“จระเข้” ยุคกรุงศรีเชื่อง!? เปิดบันทึก วัน วลิต เล่าคนอยุธยาล่าจระเข้อย่างไร?

ไอ้ใหญ่ จระเข้ แห่ง ฟาร์มจระเข้ สมุทรปราการ จระเข้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ยาว 6 เมตร หนัก 1,114 กิโลกรัม
ไอ้ "ใหญ่" จระเข้แห่งฟาร์มจระเข้สมุทรปราการ เคยถูกบันทึกโดย Guinness Book of World Records ในปี 1989 (พ.ศ. 2532) ว่าเป็นจระเข้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือยาว 6 เมตร และหนัก 1,114 กิโลกรัม (PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

ในสมัย กรุงศรีอยุธยา “จระเข้” สร้างปัญหาและความหวาดกลัวให้กับผู้คนไม่แตกต่างจากปัจจุบัน ด้วยเพราะเป็นสัตว์กินเนื้อ เป็นนักล่าแห่งสายน้ำ มันจึงกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนที่ต้องอาบน้ำริมคลอง ดื่มน้ำจากแม่น้ำ หรือเดินทางไปมาหาสู่กันทางเรือ

ดังนั้น สมัยกรุงศรีอยุธยาจึงต้องมีการขับไล่ จระเข้ ให้ออกไปจากพื้นที่รอบ ๆ เมือง หากพบว่ามีจระเข้กินคนก็ต้องทำพิธีกรรมชำระความจระเข้ตัวนั้น ซึ่งเชื่อว่าเป็นการเรียกขวัญกำลังใจให้ชาวบ้าน มิเช่นนั้นจะอยู่อาศัยด้วยความหวาดกลัว แต่ใช่ว่าจระเข้ทุกตัวจะดุร้าย จากบันทึกของ วัน วลิต พ่อค้าชาวดัตช์ ที่เดินทางเข้ามายัง อยุธยา ในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ก็บันทึกว่ามีจระเข้เชื่อง รายละเอียดจากบันทึกของ วัน วลิต มีดังนี้

“…ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับสัตว์ทะเลใหญ่โตที่แปลกประหลาดในทะเลรอบ ๆ ประเทศสยาม เว้นแต่ในอ่าวสยามและตรงสันดอนซึ่งบางทีก็ได้เห็นปลาตัวใหญ่คล้ายปลาวาฬ แต่ในบริเวณน่านน้ำภายในประเทศทั้งหมดและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแม่น้ำใหญ่ที่ชื่อแม่น้ำ (แม่น้ำเจ้าพระยา) มีจระเข้เป็นจำนวนมาก พวกสยามเชื่อมั่นว่าในเขตกรุงศรีอยุธยาไม่มีจระเข้หรือสัตว์ที่ล่าเหยื่อเป็นอาหารอาศัยอยู่ได้ เนื่องจากพวกมันถูกพระสงฆ์ขับไล่ออกไปใต้เมืองบางกอกลงมานอกเขตบางเจ้าพระยา (Banthianphia คือที่ตั้งเมืองสมุทรปราการในปัจจุบัน)

เมื่อมีข่าวว่าจระเข้ตัวหนึ่งได้ฆ่าและกินคนไปคนหนึ่ง จระเข้ตัวดังกล่าวถูกสะกดด้วยเวทมนตร์ให้ขึ้นมายังผิวน้ำเพื่อรับโทษทัณฑ์ ถ้ามันไม่ยอมทำอย่างนั้น จระเข้ตัวอื่น ๆ ก็จะถูกจับเป็นจำนวนมากจนทำให้ตัวอื่น ๆ บังคับให้ตัวที่ไม่ดีปรากฏตัวขึ้นมา

พวกสยามจับจระเข้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้ พวกเขาจะเอาสุนัขตัวหนึ่ง ซึ่งพระสงฆ์ทั้งหลายลงเวทมนตร์คาถาไว้แล้ว ผูกโซ่เส้นหนึ่งพร้อมกับตะขอเกี่ยวหมูเค็มไว้รอบขาหลังของสุนัข แขงนระฆังไว้กับตัวมัน เอาเชือกผูกตัวสุนัขแล้วดึงมันไปข้างหน้าข้างหลัง จนกระทั่งเสียงระฆังล่อจระเข้ให้เข้ามายังสุนัขที่ร้องครางอยู่นั้น และงับเอาหมูเค็ม ตะขอเบ็ดก็จะติดคอมัน และแล้วเจ้าสัตว์ร้ายก็ถูกจับมัด และถูกฆ่าอย่างคนไร้ค่า

พยานเป็นจำนวนมากยืนยันว่าพวกคนที่อาศัยอยู่ตามริมแม่น้ำได้ให้อาหารพวกจระเข้ ด้วยเหตุนี้จระเข้จึงเชื่องมากและไม่ทำอันตรายแก่ผู้ใด เมื่อคนอาบน้ำในแม่น้ำ มันก็มักมาเล่นกับพวกเขาด้วย แต่ก็มีอยู่บ่อย ๆ ที่มันจู่โจมเอากับพวกวัว ควาย และกลืนกินเสีย ขณะนี้พวกมันลงมาดื่มน้ำในลำธารเล็ก ๆ ในกรณีที่คนแปลกหน้าตกลงไปในน้ำใกล้ ๆ กับจระเข้ เขาผู้นั้นจะไม่ถูกปล่อยให้รอดไปได้

คนเป็นจำนวนมากอ้างว่า มีจระเข้ที่มี 4 ตา คือ ตา 2 ตา อยู่ตรงด้านหน้าของหัว และอีก 2 ตา อยู่ด้านหลัง และสัตว์ร้ายเหล่านี้ไม่เคยพุ่งไปหาเหยื่อ แต่จะผ่านเข้าไปใกล้และใช้หางฟาดจับเหยื่อเข้าปาก

ถึงแม้ว่าคำพรรณนาเรื่องจระเข้นี้อาจเห็นว่าเหลือเชื่อก็ตาม แต่พวกสยามก็เชื่อว่าทั้งหมดที่เล่ามานี้เป็นเรื่องจริง ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงมิอาจนิ่งเฉยกับเรื่องนี้ได้ และข้าพเจ้าขอร้องท่านผู้อ่านได้โปรดอย่ามีความรู้สึกอันเป็นปฏิปักษ์กับเรื่องดังกล่าว และโปรดเชื่อเท่าที่ท่านผู้อ่านคิดว่าจะเป็นจริงได้…”

วัน วลิต ไม่ได้ระบุว่าคนสมัย อยุธยา กินเนื้อ “จระเข้” หรือไม่ แต่สันนิษฐานว่าคงไม่น่าจะมีผู้ใดกินแน่ เพราะคนในอดีตไม่นิยมบริโภคสัตว์ใหญ่ ยิ่งเป็นสัตว์ดุร้ายเช่นจระเข้ด้วยแล้ว คงไม่มีการล่าเพื่อบริโภคเป็นแน่

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิต พ.ศ. 2182. (2546). พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 มกราคม 2565