคลเป็นการทำขวัญให้
นิทานในเชิงอภินิหารนี้น่าจะชี้ให้เห็นอย่างค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นเรื่องที่ถูกแต่งขึ้นโดยที่ผู้เขียนต้องการที่จะยกยอพระบารมีของสมเด็จพระเจ้าตากสินให้อยู่เหนือสามัญชนทั่วไปตามแบบฉบับของพระเจ้าแผ่นดินในสมัยก่อน เพราะถ้าหากเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องจริงก็ต้องถือว่าแปลกมากๆ ที่พระอาจารย์จะจดบันทึกเกี่ยวกับเด็กคนหนึ่งอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพราะถึงแม้ว่าเด็กชายสินอาจจะเป็นบุตรบุญธรรมของเจ้าพระยาจักรีแต่ในเวลานั้นท่านก็เป็นเพียงลูกศิษย์วัดคนหนึ่งที่ไม่ได้มีตำแหน่งเป็นขุนนางใหญ่โตหรือเป็นเชื้อพระวงศ์ที่สูงศักดิ์ จึงไม่น่าจะได้รับความสนใจจากพระอาจารย์มากมายถึงเพียงนี้ และยังเป็นที่เชื่อว่าหนังสือดังกล่าวถูกเขียนขึ้นในราวรัชกาลที่ 4-5 โดยที่เนื้อเรื่องส่วนใหญ่น่าจะมาจากจินตนาการหรือการคาดเดาของผู้เขียน เพราะข้อมูลที่ปรากฏจำนวนมากไม่สามารถที่จะนำมายันกับหลักฐานชั้นต้นชิ้นอื่นๆ ได้
แต่ในทางกลับกันหนังสือเล่มอื่นๆ ที่เขียนขึ้นในภายหลังมักจะลอกมาจากหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ ดังนั้นข้อมูลเหล่านี้จึงปรากฏอยู่มากมายจนคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นเรื่องจริง
หนังสือเล่มเดียวกันยังได้เล่าต่อไปอีกว่าเมื่อนายสินเติบใหญ่ขึ้นเจ้าพระยาจักรีได้พาไปถวายตัวเป็นมหาดเล็กวังหลวง โดยในเวลาต่อมาสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ได้โปรดเกล้าฯ ให้นายสินเป็นข้าหลวงอัญเชิญท้องตราพระราชสีห์ขึ้นไปชำระความที่หัวเมืองฝ่ายเหนือ ปรากฏว่านายสินมีความชอบจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตากและพระยาตากตามลำดับ และเมื่อพระยาวชิรปราการเจ้าเมืองกำแพงเพชรได้ถึงแก่อนิจกรรม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้พระยาตากลงมาเข้าเฝ้าฯ ยังกรุงศรีอยุธยาเพื่อโปรดเกล้าฯ เลื่อนตำแหน่งให้ แต่ท่านก็ไม่ได้มีโอกาสกลับขึ้นไปครองเมืองกำแพงเพชรเพราะกองทัพพม่าได้เข้ามาประชิดเมือง ท่านจึงต้องทำหน้าที่ช่วยป้องกันพระนครโดยเป็นผู้รักษาป้อมปืนทางฝั่งตะวันออก
เรื่องที่ว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเคยรับราชการเป็นมหาดเล็กนี้ นอกจากจะปรากฏในเรื่องอภินิหารบรรพบุรุษ ยังมีอยู่ในจดหมายเหตุประถมวงศกุลบุนนาค ซึ่งระบุว่า “ท่านบุนนาคกับเจ้าตากเป็นมหาดเล็กในกรุงเก่าจึงเป็นมิตรสนิทเสน่หารักใคร่เที่ยวเล่นกันอยู่หลับนอนมาด้วยกันเป็นนิตย์ วันเมื่อเกิดบาดหมางกันนั้นเพราะเหตุด้วยพระเจ้าตากแต่ยังเป็นมหาดเล็กอยู่นั้นนอนหลับ ท่านบุนนาคเอาผมเปียพระเจ้าตากผูกไว้กับฟากร้านเป็นการหยอกเล่น แล้วท่านบุนนาคก็หนีไป ครั้นพระเจ้าตากตื่นขึ้นก็โกรธท่านบุนนาค ตั้งแต่นั้นมาก็มีบาดหมางมึนตึงกันไม่สนิทดังแต่ก่อน”
