ซากเรือเสม็ดงามหลักฐานการกู้ชาติของพระเจ้าตากสิน?

ซากเรือเสม็ดงาม พระเจ้าตากสิน
การขุดค้น ซากเรือเสม็ดงาม เมื่อเดือนมีนาคม-เมษายน 2532 โดยโครงการโบราณคดีใต้น้ำ ฝ่ายวิชาการ กองโบราณคดี กรมศิลปากร (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมีนาคม 2533)

ซากเรือเสม็ดงาม หลักฐานการกู้ชาติของ พระเจ้าตากสิน !?

วันที่ 7 เมษายน จุลศักราช 1129 พุทธศักราช 2310 กำแพงพระนครศรีอยุธยาถูกทำลายลง

ทหารพม่าที่เพียรพยายามโจมตีกรุงศรีอยุธยาอยู่เป็นเวลานานหลายเดือนก่อนหน้านั้น ก็พากันกรูเข้าภายในพระนคร พากันเผาทำลายบ้านเรือน วัดวาอาราม สถูปเจดีย์ พระราชวัง และแม้แต่พระพุทธรูปก็มิถูกละเว้น

พระนครศรีอยุธยาในครั้งนั้นถูกทำลายลงอย่างย่อยยับสุดประมาณ ตกอยู่ภายใต้อาณัติอำนาจกองทัพพม่าอีกเป็นคำรบที่สองและคำรบสุดท้าย

ก่อนหน้าที่พระนครศรีอยุธยาจะถึงแก่กาลพินาศ ทั้งชาววัง ชาวบ้านต่างตกอยู่ในภาวะระส่ำระสาย รวมกันไม่ติด บ้างก็จับกลุ่มกันหนีหายไม่สู้ศึก

และเมื่อวันเสาร์ ขึ้นสี่ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ จุลศักราช 1128 พระยาตาก ซึ่งคุมไพร่พลสู้ศึกพม่าอยู่ทางด้านวัดพิชัยนอกพระนครทางตะวันออก ก็ตัดสินใจพาไพร่พลในบังคับบัญชาทั้งไทยและจีนจำนวนหนึ่ง ตีฝ่าวงล้อมทหารพม่าออกไป ทางนครนายก ผ่านปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง และรวบรวมกำลังพลเป็นชุมนุมอิสระ และตั้งมั่นได้ที่เมืองจันทบูร หลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าได้เพียงสองเดือนเท่านั้น

ณ เมืองจันทบูร พระเจ้าตากสิน ทรงสะสมกำลังพล หามิตร สะสมเสบียงอาหารรวบรวมบรรดาชาวพ่อค้าสำเภาทางหัวเมืองชายทะเลตะวันออกทั้งหมด เข้ามาสมทบเตรียมการยกไปขับไล่กองทัพพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยา

การตระเตรียมกองทัพเพื่อกู้ชาติของพระเจ้าตากสิน ณ เมืองจันทบูร ไม่ใคร่ปรากฏรายละเอียดมากนักในหลักฐานเอกสาร แม้แต่ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 65 พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ซึ่งเป็นเอกสารที่ถือกันว่า มีความเป็นไปได้มากกว่าหลักฐานเอกสารฉบับอื่นๆ ก็กล่าวไว้แต่เพียงความสั้นๆ ว่า พระองค์ได้ยกกองเรือและกองทัพบกไปโจมตีชมรมพ่อค้าสำเภาที่ทุ่งใหญ่ (ตราด) และทรงมีชัยชนะเหนือชาวสำเภาทั้งหลาย จีนเจียม ซึ่งเป็นหัวหน้าชมรมพ่อค้าสำเภา ยอมสวามิภักดิ์และถวายธิดาให้เป็นบาทบริจาริกา

เมื่อเสด็จกลับเมืองจันทบูรแล้วก็โปรดให้มีการเตรียมกองทัพ โดยให้ต่อเรือรบจำนวนมาก ความในพระราชพงศาวดารฉบับเดียวกันกล่าวว่า

