ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2545 |
---|---|
ผู้เขียน | ปริวรรต ธรรมาปรีชากร |
เผยแพร่ |
ตามรอย “พระเจ้าล้านตื้อ” พระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่แห่งลำน้ำโขง ที่จมอยู่ในแม่น้ำโขง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
สืบเนื่องจากการที่นายสกุล ศรีพรหม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา พรรคชาติไทย ได้ยืนญัตติต่อคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม เรื่อง “ให้กู้พระพุทธรูปที่จมอยู่ในลำน้ำโขงหน้าเมืองเชียงแสน” บริเวณอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เมื่อราว พ.ศ. 2541 เพื่อให้กรมศิลปากรเข้าชี้แจงในเรื่องดังกล่าว
ในการนี้สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติได้มอบหมายให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นเสนอต่อคณะกรรมาธิการดังกล่าว
สภาพของเกาะกลางลำน้ำโขงก่อนการพังทลาย
บริเวณลำน้ำโขง นับตั้งแต่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอเชียงแสนจนถึงหน้าสถานีตำรวจน้ำอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ซึ่งปัจจุบันยังปรากฏซากโบราณสถานหลงเหลืออยู่ให้เห็นบางแห่งตามริมฝั่ง ในระหว่าง พ.ศ. 2446-2528 ยังปรากฏร่องรอยของพื้นที่ที่เรียกว่า “เกาะดอนแท่น” เกาะนี้ตั้งอยู่ระหว่างชายแดนไทยกับลาว ใกล้ฝั่งไทย มีความกว้างสุดประมาณ 40 เมตร ความยาวประมาณ 600 เมตร (สมจิตต์ เรื่องคณะ, 2513 : 40)
สภาพเกาะเป็นเนินทรายขนาดใหญ่กลางลำน้ำโขง มีต้นไม้ขึ้นใหญ่น้อย เช่น ต้นงิ้วและต้นไคร้ ทางด้านเหนือและบริเวณที่คอดเกือบส่วนปลายของเกาะจะเป็นชายหาดที่ถูกกัดเซาะ จนเหลือแต่หินกรวดเต็มไปหมด (จากการสัมภาษณ์ลุงไพรัตน์และป่าบุญยิ่ง ฮงประยูร, 2540)
บริเวณหัวเกาะส่วนที่คอดด้านตะวันออกจะมีน้ำวน และบริเวณหัวเกาะส่วนที่คอดด้านทิศตะวันตกจะเป็นคุ้งน้ำ ในฤดูแล้งชาวเชียงแสนจะนำวัวควายมาเลี้ยงบนเกาะนี้เป็นประจำ
ในงานประเพณีสงกรานต์คราวหนึ่งประชาชนสองฝั่งแม่น้ำ ทั้งชาวไทยและลาวได้มาจัดงานประเพณีบนเกาะ มีการเล่นการพนันต่างๆ เช่น บ่อน ไฮโล ถั่ว โป และประกวดฟ้อนรำ เพราะรู้กันดีว่าเป็นดินแดนของลาวตามสนธิสัญญาสยามกับฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2469 โดยสร้างสะพานให้ผู้ประสงค์จะไปร่วมงานเดินข้ามโดยเสียค่าใช้จ่ายคนละ 2-3 บาท หรือจะนั่งเรือข้ามไปก็เสียคนละ 1 บาท และผู้ที่จะนำสินค้าไปตั้งขายในงานต้องเสียคนละ 10 บาท (จากการสัมภาษณ์ป้าขันแก้ว สิทธิยศ, 2540)
ต่อมาเนินทรายนี้ได้ค่อยๆ หายไป จากการที่มีการขุดดินเพื่อร่อนหาทอง รวมทั้งการกัดเซาะของแม่น้ำโขงตลอดระยะเวลาอันยาวนาน จนกระทั่งเมื่อประมาณ พ.ศ. 2528-2529 (จากแผนที่ทหารซึ่งจัดทำจากรูปถ่ายทางอากาศที่ถ่ายเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2530 และข้อมูลแผนที่ในเขตประเทศไทยรวบรวมถึง พ.ศ. 2532) ก็ไม่เห็นร่องรอยของเกาะนี้อีกแล้ว ทำให้อาชีพการร่อนทองเลิกไปในที่สุด
ชาวเชียงแสนส่วนหนึ่งมีความคิดว่า เกาะดอนแท่นอยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว บริเวณฝั่งตรงข้ามอำเภอเชียงแสนตั้งแต่บ้านสบรวก บ้านสบคำ จนถึงบ้านสบกกของไทย
