ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2546 |
---|---|
ผู้เขียน | นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร |
เผยแพร่ |
มนุษย์กินคน ยังเป็นเรื่องที่สร้างความสงสัยและเป็นปริศนามานาน ข้อสงสัยและความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นกับชาวตะวันตกเมื่อเผชิญหน้ากับคนป่า และชาวพื้นเมืองในเขตห่างไกลซึ่งยังคงเป็นสิ่งลี้ลับในช่วงศตวรรษที่ 18-19 เป็นต้นมา เป็นสิ่งที่มีคำถามว่าเพราะเหตุไรคนป่าจึงถูกมองเช่นนั้น ทำไมคนป่าที่กินเนื้อมนุษย์ จนถูกเรียกว่า มนุษย์กินคน และมีพิธีกรรมที่แปลกประหลาด จึงกลายเป็นคนป่าเถื่อน ดุร้าย โหดเหี้ยม และไร้ศีลธรรมอย่างสิ้นเชิง
คำถามเหล่านี้ต้องย้อนกลับไปพิจารณาในยุคแห่งการแสวงหาดินแดนใหม่ และการผจญภัยที่ชาวตะวันตกได้สร้างไว้ก่อนหน้านั้น เนื่องจากความคิดดังกล่าวเป็นเรื่องทางวัฒนธรรมที่มีแง่มุมทางสังคม และการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะชาวตะวันตกในยุคอาณานิคมที่บุกรุกดินแดนต่างๆ ในเอเชีย แอฟริกา อเมริกาใต้ และหมู่เกาะในมหาสมุทร ต่างล้วนเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ กดขี่ เอารัดเอาเปรียบ และดูถูกเหยียดหยามคนพื้นเมือง
ความเข้าใจของชาวตะวันตกที่มีต่อเรื่องการกินเนื้อมนุษย์มักจะแฝงด้วยความน่ากลัว และโหดเหี้ยม แต่การกินเนื้อมนุษย์มีในหลายวัฒนธรรม และเกิดขึ้นมาพร้อมกับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
การกระทำดังกล่าวเกี่ยวข้องกับความเชื่อ ลักษณะทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ซึ่งมนุษย์ได้ดิ้นรนแสวงหาเพื่อการอยู่รอด และการได้รับเกียรติ คุณค่า และศักดิ์ศรีไปพร้อมๆ กัน แต่การอธิบายถึงความน่ากลัวของการกินเนื้อมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในตำนาน นิทานพื้นบ้าน วรรณกรรม เรื่องแต่ง นวนิยาย และบทกวี ซึ่งอาจจะต่างไปจากการกระทำที่สังคมมีส่วนรับรู้
ขณะเดียวกันการศึกษาเรื่องเหล่านี้ก็มีทฤษฎีที่ต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นจิตวิทยา วิทยาศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ กฎหมาย ประวัติศาสตร์ และมานุษยวิทยา ในกลุ่มชนที่เชื่อว่าเป็นพวกที่กินเนื้อมนุษย์นั้น มีข้อสันนิษฐานว่าคนเหล่านั้นกินเนื้อมนุษย์เพราะขาดแคลนอาหาร ข้อสันนิษฐานนี้นำไปสู่การสร้างจินตนาการเกี่ยวกับคนป่าที่ดุร้ายในดินแดนที่ไกลโพ้น ชาวตะวันตกมักจะเชื่อว่าคนป่าจะออกมาล่ามนุษย์เพื่อนำไปเป็นอาหารอย่างเป็นกิจวัตร แต่ วิลเลี่ยม เอเรนส์ (William Arens) กล่าวว่า การกินเนื้อมนุษย์นั้นมิใช่พฤติกรรมทางสังคมที่พบเห็นได้ทุกเมื่อเชื่อวัน หากแต่เป็นการกระทำที่มีเงื่อนไขพิเศษซึ่งสังคมต้องการแก้ไขปัญหาบางอย่าง
