“พระองค์เจ้าทักษิณชา” พระภรรยาเจ้าองค์แรกในรัชกาลที่ 5 ผู้เสียลูกชายจนสูญเสียพระสติ

พระองค์เจ้าทักษิณชา พระภรรยาเจ้า พระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง ใน รัชกาลที่ 5
พระองค์เจ้าทักษิณชา (ภาพ : Wikimedia Commons)

“พระภรรยาเจ้า” ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีหลายพระองค์ โดยพระองค์แรกคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี ซึ่งทรงเป็น “พระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง” ด้วยอีกหนึ่ง 

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจันทร์ เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2395 ทรงมีพระขนิษฐาและพระอนุชา 3 พระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้ามัณยาภาธร, พระองค์เจ้าศุขสวัสดิ (ต้นราชสกุล “ศุขสวัสดิ”) และ พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค (ต้นราชสกุล “เกษมศรี”)

พระองค์เจ้าทักษิณชา ทรงมีพระชนมายุมากกว่ารัชกาลที่ 5 ราว 1 พรรษา เมื่อทรงเจริญพระชันษาแล้ว รัชกาลที่ 5 ก็โปรดเกล้าฯ ให้รับราชการเป็นพระภรรยาเจ้า ถือเป็น “พระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง” พระองค์แรกในรัชกาลนี้

พระภรรยาเจ้า คือ พระราชธิดาหรือพระราชนัดดาในพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อน ส่วน พระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง หมายถึง พระภรรยาเจ้าที่เป็นพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อน (ลูกหลวง) หากมีพระราชโอรสหรือพระราชธิดา “ลูก” ที่เกิดมานั้นก็จะจัดเป็นเจ้าฟ้าชั้นเอก

พระองค์เจ้าทักษิณชา ทรงมีพระประสูติกาลพระราชโอรส เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2415 ท่ามกลางความโสมนัสของรัชกาลที่ 5 และพระองค์เจ้าทักษิณชา เนื่องจากตามชาติกำเนิดแล้วพระราชโอรสมีสิทธิ์ที่จะอยู่ในตำแหน่งรัชทายาท

ทว่าอีกราว 8 ชั่วโมงต่อมา พระราชโอรสพระองค์น้อยก็สิ้นพระชนม์

ฉัตรดาว ลีเชวงวงศ์ ผู้เขียนวิทยานิพนธ์ “การเมืองในราชสำนักฝ่ายใน ในสมัยรัชกาลที่ 5” กล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า

“ความสูญเสียในครั้งนี้นำความโศกเศร้ามาสู่พระองค์เป็นที่สุด ด้วยไม่อาจปลงพระทัยยอมรับได้ว่าพระราชโอรสซึ่งแข็งแรงตั้งแต่แรกประสูตินั้นจะสิ้นพระชนม์ในเวลาแสนสั้น เป็นเหตุให้ทรงพระประชวร ไม่ทรงรับรู้สิ่งใดทั้งสิ้น จนสูญเสียพระสติไป จึงไม่อาจรับราชการได้อีกต่อไป และทำให้ไม่อาจได้รับการเฉลิมพระยศในตำแหน่งมเหสีแต่อย่างใด”

หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้พระยาเวียงในนฤบาลสร้างพระตำหนักพิเศษให้พระองค์เจ้าทักษิณชาประทับพักผ่อนพระองค์ แต่พระอาการก็ไม่ดีขึ้น

ต่อมา พระองค์เจ้าทักษิณชาเสด็จไปประทับกับพระองค์เจ้าศุขสวัสดิ ณ วังท้ายวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ก่อนจะทรงย้ายไปประทับกับพระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค ณ วังตำบลสามเสน

ความเจ็บป่วยดังกล่าว ทำให้พระองค์เจ้าทักษิณชาไม่ได้รับราชการอีกเลยตลอดพระชนมชีพ กระทั่งสิ้นพระชนม์ ณ วังตำบลสามเสน เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2449 สิริพระชนมายุ 53 พรรษา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เฟซบุ๊ก พระนครคีรี กรมศิลปากร / Phra Nakhon Khiri, The Fine Arts Department. “มหามกุฎราชสันตติวงศ์ ๑๘ กันยายน ๒๓๙๕ วันประสูติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี”.

ฉัตรดาว ลีเชวงวงศ์. “การเมืองในราชสำนักฝ่ายใน ในสมัยรัชกาลที่ 5”. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองและการจัดการปกครอง ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2558.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 พฤษภาคม 2567