โดยมีบริเวณแนวลำน้ำโขงสายเก่ากันอยู่ เพราะเชื่อว่าแม่น้ำโขงสายเก่าเพิ่งจะตื้นเขินเมื่อไม่เกิน 200 ปีที่ผ่านมา และแม่น้ำโขงสายใหม่เกิดจากการขุดร่องน้ำในสมัยรัชกาลที่ 1 ในคราวที่เจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันร่วมกับกองทัพสยามเข้าโจมตีเมืองเชียงแสน เพื่อทำให้เมืองเชียงแสนกลายเป็นเมืองอกแตก รวมทั้งได้มีการค้นพบศิลปะโบราณวัตถุที่คล้ายคลึงกับที่พบในเมืองเชียงแสนด้วย มิใช่เกาะที่นายสมจิตต์ เรืองคณะ กล่าวอ้างถึงตามตำนาน
เกาะที่นายสมจิตต์ เรืองคณะ กล่าวถึงในปัจจุบันชาวบ้าน เรียกว่า “เกาะดอนแห้ง” หรือ “เกาะกลาง” (จากการสัมภาษณ์ลุงต้น หาญพิพัฒน์ ป้าอุสา หาญพิพัฒน์ ป้ามณีจันทร์ พงษ์สวรรค์ ลงเกตุ นาระต๊ะ นายศรีนุช วิไล นายณรงค์ วิไล และนางสายใจ ปัดถา, 2540)
ส่วนชินกาลมาลีปกรณ์ซึ่งศาสตราจารย์ ร.ต.ท.แสง มนวิทูร เป็นผู้แปลและทำเชิงอรรถ อธิบายว่า เกาะนี้ถูกเรียกว่า “เกาะหลวง” และเชื่อว่าคือ “เกาะดอนแท่น”
อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้ามีความคิดเช่นเดียวกับศาสตราจารย์ ร.ต.ท.แสง มนวิทูร และนายสมจิตต์ เรืองคณะ ว่า เกาะดอนแท่นคือเกาะกลางน้ำหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอเชียงแสน ตามที่กล่าวอ้างถึงในประชุมพงศาวดารและตำนาน แต่ถูกชาวบ้านเรียกเพี้ยนกันในภายหลังจนกลายมาเป็น “เกาะดอนแห้ง” ซึ่งอย่างน้อยก็กว่า 150 ปีมาแล้ว เพราะเห็นว่าเป็นเกาะที่แห้งแล้งไม่มีอะไร ดังที่ปรากฏในรายละเอียดแผนที่เส้นเขตแดนในแม่น้ำโขงระบุว่า “เกาะดอนแห้ง”
ส่วนที่ชาวบ้านกล่าวว่าเกาะดอนแท่นอยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวนั้น ในแผนที่เส้นเขตแดนในแม่น้ำโขงที่เขียนตามสนธิสัญญาสยามกับฝรั่งเศสเรียกว่า “หาดเกาะหลวง” (Hat Coh Luang) มิใช่เกาะดอนแท่น
จากประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน พงศาวดารโยนก และชินกาลมาลีปกรณ์ ล้วนกล่าวถึงเกาะดอนแท่น ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับเมืองเชียงแสน เมื่อวิเคราะห์จากแผนที่ทหารที่ทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2512 มีอยู่เพียงเกาะเดียวที่อยู่ใกล้กับเมืองเชียงแสนมากที่สุด
นอกจากนี้ แม่น้ำโขงสายเก่าคงตื้นเขินและคงเปลี่ยนเส้นทางเดินมาแล้วตั้งแต่ 1,000-1,500 ปีเป็นอย่างน้อย ก่อนการสร้างเมืองเมื่อประมาณ 669 ปีที่ผ่านมา และได้กัดเซาะพื้นที่บางส่วน จนกลายเป็นเกาะซึ่งก็คือ “เกาะดอนแท่น” ริมแม่น้ำโขง หน้าเมืองเชียงแสนตามที่ปรากฏในประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน พงศาวดารโยนก และชินกาลมาลีปกรณ์นั่นเอง จึงไม่น่าที่ผู้เขียนพงศาวดารโยนก และชินกาลมาลีปกรณ์ จะกล่าวถึงพื้นที่ในดินแดนของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพราะในเวลานั้นดินแดนบริเวณฝั่งตรงข้ามอำเภอเชียงแสนของไทย ได้กลายเป็นผืนแผ่นดินเดียวกันกับพื้นที่ที่เคยมีแม่น้ำโขงสายเก่าไหลผ่านแล้ว
เกาะดอนแท่น จากตำนานและพงศาวดาร
เรื่องราวของเกาะดอนแท่นนั้นมีกล่าวไว้ในหนังสือหลายเล่ม เช่น
ในหนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ภาคที่ 1 ถึงภาคที่ 73 ตั้งแต่ พ.ศ. 2451-2485 มีเนื้อหากล่าวถึงความสำคัญของเกาะดอนแท่นที่เมืองเชียงแสน ซึ่งพระมหาเถรเจ้า หรือเจ้าผู้ครองเมืองเชียงแสนมักจะมากระทำพิธีทางพุทธศาสนา รวมทั้งการสักการะเจ้าผู้ครองเมืองตามโบราณราชประเพณีบนเกาะแห่งนี้ การสถาปนาวัดต่างๆ หลายวัดบนเกาะดอนแท่น เช่น พระมหาเถรเจ้าศิริวังโสได้นำพระพุทธรูปมา 2 องค์ จึงได้สร้างวัดพระแก้ว และวัดพระคำบนเกาะดอนแท่น เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสององค์ เมื่อ พ.ศ. 1930 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพญาแสนเมืองมา (พ.ศ. 1929-1944) และวัดที่สร้างขึ้นบนเกาะดอนแท่นจำนวน 10 วัด ซึ่งมีวัดพระทองทิพปรากฏอยู่ด้วย
ในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ ซึ่งพระภิกษุรัตนปัญญาเถระ ชาวเมืองเชียงใหม่ ได้แต่งขึ้นไว้เป็นภาษาบาลี ระหว่าง พ.ศ. 2060-2071 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงโปรดเกล้าฯ ให้แปลเป็นภาษาไทยครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2337 และใน พ.ศ. 2499 ศาสตราจารย์ ร.ต.ท.แสง มนวิทูร แปลจากฉบับภาษาบาลีเป็นภาษาไทย มีเนื้อหากล่าวถึงเจ้ามหาพรหมได้นำพระพุทธสิหิงค์มาเมืองเชียงราย เพื่อทำเลียนแบบ จากนั้นจึงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มายังเมืองเชียงแสน เพื่อกระทำพิธีสวดพุทธาภิเษกที่เกาะดอนแท่น ในตอนอื่นๆ ก็ยังกล่าวย้ำถึงความสำคัญของเกาะแห่งนี้ที่พระมหาเถระหลายองค์ได้มากระทำพิธีอุปสมบทให้แก่กุลบุตรหลายครั้งหลายคราว ในระหว่างรัชสมัยพญาคำฟู (พ.ศ. 1881-1888) และพระเมืองแก้ว (พ.ศ. 2038-2068)
ในหนังสือพงศาวดารโยนก ของพระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2441 เรียกเกาะดอนแท่นว่า เกาะดอนแท่น เกาะบันลังตระการ หรือปักลังกทิปะกะ กล่าวถึงความสำคัญของเกาะนี้ว่า เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาในการทำพิธีพุทธาภิเษกพระพุทธสิหิงค์และบวชกุลบุตร เช่นเดียวกับที่กล่าวอ้างในชินกาลมาลีปกรณ์ และกล่าวถึงที่ตั้งของเกาะดอนแท่นว่า มีพระราชวังซึ่งพญาแสนภูทรงสร้างอยู่ทางทิศเหนือของเกาะ ปัจจุบันสันนิษฐานว่าคือบริเวณสถานีตำรวจภูธร อำเภอเชียงแสน ที่ทำการอำเภอเชียงแสน และอาจจะอีกบางส่วนในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 (เวียงเก่าแสนภูวิทยาประสาท)
ตามรอยพระพุทธรูปลำน้ำโขง
จากการสอบถามชาวเชียงแสน ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ในอำเภอเชียงแสนมากว่า 25-65 ปี ซึ่งมีอายุระหว่าง 41-94 ปี ต่างเชื่อว่ามีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ซึ่งเรียกันว่า “พระเจ้าล้านตื้อ” จมอยู่ในลำน้ำโขงจริง ตามที่ตนเองได้พบเห็นหรือบรรพบุรุษได้เคยเล่าให้ฟัง แต่พระพุทธรูปองค์นี้จมลงในแม่น้ำโขงตั้งแต่เมื่อใดไม่มีผู้ใดทราบ
การค้นพบพระพุทธรูปกลางลำน้ำโขงเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อราว พ.ศ. 2479 เมื่อพรานหาปลาผู้หนึ่งพร้อมกับปู่ของเขาออกไปทอดแหหาปลาบริเวณกลางแม่น้ำโขง ซึ่งใกล้กับสถานีตำรวจภูธรอำเภอเชียงแสน ได้เห็นเศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่โผล่ขึ้นมากลางน้ำ ซึ่งเขาจำได้ว่าไม่มีพระรัศมีบนพระเกตุมาลาและเห็นส่วนพระเศียรเพียงถึงแค่พระหนุ (คาง) พระพุทธรูปดังกล่าวหันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ (จากการสัมภาษณ์ลุงเหล็ก สุวรรณศรี, 2540)
อย่างไรก็ตาม ได้มีการค้นพบพระรัศมีสำริดขนาดใหญ่ชิ้นหนึ่งจากลำน้ำโขงหน้าเมืองเชียงแสน และถูกนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดร้าง บริเวณหลังตลาด (ปัจจุบันคือวัดคว้าง) ต่อมานำไปเก็บรักษาไว้ที่วัดปงสนุกในอำเภอเชียงแสน (จากการสัมภาษณ์ลุงต้น หาญพิพัฒน์ และลุงบุญช่วย วิเชียร, 2540 ) และวัดมุงเมืองในอำเภอเมืองตามลำดับ
