เปิดบันทึกกองตระเวนสมัย ร. 5 ทำอย่างไรกับ “ศพไร้ญาติ” ก่อนส่งไปวัดสระเกศ

ลาน ทิ้ง ศพ โครงกระดูก วัดสระเกศ แร้งวัดสระเกศ
ลานทิ้งศพ, วัดสระเกศ (ภาพจาก Wikimedia Commons / Pearl of Asia )

สมัยรัชกาลที่ 5 คือยุคที่รัฐสยามพยายามอย่างหนักในการนำพาราชอาณาจักรไปสู่ความศิวิไลซ์ ผ่านกระบวนการต่าง ๆ เพื่อกำจัดสัญลักษณ์หรือสิ่งแสดงออกถึงความ “ป่าเถื่อน” หรือ “ไม่ศิวิไลซ์” ซึ่งสภาพบ้านเมืองในสมัยนั้นมี “ทัศนอุจาด” หลัก ๆ อย่างหนึ่งในเขตพระนคร คือ ซากศพที่ปรากฏอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น ศพไร้ญาติ ศพจากการวิวาท ฆาตกรรมอำพราง ศพที่อุทิศให้กับแร้งกา หรือแม้แต่ศพที่ราษฎรปลงโดยทิ้งไว้ข้ามวันข้ามคืน เป็นภาพที่ชวนสยดสยองแก่ผู้พบเห็น โดยเฉพาะชาวต่างชาติและชนชั้นนำ ขณะที่ราษฎรชาวสยามมองเป็นสิ่งปกติธรรมดา

ชนชั้นนำสยามมองวิธีการปลงศพและจัดการซากศพของชนชั้นล่างว่าเป็นสิ่งไม่เหมาะสม เป็นความ “อัปมงคล” น่ารังเกียจ และไม่ต้องการพบเห็น โดยเฉพาะการปล่อยซากศพทิ้งค้างคืนจนเน่าเปื่อยและส่งกลิ่นเหม็น จึงมีการออกกฎและนโยบายเพื่อพยายามควบคุมการปลงซากศพของราษฎร เริ่มจากการนำซากศพนักโทษไปเผาตามขนบธรรมเนียม ไม่ปล่อยประจานหรือเฉือนซากให้ฝูงแร้ง กา และสุนัขกิน รวมถึงการรักษาความสะอาดของป่าช้า ไม่ให้เป็นแหล่งบำรุงเชื้อโรค

รัฐบาลได้มอบหมายให้ “ขุนกะเฬวราก” บ้างเรียก “นายป่าช้า” หรือปัจจุบันเรารู้จักผู้ทำหน้าที่นี้ว่า “สัปเหร่อ” ทำหน้าที่จัดการซากศพ ขุนกะเฬวรากจะเป็นผู้ดูแลและควบคุมการปลงซากศพที่ราษฎรนำมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา รวมถึง ศพไร้ญาติ ไม่มีผู้รับผิดชอบปลงศพ ซึ่งกระจายอยู่ทั่วไป

คำว่า “กเฬวราก” ที่มักใช้คู่ “ซากศพ” โดยรวบคำเป็น “กเฬวรากซากศพ” คำทั้งสองมีความหมายเดียวกัน แม้บางครั้งเราจะใช้ กเฬวราก เป็นคำด่า เชิงรังเกียจ ดูแคลน แต่ “กะเฬวราก” (คำเดียวกัน) เคยเป็นชื่อเรียกตำแหน่งนายป่าช้าในสมัยก่อนด้วย

ก่อนซากศพจะไปถึงขุนกะเฬวรากนั้น จะมีหน่วยงานสำคัญคือ “กองตระเวน” ซึ่งเป็นเหมือนตำรวจพระนคร หรือเจ้าพนักงานของทางราชการที่ทำหน้าที่ “ตระเวน” หาซากศพหรือรับการร้องเรียนจากราษฎร พวกเขาจะทำการชันสูตรพลิกศพเพื่อหาสาเหตุของการตาย หากซากศพนั้นไม่มีญาติพี่น้องหรือผู้รับผิดชอบมาแสดงตนเพื่อรับศพไปประกอบพิธีกรรม ศพนั้นจึงจะถูกส่งมอบให้ขุนกะเฬวรากนำไปทำพิธีปลงศพให้ถูกต้องตามหลักศาสนา

ดังรายงานการพบซากศพหญิงชราขอทานที่ประตูวัดราชบพิธ โดย หมื่นพินิจรักษา และ หมื่นพิมลภักดี ก่อนส่งให้กองตระเวน ตามข้อความดังนี้

“วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๑๕ เวลาเช้า ๕ โมงเศศ หมื่นพินิจตรวจตามท้องที่ เห็นศพยายฃำคนฃอทานนอนตายอยู่ที่ประตูวัดราชบพิธ หมื่นพินิจหมื่นพิมลได้ชัณสูตศพยายฃำ ผู้ตายอายุประมาณ ๘๐ ปี ไม่มีบาดแผลสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ สืบถามนายพลอยนายพูน บ้านใกล้เคียงบอกว่าไม่มีญาติพี่น้อง ป่วยเปนโรคชราลุกไม่ไหว ป่วยมาได้ ๕ วันฃาดใจตาย หมื่นพินิจชัณสูตรพลิกศพยายฃำ ผอมแห้งเห็นว่าป่วยเปนโรคชะราตาย หมื่นพินิจ หมื่นพิมล ได้เอาศพยายฃำไปวัดสะเกษ” [1]

รัฐบาลยังให้ราษฎรผู้ยากจนหรือไม่มีเงินปลงซากศพนำศพมาปลงที่วัดสระเกศ โดยรัฐจะออกเงินค่าธรรมเนียมให้ ราษฎรจึงมักนำศพไปปลงที่วัดนี้มากกว่าวัดอื่น [2]

การส่ง “หน่วยตระเวน” คอยติดตามซากศพซึ่งปรากฏเป็นที่อุจาดสายตา ก่อนส่งไปให้ “ขุนกะเฬวราก” ปลงศพ ถือเป็นกระบวนการที่รัฐสยามตั้งใจจะเก็บกวาดความน่ารังเกียจ นำมาจัดการให้เป็นระบบ เพื่อให้ “ความสยดสยอง” อยู่ห่างไกลจากการรับรู้ของผู้คน และทำให้บ้านเมืองมีความศิวิไลซ์มากขึ้น เพราะปราศจากสิ่งไม่ชวนมองและแหล่งเพาะโรคร้ายอย่างซากศพนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] หจช., ร.5 น.23/68 “พระยาอินทราธิบดี ว่าอำแดงขำเป็นโรคชรานอนตายที่ประตูวัดราบพิต ร.ศ. 115”

[2] มัลคอล์ม สมิธ, หมอฝรั่งในวังสยาม, แปลโดย พิมาน แจ่มจรัส (กรุงเทพฯ: รวมทรรศน์, 2542), น.47.


หมายเหตุ : เนื้อหานี้เรียบเรียงขึ้นจาก ภัทรนิษฐ์ สุรรังสรรค์. รัฐสยดสยอง, สนพ.มติชน, พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2565


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มกราคม 2566