“…ในเวลานั้นก็เสด็จกลับมา ณ เมืองจันทบูร ยับยั้งอยู่ต่อเรือรบได้ 100 เศษ…”

หลังจากนั้นอีกเพียง 4-5 เดือน พระองค์ก็ยกกองทัพเรือจากเมืองจันทบูรเข้าไปตีค่ายพม่าที่ธนบุรีและโพธิ์สามต้น และกู้เอาเอกราชของกรุงศรีอยุธยาคืนมาได้

“เรือ” ยุทธปัจจัยสำคัญในการกู้ชาติ

ในประวัติศาสตร์ตลอดระยะเวลา 417 ปีของกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฏว่าเคยมีการรบโดยใช้กองทัพเรือที่ต้องเดินทางผ่านทางทะเลอย่างเป็นกิจลักษณะ เช่นในคราวที่พระเจ้าตากสินยกกองทัพจากเมืองจันทบูรไปยังธนบุรี

ดังนั้น อาจจะกล่าวได้ว่า พระเจ้าตากสิน ได้ทรงนำเอารูปแบบกองทัพเรือแบบใหม่มาใช้ในการรบกับพม่า ซึ่งรูปแบบและองค์ประกอบของกองทัพเรือของพระองค์แตกต่างไปจากกระบวนทัพเรือของกรุงศรีอยุธยา เพราะยุทธปัจจัยในการเดินทางคือเรือ พระองค์นำเอาเรือ “สำเภา” มาใช้เป็นยุทธพาหนะในการรบด้วย

ตามความในพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ที่ว่าพระองค์ให้มีการต่อเรือรบถึงร้อยกว่าลำ ณ เมืองจันทบูร เป็นประเด็นเล็กๆ ที่น่าสนใจ และเป็นปัญหาว่า “เรือรบ” ที่โปรดให้ต่อ เป็นเรือชนิดใด? ขนาดไหน? จึงสามารถต่อได้เป็นจำนวนถึงร้อยกว่าลำในระยะเวลาเพียง 3-4 เดือนเท่านั้น

เมื่อพิจารณาถึงความในพงศาวดารฉบับเดียวกัน ซึ่งบันทึกเหตุการณ์หลังจากสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่แทนกรุงศรีอยุธยาที่พินาศ แล้วทรงยกกองทัพเรือไปตีพม่าที่บางกุ้ง เมื่อจุลศักราช 1130 พุทธศักราช 2311 พระองค์ทรงเรือพระที่นั่งสุวรรณมหาพิชัยนาวา ซึ่งเป็นเรือยาว (แบบเรือหัวสัตว์) ขนาดยาว 11 วา กว้าง 3 ศอกเศษ ใช้พลกรรเชียง 28 คน

และเมื่อคราวเสด็จไปตีเมืองพุทไธมาศในปีจุลศักราช 1133 (พ.ศ. 2314) ซึ่งเป็นการเดินทัพทางทะเลเส้นทางเดียวกับเมื่อคราวยกทัพจากเมืองจันทบูรขับไล่พม่าที่ธนบุรี คราวนี้พระองค์ใช้เรือพระที่นั่งสำเภาทอง พร้อมทั้งเรือรบ 200 ลำ เรือสำเภาอีก 100 ลำ จึงไม่ต้องสงสัยอีกต่อไปแล้วว่า “เรือรบ” ที่ทรงให้ต่อถึงร้อยกว่าลำนั้น คือ เรือในตระกูลเรือยาว ใช้ฝีพายเรือพลกรรเชียงเป็นแรงขับเคลื่อน

แต่ในการเดินทัพทางทะเลจากเมืองจันทบูรไปธนบุรี คงต้องใช้เรือสำเภาด้วยอย่างแน่นอน เห็นได้จากคราวเสด็จยกทัพไปตีเมืองพุทไธมาศดังกล่าวแล้วนั่นเอง