ครั้นเมื่อมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน เมื่อ พ.ศ. 2500 จึงใช้ศาลาหลังเก่าของวัดเจดีย์หลวงเป็นสถานที่จัดตั้ง และได้นำพระรัศมีดังกล่าวกลับมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน ตั้งแต่นั้นมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน พระรัศมีชิ้นนี้จึงน่าจะเป็นพระรัศมีของพระเจ้าล้านตื้อที่หลุดออกไปก่อนที่พรานล่าปลาเห็นเศียรพระพุทธรูปเมื่อ พ.ศ. 2479 ก็เป็นได้
ต่อมาใน พ.ศ. 2488 ก็มีพรานล่าปลาอีกผู้หนึ่งได้พบเสาวิหารขนาดใหญ่จำนวน 2-3 ต้นล้มทับกัน จมอยู่ในแม่น้ำโขงลึกประมาณ 4 เมตร ที่บริเวณสามแยกหน้าสถานีตำรวจภูธร อำเภอเชียงแสน (จากการสัมภาษณ์ลุงพุ มงคลธรรม, 2540) ครั้นถึง พ.ศ. 2489-2490 ก็มีพรานหาปลาผู้หนึ่งไปทอดอวนหาปลาบริเวณเกาะกลางหน้าเมืองเชียงแสน เผอิญอวนไปติดสิ่งของใต้น้ำ จึงดำลงไปเพื่อปลดออก ก็พบว่าอวนได้ไปติดปลายพระกรรณของพระพุทธรูปประทับนั่งขนาดใหญ่ เพราะลองยืนตรงบริเวณเหนือพระอังสาแล้วยกมือขึ้นตั้งตรง ก็ยังไม่สามารถจับถึงปลายพระกรรณได้ และเมื่อลองลูบคลำดูก็มีลักษณะลื่นๆ (จากการสัมภาษณ์ป้าอุสา หาญพิพัฒน์ กล่าวว่า ลุงกันตีซึ่งเป็นเพื่อนของบิดาเป็นผู้เล่าให้ฟัง เพราะเป็นผู้ค้นพบเอง ปัจจุบันลุงกันตีถึงแก่กรรมนานแล้ว, 2540)
ใน พ.ศ. 2492-2493 เพียสมบูรณ์ ชาวลาวผู้อพยพจากเมืองหลวงพระบาง ซึ่งได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในอำเภอเชียงแสน และเป็นผู้หนึ่งที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนา ได้ฝันว่าพระพุทธรูปดังกล่าวอยู่ในลักษณะล้มคว่ำพระเศียรลง หันไปทางทิศใต้ ดังนั้นในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมของปีเดียวกัน เพียสมบูรณ์จึงได้ตั้งศาลเพียงตาบริเวณทางเหนือของเกาะดอนแท่น ปักฉัตร 4 ทิศ มีคนนุ่งขาวห่มขาว 7 คน โรยข้าวตอกดอกไม้ เพื่อบวงสรวงองค์พระพุทธรูป (จากการสัมภาษณ์นายปั๋น ตู่มาละ, 2540) เตรียมเรือเหล็กขนาดใหญ่ 2 ลำพร้อมช้าง 3-4 เชือก และนิมนต์พระสงฆ์มาร่วมกระทำพิธี ทันใดนั้นท้องฟ้าเกิดครึ้มฟ้าครึ้มฝน (จากการสัมภาษณ์ลุงสุดใจ เชื้อเจ็ดตน ลุงต้น หาญพิพัฒน์ และลุงเหล็ก สุวรรณศรี, 2540)
การดำเนินงานต้องใช้โซ่เหล็กมาผูกกับเสาวิหารของวัดร้างใต้น้ำ เพื่อให้มีที่เกาะเกี่ยวสำหรับคลำหาพระพุทธรูปได้ แต่เนื่องจากกระแสน้ำแรงและเย็นมากทำให้ไม่พบพระพุทธรูปแต่อย่างใด (จากการสัมภาษณ์ลุงแทน โพธิ์เกตุ, 2540 ลุงแทนยัง เล่าให้ฟังอีกว่า บุคคลที่ดำน้ำลงไปในครั้งนั้นยังมีลุงสีเพ็งและลุงสีจัน ซึ่งทั้งสองถึงแก่กรรมไปหมดแล้ว)
ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม พ.ศ. 2509 บริษัท อิตาเลียน-ไทยฯ จำกัด ซึ่งได้รับสัมปทานในการก่อสร้างสนามบินที่เมืองหลวงพระบาง เนื่องจากการก่อสร้างในสมัยนั้นต้องใช้อำเภอเชียงแสนเป็นที่พักชั่วคราว เพื่อไปทำงานที่เมืองหลวงพระบางอีกทีหนึ่ง เพราะการเดินทางด้วยวิธีนี้นับว่าสะดวกที่สุด และได้มารับเหมาสร้างถนนอยู่ที่อำเภอเชียงแสน
