“ซีอุย” มนุษย์กินคน หรือเหยื่อสังคม?

ซีอุย แซ่อึ้ง สัญลักษณ์ ฆาตกรใจโหด ผิดมนุษย์
ภาพซีอุย แซ่อึ้ง ขณะอ้าปากหาว กลายเป็นภาพติดตาผู้คน ที่หนังสือพิมพ์จงใจให้ดูเหมือนกำลังแยกเขี้ยว แสดงความโหดร้ายของซีอุย ภาพนี้ทำให้ซีอุยกลายเป็นสัญลักษณ์ของฆาตกรใจโหดผิดมนุษย์

คดี ซีอุย มนุษย์กินคน และ ฆาตกรต่อเนื่อง เป็นคดี การฆาตกรรม ในประวัติศาสตร์ที่โด่งดัง สร้างความสยดสยองให้สังคมไทยด้วยการฆ่าโหดถึง 7 ศพ ในระยะเวลาต่อเนื่อง 5 ปี คือระหว่างปี 2497 ถึงปี 2501 ซึ่งถูกจับขณะกำลังพยายามเผาทำลายศพรายสุดท้ายที่จังหวัดระยอง ทำให้มีการสืบสวนขยายผลย้อนหลังไปถึงพฤติกรรมโหดในลักษณะเดียวกันอีก 6 ราย

ผลสุดท้ายคดีจบลงที่ศาลอุทธรณ์ ด้วยโทษประหารชีวิต จากคดีสุดท้ายเพียงคดีเดียว แต่ตราบาปของซีอุยตามคำพิพากษาของสังคมคือ มนุษย์กินคนฆ่าโหด 7 ศพ ภายใต้เงื่อนงำบางอย่างในกระบวนการสอบสวน ที่ทำให้ชวนสงสัยว่า แท้จริงแล้ว ซีอุย คือ ฆาตกรต่อเนื่อง หรือเหยื่อของสังคมกันแน่

ความเคียดแค้น และความรุนแรงของรูปคดี ทำให้สังคมละเลยที่จะตรวจสอบ “รายละเอียด” ของคำให้การ ทั้งที่เป็นทางการ และคำสัมภาษณ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ สิ่งเดียวที่สังคมขณะนั้นต้องการคือ ลากคอไอ้ฆาตกรโหดรายนี้ไปยิงเป้าให้สาสม

ปัญหาสำคัญของคดีนี้ก็คือ คำให้การ ซึ่งเป็นคำสารภาพของผู้ต้องหา ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในสาระสำคัญของคดี กระบวนการสอบสวนที่กระทำต่อเนื่องกันถึง 96 ชั่วโมง วันแรกปฏิเสธ วันรุ่งขึ้นรับสารภาพเพิ่มอีก 2 คดี อีก 9 วันต่อมา สารภาพอีก 4 คดี

ในขณะที่พนักงานสอบสวนให้การว่าได้กระทำอย่างถูกต้อง และนุ่มนวล ซีอุยก็เต็มใจรับสารภาพ แต่เหตุใดจึงให้การผิดจากความเป็นจริง โดยเฉพาะส่วนที่เป็นหัวใจของคดี คือการจัดการกับอวัยวะของเหยื่อ ไม่มีใครสงสัยเลยว่า แท้ที่จริงแล้วซีอุยไม่เคยลิ้มรสชาติของตับและหัวใจ อย่างที่ปรากฏในคำสารภาพ หรือข่าวในหนังสือพิมพ์ นี่คือปมปัญหาสำคัญที่จะต้องคลี่คลายกันต่อไป

ประวัติชีวิต ซีอุย แซ่อึ้ง

ในบันทึกคำให้การระบุว่า ซีอุยเกิดประมาณปี 2464 ตำบลฮุนไหล จังหวัดซัวเถา ประเทศจีน บิดาคือนายซุงฮ้อ มารดาคือ ไป๋ตึ๋ง เชื้อสายแต้จิ๋ว แต่ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์รายวันระบุว่า เกิดที่หมู่บ้านปึงไต๋ ตำบลหงอหงวน จังหวัดหุ้ยล้ง มณฑลเอ้หมึง ซีอุยเป็นลูกคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 4 คน เชื้อสายจีนแคะ

เมื่อถึงวัยรุ่นก็ถูกเกณฑ์ไปประจำหน่วยทหารที่มณฑลเอ้หมึง ในสงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่น หลังสงครามสงบ ก็ถูกเกณฑ์ไปรบกับฝ่ายเมาเซตุง ก่อนจะหนีทหารเข้ามาประเทศไทย ในวันที่ 28 ธันวาคม 2489 โดยเรือชื่อโปรคิว

เมื่อซีอุยขึ้นฝั่งประเทศไทย ก็ถูกกักตัวอยู่ที่กองตรวจคนเข้าเมือง 10 วัน ก่อนที่นายทินกี่ แซ่อึ้ง จะมารับรองออกไปได้ (ยังมีคำสัมภาษณ์อีกแห่งหนึ่งที่อ้างว่า นายฮะเอี้ยงเป็นผู้ออกเงินทำใบต่างด้าวและเข้าเมืองให้) จากนั้นก็พักอยู่จังหวัดพระนครที่โรงแรมเทียนจิน ตรอกเทียนกัวเทียน ประมาณ 5-6 วัน ก่อนจะเดินทางไปทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตรงกับคำให้การวันที่ 30 มกราคม 2501 ยืนยันว่า “มาอยู่เมืองไทยครั้งแรกที่ตำบลทับสะแก ประจวบคีรีขันธ์”

หลังจากนั้นซีอุยก็เดินทางไปมาทำงานรับจ้างอยู่หลายที่ ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และยากที่จะจัดลำดับได้เนื่องจากคำให้การแต่ละครั้ง ซีอุยระบุชื่อเจ้าของบ้านที่ไปพักไม่ค่อยตรงกัน และการอยู่แต่ละที่นั้นก็เป็นระยะเวลาสั้นๆ 6 เดือนบ้าง 2 เดือนบ้าง 8 เดือนบ้าง ขึ้นอยู่กับงานที่รับจ้างนั้นๆ