ดังนั้นเมื่อย้อนไปในการเตรียมกองทัพเรือ ณ เมืองจันทบูร ครั้ง พ.ศ. 2310 นอกจากรวบรวมเสบียงอาหาร ศาสตราวุธ การต่อเรือรบและการรวบรวมกำลังคนแล้ว กิจกรรมสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่กองทัพพระเจ้าตากสินดำเนินการก็คือ การรวบรวมเรือสำเภาจากบรรดาพ่อค้าสำเภา (จีน) ซึ่งมีจำนวนมากแถบหัวเมืองชายทะเลจันทบูรและตราด และมีการซ่อมดัดแปลงเรือสำเภาให้แข็งแรงและมีสภาพเหมาะสมต่อการใช้ในกองทัพ

กิจการดังกล่าวคงจะทำกันอย่างเร่งรีบ และได้เรือสำเภาที่ใช้งานได้จำนวนไม่น้อย เห็นได้จากคราวที่ยกทัพกลับออกไปตีเมืองพุทไธมาศ พระองค์มีเรือสำเภาในกองทัพถึง 100 ลำทีเดียว และก็เชื่อว่าเรือสำเภาเหล่านั้นคงจะเป็นเรือที่พระองค์ได้มาจากเมืองจันทบูรเมื่อ พ.ศ. 2310 นั้นเป็นส่วนใหญ่

ซากเรือเสม็ดงาม หลักฐานการกู้ชาติ

หลักฐานเกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมการกู้ชาติของพระเจ้าตากสินที่เป็นรูปธรรม เช่น เรือรบ ปืนใหญ่ ศาสตราวุธต่างๆ ดังบรรยายในพงศาวดารว่ามีจำนวนมากมายนั้น ในปัจจุบันได้สูญหายผุสลายไปหมดแล้ว หรือจะมีเหลืออยู่ ณ ที่ใด ก็คงจะไม่มีใครสามารถชี้ชัดลงไปได้ว่าเป็นของจริงหรือไม่ ทั้งๆ ที่กาลเวลาเพิ่งผ่านพ้นไปเพียง 222 ปี

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ประวัติศาสตร์เหตุการณ์ดังกล่าว จึงมีเพียงบันทึกความเป็นเอกสารที่ให้ภาพไม่คมชัด และบางครั้งก็เลือนราง เป็นปัญหาอยู่มาก

ที่บ้านเกาะเสม็ดงามบนฝั่งตะวันออกของคลองอ่าวขุนไชย (แม่น้ำจันทบุรี) มีแอ่งน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอยู่ 2 แห่ง (แต่เดิมเมื่อประมาณ 50-60 ปีมาแล้ว มีหลายแห่ง อยู่ใกล้เคียงกัน : ข้อมูลสัมภาษณ์พระครูถาวรธรรมานุวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดเกาะเสม็ดงาม) ซึ่งชาวบ้านเชื่อถือกันต่อๆ มาว่าบริเวณแอ่งน้ำดังกล่าวนั้นเป็น “อู่ต่อเรือพระเจ้าตากสิน”

พ.ศ. 2523 มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้ทำพิธีทรงเจ้าและพากันขุดดินบริเวณแอ่งน้ำ พบซากเรือโบราณจมอยู่ในโคลนลำหนึ่ง จึงช่วยกันนำไม้โครงสร้างเรือขึ้นมาไว้ที่ศาลเจ้าที่ตั้งอยู่ในบริเวณนั้น ต่อมา นายเฉลียว บรรเทาวงษ์ ผู้ใหญ่บ้าน ได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดจันทบุรีได้แจ้งให้กรมศิลปากรทราบ

พ.ศ. 2524 เจ้าหน้าที่โครงการโบราณคดีใต้น้ำ กองโบราณคดีเดินทางไปสำรวจและสร้างเขื่อนดินกั้นล้อมบริเวณซากเรือ

พ.ศ. 2525 โครงการโบราณคดีใต้น้ำดำเนินการขุดค้นบริเวณซากเรือ และเรียกเรือลำนี้ว่า “เรือเสม็ดงาม” หรือ ซากเรือเสม็ดงาม ตามตำบลบ้านที่พบเรือนั้น