นายชูสง่า ไชยพันธุ์ (ฤทธิประศาสน์) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายในขณะนั้น (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. 2504-2512) ได้ขอให้บริษัทดังกล่าว ส่งนักประดาน้ำลงค้นหาพระพุทธรูปในลำน้ำโขง เนื่องจากมีอุปกรณ์ที่ทันสมัยพอสมควร ก่อนที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่ในอำเภอเชียงแสนเมื่อเดือนสิงหาคม-กันยายนปีเดียวกัน คณะดังกล่าวได้ใช้โรงแรมศรีสง่าเป็นที่พักชั่วคราว (ซึ่งปัจจุบันคือห้องแถวบริเวณร้านสมจิตโอสถ) นายสมบูรณ์ พรหมเมศ เป็นนายอำเภอเชียงแสน ในระยะนั้นได้ประกาศให้ชาวจังหวัดเชียงรายทราบ ด้วยการลงหนังสือพิมพ์ประชาสัมพันธ์ข่าวของพระพุทธรูปที่จมอยู่ในลำน้ำโขง
การดำเนินงานได้ตั้งศาลเพียงตา นำแม่ชีมาเข้าทรง ใช้เรือท้องแบน เครื่องดูดทราย ชุดมนุษย์กบ ลวดสลิง ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ เข้ามาค้นหาองค์พระพุทธรูปที่บริเวณด้านเหนือของเกาะกลางน้ำ หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอเชียงแสน ด้านทิศตะวันออก ซึ่งเป็นบริเวณที่มีน้ำวน ชาวบ้านมักไม่ค่อยแล่นเรือเข้าไปใกล้ แต่น้ำเชี่ยวมาก และนักประดาน้ำทนความเย็นไม่ได้ จึงไม่ประสบผลสำเร็จ (จากการสัมภาษณ์คุณนิพรเพชร คำมี, 2540)
การตามรอยพระพุทธรูปพระเจ้าทองทิพในครั้งนี้ ได้ค้นพบเพียงโบราณวัตถุอื่นๆ เล็กน้อย เช่น พระพุทธรูปขนาดเล็ก และเครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น และการดำเนินการค้นหาพระพุทธรูปอยู่เพียงระยะเวลาหนึ่งจึงได้เลิกไป หลังจากนั้นก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ อีกจนถึงปัจจุบัน
เมื่อประมวลจากข้อมูลทั้งหมด พอจะสันนิษฐานได้ว่า พระเจ้าทองทิพรวมทั้งโบราณวัตถุสถานต่างๆ บนเกาะดอนแท่น (เกาะดอนแห้ง) ได้จมลงในแม่น้ำโขง ก่อนที่จะมีการเขียนสนธิสัญญาสยามกับฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2469 อันอาจเนื่องมาจากการเผาเมืองเชียงแสน จนกลายเป็นเมืองร้างใน พ.ศ. 2417 รวมทั้งการกัดเซาะของแม่น้ำโขงเป็นระยะเวลานาน ปัจจุบันไม่มีผู้ใดทราบว่าพระพุทธรูปองค์นี้ถูกกระแสน้ำพัดพาไป ณ ที่ใด หรือยังคงฝังจมอยู่ที่เดิม
รูปลักษณ์ทางศิลปะ
พระรัศมีที่เชื่อกันว่าเป็นของพระเจ้าล้านตื้อ หรือพระเจ้าทองทิพ (?) ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสนนั้น มีความกว้าง 55 เซนติเมตร สูง 70 เซนติเมตร มีเดือยสำหรับเสียบลงบนพระเกตุมาลาของพระพุทธรูป ส่วนองค์พระรัศมีมีร่องรอยรูปวงกลมสำหรับฝังหินมีค่า จัดเป็นศิลปะล้านนาที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 สันนิษฐานว่าส่วนองค์พระพุทธรูปก็อาจมีการตกแต่งด้วยหินมีค่าเช่นเดียวกับพระรัศมี ซึ่งอาจเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยทรงเครื่อง (?) หล่อด้วยสำริด ภายในกลวง ทำเป็นรูปเปลวไฟ มีกลีบบัวรองรับ ลักษณะเดียวกับพระรัศมีของพระเจ้าล้านทอง และพระเจ้าทองทิพองค์ปัจจุบัน ในวัดพระเจ้าล้านทอง
พระพุทธรูปที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน ที่นำมาจากวัดพระเจ้าล้านทองและวัดปงสนุก พระพุทธรูปอีกหลายองค์ที่สร้างขึ้นในเมืองเชียงแสน และบางองค์ที่สร้างขึ้นในเมืองเชียงใหม่และน่าน จึงแสดงให้เห็นว่าพระรัศมีที่มีรูปกลีบบัวรองรับนี้คงเป็นแบบที่นิยมในเมืองเชียงแสน เพราะพบมากที่สุด และหากเราเชื่อว่า พระเจ้าล้านตื้อ หรือพระเจ้าทองทิพ เป็นองค์เดียวกัน ซึ่งถูกนำมาจากเชียงใหม่ตามที่กล่าวไว้ในพงศาวดาร ย่อมแสดงให้เห็นว่าพระพุทธรูปศิลปะล้านนาที่สร้างขึ้นในเมืองเชียงใหม่ แม้ว่าจะมีขนาดใหญ่และหนักมาก ก็สามารถเคลื่อนย้ายได้ ความห่างไกลมิได้เป็นอุปสรรคต่อความศรัทธาอันแรงกล้าเลย