แม้จะมีที่อยู่และที่ทำงานไม่เป็นหลักแหล่ง แต่ในระยะ 8 ปีแรกในเมืองไทย ซีอุยไม่ได้ก่อคดีร้ายแรงใดๆ นอกจากคดีทะเลาะวิวาทบ้างเป็นบางครั้ง แต่เงื่อนงำที่สำคัญก็คือ เส้นทางและแหล่งพักพิงของซีอุยในระยะหลัง ตรงสถานที่เกิดเหตุของคดีทั้ง 7 อย่างเหลือเชื่อ คือ ประจวบคีรีขันธ์ 4 คดี กรุงเทพฯ นครปฐม และระยอง แห่งละ 1 คดี

จุดเริ่มต้นของตำนานซีอุย

ซีอุยได้เล่าถึงเหตุการณ์ในคดีสุดท้ายก่อนถูกจับไว้ในบันทึกคำให้การวันที่ 30 มกราคม 2501 ว่า วันที่ 27 มกราคม 2501 เวลาประมาณบ่าย 3-4 โมงเย็น ขณะที่ซีอุยกำลังรดน้ำผักอยู่ในสวนของนายอิ๊ดเจี๊ยก ตำบลเนินพระ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง เด็กชายสมบุญ บุณยกาญจน์ เดินมาขอซื้อผักกับซีอุย 1 บาท ซีอุยจึงออกอุบายให้ไปจับนกในสวนยางพารา ซึ่งเด็กชายสมบุญก็ยินยอมไปแต่โดยดี

ซีอุยพาเด็กเดินผ่านบ้าน แล้วแวะหยิบมีดด้ามเขาควายสำหรับตัดผัก ซึ่งเสียบไว้กับข้างฝาติดไปด้วย ทั้งคู่เดินเข้าไปในสวนยางพารา ห่างจากบ้านไปทางทิศตะวันออกประมาณ 40 ก้าว เด็กชายสมบุญเริ่มมีอาการขัดขืนไม่ยอมไป ซีอุยจึงใช้มือทั้งสองโอบเด็ก อุ้มไปอีกราว 40 ก้าว จึงปล่อยให้ยืน

ขณะนั้นเด็กชายสมบุญไม่ร้องหรือดิ้นรนขัดขืน ซีอุยจึงใช้มือกดหัวให้ล้มนอนหงาย แล้วจึงใช้มือซ้ายปิดปากและจมูก แล้วใช้มีดแทงคอใต้ลูกกระเดือกจนหลอดลมขาดสิ้นใจตาย ซีอุยจึงเริ่มใช้มีดผ่าท้องตั้งแต่สะดือจนถึงหลอดลม แล้วตัดเอาหัวใจกับตับออกมากองไว้บนใบไม้ จากนั้นก็เคลื่อนย้ายศพเด็กมาซ่อนไว้ก่อน ส่วนหัวใจกับตับนั้น นำกลับมาล้างที่บ้าน ใส่กะละมังไว้ในตู้กับข้าว เพื่อจะเก็บไว้กิน

รอจนกระทั่งมืด ซีอุยจึงอุ้มศพเด็กมาวาง หาเศษไม้มาสุม เพื่อจะเผาทำลายหลักฐาน ระหว่างนี้เองที่นายนาวา บุณยกาญจน์ พ่อของเด็กชายสมบุญ ซึ่งออกมาตามหาลูกชายที่หายไปตั้งแต่ตอนบ่าย จนมาถึงที่เกิดเหตุ นายนาวาฉายไฟพบซีอุยกำลังเอากิ่งไม้แห้งทิ้งลงบนกองไม้ จึงแลเห็นศพของเด็กชายสมบุญอยู่ใต้กองไม้นั้นนั่นเอง นายนาวา กับนายเสงี่ยม ม่วงแสง จึงช่วยกันจับซีอุยมัด แล้วให้คนมาแจ้งความ

คำให้การระบุว่า ระหว่างการจับกุม ไม่มีการต่อสู้ขัดขืน ซึ่งตรงกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น “ข้าฯ ไม่ได้ต่อสู้ และไม่มีอาวุธอะไร และมีดที่ข้าฯ ทำร้ายเด็ก ข้าฯ เอาไว้บนฝาตุ่มในบ้าน” (คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ : พยานโจทย์ติดตามมาแบบทันท่วงที จำเลยก็ยังชักมีดออก ทำกิริยาจะต่อสู้ จึงถูกตี และจับมัดไว้ได้)

เมื่อเจ้าหน้าที่มาถึงที่เกิดเหตุ ก็พบศพมีสภาพถูกแทงที่คอ และรอยผ่าตั้งแต่สะดือแหวะอกขึ้นมาถึงคอ จากนั้นจึงพากันไปค้นบ้านของซีอุย พบหัวใจกับตับสดๆ ใส่กะละมังเก็บไว้ในตู้กับข้าว

การดำเนินการจับกุมเป็นไปอย่างเรียบร้อย ไม่มีการขัดขืน ซีอุยให้การว่า วางมีดไว้บนฝาตุ่มบ้าน เมื่อซีอุยถูกจับในลักษณะคาหนังคาเขา พร้อมพยานวัตถุ การดำเนินการสืบสวนคดี “มนุษย์กินคน” จึงเริ่มต้นตั้งแต่บัดนั้น

สืบย้อน พบฆ่าอีก 2 ศพ

เมื่อคดีเมืองระยองนี้ มีความสมบูรณ์ชัดเจน ทำให้เจ้าพนักงานต้องการจะขยายผลถึงคดีที่มีพฤติการณ์แห่ง การฆาตกรรม คล้ายกัน ทั้งพนักงานสอบสวนและหนังสือพิมพ์ขณะนั้นเห็นว่า คดีเมืองระยองนี้มีลักษณะ การฆาตกรรม พ้องกับอีก 2 คดีที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว คือคดีฆ่าผ่าอกที่สถานีรถไฟสวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2497 และคดีฆ่าผ่าอกที่องค์พระปฐมเจดีย์ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2500 ทำให้ทิศทางการสอบสวนพุ่งเป้าไปที่สองคดีนี้ด้วยในเวลาเดียวกัน

ทางด้านกระแสสังคมและสื่อมวลชนโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ ก็พุ่งประเด็นและชี้นำไปที่คดีฆ่าโหดทั้ง 2 คดีอย่างจริงจัง จนนำไปสู่คำสารภาพ “เพิ่มเติม” ของซีอุยว่าเป็นผู้ลงมือในสองคดีนั้นด้วย