“มนุษย์กินคน” ตามคำบอกเล่าของชาวตะวันตก
การศึกษาเรื่อง มนุษย์กินคน มีข้อจำกัดในเรื่องหลักฐาน เนื่องจากการพูดถึงเรื่องการกินเนื้อมนุษย์มักจะมาในลักษณะเรื่องเล่าต่อๆ กัน หรือเป็นการนินทาใส่ร้าย มากกว่าจะเป็นการพบเห็นโดยตรง เรื่องการกินเนื้อมนุษย์ในดินแดนที่ห่างไกล จึงมักเป็นการบิดเบือน หรือถูกเล่าเกินจริง
ตัวอย่างหลักฐานของ เบอร์นาดิโน เดอ ซาฮากัน (Bernadino de Sahagun ) และ ดิเอโก้ ดูรัน (Diego Duran) ในช่วงปี ค.ศ. 1540 ซึ่งเขาได้พบกับชาวเอสเต็ก (Aztec) ในอเมริกาใต้ หลักฐานตามบันทึกอธิบายว่า ชนพื้นเมืองหลายพันคนมารวมตัวกันประกอบพิธีบูชายัญ ณ วัดแห่งหนึ่งที่ชื่อ Tinochtitlan ในพิธีนั้นมีการกินเนื้อมนุษย์
ดินแดนอื่นๆ ที่มีการอ้างว่าพบการกินเนื้อมนุษย์ ได้แก่ ชาวเผ่าซูลู ในแอฟริกา ซึ่งกินเนื้อมนุษย์ดิบๆ ในช่วงที่ขาดแคลนอาหาร ในชนเผ่าเนียม-เนียม (Niam-Niam) หรือ Azande ในแอฟริกากลาง เป็นกลุ่มชนที่มีการสู้รบที่ดุเดือด ชนพื้นเมืองที่เป็นเพื่อนบ้านมักจะเกรงกลัวนักรบชาวเนียม-เนียม ซึ่งจะฆ่าศัตรูไปเป็นอาหาร ชนกลุ่มนี้จึงได้รับฉายาว่าเป็นพวกกินมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องน่าหวาดกลัวของชาวตะวันตกในช่วงศตวรรษที่ 19 ที่เดินทางเข้ามาค้าขายกับคนพื้นเมือง นอกจากนั้นในเขตประเทศคองโกก็มีการกล่าวถึงดินแดนของ มนุษย์กินคน ซึ่งมีคำร่ำลือว่าเศษกระดูก แขนขา และชิ้นส่วนของมนุษย์จะถูกแขวนไว้บนต้นไม้
ตามบันทึกของ E.J. Glave ใน ค.ศ. 1890 เล่าว่า ชนพื้นเมืองในประเทศคองโกเป็นพวกปีศาจ มีพิธีกรรมการฆ่ามนุษย์ที่โหดเหี้ยม ในพิธีดังกล่าวมีการเต้นรำ ร้องเพลง และดื่มสุรา เหยื่อที่ถูกสังเวยจะถูกมัดด้วยท่อนไม้ คนเต้นรำจะเต้นไปรอบๆ เหยื่อ คนเต้นทาตัวเป็นสีดำ ทารอบดวงตาเป็นสีขาว รอบเอวจะมีขนแมวป่าผูกไว้ คนที่ทำหน้าที่ประหารจะใช้อาวุธมีคมตัดหัวเหยื่อ เลือดจะกระจายไปทั่ว
การทำพิธีประหารเช่นนี้เป็นการสังเวยดวงวิญญาณ เพราะคนป่ากลุ่มนี้เชื่อว่าวิญญาณผู้ตายจะทำให้หัวหน้าเผ่ามีตำแหน่งทางสังคมเท่าเดิมในชาติต่อไป นอกจากนั้นในเผ่า Lufembe และเผ่า Ngombe ก็ยังมีการฆ่าศัตรูมาเป็นอาหาร หรือนำศัตรูไปค้าทาสตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อแลกกับสินค้า
Glave กล่าวว่า ในประเทศคองโก หมู่บ้านของชาวพื้นเมืองจะมีการแขวนหัวกะโหลกไว้ตรงบริเวณที่เป็นจุดสำคัญของหมู่บ้าน ชาวพื้นเมืองเหล่านี้จะมีการนำเนื้อมนุษย์มาขายในตลาด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัว
คำบอกเล่าของ Glave ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าดินแดนในเขตคองโกเต็มไปด้วย มนุษย์กินคน อย่างนั้นหรือ ทำไมคนเหล่านั้นจึงลุกขึ้นมาฆ่ามนุษย์ไปเป็นอาหารอย่างเป็นกิจวัตร Glave ให้ข้อมูลด้านเดียว และเรื่องที่พบเห็นอาจมิได้เป็นความโหดร้ายทารุณ หากแต่เป็นเหตุผลทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความเชื่อของคนกลุ่มต่างๆ ซึ่งหากใช้มาตรฐานทางศีลธรรมแบบตะวันตกเข้าไปตัดสิน อาจเป็นการใส่ร้ายป้ายสี และมีอคติ
ในบันทึกของ A.H. Keane เล่าว่า ชนพื้นเมืองในประเทศเปรูมีความเชื่อทางศาสนา และมีการกินเนื้อพ่อแม่ของตน รัสเซล วอลเลซ (Russel Wallace) บันทึกเกี่ยวกับคนพื้นเมืองในช่วงปี ค.ศ. 1853 ว่า เผ่าทูคาโนส (Tucanos) และทาเรียนาส (Tarianas) มีประเพณีขุดศพคนตายขึ้นมาเพื่อนำไปเป็นอาหาร โดยจะนำเศษเนื้อมาต้มพร้อมกับเครื่องปรุงแล้วนำไปดื่มกิน การดื่มเนื้อคนตายนี้เชื่อว่าจะทำให้คนๆ นั้นบริสุทธิ์ ในเผ่าโคบีอุส (Cobeus) เมื่อฆ่าศัตรูได้พวกเขาก็นำศพมาทำเป็นอาหาร โดยนำเนื้อไปย่างไฟ ควันไฟที่เกิดจากการย่างเป็นสิ่งที่ชาวโคบีอุสโปรดปราน เนื้อมนุษย์ที่ย่างแล้วจะเป็นอาหารชั้นดีซึ่งสามารถเก็บไว้รับประทานในยามขาดแคลน
ในบันทึกของมิชชันนารีนามว่าเดวิด คาร์กิลล์ (David Cargill) ในปี ค.ศ. 1839 อธิบายว่า ชาวฟิจิจะนำศพคนตายแจกจ่ายให้กันและกันเพื่อนำไปทำอาหาร ศพจะถูกชำแหละและเศษอวัยวะต่างๆ จะถูกทิ้งให้ลอยน้ำไป ในบันทึกของมิชชันนารีอีกคนหนึ่งชื่อแจ็กการ์ (Jaggar) เล่าว่า กษัตริย์ชาวฟิจิจะจับตัวทาสที่หลบหนีไปมาตัดแขนตัดขาและนำไปเป็นอาหาร
จอห์น วัตส์ฟอร์ด (John Watsford) เล่าว่า ชาวฟิจิจะนำศพของคนตายมาปรุงเป็นอาหาร และถ้าเหลือจะนำไปเป็นอาหารหมู เศษกระดูกของมนุษย์จะถูกนำมาหมักกับเกลือ ซึ่งใช้ประกอบอาหารในแต่ละวัน วัตส์ฟอร์ดอ้างว่าชาวฟิจิกินมนุษย์เป็นอาหารราวกับเป็นเรื่องปกติ เช่นเดียวกับอัลเฟรด จอห์นสตัน (Alfred Johnston) กล่าวไว้ในบันทึกว่า ชาวฟิจิชอบกินเนื้อมนุษย์ เนื่องจากขาดแคลนเนื้อสัตว์ จอห์นสตันเล่าว่า ลูกเรือที่หลงเข้าไปในเกาะฟิจิจะถูกจับและฆ่าเป็นอาหาร รวมทั้งจะขุดศพของญาติพี่น้องที่ตายไปแล้วมาปรุงเป็นอาหาร โดยเฉพาะเนื้อของผู้หญิงจะเป็นอาหารที่ดีเลิศ
คำบอกเล่าของสลิงแมนน์ (Slingmann) ในปี ค.ศ. 1910 อ้างว่าชาวปาปัวนิวกินีชอบกินเนื้อมนุษย์เช่นเดียวกับกินเนื้อหมู แต่เนื้อมนุษย์ไม่ทำให้เกิดอาการจุกเสียดแน่นท้องเหมือนกินเนื้อหมู ในบันทึกของวอล์คเกอร์ (Walker) เรื่อง Wandering Among South Sea Savages ในปี ค.ศ. 1909 เล่าว่า เมื่อเดินทางเข้าไปในหมู่บ้านของชาวปาปัวนิวกินี เขาได้พบเห็นกองกระดูกและกะโหลกมนุษย์ที่ยังมีเศษเนื้อติดอยู่