พ.ศ. 2532 โครงการโบราณคดีใต้น้ำ และคณะกรรมการจัดการฝึกอบรมหลักสูตรโบราณคดีใต้น้ำระดับสูง ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากร และศูนย์สปาฟา (SPAFA) ได้ทำการขุดค้นศึกษา ซากเรือเสม็ดงาม อีกครั้งหนึ่ง เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมและศึกษาโครงสร้างเรือโดยละเอียด

ผลการดำเนินงานขุดค้นศึกษาและการวิเคราะห์หลักฐานแวดล้อมในชั้นแรก ชี้ให้เห็นว่า “ซากเรือเสม็ดงาม น่าจะเป็นหลักฐานเกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมการเตรียมกองทัพเรือสำหรับการกู้ชาติของพระเจ้าตากสิน” ดังจะได้บรรยายถึงเหตุผลต่อไป

แหล่งโบราณคดี เรือเสม็ดงาม

แหล่งโบราณคดีแห่งนี้อยู่ในบริเวณ “อู่ต่อเรือพระเจ้าตากสินฯ” ในท้องที่บ้านเกาะเสม็ดงาม ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ห่างจากตัวเมืองจันทบุรีไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 8 กิโลเมตร (ที่ประมาณลิจิจูด 12 องศา 31 ลิบดา 50 ฟิลิบดา ลองติจูด 102 องศา 04 ลิบดา 45 ฟิลิบดา)

ตัวเรือจมอยู่ริมฝั่งแม่น้ำจันทบุรี บริเวณเหนือแหลมหัวลำแพนขึ้นไปเล็กน้อย และอยู่ห่างจากปากแม่น้ำจันทบุรีที่แหลมสิงห์ประมาณ 6 กิโลเมตร สภาพตัวเรือก่อนการขุดค้นศึกษาครั้งใหม่เมื่อเดือนเมษายน 2532 ตัวเรือจมอยู่ในโคลนลึกประมาณ 2 เมตร ภายในเขื่อนดินถาวรที่จังหวัดจันทบุรีสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2529

การขุดค้นซากเรือเสม็ดงามใน พ.ศ. 2532 ใช้วิธีสูบน้ำออกจากเขื่อนดินแห้ง แล้วใช้เครื่องดูดโคลนเลนที่ทับถมตัวเรือออกจนถึงตัวเรือ และใช้น้ำฉีดล้างตัวเรือจนสะอาดจึงสามารถศึกษาตัวเรือได้โดยสะดวก และในระหว่างการศึกษาวัดขนาดทำแผนผังตัวเรือโดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือนนั้นต้องติดตั้งเครื่องพ่นอัตโนมัติ และคอยฉีดน้ำให้ไม้ตัวเรือชุ่มอยู่ตลอดเวลาเพื่อป้องกันการแห้งและการเสียรูปทรงของไม้โครงสร้างเรือ

เมื่อขุดค้นศึกษาเสร็จแล้ว ได้ขุดร่องโดยรอบตัวเรือ และสูบน้ำทะเลเข้าแช่ท่วมตัวเรือไว้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อรักษาสภาพตัวเรือให้คงรูป รอเวลาที่จะกู้ขึ้นมาทำการสงวนรักษาในห้องปฏิบัติการในอนาคต

หลักฐานและโบราณวัตถุ ซากเรือเสม็ดงาม

นอกจากการศึกษาถ่ายภาพและทำแผนผังซากเรือเสม็ดงามอย่างละเอียด กิจกรรมสำคัญที่ดำเนินการอีกอย่างหนึ่งคือ การขุดค้นหลุมทดสอบการทับถมทางโบราณคดีทางด้านท้ายเรือ ซึ่งได้พบหลักฐานและโบราณวัตถุจำนวนหนึ่งเกี่ยวข้องกับการซ่อมเรือดังต่อไปนี้

