ตราราชสีห์ถือดาบ ตราประจำพระองค์เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ที่ “สาบสูญ”

ภาพ : ลายพระหัตถ์ครั้งดำรงพระอิสริยยศที่พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ ประทานพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย พระมารดา เมื่อจะทรงผนวชในปีพุทธศักราช ๒๔๒๗ (ภาพจากหนังสือพระประวัติและประชุมบทละคอนดึกดำบรรพ์ กรมศิลปากรจัดพิมพ์ขึ้นเนื่องในโอกาส ๑๕๐ ปีแห่งวันประสูติ ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๖)

นอกจากตรา “น. เทียนสิน” หรือ “น. ในดวงใจ” อันคุ้นตา ซึ่งเป็นตราประจำพระองค์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์นั้น แต่เดิมทรงมีตราประจำพระองค์ซึ่งเป็นตราอาร์มที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานประกอบพระเกียรติยศเมื่อยังทรงพระเยาว์ ทรงมีพระราชดำริให้ช่างผูกตราอาร์มประจำพระองค์ของพระบรมวงศานุวงศ์ขึ้นตามแบบตะวันตก สำหรับให้ช่างปั้นประดับในห้องน้ำเงิน พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬารในพระบรมมหาราชวัง ลักษณะของตรานั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงมีลายพระหัตถ์ประทานหม่อมเจ้าหญิงพิลัยเลขา ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ลงวันที่ ๑๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๙ ความตอนหนึ่งว่า

“น. ในดวงใจ”

“…แต่อาว์ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ – ผู้เขียน) จะอธิบายให้เธอ (หม่อมเจ้าหญิงพิลัยเลขา ดิศกุล – ผู้เขียน) ทราบ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชดำริให้ทำตราอาว์ขึ้นไว้ ที่ห้องน้ำเงิน ในพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร เปนรูปโล่ห์แบ่งสามห้อง ห้องเล็กสองห้องเบื้องบนบรรจุมงกุฎจักรี ห้องใหญ่เบื้องล่างบรรจุรูปราชสีห์เผ่น มือขวาถือดาบ มือซ้ายถือดวงใจ บนโล่ห์มีชฎาพอก ใต้โล่ห์มีผ้าแถบ สองข้างโล่ห์มีนกการเวกข้างละตัว อาว์จะถ่ายเอาทั้งหมดนั้นมาทำตรากระดาษตราแหวนก็ไม่ได้ ด้วยแต่ละสิ่งมันเล็กจนแลไม่เห็น จึ่งตัดเอาแต่ตัวราชสีห์กับผ้าแถบมาทำเปนตราใช้ประจำตัว แม้เท่านั้นก็ยังยิบหยี จึ่งตัดรูปราชสีห์เอาแต่ครึ่งตัวเพื่อให้มันเบ่งโตขึ้นได้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงไม่ได้ตรัสอธิบาย อาว์นึกเข้าใจเอาเองว่ารูปราชสีห์ทรงหมายถึงสีหนาม เพราะอาว์เกิดวันอังคาร ถือดาบหมายถึงขัตติยชาติคือทหาร ดวงใจหมายว่าชื่อจิตร เห็นจะไม่ผิด ต่อมาอาว์คิดเขียนตัวนอเทียนสินแทนเซนชื่อในแบบเรียน ซึ่งใครต่อใครวานเขียนอะไรต่ออะไร เห็นมันจะแจ้งดี จึ่งเปลี่ยนเอาใช้เปนตราประจำตัวเสียแทนตราราชสีห์ ตราราชสีห์จึ่งสาบสูญไปจนไม่มีใครรู้จัก…”

หลังจากนั้น ทรงมีลายพระหัตถ์อธิบายถึงคาถาบทที่ว่า ‘กตสฺส นตฺถิ ปฏิการํ ปเควตํ ปริกฺขตํ’ บนแถบผ้าด้านล่างของตราอาร์มประจำพระองค์ ลงวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๙ ความตอนหนึ่งว่า

