ตำนาน “ไอ้บอด” จระเข้กินคนแห่ง “วัดสามปลื้ม” อาละวาดทั่วพระนครตอนน้ำท่วมใหญ่

จระเข้ ไอ้บอด จระเข้กินคน แห่ง วัดสามปลื้ม
ภาพประกอบบทความ - จระเข้น้ำจืด หรือ Siamese crocodile (ภาพโดย Daniel Pelaez Duque ใน Unsplash)

“ไอ้บอด” จระเข้กินคนแห่ง “วัดสามปลื้ม” หรือวัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร สร้างความหวาดกลัวแก่ผู้คนทั่วกรุงเทพฯ เมื่อครั้งอดีต!

วัดสามปลื้ม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่บนถนนจักรวรรดิ แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เป็นวัดราษฎร์ที่มีความเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีเรื่องเล่าว่าวัดสร้างจากแรงศรัทธาของสตรี 3 นางที่ร่วมกันสร้าง จึงได้ชื่อว่า “วัดสามปลื้ม”

ในสมัยรัตนโกสินทร์ แผ่นดินรัชกาลที่ 2 เมื่อราว พ.ศ. 2362 มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดสามปลื้ม โดยแม่ทัพใหญ่สยามคือ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เมื่อครั้งยังเป็น “พระยาเกษตรรักษา” (นอกราชการ) ภายในวัดจึงมีศาลและรูปปั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาอยู่ด้วย

ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2368 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงยกวัดสามปลื้มเป็นพระอารามหลวง และพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดจักรวรรดิราชาวาส”

วัดสามปลื้มยังโด่งดังจากการมีบ่อเลี้ยงจระเข้ขนาดใหญ่ภายในวัด คือบริเวณก่อนถึงพระอุโบสถวัด ซึ่งพระสงฆ์และเด็กวัดช่วยกันดูแล แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีมาตั้งแต่เมื่อใด มีเพียงตำนานหรือเรื่องเล่าที่สืบไปยังจระเข้ตัวหนึ่ง นั่นคือ “ไอ้บอด” จระเข้แห่งวัดสามปลื้ม ที่มีฉายาว่า “จระเข้กินคน”

จระเข้ บ่อจระเข้ วัดสามปลื้ม วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร
จระเข้ในบ่อจระเข้วัดสามปลื้ม – ในภาพไม่ใช่ ‘ไอ้บอด’ (ภาพโดย Globe-trotter ใน Wikimedia Commons สิทธิการใช้งาน CC BY-SA 3.0)

ตำนานจระเข้ไอ้บอดมีอยู่หลัก ๆ 2 เรื่อง เรื่องแรกเล่าว่า ไอ้บอดคือจระเข้ตัวใหญ่ที่ออกมาอาละวาดกินคนเป็นอาหารทั่วพระนคร โดยเฉพาะตามลำน้ำเจ้าพระยาในช่วง พ.ศ. 2484-2485 ที่กรุงเทพฯ เผชิญอุทกภัย หรือเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่

เล่ากันว่า ไอ้บอดอาละวาดอยู่นานร่วมปี กินคนไปหลายคน สร้างความหวาดกลัวไปทั่ว โดยมีลักษณะเด่นเฉพาะตัวคือตาบอดข้างหนึ่ง ซึ่งนั่นกลายเป็นจุดสังเกตควบคู่กับความดุร้ายของมัน

ไม่มีข้อมูลว่าจระเข้ตัวนี้มีที่มาจากไหน แต่เป็นธรรมดาของลุ่มแม่น้ำภาคกลางไทยในอดีตที่ชุกชุมไปด้วยจระเข้น้ำจืดจำนวนมาก อย่างยุคอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ มีบันทึกต่างชาติเล่าว่า แม่น้ำลำคลองรอบ ๆ เกาะเมืองอยุธยานั้นเต็มไปด้วยจระเข้ และดูเหมือนผู้คนจะใช้ชีวิตท่ามกลางพวกมันกันเป็นปกติด้วย

ช่วงที่ไอ้บอดอาละวาดหนัก ๆ ผู้คนริมแม่น้ำเจ้าพระยาหวาดกลัวจระเข้ตัวนี้มาก โดยเฉพาะแถบปากคลองตลาดถึงสะพานพุทธ มีการระดมกำลังออกตามล่าจระเข้ตัวนี้ แต่ก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะสัญชาตญาณของจระเข้โดยทั่วไปนั้น เมื่ออิ่มท้องแล้วก็มักกบดานซ่อนตัวอยู่สักพัก หิวเมื่อใดค่อยออกมาอาละวาดหาเหยื่อรายใหม่

