พระเจ้าเก้าตื้อ : พระพุทธรูปสำคัญของล้านนา

พระเจ้าเก้าตื้อ วัดบุปผาราม (วัดสวนดอก) จังหวัดเชียงใหม่ (ภาพจากหนังสือ "๑๐๘ องค์พระปฏิมา พระพุทธรูปคู่แผ่นดิน" จัดพิมพ์โดย กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม)

พระเจ้าเก้าตื้อ เป็นพระพุทธรูปสำคัญของล้านนา กล่าวกันว่าเป็นพระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่ที่สุด และงดงามที่สุดในศิลปะล้านนา ประดิษฐานในอุโบสถ วัดบุปผาราม หรือวัดสวนดอก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

พระเจ้าเก้าตื้อเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับขัดสมาธิราบหน้าตักกว้าง 2.90 เมตร สูง 3.89 เมตร ศิลปะล้านนาอิทธิพลสุโขทัย (พ.ศ. 2047) หรือที่เรียกกันว่า “ศิลปะเชียงแสนสิงห์สอง” ประทับบนฐานหน้ากระดานเกลี้ยง พระพักตร์รูปไข่ ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว พระขนงโก่ง พระโอษฐ์อมยิ้ม ริมฝีพระโอษฐ์เป็นคลื่นเหมือนศิลปะสุโขทัยพระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์เล็ก หน้าตักกว้าง ลักษณะสังฆะฏิเป็นแผ่นใหญ่และยาวจรดพระนาภี อาจบ่งบอกถึงรูปแบบศิลปะอยุธยาที่ผสมผสานในพระพุทธรูปด้วย

ประวัติพระเจ้าเก้าตื้อ

ปรากฏในพงศาวดารโยนกว่า พระเมืองแก้ว หรือพระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิราช (พ.ศ. 2038-2068) โปรดให้สร้างพระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่เพื่อจะนำไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหารหลวง วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร โดยเริ่มทำการหล่อในวันพฤหัสบดี เดือน 8 ขึ้น 11 ค่ำ ปีชวดฉอศก จุลศักราช 866 ตรงกับ พ.ศ. 2047 แล้วเสร็จเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 5 ขึ้น 5 ค่ำ ปีฉลู สัปตศก จุลศักราช 467 ตรงกับ พ.ศ. 2048 แต่ครั้นเมื่อหล่อสำเร็จแล้วองค์พระมีขนาดใหญ่ และมีน้ำหนักมากจึงไม่สามารถชะลอเข้าไปในเมืองได้ พระเมืองแก้วจึงได้ถวายเรือนหลวงของพระองค์สร้างพระวิหารใกล้กับวัดบุปผาราม หรือวัดสวนดอก เพื่อถวายให้เป็นที่ประดิษฐานองค์พระเจ้าเก้าตื้อ ครั้งถึงวันพุธ เดือน 5 ขึ้น 4 ค่ำ ปีมะเส็ง เอกศก จุลศักราช 870 ตรงกับ พ.ศ. 2052 จึงได้โปรดให้ชะลอพระเจ้าเก้าตื้อเข้าไปประดิษฐานในพระอุโบสถวัดบุปผาราม

คำว่า ตื้อ เป็นหน่วยวัดน้ำหนักโลหะของล้านนาในสมัยโบราณ 1 ตื้อ เท่ากับ 1,000 กิโลกรัม (บางตำรากล่าวว่า 1 ตื้อ หนัก 1,200 กิโลกรัม) พระเจ้าเก้าตื้อ หมายถึงพระพุทธรูปที่หล่อด้วยโลหะ 9,000 กิโลกรัม หรือ 9 ตัน หรือหมายถึง พระพุทธรูปองค์ใหญ่นั่นเอง

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ที่มาข้อมูลและภาพ :

“108 องค์พระปฏิมา พระพุทธรูปคู่แผ่นดิน” .จัดพิมพ์โดย กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 1


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มีนาคม 2561