คำสารภาพของซีอุยปรากฏอยู่ในบันทึกเท่าที่ปรากฏในปัจจุบันมีอยู่ 3 ฉบับ คือ คำให้การวันที่ 30 มกราคม, 31 มกราคม และ 5 กุมภาพันธ์ 2501 สำเนาทั้งหมดนี้มีอยู่ที่พิพิธภัณฑ์อัยการไทย และปรากฏเป็นคำสัมภาษณ์ของหนังสือพิมพ์รายวันในสมัยนั้นตีพิมพ์กันต่อเนื่องหลายฉบับ

ที่น่าสังเกตก็คือ การสอบปากคำและข่าวในหนังสือพิมพ์ มุ่งประเด็นที่จะ “สรุป” ให้ซีอุยเป็นผู้ต้องหาในทุกคดีก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการทางศาล ทั้งที่คำให้การและคำสัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ที่ปรากฏนั้นมี “จุดสำคัญ” ที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงอย่างเห็นได้ชัด

ตรวจสอบบันทึกคำให้การครั้งแรก

เมื่อซีอุยถูกจับในคดีเด็กชายสมบุญ (ระยอง) คดีนี้ก็ถูกเชื่อมโยงกับคดีเก่าอีก 2 คดี คือคดีฆาตกรรมที่สถานีรถไฟสวนจิตรลดา (กรุงเทพฯ) และคดีฆาตกรรมที่องค์พระปฐมเจดีย์ (นครปฐม) เนื่องจากพฤติกรรมของคนร้ายมีรูปแบบของ การฆาตกรรม ในแบบเดียวกัน และเหยื่อเป็นเด็กเหมือนกัน

ซีอุยถูกจับตัวมาทำการสอบสวนตั้งแต่คืนวันที่ 27 มกราคม 2501 จึงได้มีการบันทึกคำให้การเป็นหลักฐานในวันที่ 30 มกราคม การสอบสวนและบันทึกปากคำทุกครั้งจะมีล่ามภาษาจีน เนื่องจากซีอุย “พูด ฟังภาษาไทยไม่ไคร่ได้” เนื้อหาของบันทึกปากคำฉบับวันที่ 30 นี้ มี 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ การปฏิเสธคดีที่กรุงเทพฯ การปฏิเสธคดีที่นครปฐม และคำรับสารภาพคดีที่ระยอง ตามที่ได้กล่าวถึงไปแล้วในตอนต้น

สำหรับคดีที่กรุงเทพฯ และคดีที่นครปฐม ซีอุยปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ยอมรับคดีที่ระยองว่าเป็นการกระทำผิดครั้งแรก “…และไม่เคยฆ่าคนเพื่อจะเอาตับและหัวใจมากินเลย”

เกี่ยวกับคดีที่กรุงเทพฯ ซีอุยยอมรับว่ารู้เรื่อง แต่ไม่ได้ไปดู

“…ที่กรุงเทพฯ ข้าฯ เคยได้ยินคนพูดกันว่ามีคนฆ่าเด็กแล้วเอาสมอง เมื่อประมาณ 1 ปีเศษๆ ขณะนั้น ข้าฯ พักอยู่จังหวัดพระนคร โดยอยู่บ้านนายบักเทียม แซ่ไล้ แต่ข้าฯ ไม่ได้ไปดู” และซีอุยยังให้การปฏิเสธในบันทึกปากคำครั้งนี้ “การฆ่าเด็กรายนี้ ข้าฯ ไม่ได้ทำร้าย ใครทำร้าย ข้าฯ ไม่ทราบ…”

เช่นเดียวกับคดีที่นครปฐม ซีอุยก็อยู่ในจังหวัดเกิดเหตุเหมือนกัน แต่ไม่ได้ไปมุงดูเหตุการณ์

“ในการที่มีคนฆ่าเด็กแล้วผ่าท้องที่นครปฐมนั้นทราบข่าวเหมือนกัน โดยขณะนั้นอยู่ที่จังหวัดนครปฐม โดย ข้าฯ ค้างที่นครปฐม 1 คืน…” และซีอุยก็ได้ปฏิเสธในคดีนี้เหมือนกับคดีที่กรุงเทพฯ “ได้ยินชาวบ้านพูดกัน แต่ไม่ได้ไปดูเพราะรอรถไฟด่วนจะกลับทับสะแก แต่ใครจะเป็นคนฆ่า ข้าฯ ไม่ทราบ…”

บันทึกคำให้การในฉบับแรกนี้ แสดงให้เห็นว่าพนักงานสอบสวนต้องการจะเชื่อมโยงทั้ง 3 คดีเข้าด้วยกัน ซึ่งซีอุยปฏิเสธ

ข้อสังเกตในเบื้องต้นนี้คือ หนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 31 มกราคม ลงข่าวบทสัมภาษณ์ซีอุย ซึ่งจะต้องทำการสัมภาษณ์ ก่อนวันที่ 31 เพราะในสมัยนั้นการสื่อสารและการเรียงพิมพ์ยังต้องใช้เวลามากกว่าปัจจุบัน สันนิษฐานได้ว่าคงจะสัมภาษณ์ในวันที่ 30 วันเดียวกับบันทึกคำให้การฉบับแรก เพราะซีอุยยังปฏิเสธอยู่

คำสัมภาษณ์ของซีอุยในหนังสือพิมพ์ไม่ตรงกับบันทึกคำให้การคือ คดีที่กรุงเทพฯ นั้น ไปดูที่เกิดเหตุ เช่นเดียวกับคดีที่นครปฐม ก็ไปดูเหมือนกันแต่ไม่พบเด็ก ทั้งที่วันเดียวกันนี้ให้การกับพนักงานสอบสวนว่า ไม่ได้ไปดูทั้งสองเหตุการณ์ เหตุใดข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจึงคลาดเคลื่อนได้ทั้งที่พูดคุยในวันเดียวกัน

ไม่เพียงเท่านี้ หลังจากสอบสวนอยู่ 4 วัน อยู่ๆ ซีอุยก็ยอมรับสารภาพว่าเป็นคนลงมือทั้ง 3 คดี โดยที่คำสารภาพก็ยังไม่ตรงกับข้อเท็จจริงอยู่ดี

เปลี่ยนคำให้การ

ซีอุยถูกจับตั้งแต่คืนวันที่ 27 มกราคม ให้การปฏิเสธเรื่อยมา จนถึงวันที่ 30 แล้วในที่สุดเมื่อเวลาผ่านไป 96 ชั่วโมง ค่ำวันที่ 31 มกราคม เวลา 19.15 น. ซีอุยก็เปลี่ยนคำให้การ ยอมรับสารภาพในคดีกรุงเทพฯ และคดีนครปฐม โดยเล่ารายละเอียดถึงการลงมือให้พนักงานสอบสวนบันทึกไว้เป็นหลักฐาน

“ข้าฯ เคยทำการฆ่าคน และนำเอาหัวใจกับตับมารับประทานแล้ว 2 ราย ที่กรุงเทพฯ หนึ่งราย และที่นครปฐมหนึ่งราย”

อาจเป็นเรื่องปกติที่คนร้ายจะให้การปฏิเสธก่อน เมื่อโดนสอบหนักเข้าก็จนและยอมรับสารภาพในที่สุด แต่ปัญหาของคดีทั้งสองนี้อยู่ที่คำสารภาพของซีอุยนั้นกลับไม่ตรงกับข้อเท็จจริง จะเป็นเพราะซีอุยจงใจให้การเท็จ หรือจำไม่ได้ หรือไม่รู้เรื่องกันแน่?