1. หลักฐานตัวเรือ

ตัวเรือเสม็ดงามได้ถูกชาวบ้านรื้อและขนเอาไม้โครงสร้างเรือจำนวนหนึ่งขึ้นไปไว้บนบกในบริเวณศาลพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไม้เปลือกเรือและไม้คิ้วประกบระหว่างรอยต่อแผ่นกระดานเปลือกเรือ และตัวเรือ ประมาณอีกร้อยละ 50 ยังอยู่ในที่เดิม ประกอบด้วยกระดูกงูไม้เนื้อแข็ง เป็นไม้สามท่อนต่อกันยาวตลอดลำเรือ 20 เมตร กว้าง 315 มิลลิเมตร หนา 230-250 มิลลิเมตร มีกงขวางเป็นไม้เนื้อแข็งตรึงติดอยู่จำนวนมาก

ตัวกงขวางตรึงติดกับกระดานเปลือกเรือด้วยตะปูเหล็ก กระดานเปลือกเรือเป็นไม้เนื้ออ่อนตระกูลไม้สน เช่นเดียวกับไม้กั้นระวางที่ตรึงอยู่ตรงบริเวณกงขวางแต่ละแห่ง ไม้กระดานเปลือกเรือแต่ละแผ่นกว้าง 320-400 มิลิเมตร หนา 100 มิลิเมตร การต่อไม้เปลือกเรือเข้าด้วยกันใช้เทคนิควิธีแบบต่อขอบชนขอบ หรือต่อแบบเรียบ (edge-joint ; caravel built technique) ใช้ตะปูเหล็กชนิดสี่เหลี่ยมเป็นตัวตรึงไม้กระดานเปลือกเรือเข้ากับกระดูกงู (เปลือกเรือแผ่นแรกด้านชิดกระดูกงู : gar board) และตรึงยึดระหว่างแผ่นไม้เปลือกเรือเข้าด้วยกัน ตรงรอยระหว่างไม้เปลือกมีไม้คิ้วเล็กๆ ประกบทับตลอดตามแนวยาวของลำเรือ

ที่บริเวณค่อนไปทางหัวเรือ พบฐานรองตะเกียบเสากระโดง ซึ่งยังตรึงอยู่ในตำแหน่งเดิม ลักษณะเป็นแท่นไม้เนื้อแข็งรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง 500 มิลลิเมตร ยาว 2,180 มิลลิเมตร หนา 200 มิลลิเมตร ฐานรองรับเสาตะเกียบของเสากระโดงวางพาดขวางอยู่เหนือกระดูกงู มีกงขวางประกบยึดอยู่สองข้าง ด้านบนของฐานรองตะเกียบเสากระโดงมีหลุมรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 420×420 มิลลิเมตร ลึก 130 มิลิเมตร อยู่สองข้างของกระดูกงูข้างละ 1 หลุม หลุมหนึ่งเจาะรูระบายน้ำทะลุลงสู่ท้องเรือด้วย

ทางด้านท้ายเรือ พบแผ่นไม้รูปครึ่งวงกลมสำหรับปิดท้ายเรือ ลักษณะเป็นไม้กระดานเนื้อแข็งค่อนข้างหนาต่อเรียงกันแบบขอบชนขอบจำนวน 3 แผ่น ตรึงยึดด้วยตะปูเหล็กขนาดใหญ่ ด้านบนเป็นเสมือนเส้นผ่าศูนย์กลางของวงกลมด้านล่างถากแต่งเป็นวงโค้งตามลักษณะความโค้งของท้องเรือตรงกึ่งกลางแผ่นไม้ปิดท้ายเรือเจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยมสำหรับใส่คันบังคับหางเสือ

ตามระหว่างรอยแผ่นไม้กระดานเปลือกเรือ มีร่องรอยการตอกหมันยาชัน ตัวหมันเป็นวัสดุเส้นใยพืชบางชนิด (อาจจะเป็นใยมะพร้าวหรือพืชตระกูลปาล์ม) และวัสดุส่วนผสมชันนั้นมีทรายหยาบปริมาณมากผสมอยู่ด้วย

