จิตร ภูมิศักดิ์ ชี้ “นครวัด” เดิมชื่อ “พระพิษณุโลก”

บริเวณหน้าปราสาทนครวัด เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2005 (ภาพจาก AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL)

ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์สนทนา ตำนานแห่งนครวัด” (พิมพ์ครั้งแรก โดยสำนักพิมพ์ไม้งาม พ.ศ. 2525) จิตร ภูมิศักดิ์ ได้เล่าถึงความเป็นมา รวมถึงชื่อดั้งเดิมที่ใช้เรียกปราสาทขนาดใหญ่แห่งนี้เอาไว้ว่า [จัดย่อหน้าใหม่โดยกองบรรณาธิการ]

“…นครวัดสร้างในระหว่างที่พระเจ้าศรีสูรยวรมันที่ 2 (สุริยวรมันที่ 2) ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ เมื่อสร้างแล้วก็จำหลักรูปพระวิษณุมาประดิษฐานไว้ตรงปรางค์องค์กลาง  ที่เอารูปพระวิษณุมาประดิษฐานก็เพราะทรงนับถือศาสนาพราหมณ์นิกายวิษณุเวฎ ซึ่งถือว่าพระวิษณุเป็นเทพเจ้าที่ยิ่งใหญ่กว่าเทพทั้งปวง

รูปพระวิษณุนั้น สร้างขึ้นโดยมุ่งให้เป็นรูปแทนตัวของศรีสูรยวรมันที่ 2 เพราะถือว่าพระองค์คือพระวิษณุอวตารลงมาปกครองโลก การจะสร้างรูปที่แท้ของพระองค์จึงต้องสร้างเป็นรูปพระวิษณุ รูปพระวิษณุที่นำมาประดิษฐานไว้ จึงเป็นทั้งเทวรูปด้วย และเป็นรูปแทนตัวของศรีสูรยวรมันที่ 2 ด้วย คือเป็นทั้งรูปของกษัตริย์และของเทวะ

รูปอย่างนี้เรียกว่าพระเทวราชแปลว่า ราชะผู้เป็นเทพเจ้า คำว่า พระเทวราช นี้เป็นคำที่เขมรใช้เรียกในศิลาจารึก และขอให้จดจำไว้ให้ดีด้วย เพราะจะต้องเอ่ยถึงกันต่อไปอีกบ่อยครั้งในเรื่องอื่นๆ เมื่อเอาเทวรูปแทนตัวขึ้นตั้งประดิษฐานแล้ว นครวัดก็มีลักษณะเป็นเทวลัย ประชาชนก็เข้ามาทำพิธีบูชา ซึ่งหมายถึงว่าบูชาพระวิษณุและกษัตริย์ผู้เป็นอวตารของพระวิษณุไปพร้อมๆ กัน

ครั้นเมื่อพระเจ้าศรีสูรยวรมันที่ 2 สวรรคตลง พวกเจ้านายและพราหมณ์ในราชสำนักก็นำพระศพบรรจุลงในถังหิน แล้วฝังลงตรงใต้ฐานเทวรูปพระวิษณุ แล้วทำพิธีอัญเชิญพระวิญญาณเข้าสิงสถิตอยู่ในเทวรูปพระวิษณุนั้น เพื่อให้กษัตริย์ศรีสูรยวรมันที่ 2 ได้กลับคืนเป็นเทวะ เข้ารวมอยู่ในเทวะ แล้วก็ทำพิธีเบิกพระเนตรเทวรูปพระวิษณุนั้น เรียกว่าพิธี อุนมีลิต หรือนยโนนมีลิต เพื่อให้พระเจ้าศรีสูรยวรมันได้ถือกำเนิดใหม่

คือเป็นเทวะและคราวนี้เป็นกำเนิดอันอมตะ คือทรงอยู่อย่างนิรันดร ไม่มีวันตายเป็นสิ่งถาวรและทรงอยู่นิรันดรกาล และเพื่อให้ความมุ่งหมายนี้สมบูรณ์ พวกพราหมณ์พิธีก็ทำพิธีถวายพระนามพระเจ้าศรีสูรยวรมันที่ 2 ใหม่ เป็นพระนามสำหรับใช้เรียกเมื่อสวรรคตแล้วคือเรียกว่า พระบาทบรมวิษณุโลก และเทวรูปนั้น ก็ต้องเรียกชื่อตรงกันคือเรียกว่า พระบรมวิษณุโลก ด้วย แม้ตัวปราสาทนครวัดในสมัยนั้นก็เรียกว่า พระวิษณุโลก หรือ พระพิษณุโลก ด้วย สอดคล้องกันหมด

ลานหินสู่ประตูทางเข้าปราสาทนครวัด ภาพวาดลายเส้นโดยกิโอด์ จากรูปสเก๊ตช์ของมูโอต์

ต่อมาภายหลังเทวสถานแห่งนี้ก็ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นพุทธศาสนสถานแทน ซึ่งก็น่าจะเป็นเหตุที่ทำให้ถูกเรียกขานในภายหลังว่า “นครวัด” ส่วนจะเริ่มเรียกขานกันเช่นนี้ตั้งแต่เมื่อใดนั้น ยากที่จะระบุเวลาที่แน่นอนได้

ตามคำบอกเล่าของจิตร หากพิจารณาจากหลักฐานที่ค้นพบคำว่านครวัดเพิ่งมาปรากฏเอาในจารึกที่ลงศักราชตรงกับ พ.ศ. 2175…เรียกว่าพระนครวัด แต่ในจารึกเดียวกันนั้นเอง ก็เรียกพระพิษณุโลก ปะปนกันอยู่ เข้าใจว่าคงจะได้เริ่มเรียกนครวัดกันขึ้นแล้ว แต่ทว่าชื่อเก่าก็ยังไม่ทิ้งไปเสียทีเดียว ครั้นมาถึงจารึกที่ทำเมื่อ พ.ศ. 2214 ได้พบว่าใช้ชื่อ ‘อังครวัตร’ คือ อังกอร์วัตร น่าสังเกตว่าเปลี่ยน นคร เป็นคำ องคร แบบปากตลาดแล้ว …นี่แหละครับ ถ้าจะให้กำหนดลงไปก็ต้องประมาณเอาว่าชื่อนครวัด มาเริ่มกำเนิดขึ้นในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 22 คือในร้อยปีระหว่าง พ.ศ. 2100 ถึง 2200 นี้แหละ”

จิตร ภูมิศักดิ์ หน้านครวัด ประเทศกัมพูชา

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มิถุนายน 2560