คำให้การคดีฆ่าโหดที่สถานีรถไฟสวนจิตรลดา

เหตุการณ์ฆ่าโหดที่สถานีรถไฟสวนจิตรลดา กรุงเทพฯ เหยื่อคือ เด็กหญิงลี่จู แซ่ตั้ง อายุ 5 ปี ถูกฆ่าผ่าอกในคืนวันที่ 28 พฤศจิกายน 2497 เหยื่อรายนี้เป็นลูกสาวเสี่ยใหญ่ย่านเซียงกงหลังโรงหนังโอเดียน แม่พาไปดูงิ้วแล้วหายตัวไป จนกระทั่งพบศพโดยคนงานรักษาสถานีรถไฟจิตรลดาเช้าตรู่วันที่ 29 สถานที่เกิดเหตุนอกจากรอยเลือดและศพแล้ว ไม่พบหลักฐานใดๆ ที่จะชี้ตัวคนร้ายได้ นอกจากรอย “ปลายเท้า” เปื้อนเลือดเดินจิกไปบนพื้นเท่านั้น

เหตุการณ์นี้เงียบหายไป 3 ปี จนกระทั่งมีการจับกุมซีอุย และคดีถูกโยงเข้าด้วยกัน ในที่สุดซีอุยก็ให้การรับสารภาพในคดีนี้ ตามบันทึกคำให้การวันที่ 31 มกราคม 2501 เวลา 19.15 น. หลังจากถูกควบคุมตัวไว้ 96 ชั่วโมง ซีอุยได้เล่าเหตุการณ์ การฆาตกรรม ไว้โดยละเอียดดังนี้

“…เวลากลางคืนประมาณนาฬิกาตี 8 (20.00 น.) ข้าฯ ออกจากบ้านแต่ผู้เดียวไปดูงิ้วที่ศาลเจ้าใกล้ๆ หัวลำโพง ขณะที่ดูงิ้วนั้นพบเด็กคนหนึ่งเป็นผู้หญิงร้องไห้อยู่ข้างโรงงิ้ว…”

ซีอุยจึงเข้าไปปลอบเด็กว่า จะพาไปส่งที่บ้าน เด็กหญิงก็ยินยอม ทั้งยังบ่นว่าง่วง ซีอุยจึงอุ้มเด็กเดินไป

“…โดยข้าฯ อุ้มผ่านสถานีหัวลำโพง แล้วออกถนนรองเมือง แล้วข้ามสะพานกษัตริย์ศึก แล้วก็เดินไปจนถึงสี่แยกมหานาคไปจนถึงสะพานขาว แล้วเดินไปตามทางรถไฟกรุงเทพฯ-อยุธยา เมื่อไปถึงที่ใดข้าฯ ไม่รู้จัก ตามทางรถไฟไปอีกประมาณ 200-300 ก้าว (4 เส้น)

เมื่อถึงสถานที่เกิดเหตุ ก็วางเด็กลงพร้อมกับร้องเรียกเด็กให้ตื่น โดยให้นั่งริมทาง และมีคลองอยู่ข้างๆ จึงชักมีดพับยาว 6-7 นิ้ว ซึ่งรวมทั้งตัวและด้าม โดยผลักเด็กให้ล้มลง แล้วใช้มือซ้ายปิดปาก แล้วใช้มือขวาแทงลงไปที่คอใต้ลูกกระเดือก มีเสียงเด็กร้องอีก ขณะนั้นเด็กใส่เสื้อสีขาวเป็นเสื้อยืด จึงใช้มีดผ่าเสื้อออกให้เห็นอก แล้วใช้มีดผ่าตั้งแต่สะดือจนถึงคอหอย โดยวิธีเดียวกับที่ระยอง แล้วตัดเอาหัวใจกับตับไปอย่างละครึ่ง แล้วตัดของลับไปครึ่งหนึ่ง แต่ของลับโยนทิ้งไป แล้วใส่กระเป๋ากางเกง แล้วเดินกลับที่พัก…”

ซีอุยทิ้งศพเด็กไว้ตรงที่เกิดเหตุ แล้วเดินกลับถึงบ้านซึ่งพักอยู่กับนายอิ่วไฉ่ แซ่อึ้ง ใกล้โรงพักพลับพลาชัยเวลาประมาณ 23.00-24.00 น. รวมเวลาปฏิบัติการตั้งแต่อุ้มเด็กไป ผ่าศพ จนเดินกลับถึงบ้าน ไม่เกิน 3 ชั่วโมง?

“…เมื่อมาถึงบ้านเห็นว่าที่บ้านยังติดไฟ ก็เอาตับกับหัวใจใส่กาต้มน้ำ แล้วทำการต้ม เมื่อสุกแล้วก็รีบกินทั้งหมดในคืนนั้น…”

นี่คือส่วนหนึ่งของคำให้การ ซึ่งเท่ากับว่าซีอุยต้องย้อนนึกกลับไปถึงรายละเอียดของเหตุการณ์ 3 ปีก่อน ซึ่งพนักงานสอบสวนได้เปิดเผยว่า กระบวนการสอบสวนเป็นไปอย่างนิ่มนวล ไม่ได้ขู่บังคับแต่อย่างใด

“…มิได้มีการขู่เข็ญอะไรเลย เพียงแต่ล่ามบอกว่า มีอะไรก็ให้พูดไปให้หมด นายซีอุยก็เปิดอกสารภาพ”