พิจารณาจากลักษณะเรือ เทคนิคการต่อเรือ ซึ่งใช้วิธีตรึงยึดด้วยตะปูเหล็ก และที่สำคัญที่สุดคือไม้โครงสร้างเรือส่วนใหญ่ เช่น ไม้เปลือกเรือ ไม้กั้นระวาง เป็นไม้สน ซึ่งชี้ให้เห็นว่าแหล่งกำเนิดของ ซากเรือเสม็ดงาม ลำนี้น่าจะมาจากจีน และมีลักษณะใกล้เคียงสำเภาจีนแบบฟูเจี้ยน (Fujian Junk Type)

สันนิษฐานว่า เมื่อครั้งที่เรือสำเภาเสม็ดงามลำนี้ยังคงสภาพสมบูรณ์และแล่นค้าขายในท้องทะเลนั้น เป็นเรือสำเภาขนาดเล็กมีใบสามเสา ใช้หางเสือแบบกลางท้าย (axial rudder type) ขนาดความยาวตลอดลำประมาณ 12 วา (24 เมตร) ปากเรือกว้าง 4 วา (8 เมตร)

2. หลักฐานจากการขุดค้นหลุมทดสอบ

แนวความคิดและจุดประสงค์ในการขุดค้นศึกษาชั้นทับถมบริเวณใกล้ตัวเรือและตัวเรือสำเภาเสม็ดงามในครั้งนี้ มีเหตุเนื่องด้วยสมมติฐานที่ว่า เรือสำเภาลำนี้แต่เดิมถูกปล่อยให้จมอยู่ริมฝั่งแม่น้ำตามธรรมชาติ หรือว่าเรือลำนี้จมอยู่ในอู่ซ่อม ถูกทิ้งอยู่บนคานเรือเพราะซ่อมไม่เสร็จ ซึ่งหากเป็นไปตามสมมุติฐานข้อแรกก็คงไม่พบหลักฐานโบราณวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับการซ่อมเรือ เช่นคานเรือ และวัสดุซ่อมเรืออื่นๆ แต่ถ้าเรือลำนี้ถูกทิ้งอยู่ในอู่ซ่อมเรือก็จะต้องพบวัสดุคานเรือ และร่องรอยกิจกรรมการซ่อมแซมเรือจำนวนมาก

คณะทำงานในโครงการโบราณคดีใต้น้ำและการฝึกอบรมหลักสูตรโบราณคดีใต้น้ำฯ ได้เลือกบริเวณทางท้ายเรือเสมด็งามเป็นที่ขุดค้นศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีเพื่อตอบปัญหาดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้เพราะเป็นพื้นที่ที่ถูกรบกวนจากกิจกรรมขุดค้นเมื่อ พ.ศ. 2524-2525 และการสร้างเขื่อนดินเมื่อ พ.ศ. 2529 น้อยกว่าบริเวณอื่นๆ โดยขุดหลุมทดสอบขนาด 2×2 เมตร

ในระดับความลึก 60 เซนติเมตรจากผิวดิน เป็นชั้นทับถมที่ยังถูกรบกวนจากกิจกรรมปัจจุบัน มีถุงพลาสติกและขวดพลาสติกอยู่จำนวนมาก แต่ในระดับลึกลงไปตั้งแต่ 70-120 เซนติเมตร เริ่มพบหลักฐานประเภทเศษไม้ที่ถูกถากด้วยมีดและขวานท่อนไม้ขนาดต่างๆ มีรอยถากแต่งจำนวนมากและทับถมกันหนาแน่นมีทั้งไม้แห้งและไม้สด และพบเศษภาชนะดินเผาประเภทหม้อดินเนื้ออ่อน และภาชนะเนื้อแกร่ง เศษเครื่องถ้วยลายครามคุณภาพต่ำ ตะปูเหล็กวัสดุคล้ายชันยาเรือ ในชั้นทับถมเดียวกันนี้ด้วย