แต่ถึงแม้ว่าจะมีเรื่องราวเดียวกันปรากฏอยู่ในเอกสาร 2 เล่ม ก็ไม่ได้แปลว่าจะเป็นจริงเสมอไป เพราะเรื่องที่สมเด็จพระเจ้าตากสินกับท่านบุนนาคไม่ถูกกันนี้เป็นที่ทราบกันดี เนื่องจากในแผ่นดินกรุงธนบุรีท่านบุนนาคไม่ได้กลับเข้ารับราชการแต่จะคอยติดตามเป็นทนายหน้าหอให้กับเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) แต่สาเหตุที่ไม่ถูกกันนั้นฟังดูไม่ค่อยจะมีเหตุผลสักเท่าไหร่ และถ้าหากสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเป็นบุตรบุญธรรมของเจ้าพระยาจักรีและเป็นมหาดเล็กจริงก็คงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ท่านจะไว้ผมเปียและยังจะรับราชการอยู่ในวังหลวงได้
หากพิจารณาถึงประเด็นเกี่ยวกับภูมิหลังและประวัติการรับราชการของสมเด็จพระเจ้าตากสินนั้น นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ต่างก็ยอมรับว่าพระองค์ทรงเคยดำรงตำแหน่งเป็นพระยาตากจริง เพราะปรากฏหลักฐานทั้งไทยและเทศ เช่น พงศาวดารพม่าที่กล่าวถึงท่าน แต่เรื่องอื่นๆ เช่น การเป็นบุตรบุญธรรมของเจ้าพระยาจักรี หรือการเป็นมหาดเล็กหลวงก็ล้วนเป็นที่น่าสงสัย และในภายหลังได้มีการค้นพบข้อมูลซึ่งทำให้เกิดมุมมองใหม่ๆ ที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง และให้การศึกษาพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมีความเข้มข้นมากขึ้นไปอีก หนังสือจดหมายเหตุประถมวงศกุลบุนนาค ก็เป็นเอกสารอีกชิ้นหนึ่งที่ดูจะมีพิรุธ เพราะเพิ่งจะถูกเขียนขึ้นในรัชกาลที่ 5 โดยอ้างว่าได้เรียบเรียงมาจากจดหมายเหตุของบรรพชนสกุลบุนนาคซึ่งเป็นพระยาจุฬาราชมนตรีท่านสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา
นอกจากนี้หนังสือดังกล่าวและหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษนั้นน่าจะถูกเขียนขึ้นในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน และมีคำถามที่ว่าหนังสือทั้ง 2 เล่มนี้เป็นอิสระจากกันหรือไม่ หรือเพราะว่าลอกกันมา เรื่องราวที่ปรากฏจึงได้ตรงกัน?
ดังนั้นหากเราไม่ยึดถือข้อมูลจากหนังสือทั้ง 2 เรื่องนี้ก็ไม่มีหลักฐานใดเลยที่เชื่อได้ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเคยผ่านการเลี้ยงดูหรือถูกอบรมในแบบฉบับของผู้ดีกรุงเก่า แต่อย่างไรก็ดี ครอบครัวของพระองค์น่าจะมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาหรือในแถบภาคกลาง เพราะมีหลักฐานเช่นพงศาวดารญวนฉบับนายหยองซึ่งระบุว่าพระองค์มีพระราชบิดาเป็นจีนแต้จิ๋วตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตกรุงเก่าและตอนที่เสียกรุงพระราชชนนีของพระองค์ (ท่านนกเอี้ยง) ก็ได้ไปพำนักอยู่ที่อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งอาจจะเป็นภูมิลำเนาเดิมของท่าน หรืออย่างน้อยท่านก็คงจะมีญาติโยมอยู่ที่นั่นที่พอจะพึ่งพาอาศัยได้ และยังเป็นที่เชื่อว่าพระยาเพชรบุรี (เรือง) ซึ่งเสียชีวิตในการป้องกันพระนครจากการรุกรานของพม่ายังมีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติกับสมเด็จพระเจ้าตากสินอีกด้วย
นายกองเกวียนวิ่งเต้นเป็นเจ้าเมืองตาก?
ในหนังสือการเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้ชี้ให้เห็นถึงหลักฐานชั้นต้นที่ท่านค้นพบซึ่งล้มล้างความเชื่อที่ว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเป็นผู้ดีกรุงเก่าหรือบุตรบุญธรรมของเจ้าพระยาจักรี แต่พระองค์ทรงมีที่มาที่ออกจะธรรมดามากๆ กล่าวคือพระองค์ทรงเป็นนายกองเกวียนซึ่งหมายถึงพ่อค้าข้าวที่ทำมาค้าขายอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ เพราะมีข้อความในพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศซึ่งระบุว่า “เดิมชื่อจีนแจ้ง เป็นพ่อค้าเกวียนมีความชอบในแผ่นดิน ได้ไปเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอยู่ ณ เมืองตาก”
นอกจากนี้ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ยังได้ระบุหลักฐานที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับภูมิหลังของสมเด็จพระเจ้าตากสินก่อนที่จะขึ้นเป็นเจ้าเมืองตากตามที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับ 2/ก 101 ซึ่งกล่าวว่า
ครั้นอยู่มาจีนผู้นั้นเป็นคนมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ช่วยกรมการชำระถ้อยความของราษฎรอยู่เนืองๆ เจ้าเมืองตากนั้นได้ป่วยลงก็ถึงแก่ความตาย จีนมีชื่อผู้นั้นก็ตัดผมเป็นไทยลงมา ณ กรุงศรีอยุธยาจะเดินเป็นเจ้าเมืองตาก จึงเข้ามาหานายสดเป็นคนรักกันกับชายมีชื่อผู้นั้น นายสดก็พาชายผู้นั้นไปหาหลวงชาญภูเบส นายเวนมหาดเล็กของขุนหลวงหาวัด หลวงนายชาญภูเบสก็ไปหาพระยาจักรีว่าชายมีชื่อจะเดินเป็นเจ้าเมืองตาก จะกราบเท้าเจ้าคุณให้ช่วยด้วย พอมีหนังสือลงมาวางเวนว่าเจ้าเมืองตากนั้นถึงแก่อนิจกรรมเสียแล้ว พระยาจักรีนำบอกขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า เจ้าเมืองตากถึงแก่กรรมเสียแล้ว พระเจ้าอยู่หัวทรงพระดำริว่าเมืองตากเล่าก็เป็นเมืองหน้าศึกอยู่ ให้พระยาจักรีหาคนที่มีสติปัญญาพอจะเป็นได้ พระยาจักรีครั้นเห็นได้ท่วงทีแล้วก็กราบบังคมทูลว่าเห็นจะจัดแจงได้…พระยาจักรีก็นำเอาชายมีชื่อผู้นั้นเข้าถวายบังคม ทรงพระกรุณาโปรดให้เป็นพระยาตาก…”
ชื่อ “แจ้ง” ที่ปรากฏในพงศาวดารฯ น่าจะเพี้ยนมาจาก “เจิ้ง” (Zheng) เพราะแซ่ “แต้” ซึ่งเป็นแซ่ของสมเด็จพระเจ้าตากสินนั้นในภาษาจีนกลางจะออกเสียงว่า “เจิ้ง” และจากข้อความที่ปรากฏจะเห็นได้ชัดว่าผู้เขียนเป็นฝ่ายที่ไม่นิยมชมชอบสมเด็จพระเจ้าตากสินและคงต้องการที่จะ “ดิสเครดิต” พระองค์ แต่ถึงกระนั้นก็น่าจะมีความเป็นจริงอยู่บ้างและชี้ให้เห็นเบาะแสที่ว่าพระองค์ไม่ได้ทรงเป็นลูกผู้ดีกรุงเก่าและไม่ได้เป็นขุนนางในกรุงศรีอยุธยามาก่อน และยังมีผู้สันนิษฐานว่าเส้นทางจังหวัดตาก อยุธยา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราดนั้น เป็นเส้นทางที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีความรู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดีในสมัยที่มีอาชีพเป็นนายกองเกวียน จึงเป็นเหตุให้พระองค์ทรงเลือกที่จะเดินทัพจากกรุงศรีอยุธยาผ่านไปทางเส้นทางดังกล่าว
