ตำนานนิทานเรื่อง นาคสร้างเมืองเชียงแสน

แม่น้ำโขงที่ไหลผ่านเมืองเชียงแสน

มีตำนานนิทานอีก 1 เรื่อง ที่กล่าวถึงนาคมาสร้างเมือง เช่น ตำนานสิงหนวติกุมาร (ฉบับสอบค้นของ อาจารย์มานิต วัลลิโภดม) ซึ่งคัดมาให้อ่่านดังนี้

“…วันนั้นยังมีพระยานาคตัวหนึ่งชื่อว่าพันธุนาคราชนั้น ก็เนรมิตตนเป็นพราหมณ์ผู้หนึ่ง แล้วก็เข้ามาสู่ที่อยู่เจ้าสิงหนวติกุมารแล้วก็กล่าวเซิง สิงหนวติกุมารว่า

Advertisement

ดูกรเจ้ากุมาร ท่านนี้เป็นลูกท่านพระยามหากษัตริย์หรือว่าเป็นเศรษฐีและคหบดีกฎุมพีพ่อค้าอั้นซา ลูกบ้านใดเมืองใดมาซา เจ้ากุมารมานี้ประโยชน์อันใดซาว่าอั้น

เจ้าสิงหนวติกุมารกล่าวว่า

พราหมณ์ดูกร ท่านพราหมณ์ เรานี้ก็เป็นลูกมหากษัตริย์ ตนชื่อว่าเทวกาล อันเป็นเจ้าเมืองราชคฤห์หลวงโพ้นแล เรานี้มาเพื่อจัดแสวงหาที่สร้างบ้านแปลงเมืองอยู่แดว่าอั้น

เมื่อนั้นนาคพราหมณ์ผู้นั้นกล่าวว่า ดีแท้แลท่านจุ่งตั้งอยู่สถานที่นี้ให้เป็นบ้านเป็นเมืองอยู่ทื้อจักวุฒิจำเริญดีบรมวนด้วยเข้าของสมบัติสะแด ประการหนึ่งเล่าซ้ำเศิกทั้งหลาย เป็นต้นว่าเศิกมหานครเมืองใหญ่ทั้งหลายจักมารบก็เป็นอันยากเหตุนั้นน้ำแม่ใหญ่ทั้งหลายสะเภาดลกาก็บ่รอดและว่าอั้นแล้ว แต่ว่าให้มีศักดิ์มีใจรักยังคนแดสัตว์ทั้งหลายเทอะว่าอั้น

เมื่อนั้นเจ้าสิงหนวติกุมาร จึ่งกล่าวว่า

ดูกรท่านพราหมณ์ ท่านนี้อยู่ฐานะที่ใดอยู่บ้านใดเมืองใด ท่านมีชื่อลือชาประการใด

นาคพราหมณ์กล่าวว่า

ข้านี้มีชื่อว่าพันธุพราหมณ์ อยู่รักษาประเทศที่นี้แต่เช่นเค้ามาแล ท่านจุ่งใช้สัปปุริสบ่าว เพื่อไปทวยดูที่อยู่แห่งข้าเทอะ

ว่าอั้นแล้วก็ลาจากหนีไปแด

สิงหนวัติกุมารก็ใช้บ่าวเพื่อนไปดู ด้วยดูเจ็ดคนแล

ครั้นว่าทวยไฝหนหรดีไกลประมาณพันวาแล้ว ก็ลวดกลับหายไปเสียแล

เมื่อนั้นคนใช้หันเป็นสันนั้นแล้ว เขาก็กลับคืนมาบอกแก่เจ้าแห่งเขาตามดังเขาหันนั้นซูอันแด

เมื่อนั้นสิงหนวติกุมาร ได้ยินคำอันนั้นแล้วก็สะดุ้งใจอยู่แล

ส่วนนาคพราหมณ์ผู้นั้นก็เอาเพศเป็นพระยานาคแล้ว ก็เที่ยวบุ่น ไปหื้อเป็นเขตต์ชื่อเวียงกว้างสามพันวารอดสู่ก้ำแล้วก็หนีไปสู่ที่แห่งตนแล

ครั้นว่าคืนนั้นรุ่งแจ้งแล้ว สิงหนวติกุมาร ท่านก็หันเป็นประการสันนั้น ก็มีใจชมชื่นยินดีแล้ว ก็ให้หาพราหมณ์อาจารย์มา แล้วก็ถามพราหมณ์อาจารย์ว่า

พราหมณ์ผู้มาบอกให้เรานี้จะเป็นเทวบุตร เทวดาหรืออินทร์พรหมอั้นซาว่าอั้น

เมื่อนั้นพราหมณ์อาจารย์จึงกล่าวว่า

ตามดังข้าผู้เฒ่ามาพิจารณาดูนี้ จะเป็นพระยานาคสะแดงว่าอั้น

เมื่อนั้นก็พร้อมเข้าแต่งเรือนหลวง แปลงหอเรือแล้วบรมวนก็เข้าอยู่เป็นเมืองอันใหญ่แล้ว

พราหมณ์อาจารย์ผู้นั้นก็พิจารณาเอาชื่อพระยานาคว่าพันธุนั้นกับชื่อกุมารผู้เจ้านั้น ชื่อว่าสิงหนวติกุมาร สมด้วยกันแล้วก็เรียกว่าเมืองนาคพันธุสิงหนวัตินคร นั้นแล

เจ้าสิงหนวติกุมาร ได้เป็นเจ้าเมืองนาคพันธุสิงหนวัติที่นั้นแล้ว…”

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 ธันวาคม 2559