พระเจ้าตาก รับมือพระยาจันทบูร “ผู้เสียสัตย์” อย่างไร เมื่ออ่านอุบายที่ถูกซ่อนไว้ได้

พระบรมราชานุสาวรีย์ พระเจ้าตาก พระเจ้ากรุงธนบุรี วงเวียนใหญ่ อนุสาวรีย์พระเจ้าตาก สมเด็จพระเจ้าตากสิน ลำดับเหตุการณ์สำคัญในพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสิน ประกอบ พระเจ้าตาก รับมือพระยาจันทบูร
อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วงเวียนใหญ่ ธนบุรี

พระเจ้าตาก รับมือพระยาจันทบูร “ผู้เสียสัตย์” อย่างไร เมื่ออ่านอุบายที่ถูกซ่อนไว้ได้

ด่านแรกที่ พระเจ้าตาก ต้องทำศึกสำคัญในภารกิจ “กู้กรุงศรี” คือจัดการกับผู้ต่อต้านในเขตเมืองระยอง ซึ่งมี หลวงพลแสนหาญ ขุนราม หมื่นซ่อง ขุนจ่าเมือง นายทองอยู่นกเล็ก กับกำลังพลประมาณ 1,500 คน มีการปะทะกันอย่างดุเดือด แต่ในที่สุดก็แตกพ่ายไป

ด่านสำคัญลำดับต่อไปคือเมืองจันทบูร

พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ณ วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี ประกอบบทความพระเจ้าตาก รับมือพระยาจันทบูร

พระเจ้าตาก ไม่ต้องการให้เกิดการรบ สร้างความเดือดร้อนแก่ราษฎร จึงส่งทูตไปเจรจาความกับเจ้าเมืองจันทบูร โดยให้ นายบุญมีมหาดเล็ก นายบุญรอดและนายบุญมา น้องภรรยาเจ้าเมืองจันทบูร เป็นทูตเจรจา

เบื้องต้นก็ได้ความตกลงอย่างสันติ พระยาจันทบูรสัญญาว่า 10 วันจะออกไปรับเสด็จ แต่แล้วเมื่อเวลาล่วงเลยไป ก็มิได้ทำตามสัจจะสัญญา เพียงให้คนนำข้าวเปลือก 4 เกวียนมาถวาย

ฝ่ายพวกขุนราม หมื่นซ่อง ที่แตกหนีมาจากเมืองระยองนั้น ก็ไปตั้งหลักในเขตเมืองจันทบูร ให้ไพร่พลปล้นวัว ควาย ช้าง ม้า ของหลวง พระเจ้าตากทรงทราบความจึงนำกองทัพไปปราบปราม ขุนราม หมื่นซ่อง หนีไปได้อีก คราวนี้หนีไปอยู่กับพระยาจันทบูร

ยังมีนายทองอยู่นกเล็กอีกคนหนึ่งที่หนีจากเมืองระยอง ตั้งท่าคอยสกัดตีกองทัพพระเจ้าตากอยู่ใกล้เขตเมืองชลบุรี เมื่อพระเจ้าตากทรงทราบจึงให้คนไปเจรจา นายทองอยู่นกเล็กก็ยอมอ่อนน้อมแต่โดยดี จึงแต่งตั้งให้เป็น พระยาอนุราฐบุรีศรีมหาสมุทร อยู่ครองเมืองชลบุรีสืบไป

ทางด้านขุนราม หมื่นซ่อง เมื่อหนีไปอยู่กับพระยาจันทบูร ก็ยุยงให้รบกับพระเจ้าตาก ออกอุบายให้พระสงฆ์ไปเชิญพระเจ้าตากเข้าเมือง แล้วจะได้จับตัวไว้

ครั้งถูกพระยาจันทบูรวางอุบายจะจับตัว พระเจ้าตากทรงรู้ทันไม่กระทำตาม แต่สั่งให้ทหารยกทัพเข้าประชิดเมือง

เมื่อเข้ามาใกล้เมืองจันทบูร พระยาจันทบูรก็ให้ข้าราชการผู้ใหญ่ออกไปนำทางกองทัพพระเจ้าตาก แต่ก็ได้ซ่อนกลไว้คือ นำทางเข้ามาด้านทิศใต้ของเมือง ซึ่งต้องข้ามแม่น้ำ จังหวะนี้เองที่กองทัพฝ่ายเมืองจันทบูรจะอาศัยข้อได้เปรียบโจมตีกองทัพพระเจ้าตากได้สะดวก

