แรกเริ่มสถาปนา “อู่เรือหลวง” ในสมัยรัชกาลที่ 5 สู่ “กรมอู่ทหารเรือ”

อู่เรือหลวงในอดีต (ภาพจาก พิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงเฉลิมพระเกียรติ)

“ธรรมดามีเรือแล้วต้องซ่อมได้เอง เป็นหลักของยุทธศาสตร์ ถ้าซ่อมไม่ได้เองก็ไม่ควรจะมี” พระดำรัสของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

9 มกราคม 2433 (ค.ศ. 1891) เป็นวันสถาปนา “กรมอู่ทหารเรือ” โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพิธีเปิด “อู่เรือหลวง”ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทางทิศใต้ของวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ สำหรับเป็นที่ทำการซ่อมและสร้างเรือรบของราชอาณาจักร

อู่เรือหลวงวัดระฆังฯ มีการก่อสร้างและดำเนินงานมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) แล้ว เนื่องจากช่วงเวลานั้นสยามเริ่มรับวิทยาการเรือกลไฟมาใช้ แต่ต่อมาเรือหลวงมีจำนวนมากขึ้นและมีขนาดใหญ่ขึ้น จึงต้องขยายอู่เรือให้มีขนาดใหญ่เพื่อรองรับงานซ่อมบำรุงเรือหลวง เป็นที่มาของการดำเนินการก่อสร้างอู่ไม้ขนาดใหญ่เพื่อรองรับกิจการดังกล่าวในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการดำเนินการและพัฒนาตามลำดับ ดังนี้

– พ.ศ. 2447 ขยายอู่ไม้ ใช้เป็นอู่คอนกรีตขนาด กว้าง 11.2 เมตร ยาว 90 เมตร ลึก 4 เมตร เรียกอู่นี้ว่า อู่หมายเลข 1 (อู่นอก)

– พ.ศ. 2452 สร้างท่าเทียบเรือ ติดตั้งปั้นจั่นสำหรับยกของหนัก

– พ.ศ. 2458 ขยายอู่หมายเลข 1 ให้ยาวออกไปอีก 54 เมตร มีประตูพับกั้นเขต เรียก อู่หมายเลข 1 (อู่ใน)

– วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2465 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลเรือเอกพระบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ เสนาธิการทหารเรือ มาเป็นผู้บัญชาการในหน้าที่เจ้ากรมยุทธโยธาทหารเรืออีกตำแหน่งหนึ่ง

– พ.ศ. 2478 รัฐบาลคณะราษฎร์ได้ดำเนินการสร้างอู่เรือใหม่ขนาดกว้าง 9.8 เมตร ยาว 130 เมตร ลึก 4 เมตร เรียกว่า อู่หมายเลข 2

กรมอู่ทหารเรือในอดีต ปัจจุบันคือ อู่ทหารเรือธนบุรี, ไม่ปรากฏปีที่ถ่าย (ภาพจาก พิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงเฉลิมพระเกียรติ)

ปัจจุบันกรมอู่ทหารเรือยังทำหน้าที่หลักคือซ่อม-สร้างเรือมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 รวมถึงภารกิจอื่น ๆ คือ อำนวยการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับเรือ รวมถึงการช่างที่เกี่ยวข้อง นอกจากกองบังคับการซึ่งปัจจุบันย้ายไปยัง อ. สัตหีบ จ. ชลบุรี ยังมีหน่วยงานย่อยอื่น ๆ ทั้งภายในกรุงเทพมหานคร และ อ. สัตหีบ ดังนี้

1. กรมพัฒนาการช่าง เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ มีหน้าที่ดำเนินการในด้านการศึกษาอบรมและพัฒนาทหารพรรคกลิน (ดูแลเครื่องจักรภายในเรือ) ทหารพรรคพิเศษเฉพาะเหล่าทหารช่างยุทธโยธา นักเรียนผู้ช่วยช่าง และลูกจ้าง รวมถึงวิจัยพัฒนาและประเมินคุณค่าวัสดุ สนับสนุนการซ่อมสร้าง ตลอดจนเป็นศูนย์ควบคุมคุณภาพงาน

2. อู่ทหารเรือธนบุรี เขตพระนคร กรุงเทพฯ มีหน้าที่ดำเนินการสร้าง ซ่อม และดัดแปลงเรือ เครื่องจักรกล เครื่องไฟฟ้า และอุปกรณ์การปืน นอกจากนี้ยังมีอู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า อ. พระสมุทรเจดีย์ จ. สมุทรปราการ ที่เน้นการดำเนินการกับเรือขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถผ่านแล่นสะพานตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยามายังอู่ทหารเรือธนบุรีได้

3. กรมแผนการช่าง อ. สัตหีบ จ. ชลบุรี มีหน้าที่สำรวจ ตรวจสอบ วางแผน อำนวยการกำกับการออกแบบกำหนดคุณลักษณะเฉพาะ กำหนดราคามาตรฐาน กำหนดรายการพัสดุและประมาณราคา จัดทำและควบคุมโครงการ งบประมาณที่เกี่ยวกับแผนหลักในการซ่อมสร้าง ดัดแปลง และปรับปรุงเรือ อุปกรณ์ประจำเรือยานพาหนะ อากาศยาน เครื่องจักร เครื่องยนต์ เครื่องไฟฟ้า

4. ศูนย์ช่างพัสดุ อ. สัตหีบ จ. ชลบุรี มีหน้าที่รวบรวมและกำหนดความต้องการจัดหา เก็บรักษาแจกจ่ายและจำหน่ายพัสดุสายการช่าง ตลอดจนเสนอแนะในด้านการบริหารพัสดุสายการช่างของกองทัพเรือ

5. อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช อ. สัตหีบ จ. ชลบุรี มีหน้าที่ดำเนินการซ่อม สร้าง ดัดแปลงเรือ และอุปกรณ์การช่างโดยมี ผอ.อรม.อร. เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ สร้างขึ้นในปี 2530 หลังกองทัพเรือประเมินว่าอู่เรือ 2 แห่งแรก คือ อู่ทหารเรือธนบุรีและอู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า ไม่สามารถรองรับการซ่อมบำรุงเรือขนาดใหญ่สมัยใหม่ได้

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

กรมอู่ทหารเรือ (สืบค้นเมื่อ 9 มกราคา 2566) : กรมอู่ทหารเรือ, ประวัติ. (ออนไลน์)

อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช, กรมอู่ทหารเรือ (สืบค้นเมื่อ 9 มกราคา 2566) : ประวัติ. (ออนไลน์)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มกราคม 2566