เขาอธิบายว่า ชาวบ้านจับศัตรูมาทรมานและฆ่า จากนั้นจะนำเนื้อมารับประทาน โดยเฉพาะสมองจะถูกควักออกมาจากกะโหลก เพราะเป็นส่วนที่อร่อยที่สุด ในบันทึกของวิลเลี่ยม มารีเนอร์ และจอห์น มาร์ติน ในปี ค.ศ. 1827 กล่าวว่า ชาวพื้นเมืองในเกาะตองก้าจะนำเชลยศึกมาทำอาหาร โดยการชำแหละเนื้อเป็นชิ้นๆ แล้วนำไปล้างกับน้ำทะเล เนื้อที่ล้างแล้วจะนำไปห่อใบไม้แล้วนำไปย่างกับไฟเหมือนกับย่างหมู ร่างกายที่เหลือของศพจะถูกควักเอาไส้และอวัยวะภายในออก และศพจะถูกห่อด้วยใบไม้แล้วนำไปย่างไฟ๗
ในเผ่า Abadja ในประเทศไนจีเรีย ทัลบอต (Talbot) เล่าว่า หัวหน้าครอบครัวจะล่ามนุษย์มาเป็นอาหาร โดยจะนำเนื้อมนุษย์มาแจกจ่ายให้สมาชิกได้กินกันทุกคน มือและเท้าเป็นอาหารที่อร่อย เนื้อที่เหลือจะนำไปตากแห้งเพื่อใช้เป็นอาหารมื้อต่อไป๘ จากรายงานของฮอร์นและอิสตัน (Horne and Aiston) ในปี ค.ศ. 1924 อธิบายว่า ชาวพื้นเมืองในออสเตรเลียตอนกลางนำศพคนตายมาปรุงเป็นอาหาร และคนที่ถูกฆ่าตายในการสู้รบก็จะถูกนำไปเป็นอาหารให้กับหัวหน้าเผ่า และเด็กแรกเกิด
อย่างไรก็ตามเรื่องเล่าและคำอธิบายต่างๆ เกี่ยวกับชาวพื้นเมืองที่กินเนื้อมนุษย์เป็นอาหารในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งชาวตะวันตกเข้าไปพบเห็นนั้น เป็นเรื่องเล่าที่ถูกตัดทอน และเลือกเฟ้นเฉพาะสิ่งที่แปลกประหลาด บางครั้งดูน่ากลัว และโหดเหี้ยมในสายตาชาวยุโรป ซึ่งการกิน การฆ่า หรือการทรมานเหยื่อที่เป็นมนุษย์มิใช่ภาพที่ต่อเนื่องของเหตุการณ์หรือพิธีกรรมทางสังคมทั้งหมด เรื่องเล่าเกี่ยวกับมนุษย์กินคนจึงคล้ายนวนิยายสยองขวัญหรือเป็นเรื่องผจญภัยที่น่าตื่นเต้นที่ชาวตะวันตกนิยมอ่าน
กินเนื้อมนุษย์ ในสังคมที่ซับซ้อน
ในประเทศจีนมีวัฒนธรรมการกินอาหารแปลกๆ เช่น อุ้งตีนหมี สมองลิง แมลงป่องทอด และอื่นๆ อีกหลายชนิด แต่อาหารที่ได้รับความนิยมแต่เป็นเรื่องที่น่ากลัวก็คือ การกินเด็กทารก แคธรีน ซาเบลโก (Katherine Sabelko) กล่าวว่า ที่โรงพยาบาล Zhenzhen หมอบางคนจะนำศพทารกมาเป็นอาหาร เพราะเชื่อว่าทารกแรกเกิดที่ตายจากการทำแท้งเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ จากรายงานการตรวจสอบโรงพยาบาลแห่งนั้นในปี ค.ศ. 1995 พบว่ามีหมอบางคนรับประทานเด็กทารกจริง
