ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2547 |
---|---|
ผู้เขียน | ธนาพล อิ๋วสกุล และคณะ |
เผยแพร่ |
คงจะไม่เป็นการเกินเลยไปถ้าหากจะกล่าวว่า จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นผู้ถือกำเนิดขึ้น 2 ครั้งในสังคมไทย ครั้งแรกคือการกำเนิดขึ้นมาในฐานะลูกชายของคุณแม่แสงเงิน ภูมิศักดิ์ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2473 จิตรเป็นผู้ที่มีความสามารถหลากหลายและลึกล้ำ ดังปรากฏในงานเขียนของเขาที่ได้นำเอาศาสตร์และศิลป์หลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นวรรณคดี บทกวี ศิลปะ งานวิจารณ์ ประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ มาหลอมรวมเข้าไว้ด้วยกัน จนเป็นความคิดที่ “แหวกแนว”
แต่สังคมไทยในสมัยนั้นมีทางเลือกไม่มากนัก ทำให้เขาต้องเลือกเส้นทางนักปฏิวัติ แทนที่จะเป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิตที่ตั้งใจไว้เมื่อเยาว์วัย ส่งผลให้ชีวิตของจิตรต้องดับสิ้นไปด้วยวัยเพียง 36 ปี จากภัยคุกคามเผด็จการทหารสฤษดิ์ และจักรวรรดินิยมอเมริกา ที่มีอิทธิพลปกคลุมสังคมไทยในขณะนั้น
จิตรเสียชีวิตอย่างไร้ค่าในวันที่ 5 พฤษภาคม 2509 ณ หมู่บ้านหนองกุง อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร หลังจากนั้นชีวิตและผลงานของจิตรก็เช่นเดียวกับปัญญาชนฝ่ายซ้ายในทศวรรษ 2490 ที่ถูกทำให้หลงลืมไปโดยเผด็จการสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส
ขณะที่ขบวนการนักศึกษาในทศวรรษ 2510 ภายหลังอสัญกรรมของสฤษดิ์ เริ่มยุคแสวงหา นอกจากภูมิปัญญาซ้ายใหม่ที่มาจากภายนอกประเทศแล้ว พวกเขาเหล่านั้นยังสืบเสาะไปจนพบภูมิปัญญาซ้ายเก่าในสังคมไทยเอง
ซึ่งแน่นอนว่าซ้ายเก่าที่พวกเขาค้นพบจะต้องมีชื่อและผลงานจิตร ภูมิศักดิ์ รวมอยู่ด้วย (ซึ่งขณะนั้นอาจจะไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่าเป็นผลงานของจิตร)
นี่เองที่เป็นส่วนหนึ่งของพลังผลักดันให้เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
ภายใต้อุดมการณ์ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ประกอบกับการรื้อฟื้นแนวคิดศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน ยังผลความกระหายที่จะรับรู้เรื่องราวของจิตร ภูมิศักดิ์ เป็นไปอย่างคึกคักและเร่าร้อน ได้มีการตีพิมพ์ผลงานของจิตรออกมาอย่างมากมาย ทั้งในส่วนการตีพิมพ์ซ้ำ และการสืบค้นจากแหล่งต่างๆ ขณะที่ผลงานซึ่งได้รับความนิยมในนามปากกาต่างๆ ได้รับการเปิดเผยในเวลาต่อมาว่าเป็นผลงานของจิตร ยิ่งทำให้เกิดบรรยากาศผู้คนไถ่ถามอยากเรียน
เราอาจกล่าวได้ว่าจิตร ภูมิศักดิ์ ได้ถือกำเนิดขึ้นอีกครั้งภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็คงไม่ผิดนัก
แต่ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ขณะที่อุดมการณ์ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดินอาจจะไม่มีใครเชื่ออีกต่อไป แต่ผลงานของจิตรไม่ว่าจะเป็นผลงานวิชาการที่จิตรได้บุกเบิกไว้ ก็ยังมีคนศึกษาค้นคว้าต่อ บทเพลงก็ยังมีการขับร้องทุกครั้งเมื่อต้องการกำลังใจ บทกวีที่ปลุกเร้าอารมณ์ ฯลฯ หรือแม้กระทั่งชีวิตของจิตรในด้านต่างๆ ก็ยังมีผู้เขียนออกมาเป็นระยะๆ
ดังนั้นนอกจากความหลากหลายและลึกล้ำแล้ว กาลเวลาก็ตระหนักประจักษ์ค่าว่างานของจิตร ภูมิศักดิ์ ยังคงมีความอมตะตราบจนปัจจุบัน
อ่านเพิ่มเติม :
- “ตำรวจ” มาจากไหน? ทำไมเรียก “ตำรวจ”? ฟังจากจิตร ภูมิศักดิ์
- จิตร ภูมิศักดิ์ ชี้ “นครวัด” เดิมชื่อ “พระพิษณุโลก”
- เกิดอะไรใน “14 ตุลา” ก่อนมาสู่ชัยชนะสำคัญของประชาชนลุกฮือต้าน “คณาธิปไตย”
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทนำของบทความ “ชีวิตและงาน จิตร ภูมิศักดิ์” โดย ธนาพล อิ๋วสกุล และคณะ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2547
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤษภาคม 2561