ทั้งนี้พนักงานสอบสวนก็เชื่อว่าซีอุยคือคนร้ายรายเดียวกันทั้ง 3 คดี คือคดีที่ระยอง คดีที่กรุงเทพฯ และคดีที่นครปฐม “ตรงที่ไม่ได้ถาม แต่นายซีอุยบอกเอง และบอกสถานที่ได้ถูกต้อง…”

คำให้การไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

หลังจากซีอุยให้การรับสารภาพในคดีที่กรุงเทพฯ หนังสือพิมพ์รายวันขณะนั้นก็ลงข่าวใส่สีสันกันอย่างสนุก สังคมไทยขณะนั้นรู้จักซีอุยในฉายา “มนุษย์กินคน” ฆาตกรฆ่าแหวะอก ดื่มเลือดสดๆ กินหัวใจเด็ก ภาพลักษณ์นั้นยังคงติดตามซีอุยมาจนถึงทุกวันนี้

แต่เมื่อตรวจสอบไปยังหนังสือพิมพ์เก่าเมื่อ 3 ปีก่อน ซึ่งรายงานข่าวหลังจากคืนเกิดเหตุ คือข่าวของเช้าวันที่ 30 พฤศจิกายน 2497 ก็พบรายละเอียดที่แตกต่างออกไป และพบข้อมูลบางอย่างที่ “อาจจะ” เป็นสาเหตุทำให้ซีอุยต้องสารภาพแบบผิดๆ

เริ่มตั้งแต่จุดที่ลงมือ ตามคำให้การของซีอุยว่า แทงคอเด็กและผ่าเอาหัวใจกับตับ ในเวลาและจุดเดียวกัน ไม่มีการเคลื่อนย้ายเหยื่อ แต่ข่าววันนั้นกลับชี้ร่องรอยของ การฆาตกรรม ต่างออกไป

“…เจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่า ฆาตกรใจโหดคงจะจับแม่หนูน้อยฟาดกับขอบหินชานชลาก่อน แล้วแทงซ้ำ ครั้นแล้วจึงอุ้มศพเด็กเข้าไปชิดกับผนังตึกสถานี จากนั้นก็จัดการเฉือนลูกกระเดือก แล้วควัก ‘เครื่องใน’ ไปหมด พร้อมทั้งตัด ‘ของลับ’ ไปด้วย” ทั้งนี้เนื่องจากพบว่า ริมชานชาลาสถานีมีรอยเลือดหยดเป็นทางไปจนถึงศพระยะห่างประมาณ 3 วา

เรื่องน่าแปลกอีกอย่างตามที่พนักงานสอบสวนว่า “ไม่ได้ถาม แต่ซีอุยบอกเอง และบอกสถานที่ได้ถูกต้อง” ซึ่งที่จริงซีอุยถึงแม้จะย้ายที่อยู่ตลอดเวลา แต่ใช้เวลาในกรุงเทพฯ น้อยที่สุด เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น โดยเฉพาะกรณีนี้ ซีอุยมาอยู่กรุงเทพฯ ก่อนเกิดคดีเพียง 10 วัน แต่กลับระบุชื่อถนน สะพาน และเส้นทางได้อย่างถูกต้อง ซึ่งตลอดบันทึกคำให้การหลายๆ ครั้งเกี่ยวกับสถานที่พำนักพักพิงในคดีซีอุย ก็ชี้ให้เห็นว่าซีอุยอาจจะมาอยู่กรุงเทพฯ ครั้งนี้เพียงครั้งเดียว หรือถ้ามากกว่า 1 ครั้ง ก็เป็นระยะเวลาสั้นๆ ไม่ได้อยู่ประจำเป็นเวลานานๆ

นอกจากนี้ซีอุยยังระบุชื่อผู้ที่มาพักอยู่ด้วยที่กรุงเทพฯ ในคดีนี้ไม่เหมือนกัน คือคำให้การครั้งแรกวันที่ 30 ระบุว่า ได้มาอยู่บ้านนายบักเทียม แซ่ไล้ ประมาณ 15 วัน อยู่ได้ประมาณ 10 วัน จึงได้ข่าวฆาตกรรม ส่วนคำให้การวันที่ 31 บอกว่าอยู่กับนายอิ่วไฉ่ แซ่อึ้ง ประมาณ 10 วัน จึงเกิดคดีขึ้น

การระบุชื่อถนน สะพาน อาจจะเป็น “วิธี” บันทึกปากคำ หรือการระบุเจ้าบ้านที่ไปพักอยู่ด้วยนั้นอาจจะเป็นข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้

แต่เรื่องที่ไม่น่าผิดก็คือ “หัวใจ” สำคัญของเรื่องนี้ คือ ซีอุยตัดเอาตับกับหัวใจไปต้มกิน!

แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ฆาตกรไม่ได้ตัดหัวใจและตับของเหยื่อไปด้วย อวัยวะนี้ยังอยู่กับศพ ส่วนที่หายไปคืออวัยวะเพศของเหยื่อเท่านั้น ข้อมูลที่ทำให้คนเชื่อว่าซีอุยตัดเอาตับกับหัวใจไปนั้นมาจากหนังสือพิมพ์ในเวลานั้นรายงานข่าวผิดพลาด แล้วก็ไม่ได้แก้ข่าว หรือมีข่าวต่อเนื่อง จนกระทั่งเกิดคดีซีอุยขึ้น รายละเอียดของข่าวคดีที่กรุงเทพฯ ในหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 30 กุมภาพันธ์ 2497 มีเนื้อข่าวผิดพลาดดังนี้

“…เด็กหญิงจีน อายุประมาณ 5 ขวบ ถูกเฉือนลูกกระเดือกขาดหายไป และถูกผ่าอก, หัวใจ, ตับ และดี หายไปเช่นกัน ที่ร้ายกว่านั้นคือ “ของลับ” ถูกตัดขาดหายไปเช่นกัน”

เป็นไปได้หรือไม่ที่พนักงานสอบสวนและหนังสือพิมพ์จะยึดเอาข้อมูลนี้เป็นตัวตั้ง จึงเกิดการผิดพลาดขึ้น?

มีการตั้งข้อสังเกตถึงความผิดพลาดนี้เหมือนกัน จากนายตำรวจผู้ที่เคยรับผิดชอบคดี ซึ่งออกมาเปิดเผยหลังจากมีการรายงานข่าวคำสารภาพของซีอุย โดยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2501 ซึ่งให้ความเห็นว่า

“…แต่นึกแปลกใจที่ซีอุยบอกว่า ภายหลังที่ฆ่า ด.ญ.ลี่จู แล้วควักหัวใจ-ตับ-ไต ใส่กาต้มกิน แต่รายสวนจิตรลดานั้น คนร้ายวิตถารไม่เอาอะไรไปนอกจากของลับ”

เท่ากับว่าซีอุยไม่ได้เอาหัวใจของเหยื่อใส่กาน้ำต้มกินตามคำสารภาพ!

