ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
สีประจำพระองค์ หรือ “สีประจำพระชนมวาร” คือสีที่เรามักเห็นกันบ่อย ๆ เป็นสีพื้นของธงประจำพระองค์ สีอักษรในตราพระปรมาภิไธย/พระนามาภิไธย ตลอดจนสีของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เครื่องทรง เครื่องราชฯ ในพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลาย
คำว่า “พระชนมวาร” (พระ-ชน-มะ-วาน) เป็นคำสมาสในภาษาบาลี-สันสกฤต จากคำว่า ชนม แปลว่า การเกิด กับ วาร แปลว่า วัน คือวันหนึ่ง ๆ ในสัปดาห์ (อาทิตย์, จันทร์, อังคาร ฯลฯ)
สีประจำพระชนมวาร จึงหมายถึงสีประจำวันที่มีเสด็จพระราชสมภพ หรือสีประจำวันเกิดนั่นเอง
ตัวอย่างที่ค่อนข้างชัดเจนคือสีประจำพระชนมวารของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้ง 2 พระองค์เสด็จพระราชสมภพในวันจันทร์เหมือนกัน “สีเหลือง” จึงเป็นสีพื้นของธงพระจำพระองค์ เป็นสีประจำพระองค์ที่พสกนิกรชาวไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี
อนึ่ง ความเชื่อเรื่อง “สีประจำวัน” เป็นคติแต่โบราณในสังคมไทย เชื่อกันว่าสีประจำวันมีพลังในการมอบความสิริมงคลแก่บุคคลนั้น ๆ พื้นฐานของคติดังกล่าวมาจาก “สีกาย” ของเทพนพเคราะห์ทั้ง 7 ประจำวันทั้ง 7 ของสัปดาห์ ได้แก่
พระอาทิตย์กาย “สีแดง” พระจันทร์กาย “สีนวล” พระอังคารกาย “สีม่วงคราม” พระพุธกาย “สีเขียว” หรือ “สีเลื่อมแสด” พระพฤหัสบดีกาย “สีเลื่อมเขียวเหลือง” พระศุกร์กาย “สีเมฆหมอก” และพระเสาร์กาย “สีดำ”
ภายหลังสีเหล่านี้ถูกปรับให้มีความเป็นสากลมากขึ้น (สันนิษฐานว่าเริ่มในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) เนื่องจากบางสีไม่อยู่ในความนิยมของชาวตะวันตก เช่น สีดำไม่เป็นมงคล และสีอย่าง สีเลื่อมแสด สีเลื่อมเขียวเหลือง สีเมฆหมอก เป็นเฉดสีที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจน จึงถูกปรับให้เป็นโทนสีสากลยิ่งขึ้น
เป็นที่มาของสีประจำวันที่เราคุ้นเคย นั่นคือ วันอาทิตย์สีแดง วันจันทร์สีเหลือง วันอังคารสีชมพู วันพุธสีเขียว วันพฤหัสบดีสีแสด (ส้ม) วันศุกร์สีฟ้า วันเสาร์สีม่วง นั่นเอง
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เกิดประเพณีในราชสำนัก นำธรรมเนียมการใช้สีประจำวันมากำหนดสีประจำพระองค์ของพระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ และพระบรมวงศานุวงศ์ โดยกำหนดตามวันพระราชสมภพ หรือวันประสูติของพระมหากษัตริย์ หรือเจ้านายแต่ละพระองค์
อย่างเช่น รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชสมภพในวันอังคาร สีประจำพระองค์ จึงเป็น “สีชมพู” เครื่องราชอิสริยาภรณ์พระจุลจอมเกล้าฯ จึงมีสายสะพายและแปรแถบของเครื่องราชฯ เป็นสีชมพู
หากนับสีประจำวันตามธรรมเนียมดังกล่าว พระมหากษัตริย์ใน “ราชวงศ์จักรี” แต่ละพระองค์ ทรงมีสีประจำพระชนมวารเป็นสีอะไรกันบ้าง?
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันพุธ ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2280 สีประจำพระชนมวารคือ สีเขียว
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันพุธ ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2311 สีประจำพระชนมวารคือ สีเขียว
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันจันทร์ ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2331 สีประจำพระชนมวารคือ สีเหลือง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันพฤหัสบดี ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2347 สีประจำพระชนมวารคือ สีแสด
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันอังคาร ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 สีประจำพระชนมวารคือ สีชมพู
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันเสาร์ ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2424 สีประจำพระชนมวารคือ สีม่วง
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันพุธ ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 สีประจำพระชนมวารคือ สีเขียว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันอาทิตย์ ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 สีประจำพระชนมวารคือ สีแดง
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันจันทร์ ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 สีประจำพระชนมวารคือ สีเหลือง
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันจันทร์ ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 สีประจำพระชนมวารคือ สีเหลือง
ต้องขอเน้นย้ำว่าธรรมเนียมสีประจำพระชนมวารเพิ่งเริ่มใช้ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนจะแพร่หลายมากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เพราะทรงมีพระราชนิยมกำหนดให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร ตลอดจนสุภาพชนแต่งกายด้วยสีตามวันอย่างจริงจัง และสืบทอดกันมาถึงปัจจุบัน ดังนั้น สีประจำพระชนมวารในรัชกาลที่ 1-4 จึงเป็นเพียงการอนุมานขึ้นในภายหลังเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อเรื่องสีมีอิทธิพลต่อรัฐไทยมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์เป็นอย่างน้อย ดังจะเห็นว่า ในสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งเสด็จพระราชสมภพในวันพุธ เป็นที่น่าสังเกตว่า สีประจำวันพุธอย่าง “สีเขียว” ได้เข้าไปเกี่ยวพันกับคติความเชื่อและนัยของการสถาปนากรุงเทพฯ ในหลาย ๆ มิติด้วยกัน
อย่างพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ “พระแก้วมรกต” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองมีกายสีเขียวมรกต สีเขียวยังเป็นสีพระวรกายของ “พระอินทร์” ซึ่งการสถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานีแห่งใหม่นั้น รัชกาลที่ 1 มีพระราชประสงค์ให้กรุงเทพฯ เป็น “เมืองพระอินทร์” อย่างชัดเจนด้วย
อ่านเพิ่มเติม :
- “สีเขียว” กับนัยเบื้องหลังการเป็นสีประจำ “กรุงเทพมหานคร”
- ความนัยของการสร้างกรุงเทพฯ ตามคติพระอินทร์ สมัยรัชกาลที่ 1
- ที่มาของ “สี” รถยนต์พระที่นั่ง และเลขทะเบียน “ร.ย.ล.” มาจากไหน?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ฉวีงาม มาเจริญ. (2520). ธงไทย. กรุงเทพฯ : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.
สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สีประจำวัน. วันที่ 29 กันยายน 2561. (ออนไลน์)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567