“…ตราของอาว์นั้น นกการเวกก็เห็นจะทรงหมายว่าเจ้าฟ้าตามที่เธอคาด แต่ผ้าแถบเห็นจะไม่มีความหมายอะไร คงไม่ได้ตรัสสั่งให้ใส่ ช่างเขาใส่ลงไปเองตามระบอบตราโซ้ด หนังสือในผ้าแถบนั้นเธอนึกว่าจะดีจะสำคัญ แต่เปล่า ตรงกันข้าม เปนของเลวที่สุดซึ่งอาว์ออกอายที่จะบอกเพราะเปนความเขลาอันไม่น่าคุย ผ้าในตราที่โปรดเกล้าฯ ให้ทำไว้ที่ห้องน้ำเงินนั้นมีแต่ผ้าเปล่าไม่มีหนังสือ ตราสมเด็จพระราชปิตุลา (สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช – ผู้เขียน) ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ทำไว้ก็ไม่มีหนังสือในผ้าเหมือนกัน (สมเด็จพระราชปิตุลาท่านจะทรงเห็นว่าฝรั่งเขามีโมตโต (Motto (ภาษิต) – ผู้เขียน) เขียนอยู่ในผ้า ท่านก็ทรงพระปรารภที่จะมีบ้าง ท่านจึ่งไปตรัสขอให้สมเด็จพระสังฆราช (สา) (สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทวมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช – ผู้เขียน) แต่งคาถาถวาย สมเด็จพระสังฆราชก็แต่งถวายมาหลายโหลเผื่อเลือก ท่านทรงเลือกเอาใส่ในพระตราของท่านบทหนึ่ง นอกนั้นก็เหลืออยู่ ต่างฉวยกันคนละหนุบสองหนับเอาไปใส่ตราของตน เวลานั้นอาว์ก็ยังเด็กไม่มีปัญญาความคิด เห็นเขาแย่งคาถากันใส่ในตราอาว์ก็แล่นตามเขา แย่งเอามาใส่ตราคาถาหนึ่ง แปลว่ากะไรก็ไม่ได้ใส่ใจนัก เมื่อถูกเธอถามพิจารณาดูก็ออกจะรู้ทุกคำ กตสฺส ว่าทำแล้ว นตฺถิ ว่าไม่ ปฏิการํ ว่าทำตอบ แต่รวมกันเข้าเอาความไม่ได้จึ่งไปถามสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวรเถร) – ผู้เขียน) ท่านว่าคาถานี้ตั้งใจจะเอาความว่า สิ่งที่ทำแล้วจะทำคืนไม่ได้ ท่านว่าภาษาไม่สู้ดี สิ้นเคราะห์ไปเถิด…”

ตราอาร์มประจำพระองค์

นอกจากนี้ หม่อมเจ้าหญิงดวงจิตร จิตรพงศ์ พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้ทรงนิพนธ์ถึงตราประจำพระองค์ดังกล่าวไว้ในหนังสือ “ป้าป้อนหลาน ตอน วังหลวง” โดยมีความตอนหนึ่งว่า

“…ลายปูนปั้นที่ประดับภายในก็คงรื้อแก้ใหม่เสียมาก จะยืนยันก็ไม่ได้ ด้วยเผอิญได้ทราบโดยทางอ้อม คือเสด็จปู่เคยรับสั่งกับป้า (หม่อมเจ้าหญิงดวงจิตร จิตรพงศ์ – ผู้เขียน) ถึงเรื่องตราประจำพระองค์ ท่านว่าตรา “น” นั้นป้าอาจจะนำมาใช้เป็นตราส่วนตัวก็ได้ด้วยเป็นตราส่วนพระองค์ แต่ตราอาร์มที่มีรูปราชสีห์ถือดาบนั้นเป็นตราพระราชทานสำหรับพระเกียรติยศ อย่านำมาใช้เกินวาสนา ทั้งนี้เพราะลวดลายในดวงตรานั้นมีพระชฎา ซึ่งมีพระราชกำหนดกฎหมายบังคับไว้ห้ามมิให้ผู้ที่มิได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำมาใช้ ป้าก็ทูลว่าตราพระราชทานเป็นอย่างไรป้ายังไม่เคยเห็นสักที เสด็จปู่ไม่เคยทรงใช้ทั้งดวงเลย ทรงตัดมาใช้แต่เฉพาะลายราชสีห์ถือดาบ ท่านรับสั่งว่า ถ้าอยากเห็นก็จะดูได้ที่ในพระที่นั่งจักรี มีลวดลายเป็นตราประจำพระองค์เจ้านายปูนปั้นเป็นลายประดับไว้ครบทุกองค์ แต่ป้าเป็นชาวนอกวังก็หาโอกาสที่จะไปดูได้ยาก จนเมื่อซ่อมพระที่นั่งจักรีไปได้มากแล้ว วันหนึ่งตามเสด็จไปทรงตรวจงาน จึงทูลถามเสด็จปู่ถึงตราเหล่านั้นว่าอยู่ตรงไหน ท่านรับสั่งว่า พ่อสั่งรื้อเสียแล้ว ชำรุดมาก จะปั้นขึ้นใหม่ก็ไม่งามอะไร ทำให้ทราบได้ว่าลวดลายภายในพระที่นั่งก็ซ่อมเปลี่ยนเสียใหม่บ้างแล้วในครั้งนั้น…”

อนึ่ง ผู้เขียนได้รับความอนุเคราะห์ข้อมูลข้างต้นจากคุณภัทรพล เปี้ยวนิ่ม นักวิชาการอิสระ ผู้เขียนขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้

อ่านเพิ่มเติม: “กรมพระยานริศฯ” นายช่างใหญ่ผู้ไม่ร้องขอเงินบำนาญ ร.5ทรงชม “ผู้อยู่ในหัวใจฉัน”


[ขอบคุณภาพและข้อมูลจากเพจ: สมเด็จครู] เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 14 เมษายน พ.ศ.2562