แต่จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ทำให้อีกหลายวันต่อมา ก็ปรากฏคำสัมภาษณ์ของซีอุยลงหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2501 โดยเปลี่ยน “เนื้อเรื่อง” ใหม่ให้ตรงกับข้อเท็จจริง

“…เมื่อ ด.ญ.ลี่จู สิ้นใจแล้ว เขาก็ลากศพเข้าไปข้างในแล้วใช้มีดกรีดแหวะอกขึ้นไปถึงคอ เมื่อแหวะเสร็จแล้วก็ล้วงหัวใจ และตับ ด.ญ.ลี่จู ออกมา แต่เมื่อเห็นว่าเล็กเกินไปจึงจับยัดเข้าไปใหม่ และเชือดหลอดอาหารที่คอแทงมาหนึ่งก้อน”

เหตุใด “มนุษย์กินคน” ที่ยอมลงทุนอุ้มเด็กเดินหลายกิโลเมตร ด้วยความหวังที่จะฆ่าเอาตับกับหัวใจ จึงล้มเลิกความตั้งใจ เพียงแค่ “เห็นว่าเล็กเกินไป” ทั้งๆ ที่เหยื่อของซีอุยก็มีอายุอยู่ระหว่าง 5-10 ปีทั้งนั้น

เมื่อเกิดคดีนี้ขึ้นใหม่ๆ การติดตามสืบสวนของตำรวจไม่พบเบาะแสอะไร “รายที่สวนจิตรลดา เจ้าหน้าที่ไม่ได้หลักฐานลายนิ้วมือไว้เลย” และคดีเงียบหายไปมากกว่า 3 ปี จึงสามารถสรุปคดีได้เพราะคำสารภาพผิดๆ ถูกๆ ของซีอุยนั่นเอง

ถึงอย่างไรก็ตาม คดีนี้ไม่ได้ขึ้นสู่ศาล บทลงโทษซีอุยจบลงที่หน้าหนังสือพิมพ์และคำพิพากษาของสังคม

คดีนครปฐม

คดีนี้เกิดขึ้นในคืนวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2500 เหยื่อคือ เด็กหญิงซิ่วจู แซ่ตั้ง อายุ 5 ขวบ ซีอุยให้การรับสารภาพในวันที่ 31 มกราคม 2501 เป็นคำสารภาพที่บันทึกต่อจากคดีที่กรุงเทพฯ คดีนี้เกิดเหตุที่จังหวัดนครปฐม ซึ่งขณะนั้นมีการแสดงงิ้วในเทศกาลตรุษจีน ซีอุยพบเด็กหญิงคนหนึ่งเดินมาคนเดียว จึงชวนไปกินแป๊ะก๊วยที่ข้างวัด ห่างจากร้านแป๊ะก๊วยเพียง 5 วา

“…ก็อุ้มเด็กผู้นี้โดยใช้มือทั้งสองช้อน มาถึงข้างวัดซึ่งมีต้นจามจุรี 1 ต้น แล้วก็วางเด็กและผลักให้ล้มลง และใช้มือปิดปากไว้ข้างหนึ่ง อีกมือหนึ่งก็ใช้มีดพับปลายแหลมแทงคออีก”

จากนั้นซีอุยก็ลากศพเด็กเข้าไปในถ้ำองค์พระปฐมเจดีย์ ทำการผ่าศพในที่ลับตา

“…ข้าฯ ได้อุ้มเด็กผู้ตายเข้าไปในช่องวัด แต่จะอุ้มเข้าไม่ได้ จึงต้องวางศพไว้ แล้วข้าฯ ก็เข้าไปก่อน ลากศพเข้าช่องนี้ ทำการผ่าศพ และตัดเอาตับกับหัวใจมา คงทิ้งศพไว้ที่นั่น”

คดีนี้ปรากฏว่ามีวัตถุพยานมากกว่าคดีอื่นๆ ซึ่งฆาตกรทิ้งไว้ในที่เกิดเหตุ

“ขณะที่ข้าฯ ทำการฆ่านี้ได้ใส่เกี๊ยะไปด้วย แต่ข้าฯ ทิ้งเกี๊ยะไว้ที่ข้างวัดโดยทิ้งไว้ทั้งคู่ ส่วนไฟฉายทิ้งไว้ข้างต้นไม้”

ส่วนสำคัญของคดีนี้เหมือนกับคดีที่กรุงเทพฯ คือซีอุยให้การว่า ได้ตัดตับกับหัวใจใส่กระเป๋ากางเกงกลับบ้าน “…เมื่อไปถึงบ้านพี่ชายนายจื่อจุ่ย ก็ก่อไฟทำการต้มโดยใช้กาน้ำที่หลังบ้านแล้วก็รีบกิน”

ข้อเท็จจริงกับคำให้การ

ย้อนกลับไปตรวจสอบข่าวในวันเกิดเหตุจากหนังสือพิมพ์ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2500 ก็พบว่า คำสารภาพ กับเหตุการณ์จริงยังมีข้อความที่ขัดแย้งกันอยู่เช่นเดียวกับคดีที่กรุงเทพฯ เพราะปรากฏว่าอวัยวะต่างๆ ที่ซีอุยอ้างว่าตัดออกและนำกลับไปกินที่บ้านนั้น ที่จริงยังอยู่กับศพนั่นเอง

“…ปรากฏว่าศพเปลือย ถูกแทงที่ก้านคอเหวอะหวะ และมีแผลยาวจากต้นคอด้านหน้าตรงไปจรดท้องน้อยเกือบถึงอวัยวะเพศ ทั้งหัวใจ และลำไส้ ทะลักออกมากองอยู่ข้างนอก ใกล้ศพมีมีด และเสื้อผ้าเปื้อนเลือดกับไม้รองศีรษะ”

ทั้งนี้ตามข่าวรายงานว่าระหว่างที่ฆาตกรกำลังชำแหละศพอยู่นั้น มีสามเณรมาพบเสียก่อน จึงรีบหลบหนีไปก่อนที่จะตัดอวัยวะไปด้วย