ในบทความของ ดร.เดนิส เบลลิงส์ (Denise Bellings) เรื่อง Federal Cannibalism ในนิตยสาร Life Advocate เดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1995 อธิบายว่า ชาวจีนกินศพทารก และนำเนื้อทารกไปขายเป็นอาหาร เนื่องจากชาวจีนเชื่อว่าการกินเนื้อทารกเป็นการบำรุงสุขภาพ โดยเฉพาะช่วยบำรุงผิวหนังและตับ ซึ่งในอดีตชาวจีนก็นำทารกมาเป็นอาหาร ซึ่งเป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ตามมีผู้ที่ลุกขึ้นมาคัดค้านและโจมตีการกระทำดังกล่าว นายแพทย์บางคนที่ไม่เห็นด้วยอธิบายว่าการกินทารกเป็นเรื่องโง่เขลาและเป็นความเข้าใจผิด เนื่องจากศพทารกเต็มไปด้วยเชื้อโรคที่อันตราย คุณค่าทางโภชนาการที่มีอยู่ในทารกก็พบได้ในอาหารประเภทอื่นๆ เช่นเดียวกัน
ในคัมภีร์ไบเบิลมีการพูดถึงเรื่องการกินมนุษย์ในบท Deuteronomy กล่าวว่า พระเจ้าได้ลงโทษชาวฮิบรูโดยการสาบให้อดอยาก และต้องกินลูกหลานตนเองเป็นอาหาร ในหลายวัฒนธรรมขันทีที่เป็นนักบวชจะมีพิธีดื่มกินเลือดเนื้อของมนุษย์เพื่อบูชาเทพเจ้า หลักฐานเหล่านี้บ่งชี้ว่าการกินมนุษย์เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนา และมีคนบางกลุ่มที่ยึดถือปฏิบัติอยู่ไม่ต่างจากชนเผ่าในดินแดนที่ห่างไกล
กินเนื้อมนุษย์ มุมมองทางมานุษยวิทยา
การศึกษาทางมานุษยวิทยาพยายามทำความเข้าใจว่าการกินเนื้อมนุษย์ในวัฒนธรรมต่างๆ นั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องใดบ้าง นักมานุษยวิทยาตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องเล่าเกี่ยวกับมนุษย์กินคนที่ชาวตะวันตกไปพบเจอมา หรือเล่าต่อกันมานั้นเป็นเรื่องที่ผูกโยงเข้ากับความเชื่อ การขาดแคลนอาหาร สงคราม และการมีทาส เรื่องเหล่านี้จะถูกอธิบายด้วยภาพของความน่ากลัว โหดร้าย และทำให้พฤติกรรมการกินเนื้อมนุษย์เป็นเรื่องเกินความจริง หากพิจารณาอย่างรอบด้านจะพบว่าการกินเนื้อมนุษย์ยังมีนัยเชิงพิธีกรรม หรือการบวงสรวง เซ่นสังเวยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องจบลงด้วยการกินเนื้อมนุษย์อย่างที่เล่าสู่กันฟัง อาจกล่าวได้ว่าความโหดร้ายน่ากลัวที่พบเห็นในพิธีกรรม อาจเป็นเพียงการแสดงเชิงสัญลักษณ์ที่มิใช่การกระทำที่ป่าเถื่อนแต่อย่างใด
การศึกษาปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับการกินเนื้อมนุษย์นั้นเป็นเรื่องของการตีความเชิงสัญลักษณ์ ในวัฒนธรรมชนเผ่าการบูชายัญด้วยมนุษย์อาจเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนา แต่เมื่อสิ่งนี้ถูกขยายความด้วยวัฒนธรรมการเขียนของชาวตะวันตกก็ทำให้เป็นเรื่องที่ผิดหรือน่ากลัว การตัดสินด้วยความคิดทางศาสนาหรือแนวคิดเรื่องสิทธิแบบตะวันตกทำให้พิธีกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งชั่วร้าย แต่พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกินมนุษย์นั้นเป็นเรื่องของเหตุการณ์แต่ละยุคสมัย ซึ่งพบได้ตั้งแต่สังคมระดับชนเผ่าจนถึงสังคมที่เจริญรุ่งเรือง การกินเนื้อมนุษย์มีเงื่อนไขในตัวเองมิใช่เป็นพฤติกรรมที่ก้าวร้าว หรือไร้การควบคุม