อนึ่งพระเจ้าทองทิพองค์ปัจจุบันนั้นถูกเรียกโดยชาวบ้านในระยะหลัง เพราะเชื่อว่าซากโบราณสถานแห่งหนึ่งในเมืองเชียงแสนที่ค้นพบพระพุทธรูปองค์นี้คือ วัดพระทองทิพ ซึ่งความจริงแล้วเป็นวัดคว้าง เนื่องจากวัดพระ (เจ้า) ทองทิพในประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 ตั้งอยู่บนเกาะดอนแท่น พระรัศมีสำริดของพระเจ้าทองทิพนั้นถูกงมขึ้นมาจากในลำน้ำโขงและนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดคว้าง ในเวลาต่อมาจึงเรียกวัดคว้างว่า “วัดพระ (เจ้า) ทองทิพ” รวมทั้งเรียกพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่ค้นพบที่วัดคว้างในภายหลังองค์หนึ่งว่า “พระเจ้าทองทิพ”
อย่างไรก็ตามพระรัศมีของพระเจ้าทองทิพคงถูกงมขึ้นมาก่อน พ.ศ. 2446 อันเป็นช่วงที่เงี้ยวบุกแขวงเชียงแสนหลวง (แขวงเชียงแสนหลวงหมายถึงอำเภอแม่จัน ส่วนอำเภอเชียงแสน ในปัจจุบันคือแขวงเชียงแสนน้อยในอดีต เนื่องจากเงี้ยวได้โจมตีพื้นที่หลายแห่ง แขวงเชียงแสนน้อยในขณะนี้ กับแขวงเชียงแสนหลวง) เพราะมีการกล่าวถึงวัดพระ (เจ้า) ทองทิพว่า “…เดิมอ้ายตุ๊สะล้าเมืองอ๊อดนี้เป็นตุ๊ม่านมาแต่ที่ใดเมืองไหนข้าพเจ้าไม่ทราบมาเป็นตุ๊หลวงที่วัดพระ (เจ้า) ทองทิพ วัดนั้นตั้งอยู่ริมฝั่งน้ำของ ในเชียงแสนริมตลาด…” (บุญเสริม สาตราภัย, 2529) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า วัดนี้ถูกเรียกในระยะนั้นแล้วว่า “วัดพระ (เจ้า) ทองทิพ” พระรัศมีของพระเจ้าทองทิพน่าจะถูกงมขึ้นมาเมื่อราว 100 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างน้อย และอาจชี้ให้เห็นว่าวัดต่างๆ บนเกาะดอนแท่นได้พังทลายลงในแม่น้ำโขงเมื่อราว 150-200 ปีที่แล้ว
ดังนั้นเมื่อลองเปรียบเทียบสัดส่วนของพระรัศมีกับพระพุทธรูปศิลปะล้านนาองค์อื่นๆ รวมทั้งจากคำบอกเล่าของพรานหาปลาที่กล่าวว่า ตนเคยดำลงไปปลดอวน (มอง) ที่บริเวณพระกรรณ เมื่อยืนตรงบริเวณเหนือพระอังสาแล้วยกมือขึ้นตรง ก็ยังไม่สามารถจับถึงปลายพระกรรณขององค์พระพุทธรูปองค์นี้ ทำให้เราก็สามารถประมาณความกว้างของหน้าตักได้ 8.5 เมตร และความสูง 10 เมตร อย่างไรก็ตามก็ยังไม่เคยมีใครเห็นพระพุทธรูปทั้งองค์ หากพระพุทธรูปองค์นี้มีจริงก็จะเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญและงดงามที่สุดในเมืองเชียงแสน
นับว่าโชคดีที่หลวงพ่อแม้นแห่งวัดจอมกิตติ (มรณภาพแล้ว) ได้สร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัยจำลองขนาดใหญ่องค์หนึ่งที่จมอยู่ในแม่น้ำโขงไว้ที่บริเวณบ่อน้ำทิพย์ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงพอสมควร แม้ว่าจะมีสัดส่วนหรือขนาดของพระเศียรที่ไม่ค่อยตรงตามคำบอกเล่าของผู้เคยพบเห็นมากนัก แต่ก็ทำให้เราได้เห็นถึงร่องรอยของอดีตในห้วงหนึ่งของเมืองเชียงแสนได้เป็นอย่างดี
ความสำคัญของพระพุทธรูป
ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน หน้า 164, 165 กล่าวว่า “…ต่อแต่นั้นมาถึงศักราชได้ 797 (พุทธศักราช 1978 ตรงกับรัชกาลพญาสามฝั่งแกน) ตัวเมิงเมดพระยาอติโลกราชตนหลานได้พรองแล้ว ก็ยินดีด้วยคุณมหาสามีเจ้ามากนัก พระยาอติโลกราชเจ้าก็บ่งราชอาญาให้แก่หมื่นน้อย ว่าไร่นาเขตแดนป่ายางคำและผู้คนทั้งหลายมหาเทวีตนย่าทานไว้แต่ก่อนมีดังฤา พระองค์เราเป็นเจ้าก็จักทานไว้กับเป็นดังนั้นแล จึงให้ร้อยขุนกับสิบอ้ายนิมนต์เอาพระพุทธรูปเจ้าทองทิพองค์หนึ่ง แต่จอมทองเชียงใหม่อันมหาเถรเจ้าฟ้าหลั่งเอาแต่เมืองลังกานั้นกับให้เอาไม้ศรีมหาโพธิ์ต้นหนึ่งยังวัดพระคำดอนแท่นให้เป็นสักขีให้เป็นที่สาคารวะแก่คนและเทวดาแล้ว ก็ฝังหินจารึกกฎไว้ในปีเบิกสันเดือนกัตติกาเพ็ญเมงวันอังคารไทยดับไส้วันนั้น…”