ซีอุยจึงไม่ได้นำตับกับหัวใจไปใส่กาน้ำต้มกิน ตามคำสารภาพเหมือนกับคดีที่กรุงเทพฯ

หลักฐานสำคัญอีก 2 ชิ้น คือไฟฉายกับเกี๊ยะ แม้ว่าจะไม่ปรากฏในข่าว แต่ในวันสอบสวนที่บันทึกคำสารภาพ 31 มกราคม 2501 นายอำเภอเมืองนครปฐมได้ไปร่วมสอบสวนด้วย และได้สอบถามถึงไฟฉายกับเกี๊ยะ ซึ่งได้รับคำปฏิเสธ

“…ได้สอบถามถึงเกี๊ยะ และไฟฉาย เป็นของนายซีอุยจริงหรือไม่ แต่นายซีอุยปฏิเสธ” แต่หลังจากนั้นเพียง 3 ชั่วโมงในวันเดียวกัน ก็ปรากฏคำสารภาพของซีอุยยอมรับเป็นเจ้าของหลักฐานทั้งสองชิ้น

“…การฆ่านี้ได้ใส่เกี๊ยะไปด้วย แต่ข้าฯ ทิ้งเกี๊ยะไว้ที่ข้างวัด โดยทิ้งไว้ทั้งคู่ ส่วนไฟฉายทิ้งไว้ข้างต้นไม้”

ทางด้านพนักงานสอบสวนกล่าวถึงหลักฐานในคดีนี้ว่า “ส่วนรายที่นครปฐม ก็เลอะเลือนเต็มทน” เท่ากับว่าคดีนี้ไม่มีหลักฐานมัดตัวฆาตกร จนกระทั่งซีอุยรับสารภาพออกมาเอง

3 คดีดัง ซีอุยไม่เคยลิ้มรสชาติของตับและหัวใจ

เมื่อมีการเชื่อมโยงคดีทั้ง 3 คดีเข้าด้วยกันด้วยรูปแบบของ การฆาตกรรม ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ส่งผลให้ซีอุยกลายเป็น “มนุษย์กินคน” ขึ้นมาทันที เพราะคำสารภาพซึ่งบ่งชี้ว่ามีการเตรียมการในคดีระยอง และกินจริงในคดีที่กรุงเทพฯ และนครปฐม โดย “รูปแบบ” ที่ซีอุยอ้างว่าได้กินตับกับหัวใจ ก็อ้างด้วยรูปแบบเดิมๆ เหมือนกัน คือ “ใส่กาต้มน้ำ”

แต่ความจริงของคดีก็คือ ทั้ง 3 รายนี้ ซีอุยไม่ได้กินตับกับหัวใจของเหยื่อแม้แต่รายเดียว

สารภาพเพิ่มอีก 4 คดี

ตลอดการถูกควบคุมตัว ซีอุยคงจะถูกสอบสวนอย่างหนัก จนทำให้ต้องสารภาพเพิ่มเติมว่าเป็นผู้ลงมือในคดีฆ่าโหดอีก 4 ศพ ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในบันทึกคำสารภาพของซีอุย วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2501 ทำให้พบว่าคดีฆาตกรรมทั้ง 4 คดี ฆาตกรมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป

รายแรก เหตุเกิดวันที่ 10 เมษายน 2497 ที่ทับสะแก ประจวบคีรีขันธ์ เหยื่อคือ เด็กหญิงบังอร ภมรสุต อายุ 8 ขวบ คนร้ายใช้มีดแทงคอเหยื่อ

“…รุ่งขึ้นก็ทราบว่าเด็กที่ถูกข้าฯ ทำร้ายถึงแก่ความตาย” แต่ความจริงก็คือเหยื่อรายนี้รอดชีวิตมาได้

รายที่ 2 เหตุเกิดวันที่ 9 พฤษภาคม 2497 ที่ทับสะแก ประจวบคีรีขันธ์ เหยื่อคือ เด็กหญิงนิด แซ่ภู่ อายุ 10 ปี ซีอุยให้การถึงวิธีการฆาตกรรมคล้ายคลึงกับคดีใหญ่ทั้ง 3 ราย คือ ผ่าท้อง ตัดเอาหัวใจและตับ “ใส่กาต้มน้ำ” ก่อนจะกลับไปกินที่ห้อง น่าเสียดายที่คดีนี้ไม่มีข้อมูลเทียบเคียง มีเพียงคำสารภาพแหล่งเดียวเท่านั้น จึงยากที่จะตรวจสอบว่า การ “ใส่กาต้มน้ำ” ครั้งนี้จริงหรือเท็จ เพราะในสองคดีที่ซีอุย “ใส่กาต้มน้ำ” นั้น ไม่เคยทำจริงแม้แต่คดีเดียว

รายที่ 3 เหตุเกิดวันที่ 20 มิถุนายน 2497 หมู่บ้านห้วยแห้ง ตำบลทับสะแก ประจวบคีรีขันธ์ เหยื่อคือ เด็กหญิงลิ้มเฮียง แซ่ลี้ อายุ 9 ปี ซีอุยให้การว่าใช้มีดพับซึ่งซื้อมาใหม่แทงคอเหยื่อ

“…เป็นมีดพับซึ่งข้าฯ ซื้อมาใหม่ แล้วก็แทงคอ แล้วข้าฯ ก็หนีไปบ้านพักเดิม คงทิ้งศพไว้ที่นั่น” ผิดกับข้อเท็จจริงของคดีนี้คือ เหยื่อถูกฆ่าปาดคอ และข่มขืน ซึ่งการข่มขืนเหยื่อไม่ใช่พฤติกรรมของซีอุย

รายที่ 4 เหตุเกิดวันที่ 27 ตุลาคม 2497 ที่อำเภอเมือง เขตติดต่อกับตำบลสามร้อยยอด อำเภอปราณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เหยื่อคือ เด็กหญิงหงั่น แซ่ลี้ อายุ 10 ปี

“…ใช้มีดพับแทงคอ แล้วตัดเนื้อที่คอไป 1 ก้อน แล้วก็ทิ้งอยู่ตรงที่เกิดเหตุ”