แต่พระเจ้าตากก็รู้ทันกลศึกนี้อีก จึงสั่งให้เคลื่อนทัพไปหยุดอยู่ ณ วัดแก้ว ริมเมืองจันทบูรนั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้พระยาจันทบูรจึงได้แต่เล่นบทตี 2 หน้า ให้ข้าราชการออกไปเชิญพระเจ้าตากเข้าเมือง แต่พระเจ้าตากคงจะรู้ทันทั้งสิ้นแล้ว จึงว่าพระยาจันทบูรเป็นผู้น้อย สมควรจะออกมาคารวะผู้ใหญ่จึงจะถูก

พระเจ้าตาก ยังให้โอกาสสุดท้ายกับพระยาจันทบูร คือให้ส่งตัวขุนราม หมื่นซ่อง ออกมา จะได้ไม่ต้องรบกัน แต่ก็ถูกพระยาจันทบูรปฏิเสธอีก

พระเจ้าตากเห็นว่าพระยาจันทบูรไม่ได้ตั้งอยู่ในสัตย์ และยังคิดจะรบโดยอาศัย ขุนราม หมื่นซ่อง เป็นกำลังสำคัญ

จะเห็นได้ว่าพระเจ้าตากไม่ได้ใช้กำลังเข้าโจมตีให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปทีเดียว แต่พยายามเจรจารอมชอมกับพระยาจันทบูรอยู่หลายครั้ง ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะกองทัพของพระเจ้าตากอาจจะเป็นรองทั้งทางด้านกำลังพล และยุทโธปกรณ์

และในเวลาที่จะตีเมืองจันทบูรนี้ กรุงศรีอยุธยาแตกไปแล้วถึง 2 เดือน พระยาจันทบูรจึงมีสิทธิที่จะ “เลือกข้าง” ว่าจะอยู่ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาที่ย่อยยับไปแล้ว หรือจะอยู่กับฝ่ายพม่าก็ได้ หรือแม้แต่ตั้งตัวเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อใครก็ยังทำได้ แต่เหตุที่ไม่กล้ายกทัพออกไปตีกองทัพพระเจ้าตาก ก็อาจเป็นเพราะไม่แน่ใจในฝีมือนัก อีกทั้งกิตติศัพท์ของพระเจ้าตากก็กำลังอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” จึงเป็นที่น่ายำเกรงยิ่งนัก

เมื่อเจรจาไม่ได้ ก็รบกัน

พระเจ้าตาก สั่งให้ทหารกินข้าวกินปลาแล้ว ต่อยหม้อข้าวหม้อแกงให้จงสิ้น ในเพลากลางคืนวันนี้ ตีเอาเมืองจันทบูรให้ได้ ไปหาข้าวกินเช้าเอาในเมือง ถ้ามิได้ ก็ให้ตายเสียด้วยกันเถิด

ภาพทุบหม้อข้าวหม้อแกง จากละครหนึ่งด้าวฟ้าเดียว ประกอบบทความ พระเจ้าตาก รับมือพระยาจันทบูร

เวลาตี ๓ ฤกษ์ดีปลอดห่วง พระเจ้าตากขึ้นช้าง พังคีรีกุญชร นำทหารบุกเข้าโจมตีทำลายประตูเมือง ฝ่าห่ากระสุนนำทัพเข้าเมืองจันทบูร ทหารรักษาประตูเมืองแตกหนีกระเจิง ตัวเจ้าเมืองจันทบูรลอบลงเรือหนีไปเมืองพุทไธมาศ กรุงกัมพูชา

เสร็จศึก ยึดทรัพย์สิน อาวุธ เสบียงอาหาร ได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังจัดทัพลงไปทางเมืองตราด จัดการกับสำเภาจีน ที่ยังไม่ยอมอ่อนน้อม “เก็บได้ทรัพย์สิ่งของทองเงินและผ้าแพรเป็นอันมาก” ก่อนจะย้อนกลับมาตั้งหลักอยู่ที่เมืองจันทบูร เพื่อต่อเรือรบ

เป้าหมายต่อไปคือ เมืองธนบุรี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “พระเจ้าตากเบื้องต้น” เขียนโดย ปรามินทร์ เครือทอง (สำนักพิมพ์มติชน, 2557)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2561