เนื้อหาในประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน กล่าวถึง พระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งที่ชื่อว่า พระเจ้าทองทิพ ถูกนำมาจากเชียงใหม่ ซึ่งต้องมอบหมายให้ขุนนางผู้มีตำแหน่งขุน 100 คน และตำแหน่งอ้าย 10 คน ดำเนินการจัดหาบ่าวไพร่ที่ตนมีอยู่ร่วมกันชักลากมา โดยพระมหาเถรเจ้าองค์หนึ่งเป็นผู้นำพระพุทธรูปองค์นี้มาจากเมืองลังกา และเอาพระศรีมหาโพธิ์ต้นหนึ่งมาปลูกไว้ที่วัดพระคำบนเกาะดอนแท่น เพื่อให้เป็นสักขีพยานและเป็นที่เคารพสักการะของคนและเทวดา แสดงว่าพระเจ้าทองทิพองค์นี้ ต้องเป็นพระพุทธรูปสำคัญและมีขนาดใหญ่มากที่ใช้คนจำนวนมากในการเคลื่อนย้ายมาประดิษฐานยังเกาะดอนแท่น โดยหล่อเป็นส่วนๆ แล้วนำมาประกอบเช่นเดียวกับพระพุทธรูปศิลปะล้านนาของเมืองเชียงแสน แล้วล่องตามลำน้ำกกออกสู่แม่น้ำโขงจนถึงเมืองเชียงแสน เพื่อให้ประชาชนและเหล่าเทวดาได้กราบไหว้ พระพุทธรูปองค์นี้จึงน่าจะเป็นองค์เดียวกับพระพุทธรูปที่จมอยู่ในแม่น้ำโขง ที่ชาวบ้านในปัจจุบันเรียกกันว่า พระเจ้าล้านตื้อ (ตื้อเป็นหน่วยนับของทางภาคเหนือ หมายถึงโกฏิ)
เมื่อประมวลจากคำบอกเล่าของชาวบ้านและสัดส่วนพระรัศมีของพระพุทธรูปองค์นี้ก็น่าจะเป็นพระพุทธรูปสำริดองค์ที่ใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งของประเทศไทย และอาจมีความงดงามที่สุดในบรรดาพระพุทธรูปศิลปะล้านนาทั้งหมด
เมื่อพิจารณาจากพระรัศมีที่มีร่องรอยของการประดับหินมีค่าต่างๆ จึงควรนำขึ้นมาประดิษฐานอยู่ในที่อันควร ให้เป็นของคู่บ้านคู่เมืองของชาวเชียงแสนและประเทศไทยสืบต่อไป เพื่อให้สมกับคำขวัญของอำเภอเชียงแสนว่า “ถิ่นอมตะ พระเชียงแสน แดนสามเหลี่ยม เยี่ยมน้ำโขง จรรโลงศิลปะ” เนื่องจากเกาะดอนแท่นเดิมเป็นดินแดนของไทยหรืออาณาจักรล้านนามาตั้งแต่สร้างเมืองเชียงแสนเมื่อปี พ.ศ. 1871
อีกประการหนึ่ง เรื่องพระพุทธรูปที่จมอยู่ในลำน้ำโขงนี้เป็นเรื่องจริงที่ได้รับการพูดถึงกว่า 60 ปีแล้ว ควรจะได้รับการตรวจสอบและขุดค้นทางด้านโบราณคดีอย่างยิ่ง แม้กระทั่งคนที่อาศัยอยู่ต่างถิ่น ไม่ว่าจะเป็นอำเภอแม่จัน อำเภอเมือง และอำเภอเชียงของ ต่างทราบกันดีว่ามีพระพุทธรูปจมอยู่ในแม่น้ำโขง ขณะนี้สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้ดำเนินการในเรื่องนี้แล้ว โดยมอบหมายให้กลุ่มงานโบราณคดีใต้น้ำ จังหวัดจันทบุรี ค้นหาตำแหน่งหรือจุดที่พระพุทธรูปจมอยู่ เนื่องจากกระแสน้ำมีความเปลี่ยนแปลง และต้องสำรวจหาร่องน้ำลึก ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับลาว หากพบว่าอยู่ในขอบเขตของพื้นที่ที่จะสามารถดำเนินการได้ก็จะอัญเชิญขึ้นมา เพื่อให้ชาวโลกได้ประจักษ์ว่าประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุต่างๆ มากมายที่จมอยู่ในแม่น้ำโขง ซึ่งอาจถูกนำขึ้นมาพร้อมกับพระพุทธรูปองค์ดังกล่าว เพราะแม่น้ำโขงได้กัดเซาะวัดต่างๆ ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำพังทลายลงไป ดังปรากฏซากโบราณสถานหลงเหลืออยู่ให้เห็นในปัจจุบัน
อ่านเพิ่มเติม :
แหล่งข้อมูล :
หัวแม่เพ็ง พงษ์สวรรค์ อายุ 94 ปี และป้ามณีจันทร์ พงษ์สวรรค์ อายุ 65 ปี บ้านเลขที่ 40 หมู่ 3 ถนนริมโขง ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