ในระดับความลึก 180 เซนติเมตร (ระดับเดียวกับกระดูงูท้องเรือ) พบแผ่นกระดานเปลือกเรือเก่าถูกตัดเป็นท่อนสั้นๆ วางซ้อนกันเป็นตอม่อรองรับเสาค้ำผนังลำเรือและพบท่อนไม้สี่เหลี่ยมด้านบนมีหลุมตื้นๆ ซึ่งใช้รองรับท่อนไม้ที่ค้ำผนังท้ายเรือ ซึ่งท่อนไม้ลักษณะเดียวกันนี้เคยพบวางอยู่เป็นระยะๆ โดยรอบตัวเรือในการขุดค้นครั้งแรก นอกจากนั้นก็พบท่อนไม้ขนาดต่างๆ บางท่อนเป็นไม้ทั้งต้นขนาดศูนย์กลางประมาณ 20 เซนติเมตร วางในลักษณะหันปลายด้านหนึ่งเข้าหาตัวเรือแลสภาพเดิมคงเป็นไม้สดที่เพิ่งตัดโค่นเอามาใช้ค้ำตัวเรือ

หลักฐานจากการขุดค้นหลุมทดสอบบริเวณท้ายเรือเสม็ดงามชี้ให้เห็นว่าเรือลำนี้ถูกทิ้งอยู่บนคานในอู่ซ่อมเรือ (อู่แบบแห้ง : dry-dock) อย่างแน่นอน

พิจารณาจากอายุสมัยของเครื่องถ้วยลายครามจีนคุณภาพต่ำที่พบในชั้นทับถมร่วมกับเศษไม้ที่เกิดจากกิจกรรมการซ่อมเรือแล้วสันนิษฐานว่าเรือเสม็ดงามถูกนำขึ้นคานซ่อมแซมเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 24

นอกจากนี้เคยมีการนำตัวอย่างไม้โครงสร้างเรือไปวิเคราะห์หาอายุด้วยวิธีคาร์บอน 14 ได้ค่าอายุราว 1800 ± 150 (พ.ศ. 2343 ± 150) ซึ่งค่าอายุดังกล่าวมีค่าแปรผันค่อนข้างกว้าง และยังไม่อาจชี้ชัดลงไปได้ว่ากิจกรรมการซ่อมเรือลำนี้อยู่ในปีใด ซึ่งจะต้องใช้ตัวอย่างเศษไม้ในชั้นทับถมเป็นตัวกำหนดอายุอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตามหลักฐานต่างๆ ที่พบในการขุดค้นศึกษาแหล่งเรือเสม็ดงามตั้งแต่ พ.ศ. 2524 เป็นต้นมาก็พอจะชี้ให้เห็นว่า

1. เรือเสม็ดงามเป็นเรือสำเภาจีน

2. ถูกทิ้งร้างอยู่บนคานในอู่ซ่อมเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 24

3. ซ่อมไม่เสร็จ

สำหรับการพิจารณาประเด็นความเกี่ยวข้องของหลักฐานในแหล่งเรือเสม็ดงามกับความเป็นไปได้เรื่องอู่ต่อเรือพระเจ้าตากสินฯ ครั้งเตรียมการกู้ชาติเมื่อ พ.ศ. 2310 ว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงไร ที่บริเวณแหล่งเรือเสม็ดงามจะเป็นบริเวณอู่ต่อเรือและซ่อมเรือแห่งหนึ่งในจำนวนหลายแห่งของพระองค์ที่ต่อเรือรบและซ่อมเรือสำเภาใช้ในกองทัพ นั้น ในที่นี้คงจะยังให้คำตอบว่าใช่แน่นอน หรือไม่ใช่ ยังไม่ได้ เพราะหลักฐานยังก้ำกึ่งกันอยู่ทั้งสองทาง

ในประเด็นแรก เมื่อพิจารณาข้อที่ว่าเรือสำเภาลำนี้เป็นสำเภาศตวรรษที่ 24 หรือ พ.ศ. 2300 กว่าๆ และถูกทิ้งร้างอยู่ในอู่โดยไม่ทราบสาเหตุนั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่าสาเหตุที่เรือลำนี้ถูกทิ้งโดยที่การซ่อมยังไม่เสร็จสมบูรณ์นั้น เนื่องมาจากผู้ซ่อมมีเวลาไม่พอ หรือว่าเรือลำนี้มีสภาพชำรุดมากเกินไปจนไม่สามารถซ่อมใช้การได้