ประกอบกับการที่จังหวัดจันทบุรีมีชาวจีนแต้จิ๋วอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากอีกด้วย ถ้าหากสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเคยเป็นนายกองเกวียนจริงก็แปลว่าในอดีตพระองค์ทรงเป็นชาวบ้านที่ทำมาค้าขายอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ คล้ายๆ กับพวกเคาบอยที่คุมกองคาราวานในประเทศตะวันตก เพราะในสมัยนั้นมีโจรผู้ร้ายชุกชุม
ดังนั้นคนที่เป็นนายกองเกวียนได้จะต้องมีความสามารถเป็นทั้งพ่อค้าและนักรบในเวลาเดียวกันและการสั่งสมบารมีเงินทองและสมัครพรรคพวกอาจจะทำให้พระองค์สบโอกาสวิ่งเต้นขึ้นเป็นเจ้าเมืองตากโดยการประมูลตำแหน่งซึ่งเป็นเรื่องปกติในสมัยนั้น
หากวิเคราะห์เปรียบเทียบในเบื้องต้นระหว่างเรื่องอภินิหารบรรพบุรุษ และเรื่องการเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภูมิหลังของสมเด็จพระเจ้าตากสินนั้น ผู้เขียนเห็นว่าทางฝ่ายหลังค่อนข้างจะมีน้ำหนักและเหตุผลมากกว่า เพราะถ้าหากพระองค์ทรงเป็นบุตรบุญธรรมของเจ้าพระยาจักรีและเคยเป็นมหาดเล็กวังหลวงจริง ถ้าใช้ภาษาปัจจุบันก็ต้องเรียกว่าพระองค์ทรงเป็นพวกลูกท่านหลานเธอ หรืออาจจะเทียบได้กับลูกรัฐมนตรีเลยทีเดียว และถ้าเป็นเช่นนั้นจริงทำไมพระองค์ถึงทรงถูกส่งไปประจำการที่เมืองตากซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านที่อยู่ห่างไกลความเจริญถึงขนาดนั้น
ดังนั้นเรื่องที่ว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเคยรับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงนั้นน่าจะเป็นการเขียนขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระองค์ เพราะในสมัยก่อนผู้ที่จะได้รับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงจะต้องมีคุณสมบัติที่เรียกว่า “วุฒิ 4″ และ “อธิบดี 4” ซึ่งหมายความว่าวงศ์ตระกูลของผู้นั้นจะต้องเป็นขุนนางมาแล้วอย่างน้อย 4 ชั่วคนพร้อมทั้งจะต้องมีคุณสมบัติเฉพาะตัวอื่นๆ อีก ได้แก่ ความพึงพอใจ ความเพียร สติปัญญา และความใส่ใจในการงาน ซึ่งผู้ที่เขียนเรื่องอภินิหารบรรพบุรุษ คงจะทราบประเด็นเหล่านี้ดีและเนื่องจากต้องการที่จะสร้างพล็อตเรื่องว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีชาติตระกูลและประวัติการรับราชการในราชสำนักมาก่อนที่จะขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน จึงจำเป็นที่จะต้องแต่งเรื่องให้เป็นบุตรบุญธรรมของเจ้าพระยาจักรีเพื่อให้พระองค์มีคุณสมบัติที่จะถวายตัวเป็นมหาดเล็กหลวงได้
ลูกจีนแต้จิ๋ว
ทางด้าน ดร. ต้วน ลี เซิง ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ชาวจีนได้กล่าวในหนังสือเกี่ยวกับพระราชบิดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินว่าเอกสารจีนต่างก็กล่าวอ้างไม่ตรงกัน บ้างก็ว่าภูมิลำเนาของท่านอยู่ที่เมืองหุ้ยโจว บางแหล่งก็ว่าอยู่ที่ไห่เฟิง (ไฮฟอง) หรือไม่ก็ที่เฉิงไห่ ซึ่งเมืองเหล่านี้ล้วนอยู่ในจังหวัดแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้งทั้งสิ้น