ลุงแดง เครื่องสีมา อายุ 90 ปี บ้านเลขที่ 38 หมู่ 2 ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
ลุงพุ มงคลธรรม อายุ 84 ปี บ้านเลขที่ 187 หมู่ 3 ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
ป้าขันแก้ว สิทธิยศ อายุ 84 ปี บ้านเลขที่ 87/3 หมู่ 3 ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
ลุงต้น หาญพิพัฒน์ อายุ 81 ปี ป้าอุสา หาญพิพัฒน์ อายุ 74 ปี และนางนิพรเพชร คํามี อายุ 45 ปี บ้านเลขที่ 82 หมู่ 3 ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
ลุงปั๋น ตู่มาละ อายุ 76 ปี บ้านเลขที่ 52 หมู่ 2 ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
ลุงเหล็ก สุวรรณศรี อายุ 74 ปี บ้านเลขที่ 155 หมู่ 3 ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
ลุงผุ๋ย โสติผล อายุ 71 ปี บ้านเลขที่ 317 หมู่ 3 ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
ลุงไพรัตน์ ฮงประยูร อายุ 71 ปี และป้าบุญยิ่ง ฮงประยูร อายุ 64 ปี บ้านเลขที่ 76 หมู่ 3 ถนนริมโขง ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
ลุงสุขใจ เชื้อเจ็ดตน อายุ 68 ปี บ้านเลขที่ 334 หมู่ 3 ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
ลุงบุญช่วย วิเชียร อายุ 65 ปี บ้านเลขที่ 362 หมู่ 2 ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
ลุงเกตุ นาระต๊ะ อายุ 64 ปี บ้านเลขที่ 289/1 หมู่ 3 ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
อาจารย์บัญชา ชัยศิลบุญ อายุ 61 ปี บ้านเลขที่ 522 หมู่ 3 ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
ป้าบัวผัน พรหมพันธ์ อายุ 58 ปี และนางสายใจ ปัดถา อายุ 35 ปี บ้านเลขที่ 28 หมู่ 3 ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
นายณรงค์ วิไล อายุ 53 ปี บ้านเลขที่ 28/1 หมู่ 2 ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
นายสมหมาย จันทราพูน อายุ 41 ปี บ้านเลขที่ 125 หมู่ 9 ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
ประชากิจกรจักร์, พระยา. พงศาวดารโยนก. กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2516.
พระรัตนปัญญาเถระ. ชินกาลมาลีปกรณ์, แปลโดยศาสตราจารย์ ร.ต.ท. แสง มนวิทูร พิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพศาสตราจารย์ ร.ต.ท. แสง มนวิทูร ณ ฌาปนสถานคุรุสภา วัดสระเกศราชวรวิหาร 20 เมษายน 2517.
บุญเสริม สาตราภัย. “เงี้ยวบุกเชียงแสนหลวงเมื่อ ร.ศ. 122” อนุสรณ์การสมโภชเมืองเชียงราย 725 ปี. เชียงใหม่ : เชียงใหม่สหนวกิจ, 2529.
สมจิตต์ เรืองคณะ. นําชมโบราณวัตถุสถานในอำเภอเชียงแสน. กรุงเทพฯ, 2513.
องค์การค้าของคุรุสภา. ประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน. กรุงเทพฯ : ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์, 2512.
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “ตามรอย พระเจ้าล้านตื้อ : พระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งของประเทศไทยที่จมอยู่ในแม่น้ำโขง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย” เขียนโดย ปริวรรต ธรรมาปรีชากร ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2545
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กันยายน 2565