แต่น่าจะเป็นในประการแรกมากกว่า เพราะหากว่าเจ้าของเรือ คำนวณดูแล้วว่าการจะเอาเรือลำใดขึ้นซ่อมแซมนั้น เรือลำนั้นคงอยู่ในสภาพที่จะ “ซ่อมใช้การได้แน่” จึงตัดสินใจเอาขึ้นคานเพื่อซ่อม หากเห็นว่าเรือเก่าหรือชำรุดเกินกว่าจะซ่อมได้หรือไม่คุ้มทุนที่ลงไป ก็คงรื้อเรือเอาไม้ใช้ในการอื่นๆ มากกว่าตัดสินใจเอาขึ้นคาน ซึ่งในข้อนี้เห็นได้ว่าเรือเสม็ดงามคงจะอยู่ในสภาพดีพอที่จะซ่อมใช้ได้จึงถูกนำขึ้นคานและเริ่มซ่อมแซม

ทีนี้ก็มาพิจารณาต่อไปว่าเมื่อนำเรือขึ้นซ่อมแล้ว เหตุใดจึงซ่อมไม่เสร็จ ทิ้งเอาไว้เฉยๆ จนกระทั่งมีการทับถมตามธรรชาติโดยที่ไม่มีใครมาแตะต้องเรือลำนี้เลยเป็นเวลานานนับร้อยปี

สมมุติเรือลำนี้เป็นสำเภาลำหนึ่งในจำนวนหลายสิบลำที่พระเจ้าตากสิน ทรงรวบรวมมาจากพ่อค้าสำเภาจีน และพระองค์โปรดให้นำเรือสำเภาแบบและขนาดต่างๆ ที่ทรงรวบรวมได้มาซ่อมแซมและดัดแปลงให้สมรรถนะเหมาะสมต่อการใช้ในกองทัพเรือของพระองค์ และในระยะเวลาอันสั้น ทหารของพระองค์ต้องต่อเรือและซ่อมเรือจำนวนมาก และเมื่อถึงเวลาที่ต้องยกกองทัพออกจากเมืองจันทบูรนั้น เรือบางลำอาจจะยังต่อไม่เสร็จหรือซ่อมไม่เสร็จ แต่พระองค์มีเรือมากพอต่อการใช้งานแล้ว เรือลำนี้จึงถูกทิ้งอยู่ในอู่ซ่อมเรือเช่นที่เราขุดค้นพบ

ประเด็นปัญหานี้น่าสนใจว่าน่าจะมีความเป็นไปได้ เพียงแต่จะต้องหาหลักฐานด้านอายุสมัยของเรือและอายุสมัยของกิจกรรมการซ่อมเรือลำนี้มาสนับสนุนให้ได้ความใกล้เคียงมากขึ้นกว่าที่มีอยู่ในขณะนี้

แม้ว่าหลักฐานที่มีอยู่ในขณะนี้จะยังไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่าเรือสำเภาเสม็ดงามเป็นเรือในอู่ต่อเรือสมัยพระเจ้าตากสินฯ เตรียมการกู้ชาติอย่างแน่นอนก็ตาม แต่หลักฐานทั้งหมดรวมทั้งการแปลความในขณะนี้ชี้ให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้มาก และซากเรือสำเภาลำนี้ก็มีความสำคัญต่อการศึกษาเรื่องเรือสำเภาสมัยโบราณซึ่งในปัจจุบันมีหลักฐานที่เป็นตัวเรือเช่นนี้น้อยมาก

สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไปก็คือพิสูจน์ให้เห็นชัดลงไปว่า เรือสำเภาลำนี้ถูกนำขึ้นคานซ่อมในช่วงใดของพุทธศตวรรษที่ 24 และจะต้องหาวิธีการอนุรักษ์ซากเรือสำเภาลำนี้ไว้เป็นอนุสรณ์สถานสำคัญต่อไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กันยายน 2565