ส่วนตัวท่านเองเชื่อว่าพระราชบิดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมีภูมิลำเนาอยู่ที่หมู่บ้านหัวฟู่ เมืองเฉิงไห่ เนื่องจากที่เมืองดังกล่าวมีสุสานซึ่งเชื่อว่าเป็นที่บรรจุฉลองพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าตากสิน (บ้างก็ว่าเป็นของพระราชบิดา) โดยในปัจจุบันเมืองดังกล่าวมีประชากรประมาณ 7 แสนกว่าคน และเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ขึ้นชื่อเรื่องการผลิตของเล่นเด็กส่งออกไปทั่วโลก ชาวเฉิงไห่จะเรียกสถานที่ดังกล่าวว่าสุสานของ “แต้เจียว” ซึ่งเป็นแซ่ที่มีผู้ใช้ค่อนข้างมากในประเทศไทย คือประมาณ 20,000 กว่าคน และตระกูลดังๆ อาทิ เตชะไพบูลย์ หรือ เตชะรัตนประเสริฐ เดิมก็คือ “แซ่แต้” นั่นเอง
นอกจากนี้มีอีกหลายตระกูลของไทยซึ่งเดิมทีได้อพยพมาจากเมืองเฉิงไห่ เช่น ตระกูลเจียรวนนท์ รัตตกุล และหวั่งหลี เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์และส่งราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศจีนก็ได้ทรงใช้ “แซ่แต้” ตามสมเด็จพระเจ้าตากสิน โดยใช้พระนามในพระราชสาส์นว่า “แต้ฮั้ว” จนกลายเป็นประเพณีสืบต่อกันมาจนถึงรัชกาลที่ 4 ดังนี้
สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงพระนามว่า “แต้เจียว”
รัชกาลที่ 1 ทรงพระนามว่า “แต้ฮั้ว”
รัชกาลที่ 2 ทรงพระนามว่า “แต้หก”
รัชกาลที่ 3 ทรงพระนามว่า “แต้ฮุด”
รัชกาลที่ 4 ทรงพระนามว่า “แต้เม้ง”
ทางด้านพระราชบิดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินนั้นยังมีทฤษฎีอีกด้วยว่านายไหยฮองนั้นไม่มีตัวตน แต่พระราชชนนีของสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นสตรีจีนและเอาชื่อไหยฮอง (ซึ่งผู้เขียนเข้าใจว่าอาจเพี้ยนมาจากชื่อหมู่บ้านไฮฟอง) มาตั้งเป็นชื่อของสามี ส่วนบางแหล่งก็ว่าไหยฮองเป็นชื่ออำเภอซึ่งน่าจะเป็นที่กำเนิดของพระราชบิดา
ไม่ว่าพระราชบิดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินจะมีนามว่าอะไรก็ตาม มีหลักฐานจำนวนมากที่ยืนยันว่าพระองค์ทรงเป็นลูกชาวจีน ตัวอย่างเช่นพระราชพงศาวดารราชวงศ์เช็งในรัชสมัยของจักรพรรดิเฉียนหลงซึ่งระบุว่า “บิดาเจิ้งเจาเป็นชาวมณฑลกวางตุ้งไปทำมาค้าขายอยู่ที่เสียมล่อก๊ก (ประเทศไทย) และเกิดเจิ้งเจาที่นั่นเมื่อเจิ้งเจาเติบใหญ่เป็นผู้มีความสามารถได้เข้ารับราชการอยู่ในเสียมล่อก๊ก เมื่อเจิ้งเจารบชนะพม่าแล้วราษฎรทั่วไปยกขึ้นเป็นเจ้าครองประเทศ…”
ถึงแม้ในภายหลังจะมีนักเขียนบางท่านที่พยายามจะลบล้างความเป็นจีนของสมเด็จพระเจ้าตากสินเพื่อให้มีภาพลักษณ์เป็นผู้ดีมากขึ้น แต่ก็มีหลักฐานชั้นต้นจำนวนมากมายที่ยืนยันความเป็นลูกจีนของพระองค์ ซึ่งอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้อ้างถึงในหนังสือการเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ตัวอย่างเช่น จดหมายของบาทหลวงฝรั่งเศสลงวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2311 ที่ระบุว่า “พระยาตากซึ่งเป็นชาติจีนครึ่งหนึ่ง…” และในคำให้การของขุนพรหมเสนา ซึ่งกล่าวว่า “ให้จีนเมืองไทยเป็นพระยาเมืองตาก” และที่สำคัญพระองค์เองก็มิได้ปิดบังว่าทรงมีเชื้อสายจีนเพราะในขณะที่เป็นพระเจ้าแผ่นดินก็ประทับที่เก๋งจีนในบริเวณพระราชวังเดิมและพระราชบิดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินจะต้องเป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่มาจากตระกูล “แต้” แน่นอน เพราะพระองค์ได้ใช้แซ่ดังกล่าวในพระราชสาส์นที่ติดต่อกับจักรพรรดิเฉียนหลงของจีน
โอรสลับของพระเจ้าแผ่นดิน?
ปริศนาเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าตากสินยังรวมไปถึงความเชื่อตามพงศาวดารกระซิบที่ว่าพระองค์ทรงเป็นบุตรของสตรีจีนซึ่งเป็นสนมลับของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โดยสตรีผู้นี้จริงๆ แล้วมีชื่อว่าไหยฮอง แต่เนื่องจากไม่อยากให้ผู้คนทราบความจริงเพราะเกรงว่าจะเป็นอันตรายต่อบุตรชายจึงแต่งเรื่องขึ้นมาว่าพระราชบิดาของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ชื่อไหยฮองและตนชื่อนกเอี้ยง และเมื่อให้กำเนิดกุมารแล้วท่านก็มีสามีใหม่เป็นคนจีน โดยเจ้าพระยาจักรีเป็นผู้ถูกฝากฝังให้ดูแลเลี้ยงดู
แต่เรื่องสนมลับนี้ดูจะไม่เข้ากับสถานการณ์ในสมัยโน้น เนื่องจากในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรีเรื่อยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ พระเจ้าแผ่นดินของไทยจะไม่มีสนมลับ (royal mistress) ซึ่งจะไม่เหมือนกับระบบของฝรั่ง เพราะพระเจ้าแผ่นดินของไทย ถ้าพอพระทัยหญิงสาวคนไหนในพระราชอาณาจักรก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องปิดบังหรือซ่อนเร้นอะไร
ผู้หญิงคนนั้นจะได้เป็นเจ้าจอมอย่างเปิดเผย ยิ่งเป็นสาวชาววังอยู่แล้วก็ยิ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีโอกาสได้เป็นเจ้าจอม เพราะผู้หญิงในวังทุกคนอยู่ในข่าย “นางราชภัฏกษัตรีย์” คือหญิงที่เป็นสิทธิ์ของพระเจ้าแผ่นดินอยู่แล้ว
พูดง่ายๆ ก็คือพระเจ้าแผ่นดินจะทรงชี้เอานางไหนเป็นสนมก็ได้ทั้งหมด และถือเป็นบุญวาสนาของผู้หญิงด้วย ยิ่งถ้าให้กำเนิดบุตรชายก็จะได้เป็นพระองค์เจ้า พระราชบิดาคงจะไม่ไปยกให้ใครนอกวัง และกฎมณเฑียรบาลก็รับรองว่าผู้ชายไทยสามารถที่จะมีภรรยาได้หลายคนอย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยทางฝ่ายเมียหลวงจะมีศักดินาครึ่งหนึ่งของสามี ส่วนทางฝ่ายเมียน้อยจะมีศักดินาครึ่งหนึ่งของเมียหลวง
ดังนั้นคำว่า “เมียลับ” จึงไม่มี ยิ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยแล้วพระองค์จะเรียกผู้หญิงคนไหนมาเป็นบาทบริจาริกาก็สามารถกระทำได้อย่างเปิดเผย ไม่มีเหตุผลที่จะต้องปิดบังและผู้หญิงคนนั้นจะต้องมาประจำอยู่ในวังทันทีไม่มีสิทธิ์ที่จะออกนอกวังไปมีสามีใหม่ เพิ่งจะมีในรัชกาลที่ 4 เท่านั้นที่มีพระบรมราชโองการให้เจ้าจอมในรัชกาลก่อนๆ และในรัชกาลของพระองค์ที่ไม่สมัครใจอยู่ในวังอีกต่อไปให้ออกไปมีสามีใหม่ได้ แต่ถ้ามีลูก กล่าวคือถ้าเป็นเจ้าจอมมารดาแล้วถ้าจะปรารถนาจะออกไปมีครอบครัวใหม่ก็จะต้องตัดขาดจากลูกไปเลย ซึ่งในทางปฏิบัติก็เหมือนกับการห้ามมิให้ไปมีสามีใหม่นั่นเอง เพราะลูกที่เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดินย่อมจะมีพ่อเลี้ยงไม่ได้ ถือเป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติยศ
แต่ยังมีผู้โต้เถียงอีกว่าพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงต้องการจะปกปิดโอรสองค์นี้ เพราะท่านนกเอี้ยงได้ตั้งครรค์ในช่วงที่พระองค์ยังทรงดำรงสถานะเป็นเจ้าฟ้าพรและยังต้องแย่งชิงราชบัลลังก์กับเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์ พระองค์จึงทรงต้องการปกป้องเลือดเนื้อเชื้อไขของตน ในกรณีที่กระทำการยึดอำนาจไม่สำเร็จ จึงได้ให้เจ้าพระยาจักรีซึ่งเป็นลูกน้องคนสนิทนำเด็กชายสินไปเลี้ยงดูเป็นบุตรบุญธรรม แต่ผู้เขียนคิดว่าเรื่องดังกล่าวฟังไม่ขึ้นเพราะถ้าหากสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นโอรสลับของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจริง ฉะนั้นทำไมพระราชบิดาจึงไม่เปิดเผยหรือนำเด็กชายสินกลับไปเลี้ยงดูในพระราชวังภายหลังจากที่ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์?