สรุปว่าคดีซีอุย มนุษย์กินคน หรือ ฆาตกรต่อเนื่อง มีข้อเท็จจริงที่ “น่าสงสัย” ทุกคดี ไม่เว้นแม้แต่คดีสุดท้ายก่อนถูกจับที่ระยอง ซึ่งเรียกได้ว่าจับได้คาหนังคาเขา ได้ของกลางเป็นตับและหัวใจสดๆ แต่บันทึกของแพทย์พยานผู้พิสูจน์ศพก็กลับคำพยาน ตามรายงานการชันสูตรพลิกศพ วันที่ 28 มกราคม 2501 คือวันรุ่งขึ้นหลังจากซีอุยถูกจับ ผู้เชี่ยวชาญจะต้องทำการตรวจพิสูจน์ว่าตับและหัวใจเป็นอวัยวะของมนุษย์หรือไม่

“…ได้ทำการตรวจพิสูจน์แล้ว ปรากฏว่าหัวใจและตับนี้ เป็นอวัยวะของมนุษย์จริง จึงบันทึกไว้เป็นหลักฐาน”

แต่บันทึกคำพยานของแพทย์ผู้พิสูจน์ท่านเดียวกัน ที่ศาลจังหวัดระยอง พยานขอแก้บันทึกคำให้การพยาน ดังปรากฏท้ายเอกสารของศาลจังหวัดระยอง ลงวันที่ 25 มีนาคม 2501 คดีหมายเลขดำที่ 145/2501

“…โจทย์เอาบันทึกการพิสูจน์ให้ดู แล้วว่าใช่ดังที่ให้การ แต่ขอแก้บันทึกว่าพิสูจน์แล้ว คล้ายกับตับ-หัวใจของมนุษย์”

แม้จะเป็นเรื่องของ “เทคนิค” ในการให้การ เพื่อป้องกันความผิดพลาด พยานโดยทั่วไปจึงมักใช้คำกลางๆ เช่น “คล้าย” แต่ทางการแพทย์ในขณะนั้น แม้ไม่สามารถพิสูจน์ดีเอ็นเอได้เหมือนปัจจุบัน แต่ก็สามารถพิสูจน์กรุ๊ปเลือดได้ว่าเป็นของเด็กชายสมบุญหรือไม่ เพราะขณะหลักฐานยังสดๆ อยู่ แล้วในวันที่ตรวจพิสูจน์ก็ลงบันทึกไว้เป็นหลักฐานแล้วว่าเป็นอวัยวะของมนุษย์จริง แต่พยานไม่เพียงแต่ไม่ระบุเจ้าของหัวใจและตับ กลับเลือกที่จะใช้คำว่า “คล้ายกับตับ-หัวใจของมนุษย์” ทำให้ห่างไกลความจริงออกไปอีก เพราะเหตุใด?

ยังมีรายละเอียดที่ตกหล่นซึ่งเป็นประโยชน์กับจำเลยในคดีนี้อีกมาก เช่น ฆาตกรใช้มีดด้วยมือข้างเดียวกันหรือไม่ การผ่าศพ ผ่าขึ้นหรือลง ลายนิ้วมือ พฤติกรรมการกระทำผิด เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งหากต้องการจะเชื่อมโยงคดีทั้ง 7 คดี ว่าลงมือโดยคนคนเดียวกัน

ซีอุยไม่ได้ใช้ประโยชน์จากข้อผิดพลาดนี้ในการสู้คดี เพราะซีอุยไม่ได้คัดค้านหรือต่อสู้คดีเลย แม้แต่การให้การก็ยังต้องผ่านล่าม จึงเป็นเพียงผู้รับฟัง และยอมรับคำตัดสินเท่านั้น ในคำพิพากษาจึงปรากฏแต่คำว่า “จำเลยไม่ถาม” หรือ “จำเลยไม่สืบพยาน”

อย่างไรก็ดี ข้อสงสัยเหล่านี้ก็ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะชี้ได้ว่า ซีอุยไม่ได้เป็นฆาตกรในบางคดี เพียงแต่ชี้ให้เห็นว่าตลอดเวลาของการสอบสวนคดีนี้จนขึ้นสู่ศาล ซีอุยต้องต่อสู้กับกระบวนการสอบสวน หนังสือพิมพ์ สังคม และศาลเพียงลำพัง จนต้องสารภาพตลอดข้อหา ทั้งที่คำสารภาพผิดไปจากข้อเท็จจริง และทั้ง 6 คดีก่อนหน้าคดีสุดท้ายที่ระยอง ก็ปรากฏชัดแล้วว่า ไม่มีพยานหลักฐานใดจะบ่งชี้ฆาตกรได้

ข้อเท็จจริงเพียงข้อเดียว ที่พอจะ “แก้ต่าง” ให้ซีอุยได้ก็คือ ซีอุย ไม่เคยลิ้มรสชาติของตับและหัวใจมนุษย์ตามที่เป็นข่าวเลย

ยังดีที่ซีอุยถูกตัดสินประหารชีวิต และลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิตในศาลชั้นต้น แต่ถูกตัดสินประหารชีวิตในศาลอุทธรณ์ เฉพาะคดีเด็กชายสมบุญที่ระยองเพียงคดีเดียว ส่วนอีก 6 คดีนั้น หนังสือพิมพ์และสังคมได้ช่วยตัดสินรวมไปด้วยแล้ว

ซีอุย ถูกประหารชีวิต วันที่ 16 กันยายน 2502 ต่อมาวันที่ 27 กันยายน ปีเดียวกัน ทางมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ศิริราช) ได้ทำเรื่องขอซีอุยมาทำการศึกษา เพื่อหาเหตุแห่งความวิปริตผิดมนุษย์ โดยเก็บไว้ที่ตึกกายวิภาค ร่างของซีอุยเป็นอาจารย์ใหญ่ให้กับนักศึกษาแพทย์ สอนศีลธรรมให้กับสังคม แต่กาลเวลาไม่เคยเอ่ยถึงความยุติธรรมแม้สักครั้ง

หมายเหตุ : ร่างของซีอุยอยู่ภายในโรงพยาบาลศิริราช ที่พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ อาคารอดุลเดชวิกรม หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “พิพิธภัณฑ์ซีอุย” มาตลอด จนถึงในวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 ผู้บัญชาการเรือนจำบางขวาง ได้ทำหนังสือถึง คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เรื่อง กำหนดการฌาปนกิจศพ น.ช.ลีอุย หรือ ซีอุย แซ่อึ้ง โดยกำหนดให้ฌาปนกิจในวันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม 2563 ณ วัดบางแพรกใต้ จังหวัดนนทบุรี เป็นการปิดตำนานซีอุยที่ถูกนำร่างเก็บรักษาภายในพิพิธภัณฑ์มานาน 60 ปี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 พฤษภาคม 2560