ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
หลายคนเมื่อได้ยินพระนามเชื้อพระวงศ์ของไทยแล้วคงมีข้อสงสัยกันบ้างว่า สกุลยศ “เจ้าฟ้า” และ “พระองค์เจ้า” แตกต่างกันอย่างไร?
เรื่องนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ และ ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ สองผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ เคยให้คำตอบเรื่อง “สกุลยศ” เจ้านาย ไว้ในกิจกรรม สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม” เมื่อต้นปี 2562
ทั้งสองอธิบายให้พอเห็นภาพว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องต่างๆ เกี่ยวกับสยามไว้มาก เป็นประโยชน์กับผู้สนใจศึกษาสังคม การเมือง ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์
โดยเฉพาะพระราชนิพนธ์เรื่อง “ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม” ที่ทรงอธิบายลักษณะของเจ้านายไว้อย่างละเอียด แสดงถึงพระปรีชาสามารถในการศึกษาตำราโบราณและกฎมณเฑียรบาล ที่ทรงศึกษามาตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์
ธรรมเนียมเจ้านายกรุงรัตนโกสินทร์ แตกต่างจากเจ้านายราชวงศ์อื่น อย่างเจ้านายฝ่ายเหนือ ที่ไม่ว่าจะสืบเชื้อสายมากี่รุ่นก็ยังคงรักษาความเป็น “เจ้า” ไว้เสมอ ส่วนเจ้านายกรุงรัตนโกสินทร์ต่างออกไป คือ เชื้อพระวงศ์ที่เป็นเจ้านายชั้นสุดท้ายคือ “หม่อมเจ้า” ส่วนชั้นรองลงมาได้แก่ “หม่อมราชวงศ์” และ “หม่อมหลวง” แม้มีเชื้อสายเจ้า แต่ให้ถือเป็นสามัญชน
“เจ้าฟ้า” และ “พระองค์เจ้า” ต่างกันอย่างไร?
ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง อธิบายให้เข้าใจคำว่า “สกุลยศ” ก่อนว่า คือพระยศที่ได้มาตั้งแต่ประสูติ หากพระราชโอรสหรือพระราชธิดาประสูติแต่พระมารดาที่เป็นเจ้า จะได้พระยศชั้น “เจ้าฟ้า”
พระยศชั้นเจ้าฟ้า ยังแบ่งเป็น เจ้าฟ้าชั้นเอก และเจ้าฟ้าชั้นโท ซึ่งการแบ่งเช่นนี้จะพิจารณาจากพระยศของ “แม่” ว่า มีสายสัมพันธ์อะไรกับพระมหากษัตริย์
หากแม่เป็น “ลูก” ของพระมหากษัตริย์รัชกาลก่อนๆ อาทิ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ, สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ซึ่งทั้ง 2 พระองค์ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา
พระราชโอรสหรือพระราชธิดาที่ประสูติจากแม่ ที่เป็นลูกของพระมหากษัตริย์รัชกาลก่อนๆ ก็จะจัดอยู่ในชั้นเจ้าฟ้าชั้นเอก ชาววังจะขานพระนามว่า “ทูลกระหม่อมชาย” หรือ “ทูลกระหม่อมหญิง” เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์
หากแม่เป็น “หลาน” ของพระมหากษัตริย์รัชกาลก่อนๆ เช่น พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์, พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค, พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ซึ่งทั้ง 3 พระองค์ทรงเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชโอรสหรือพระราชธิดาที่ประสูติจากแม่ ที่เป็นหลานของพระมหากษัตริย์รัชกาลก่อนๆ ก็จะจัดอยู่ในชั้นเจ้าฟ้าชั้นโท ชาววังจะขานพระนามว่า “สมเด็จชาย” หรือ “สมเด็จหญิง” เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์
นอกจากนี้ หากพระราชโอรสหรือพระราชธิดาประสูติแต่ “เจ้าจอมมารดา” หรือ “สามัญชน” ก็จะได้พระยศชั้น “พระองค์เจ้า” เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ-พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา (พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาอ่อน), พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย-พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประไพพรรณพิลาส (พระราชธิดาแฝดในรัชกาลที่ 5 ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาพร้อม) อย่างไรก็ตาม พระองค์เจ้าก็ยังมีอีกหลายแบบ
ที่ว่ามาเป็นการกล่าวถึงโดยกว้างเท่านั้น เพราะยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก และสามารถเปลี่ยนแปลงไปตามพระบรมราชวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์แต่ละรัชกาล
อ่านเพิ่มเติม :
- “เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ” มกุฎราชกุมารองค์แรกของไทย ที่ รัชกาลที่ 5 ทรงรักมาก
- พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร “ลูก” ในรัชกาลที่ 5 ผู้ทรงมีพระชนมายุยืนยาวที่สุด
- “กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร” ลูกที่รัชกาลที่ 5 ทรงชม “งามเหมือนเทวดา” จนต้องแก้เคล็ด?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 เมษายน 2567