ดูวิธีแก้ถูกทาสีทับ กรณี “หลวงพ่อดำ” วัดโกโรโกโส อยุธยา ถูกทาสีน้ำมันทั้งองค์!

"หลวงพ่อดำ" ก่อนและหลังดำเนินการอนุรักษ์

การทาสีทองทับบนสถาปัตยกรรมในวัด เคยเกิดเป็นประเด็นตั้งคำถามถึงความเหมาะสมมีการถกเถียงกันในวงกว้างในโลกออนไลน์ รวมถึงกรณีทาสีทับ “หลวงพ่อดำ” พระพุทธรูปปางมารวิชัย ปูนปั้นลงรักปิดทอง ณ วัดโกโรโกโส จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อปี 2560 ขอย้อนกลับไปดูการดำเนินการอนุรักษ์ “หลวงพ่อดำ” ในกรณีนี้

โดยเพจ กลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้เผยแพร่ภาพและข้อมูล เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 ว่า นายสรรินทร์ จรัลนภา นักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ และนางสาวสุดาพร ศรทัตต์ ช่างซ่อมเอกสารและศิลปวัตถุ กลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ ได้ดำเนินการอนุรักษ์ “หลวงพ่อดำ” พระพุทธรูปปางมารวิชัย ปูนปั้นลงรักปิดทอง ณ วัดโกโรโกโส จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากเดิมที่องค์พระถูกทาสีทับพื้นผิวรักดั้งเดิมไว้ทั้งองค์ ให้กลับคืนสภาพพื้นผิวดั้งเดิม เป็นการปฏิบัติงานในระหว่างวันที่ 6-11 เมษายน 2560

ก่อนดำเนินการอนุรักษ์ – องค์พระถูกทาสีน้ำมันทับไว้สองชั้น ชั้นในเป็นสีแดงและทาสีเหลือง (Flex) เพื่อเตรียมปิดทองด้านนอก พื้นผิวบางส่วนถูกปิดทองไว้แล้ว เช่น พระเกศ

และก่อนหน้า วันที่ 3 เมษายน 2560 นายเสน่ห์ มหาผล หัวหน้ากลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ และนักวิทยาศาสตร์ของกลุ่มฯ ได้เข้าตรวจสอบ “หลวงพ่อดำ” ที่ถูกทาสีทับ และทดสอบการใช้สารเคมีในการกำจัดคราบสีออก ก่อนที่จะมีการปฏิบัติงานจริง

ภาพทั้งหมดนี้แสดงขั้นตอนปฏิบัติงานอนุรักษ์ “หลวงพ่อดำ” ของกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ [ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจากเพจ กลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร]

ก่อนดำเนินการอนุรักษ์ ด้านหลังองค์พระ
ตรวจสอบองค์พระด้วยเครื่องตรวจโลหะ เนื่องจากมีข้อสันนิษฐานว่าด้านในอาจเป็นเนื้อโลหะ จากการตรวจไม่พบเนื้อโลหะภายใน และเป็นข้อมูลที่ช่วยในการเลือกใช้สารเคมีที่เหมาะสมในการดำเนินการ
ดำเนินการอนุรักษ์ – โดยใช้ตัวทำละลายอินทรีย์มีชื่อทางเคมีว่า Acetone ช่วยในการละลายชั้นสีให้หลุดออก
ดำเนินการอนุรักษ์ – โดยใช้เทคนิคการพอกสารเคมี (poultice) เพื่อเพิ่มระยะเวลาในการทำละลายชั้นสี โดยไม่ให้ส่งผลกระทบกับชั้นรักด้าน
ดำเนินการอนุรักษ์ – ใช้ไม้ปลายแหลมพันสำลี แตะสารละลายแล้วค่อยๆ กลิ้งเช็ดคราบสีออก
ดำเนินการอนุรักษ์ – ความยากของงานมีผลสืบเนื่องจากสีที่ถูกทาไว้เริ่มเซทตัวจนแห้งสนิทบางจุดจนยากต่อการทำละลาย พื้นผิวขององค์พระมีสภาพไม่เรียบ และการนำสีใหม่ออกโดยให้มีผลกระทบกับชั้นพื้นผิวเดิมให้น้อยที่สุด
ดำเนินการอนุรักษ์ส่วนเศียร – บริเวณที่เป็นอุปสรรคคือเม็ดพระศกที่มีรายละอียดมาก และร่องลายที่ลึก การขจัดคราบสีจะต้องใช้ระยะเวลามาก
ดำเนินการอนุรักษ์ – เก็บรายละเอียดของสีที่ยังหลงเหลือบริเวณพื้นผิวที่ขรุขระ
ภาพเปรียบเทียบพระพักตร์บริเวณที่ขจัดสีออกไปแล้วบางส่วน กับพื้นที่ยังคงมีสี
หลังดำเนินการอนุรักษ์ – ด้านหน้าองค์พระ
หลังดำเนินการอนุรักษ์ – ด้านหลังองค์พระ พื้นผิวรักและร่องรอยการปิดทองเดิมยังคงปรากฎให้เห็น
“หลวงพ่อดำ” ก่อนและหลังดำเนินการอนุรักษ์

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 เมษายน 2560