นักมานุษยวิทยาแนวโครงสร้างนิยม เช่น Levi-Strauss อธิบายว่า การกินเนื้อมนุษย์ในสังคมของชาวนิวกินีจะมีประเพณีขุดศพของญาติขึ้นมาเป็นอาหาร เนื่องจากเชื่อว่าการเตรียมอาหารจากศพเป็นการจัดระเบียบทางสังคมที่จำเป็น นอกจากนั้นยังเป็นเรื่องของการให้นิยามความหมายเกี่ยวกับร่างกายในเชิงสัญลักษณ์ เนื่องจากการกินอวัยวะหรือชิ้นส่วนร่างกายจะให้คุณค่าบางประการในเรื่องเพศ และอำนาจทางเพศ
ตัวอย่างการศึกษาของ Marvin Harris ในเรื่อง Cannibals and Kings อธิบายลักษณะที่โหดร้ายของชาวอินเดียนเผ่า Iroquois ว่า คนกลุ่มนี้ได้ฝึกผู้ชายให้เป็นนักรบที่แข็งแกร่ง ทรหด เพื่อทำสงครามกับศัตรู และเมื่อจับเชลยได้พวกเขาก็จะทำร้ายเชลยอย่างโหดเหี้ยม แต่การทำสงครามของชาว Iroquois มิใช่การรุกรานหรือกดขี่ข่มเหง หากแต่เป็นการแสดงความรักและปกป้องคุ้มครองเผ่าของตน และในการนำเชลยมาฆ่าก็มิใช่เพื่อเป็นอาหาร แต่เป็นการกระทำในเชิงสัญลักษณ์ และที่มีพิธีกรรมซึ่งบ่งบอกถึงชัยชนะและความกล้าหาญ
แฮร์ริสยังศึกษาพิธีกรรมการกินเนื้อมนุษย์ในสังคมชาวเอสเต็กในเขตอเมริกากลาง เขากล่าวว่า การบูชายัญด้วยมนุษย์นั้นมิใช่เป็นเรื่องที่จะพบเห็นได้ง่ายๆ และการกินมนุษย์ก็เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเกิดขึ้น ชาวเอสเต็กยังคงกินเนื้อสัตว์ที่เลี้ยงไว้เป็นอาหาร และเมื่อมีพิธีกรรมสังเวยมนุษย์เพื่อขอความอุดมสมบูรณ์จากเทพเจ้า พระสงฆ์ก็จะเป็นผู้ประกอบพิธี การฆ่ามนุษย์จึงเป็นสัญลักษณ์ที่มิใช่เป็นการฆ่าเพื่อเจตนาร้ายหรือระบายความโหดเหี้ยม
ในยามสงครามที่มีการจับเชลยศึกไว้ หัวหน้าทหารจะมีสิทธิควบคุมตัวเชลยไว้ใต้อำนาจ ซึ่งอาจมีได้หลายคน เชลยเหล่านี้จะกลายเป็นแรงงานให้หัวหน้า ช่วยงานในโอกาสต่างๆ เช่น งานแต่งงาน การเฉลิมฉลอง การเผาศพ เป็นต้น และเมื่อมีพิธีบวงสรวงเทพเจ้าเชลยก็จะถูกนำไปสังเวยตามความเชื่อ ซึ่งการฆ่าเชลยมิใช่ต้องการทำเป็นอาหาร หากแต่ตอบสนองสถานภาพของผู้ที่เป็นเจ้าของเชลยผู้นั้น ในทำนองเดียวกันชาวอินเดียนแดงในเขตประเทศแคนาดา การฆ่ามนุษย์ที่เป็นเชลยศึกคือการบูชาดวงอาทิตย์ที่เป็นเทพแห่งสงคราม
ในการศึกษาชาวอินเดียนเผ่า Kwakiults ของแกรี่ ฮ็อกก์ (Gary Hogg) พบว่าชาวอินเดียนกลุ่มนี้มิได้กินเนื้อมนุษย์เพราะความอยากกิน หรือเห็นเป็นอาหารอันโอชะแต่อย่างใดไม่ หากการกินเนื้อมนุษย์มีข้อห้ามมากมาย เช่น ห้ามกินมือและเท้า ถ้าใครกินจะถึงแก่ความตาย นอกจากนั้นในเผ่า Mangeromas ในอเมริกาใต้ยังเชื่อว่ามือและเท้าของมนุษย์เป็นของสูง มีไว้สำหรับชนชั้นปกครองเท่านั้น ในกรณีที่มนุษย์กินเนื้อญาติพี่น้องของตนที่ตายไปแล้ว มิใช่เป็นการหิวกระหาย หากแต่เป็นการให้ความเคารพผู้ตาย และเชื่อว่าวิญญาณผู้ตายจะอยู่กับครอบครัวตลอดไป
