“พระเจ้าตาก” ทรงแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ด้วยการค้าสำเภาจีน กำไรมากถึงร้อยละร้อย!

เรือ แล่น บ้านเมือง ธนบุรี ที่อดีตเคยเป็น ทะเลตม
จิตรกรรมพระราชวังเดิมกรุงธนบุรี ฝาผนังพระอุโบสถวัดอัมพวันเจติยาราม สมุทรสงคราม (สงวนลิขสิทธิ์ภาพ)

“การค้าสำเภา” ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นปัจจัยสำคัญที่ค้ำจุนเศรษฐกิจและสร้างความแข็งแกร่งแก่อาณาจักรมาโดยตลอด แม้กระทั่งเข้าสู่สมัยกรุงธนบุรียังคงใช้ “การค้าสำเภา” นี้อยู่ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสนับสนุนการสร้างกรุงธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่หลังกรุงศรีอยุธยาแตก ซึ่ง “พระเจ้าตาก” ทรงทำ “การค้าสำเภา” จนได้กำไรถึงร้อยละร้อยเลยทีเดียว!

เป็นที่ทราบกันดีว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีหรือพระเจ้าตากทรงมีเชื้อสายจีน พระราชบิดาเป็นชาวจีนที่ประกอบอาชีพค้าขายมาก่อน จนตั้งตัวมีฐานะมั่นคง ประมูลเก็บอากรบ่อนเบี้ยจนได้เป็นถึง “ขุนพัฒน์” ดังนั้นพระเจ้าตากจึงทรงคุ้นเคยเรื่องการค้าขายเป็นอย่างดี

สอดคล้องกับพงศาวดารที่กล่าวถึงพระเจ้าตากว่า “เดิมชื่อจีนแจ้ง เป็นพ่อค้าเกวียนมีความชอบในแผ่นดิน ได้ไปเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอยู่ ณ เมืองตาก…” และ “ขณะนั้นยังมีบุตรจีนคลองสวนพลูคนหนึ่ง ขึ้นไปค้าขายอยู่ ณ เมือกตากหลายปี…”

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่ จ.จันทบุรี

ภายหลังจากกรุงศรีอยุธยาแตก พระเจ้าตากทรงรวบรวมกำลังกอบกู้บ้านเมืองสำเร็จ แต่การจะสร้างความแข็งแกร่งให้กรุงธนบุรีนั้นเป็นเรื่องยากลำบาก เพราะเวลานั้นต้องประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจหลายประการ ทว่าสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจกรุงธนบุรีมั่นคงได้นั้นคือกำไรจากการค้าสำเภา

จากวิจัยเรื่อง “การค้าสำเภาของไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น” ของ วราภรณ์ ทินานนท์ ระบุว่า เนื่องจากสภาพบ้านเมืองในระยะเวลานั้นทรุดโทรมในทุกด้าน และรายได้จากการเก็บภาษีอากรจากราษฎรก็ไม่เพียงพอต่อการฟื้นฟูบ้านเมือง ดังนั้นการแต่งเรือสำเภาไปค้าขายจึงเป็นทางนำรายได้เข้าสู่ประเทศ และในขณะเดียวกันก็เป็นรายได้ของบรรดาขุนนางและพ่อค้าเอกชนต่าง ๆ ด้วย 

นับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาถึงกรุงธนบุรี สินค้าของราชสำนักจะที่นำไปค้าขายสำเภานั้นส่วนมากเป็นของป่าและแร่ธาตุ ซึ่งได้มาจาก “ส่วย” ที่ได้จากผลผลิตของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่นในอัตราที่กำหนดไว้อย่างแน่นอนและสม่ำเสมอ หรือไม่แล้ว ราชสำนักก็จะเกณฑ์แรงงานไพร่ไปหาของป่าสำหรับนำมาค้าขาย

โคะอิสุมิ จุงโกะ ระบุข้อมูลในบทความ “การแผ่ขยายอำนาจของรัฐสยามในสมัยธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์” (อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู แปล) ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ว่า โยฮัน เกอร์ฮาร์ด เคอนิก นักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมันซึ่งเข้ามาเยือนสยามในปลายทศวรรษ 1770 ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าสยามในขณะนั้นอุดมด้วยสิ่งของนานาประเภทที่นำเข้าจากจีนและว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงได้ผลประโยชน์มหาศาลจากการซื้อสินค้านำเข้าที่ดีที่สุดในราคาที่ถูกมากและขายต่ออีกทอดหนึ่งให้พ่อค้าในเมืองด้วยกำไรร้อยละร้อย

โคะอิสุมิ จุงโกะ อธิบายว่า การค้าที่สร้างกำไรร้อยละร้อยนี้อาจเป็นรายได้จากการค้าสำเภากับจีน ซึ่งถึงแม้ว่าราชสำนักจีนจะให้การยอมรับพระเจ้าตากเมื่อช่วงท้ายของรัชกาล แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการค้าสำเภาเกิดขึ้น โดยการค้าสำเภามีอยู่โดยตลอด ส่วนใหญ่ทำโดยสำเภาจีน และชาวจีน ทั้งที่อยู่ในจีนและในกรุงธนบุรี

นอกจากนี้ พระเจ้าตากทรงสนับสนุนชาวจีนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการค้าสำเภาด้วย เช่น จีนมั่วเสง ได้รับพระกรุณาโปรดฯ เป็นหลวงอภัยพานิช นำสินค้าลงสำเภาไปขายที่จีนปีละ 15 ลำ และสำเภาส่วนตัวอีกปีละ 2 ลำ ซึ่งได้ผลกำไรปีละจำนวนมาก

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ระบุในหนังสือ “การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี” ว่า “สิ่งที่ขาดหายไปในการค้าคือ การค้าในระบบบรรณาการ ซึ่งเป็นผลประโยชน์โดยตรงของรัฐบาลไทย เพราะเป็นโอกาสที่จะส่งสินค้าไปขายเมืองจีนโดยไม่ต้องเสียภาษี อีกทั้งยังอาจขอสิทธิในการซื้อสินค้าที่ต้องการกลับโดยไม่ต้องเสียภาษีออกอีกด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้น ในส่วนที่เป็นการค้าในระบบบรรณาการนี้ รัฐบาลของพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ขาดรายได้ไปบ้าง”

โคะอิสุมิ จุงโกะ ยังอธิบายอีกว่า นอกจากนี้ แทนที่จะเป็นส่วย ภาษีอากรต่างหากที่น่าจะเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญอีกทางหนึ่งทั้งในรูปของเงินและวัตถุสิ่งของสำหรับกษัตริย์จะทรงใช้ในกิจการภายในหรือค้าขายกับต่างประเทศ ดีบุกซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญชนิดหนึ่งซึ่งผลิตในภาคใต้ โดยเฉพาะที่เกาะถลางหรือภูเก็ต เป็นภาษีชนิดหนึ่งที่สมเด็จพระเจ้าตากและกษัตริย์ต้นรัตนโกสินทร์ทรงได้รับในอัตรา 1 ชั่งจากดีบุกทุกๆ 1 ภารา

อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาวะศึกสงครามและปัญหาการควบคุมกำลังคนที่ต้องอาศัยไพร่ส่วยหรือไพร่หลวงเข้าป่าไปเก็บทำให้น่าจะได้ของป่ามาไม่มากเพียงพอ จำนวนสินค้าป่าที่นำเอาไปขายจึงไม่น่าจะมีมากนัก จึงอาจสงวนเอาไว้แลกเปลี่ยนกับสินค้าในตลาดอื่นซึ่งเป็นที่ต้องการด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2563