เพราะฉะนั้นเรื่องพงศาวดารกระซิบที่ว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นโอรสลับของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงน่าจะเป็นเรื่องที่ถูกแต่งขึ้นภายหลังเพื่อเสริมพระเกียรติของพระองค์ทำนองที่ว่า พระองค์ทรงมีเชื้อสายราชวงศ์กรุงเก่าเหมือนกันเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือเช่นเดียวกับที่มีการอ้างว่าพระเจ้าเสือเป็นโอรสลับของสมเด็จพระนารายณ์ หรือพระเจ้าปราสาททองเป็นโอรสลับของสมเด็จพระเอกาทศรถ
จึงเห็นได้ว่าประวัติศาสตร์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินนั้นจะคละเคล้ากันระหว่างข้อเท็จจริงประกอบกับเรื่องราวที่โดนบิดเบือนเพื่อพยายามให้ “ประวัติศาสตร์” สอดคล้องกับเป้าหมายและค่านิยมทางการเมืองหรือบางส่วนก็ถูกจินตนาการขึ้นมาเพื่อพยายามที่จะเติมช่องว่างที่ขาดหายไป
แต่สิ่งที่จะปฎิเสธไม่ได้คือ การที่ลูกจีนคนหนึ่งได้ก้าวขึ้นมาท่ามกลางวิกฤตของบ้านเมืองและได้สร้างวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ในการกอบกู้เอกราชของชาติจนพระองค์กลายเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวและการเสียสละเพื่อแผ่นดินเกิดซึ่งพี่น้องชาวไทยมิอาจจะลืมเลือนได้
อ่านเพิ่มเติม :
- พระเจ้าตาก กับบทบาทของนายหมุด (จักรีแขก) “ทหาร” มุสลิมคู่พระทัย
- ที่มาของอนุสาวรีย์พระเจ้าตากฯ วงเวียนใหญ่ กับศรัทธาของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- ซากเรือเสม็ดงามหลักฐานการกู้ชาติของพระเจ้าตากสิน?
- “พระเจ้าตาก” ทรงแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ด้วยการค้าสำเภาจีน กำไรมากถึงร้อยละร้อย!.
เอกสารประกอบการค้นคว้า :
นครสวรรค์วรพินิต, สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้า กรมพระ. โปรดให้พิมพ์เป็นของชำร่วยพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าปิยภักดีนารถ. อภินิหารบรรพบุรุษ. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2473.
นิธิ เอียวศรีวงศ์. กรุงแตก พระเจ้าตากฯ และประวัติศาสตร์ไทย. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน, 2545.
_____. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. พิมพ์ครั้งที่ 9. กรุงเทพฯ : มติชน, 2550.
โบราณราชธานินทร์, พระยา. อธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยา กับคำวินิจฉัยของพระยาโบราณราชธานินทร์. ชำระครั้งที่ 2. พระนคร : กรมศิลปากร, 2472.
สุดารา สุจฉายา. ประวัติศาสตร์สมัยกรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ : สารคดี, 2550.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 สิงหาคม 2562