การศึกษาของเอลคิ้น (Elkin) พบว่าในเขตตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย การกินเนื้อมนุษย์เป็นเรื่องของศักดิ์ศรี และเป็นพิธีกรรมที่มีคุณค่าสูงส่ง และมิใช่จะทำขึ้นง่ายๆ แต่ต้องทำเพื่อผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่และสำคัญ
อาจกล่าวได้ว่า การนำมนุษย์มากินเป็นสิ่งที่มีเงื่อนไขมากมาย และเป็นสิ่งที่มีสภาวะศักดิ์สิทธิ์ ต้องกระทำอย่างมีระเบียบ มีพิธีกรรมรองรับ การกินมนุษย์จึงเป็นสัญลักษณ์ทางสังคมที่มีจุดหมายปลายทาง มิใช่เพียงเพื่อความกระหายเลือดหรือการแก้แค้น พิธีกรรมสังเวยมนุษย์ด้วยการฆ่านั้นมิใช่การนำใครก็ได้มาฆ่า แต่ผู้ที่ถูกฆ่ามักจะเป็นเชลยศึก เป็นทาสหรือเป็นศัตรู การฆ่ากระทำขึ้นอย่างมีนัยทางสังคมและเป็นการรวมกลุ่มของคนในเผ่า ญาติพี่น้องชายหญิง หนุ่มสาว เด็ก และคนชราต่างมีส่วนร่วมในพิธีนี้
แฮร์ริสกล่าวว่า การดื่มเลือดและทาเลือดบนร่างกายเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของพิธี เพราะบ่งบอกว่าทุกคนเป็นสมาชิกในกลุ่ม สิ่งสำคัญคือ ชนเผ่าหลายแห่งมองว่าร่างกายและอวัยวะของมนุษย์ที่ถูกสังเวยนั้นเป็นวัตถุที่พิเศษ เป็นแหล่งของอำนาจเวทมนต์ และเป็นสมบัติที่มีค่าสำหรับผู้ครอบครอง อวัยวะบางอย่างเช่น กระดูกและฟันอาจนำมาทำเป็นเครื่องประดับ เช่นในเผ่า Tupinamba ในอเมริกาใต้ สตรีจะนำฟันของมนุษย์มาเป็นเครื่องประดับและสวมใส่เมื่อมีพิธีกรรม
ข้อมูลทางชาติพันธุ์ของนักมานุษยวิทยาในช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 20 ทำให้ความเข้าใจเรื่องการกินเนื้อมนุษย์ขยายออกไปมากกว่าการเป็นเรื่องของความโหดร้ายเพียงอย่างเดียว นักมานุษยวิทยาทำให้เรื่องเหล่านี้ลดทอนความอคติ และนำไปสู่การตั้งประเด็นคำถามอื่นๆ เช่น ระบบความเชื่อ การจัดระเบียบทางสังคม การจัดการทรัพยากรทางธรรมชาติ ความหมายของพิธีกรรม เป็นต้น คำอธิบายทางมานุษยวิทยามิได้แยกพฤติกรรมการกินมนุษย์ออกมาอย่างโดดเดี่ยวเพียงเพื่อทำให้เป็นเป็นความน่าสะพรึงกลัว หรือเป็นเพียงนิยายสยองขวัญ
หากแต่นักมานุษยวิทยาต้องการอธิบายว่าพฤติกรรมเช่นนี้ปรากฏขึ้นพร้อมๆ กับช่วงเวลาที่สังคมต้องการแสวงหาคุณค่าความหมายบางอย่าง ที่คนในเผ่านั้นยกย่องเชิดชู หรือเป็นอุดมคติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชนชั้น บทบาททางเพศ ศาสนา ไสยศาสตร์ หรือการเอาชีวิตรอดก็ตาม
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2560