ในที่สุดก็มีการล้อมจับจระเข้ไอ้บอดสำเร็จ (ครั้งแรก) ที่วัดเชิงเลน หรือวัดบพิตรพิมุขวรวิหาร ปรากฏว่ามันหลุดไปได้ แล้วไปหลบอยู่ที่วัดสามปลื้ม บริเวณใต้กุฏิพระ จึงเกิดการล้อมจับครั้งที่สอง ผู้คนเตรียมปลิดชีพจระเข้ร้ายตัวนี้ แต่เพราะเหตุการณ์เกิดในเขตสงฆ์ พระภิกษุวัดสามปลื้มจึงขอบิณฑบาตชีวิตไอ้บอดไว้ แล้วรับเลี้ยงดูเรื่อยมาตั้งแต่นั้น โดยขุดพื้นใต้กุฏิวัดเป็นโพรงถ้ำให้มันอยู่

ส่วนอีกตำนานเล่าว่า จริง ๆ แล้วไอ้บอดคือจระเข้ที่ พระพุฒาจารย์ (มา อินฺทสโร) หรือท่านเจ้าอาวาสมาแห่งวัดสามปลื้มเลี้ยงไว้นั่นแหละ แล้วถูกเด็กวัดและคนทั่วไปรังแกจนตาบอดไปข้างหนึ่ง กระทั่งเกิดน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ ไอ้บอดเลยหลุดออกจากบ่อมาอาละวาดกินคนไปหลายคน ท้ายที่สุดก็ถูกล้อมจับมาไว้ที่บ่อจระเข้ของวัดสามปลื้มดังเดิม

หากผูกเรื่องราวตรงนี้กับช่วงเวลาที่เกิดตำนานไอ้บอดวัดสามปลื้ม พระพุฒาจารย์ท่านมรณภาพเมื่อ พ.ศ. 2457 ส่วนไอ้บอดออกอาละวาด พ.ศ. 2484-2485 แปลว่าจระเข้ตัวนี้มีอายุอย่างน้อย 27 ปีตอนออกมาสร้างตำนานทั่วพระนคร ซึ่งถือว่าเป็นจระเข้โตเต็มวัยที่ไม่ต้องสงสัยในเรื่องกำลังวังชาหรือความดุร้ายโดยสัญชาตญาณของมัน เพราะจระเข้น้ำจืดนั้นมีวัยเจริญพันธุ์ที่ 10-15 ปี และอาจมีอายุยืนถึง 70 ปี

อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีหลักฐานว่าไอ้บอดตายเมื่อไหร่ แต่จากกระแสคำบอกเล่าทั้งหลาย ทำให้เชื่อได้ว่า จระเข้ไอ้บอดแห่งวัดสามปลื้มน่าจะมีตัวตนอยู่จริง และเคยอาละวาดกินคนทั่วพระนครจริง ๆ

นี่คือตำนาน “ไอ้บอด” จระเข้กินคนในกรุงเทพฯ อันโด่งดังของไทย

ทุกวันนี้ ณ บ่อจระเข้วัดสามปลื้มยังมีจระเข้ตัวหนึ่งถูกสตัฟฟ์ไว้ในตู้กระจกที่ยกสูงเหนือบ่อ และเชื่อได้ว่านี่อาจเป็น “ไอ้บอด” คุณปู่จระเข้ของเหล่าจระเข้แห่งวัดสามปลื้มในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

พิสิฐ เจริญสุข และคณะ. (2551). พระอารามหลวง. กรุงเทพฯ : กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม.

เฟซบุ๊ก วัดจักรวรรดิราชาวาสฯ สามปลื้ม Wat Chakkrawat. วันที่ 3 กรกฎาคม 2563. (ออนไลน์) 

WCS Thailand. จระเข้น้ำจืด (Siamese crocodile). สืบค้นเมื่อ วันที่ 24 เมษายน 2567. (ออนไลน์)

sihawatchara ใน Blogger. จระเข้ไอ้บอดวัดสามปลื้ม Crocodile Rampage. วันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 . (ออนไลน์)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 เมษายน 2567