ครั้งหนึ่ง หลวงพ่อโสธร “องค์จำลอง” เป็นที่ศรัทธาล้ำหน้า “องค์จริง”

หลวงพ่อโสธร พระพุทธรูป พระพุทธโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา
ภาพถ่ายหลวงพ่อโสธรจากป้ายจัดแสดงขั้นตอนการอนุรักษ์โดยวัดโสธรวรารามวรวิหาร ร่วมกับกรมศิลปากร ในการปฏิบัติงานอนุรักษ์หลวงพ่อโสธร (ภาพถ่ายโดย Nontapron Youmangmee เมื่อ 6 พฤศจิกายน 2565)

หลวงพ่อโสธร หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า พระพุทธโสธร พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของคนฉะเชิงเทรา และประชาชนทั่วประเทศ ตามประวัติกล่าวว่า หลวงพ่อโสธรประดิษฐานที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งแต่ประมาณปี 2313

มีตำนานกล่าวถึงพุทธานุภาพที่เล่าขานสืบต่อกันมาว่า เดิมหลวงพ่อโสธรประดิษฐานอยู่ทางภาคเหนือ ต่อมาบ้านเมืองเกิดเหตุการณ์จลาจลจึงแสดงปาฏิหาริย์ลอยน้ำลงมาพร้อมกับพี่น้อง 3 องค์ คือ หลวงพ่อบ้านแหลม วัดบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม และหลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ จังหวัดสมุทรปราการ

ส่วนหลวงพ่อโสธร ล่องไปทางแม่น้ำบางปะกง เมื่อมาถึงบริเวณหน้าวัดหงส์ ชาวบ้านจำนวนมากช่วยกันยกฉุดแต่ก็ไม่สามารถนำขึ้นจากน้ำได้ จนมีอาจารย์ผู้หนึ่งได้ทำพิธีบวงสรวง และใช้ด้ายสายสิญจน์คล้องพระหัตถ์อัญเชิญขึ้นจากน้ำเป็นอันสำเร็จ วัดหงส์นี้กาลภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดโสธร” และขนานนามพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์นี้ตามชื่อวัด “หลวงพ่อโสธร”

ราวปี 2530 วัดโสธรมีการสร้าง “พระอุโบสถ” ขึ้นใหม่ ในตำแหน่งที่เคยเป็นพระอุโบสถหลังเดิม การก่อสร้างแล้วเสร็จ เปิดใช้อย่างเป็นทางการประมาณปี 2549

ความพิเศษของการก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ครั้งนี้คือ “ไม่มีการย้ายหลวงพ่อโสธร” ออกจากที่ตั้งเดิม ผู้รับเหมาก่อสร้างจึงต้องจัดหาวัสดุมาปกป้องปิดคลุมองค์ หลวงพ่อโสธร ในระหว่างการก่อสร้างพระอุโบสถ

ระหว่างนั้น ไม่อนุญาตให้ประชาชนเข้าสักการะหลวงพ่อโสธร วัดโสธรรับมือศรัทธามหาชนด้วยการจัดเตรียมพระวิหารชั่วคราว และนำ “หลวงพ่อโสธรจำลอง” มาประดิษฐาน ให้ประชาชนผู้จิตศรัทธาได้กราบไหว้

ผ่านไปประมาณ 20 ปี พระอุโบสถหลังใหม่แล้วเสร็จ

เมื่อเปิดพระอุโบสถหลังใหม่ให้ประชาชนไปนมัสการ “หลวงพ่อโสธรองค์จริง” แต่ประชาชนกลับนิยมไปกราบไหว้ “หลวงพ่อโสธรองค์จำลอง” มากกว่า 

ที่เป็นเช่นนี้ มีที่มาจาก 2 สาเหตุ

ประการแรก คือ ระเบียบของวัดในการเข้าสักการะ หลวงพ่อโสธรองค์จริง ในพระอุโบสถหลังใหม่ที่มี “จำกัด” การแสดงศรัทธาของประชาชน ด้วย “ข้อห้าม” หลายประการ ได้แก่ ห้ามจุดธูป, ห้ามปิดทององค์พระ, ห้ามถวายไข่ต้มแก้บน, ห้ามรำแก้บนในพระอุโบสถ ฯลฯ 

แต่ทั้งหมดนี้สามารถ “ทำได้” ที่พระวิหารชั่วคราว และหลวงพ่อโสธรจำลอง

ประการที่สอง หลังจากพระอุโบสถเสร็จ กรมศิลปากรเข้ามาบูรณะองค์หลวงพ่อโสธรองค์จริงในปี 2552 การบูรณะใหญ่ครั้งนี้ กรมศิลปากรได้ลอกทองคำเปลวที่ปิดพระพักตร์มานานออก ซึ่งอาจต่อเนื่องยาวนานหลายสิบหรือหลายร้อยปี จนทำให้ “พุทธลักษณะ” ของ หลวงพ่อโสธร “เปลี่ยน” ไปจากเมื่อแรกสร้าง หลังการบูรณะจึง “ห้ามปิดทอง” หลวงพ่อโสธรองค์จริงอีก

ปัญหาที่ตามมาคือ พุทธลักษณะดั้งเดิมที่ถูกต้อง กลับเป็นลักษณะที่ประชาชนผู้ศรัทธากราบไหว้ไม่คุ้นตา และลุกลามจนเป็นกระแสความไม่พอใจของคนจำนวนไม่น้อย จนมีการโจมตีกรมศิลปากรว่า ทำการบูรณะผิดพลาด ทำให้หน้าตาหลวงพ่อโสธรผิดเพี้ยนไปจากเดิม

แม้ปัญหาดังกล่าวจะคลี่คลาย และยอมรับว่า การบูรณะของกรมศิลปากรไม่ผิดพลาด

หากก็ยังมีผลกระทบกับ “ภาพจำ” ของ หลวงพ่อโสธร ที่สืบทอดมาช้านาน ในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปถ่าย, เหรียญที่ระลึก, พระพิมพ์ ฯลฯ ที่ประชาชนเช่าบูชาไปที่ส่วนใหญ่มี “พุทธลักษณะ” ตามแบบที่ถูกปกปิดด้วยทองคำจำนวนมาก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

วัชรี ชมภู. “พระพุทธโสธร ประวัติ ตำนาน และงานพุทธศิลป์”ใน, เว็บไซต์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี.

ชาตรี ประกิตนนทการ. สถาปัตย์-สถาปนา การ(เมือง) ดีไซน์พื้นที่และความนัยสถาปัตยกรรม, สำนักพิมพ์มติชน. พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2566


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 ตุลาคม 2566