ที่มาของ “สี” รถยนต์พระที่นั่ง และเลขทะเบียน “ร.ย.ล.” มาจากไหน?

รถยนต์พระที่นั่ง ร.ย.ล. ใน ขบวนเสด็จพระราชดำเนิน

เคยสังเกตหรือไม่ว่า ขบวนเสด็จฯ ทางรถยนต์ ทำไมรถยนต์ตามเสด็จฯ ถึงใช้สีแดง? ทำไม รถยนต์พระที่นั่ง ถึงใช้สีเหลืองอ่อนหรือสีงาช้าง? และทำไม รถยนต์พระที่นั่ง ถึงมีเลขทะเบียน “ร.ย.ล.”?

ประเด็นเหล่านี้จึงนำมาสู่คำถามที่ว่า “สี” รถยนต์ใน ขบวนเสด็จพระราชดำเนิน และเลขทะเบียน “ร.ย.ล.” มาจากไหน? ใครเป็นผู้ต้นคิด?

รถยนต์ เป็นสิ่งประดิษฐ์สำคัญอย่างหนึ่งในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมที่มีขึ้นราวศตวรรษที่ 19 ก่อนจะถูกนำเข้ามาในประเทศสยามราวปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งเริ่มนิยมใช้ในหมู่เจ้านายและชนชั้นสูง ก่อนจะแพร่หลายทั่วไป ปรากฏว่าการเข้ามาของรถยนต์ได้ก่อให้เกิดอุบัติเหตุหรือปัญหาบนท้องถนน เนื่องจากความไร้ระเบียบวินัยและความคับคั่งของรถยนต์บนถนน ดังนั้น จึงได้มีการออกพระราชบัญญัติรถยนต์รัตนโกสินทร์ ศก 128

เทียนโชติ จงพีร์เพียร อดีตอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ให้ข้อมูลในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2554 ว่า พระราชบัญญัติรถยนต์รัตนโกสินทร์ ศก 128 เป็นกฎหมายเกี่ยวกับรถยนต์ฉบับแรกของประเทศ เพื่อควบคุมเจ้าของพาหนะ ยานพาหนะ การจดทะเบียน และการออกใบอนุญาต ฯลฯ และที่สำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้คือจุดเริ่มต้นของการมีเลขทะเบียนรถเป็นครั้งแรก

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 หน่วยงานที่ดูแลการเสด็จพระราชดำเนินทางรถยนต์คือ “กรมพระอัศวราช” ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของมหาดเล็ก มีหน้าที่รับผิดชอบคลอบคลุมทั้งเรื่องม้าต้น รถม้าพระที่นั่ง ม้าพระประเทียบ เรือยนต์พระที่นั่ง เรือกลไฟ และ รถยนต์พระที่นั่ง

ครั้นเมื่อรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พระยาประสิทธิศุภาการ หรือ หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ (ภายหลังคือเจ้าพระยารามราฆพ) เป็นผู้สำเร็จราชการมหาดเล็ก เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2462 หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ ได้เข้ามาบริหารจัดการกิจการมหาดเล็กหลายประการ ที่สำคัญคือในกิจการเกี่ยวกับ รถยนต์พระที่นั่ง ที่หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ ได้ริเริ่มให้จัดสีรถยนต์ตามประเภท และให้ใช้เลขทะเบียน “ร.ย.ล.” เป็นครั้งแรก ดังปรากฏตามความว่า

“รถยนต์หลวงท่านจัดให้มีสีต่าง ๆ กันตามประเภท รถยนต์พระที่นั่ง ใช้สีเหลืองอ่อนหรือสีงาช้าง รถขบวนตามเสด็จใช้สีแดง รถพระประเทียบใช้สีเหลืองแก่ รถยนต์หลวงในสมัยนั้นไม่ต้องใช้เลขหมาย จึงเกิดการปลอมแปลงให้เหมือนรถยนต์หลวงกันบ้าง ท่านจึงให้รถยนต์หลวงใช้เครื่องหมาย ร.ย.ล. ๑ (และเลขต่อ ๆ ไป) สีและเลขหมายนี้ยังคงใช้อยู่ในบัดนี้” (อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก พลเรือเอก กองเรือใหญ่ เจ้าพระยารามราฆพ ร.ว., ป.จ., ม.ป.ช., ม.ว.ม. (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2510)

“ท่าน” ในข้อความข้างต้น หมายถึง เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ดังนั้น จึงได้เกิดแบบแผนเกี่ยวกับเรื่องสีและเลขทะเบียนรถยนต์ใน ขบวนเสด็จฯ มานับแต่นั้น สำหรับ รถยนต์พระที่นั่ง จะใช้สีเหลืองอ่อนหรือสีงาช้าง รถยนต์ตามเสด็จฯ จะใช้สีแดง และรถยนต์พระประเทียบ (รถยนต์สำหรับพระสังฆราช ผู้แทนพระองค์ หรือทูตที่จะเข้าถวายพระราชสาส์นหรืออักษรสาส์นตราตั้ง) จะใช้สีเหลืองแก่

รัชกาลที่ 6 ทรงขับรถยนต์พระที่นั่ง มีเจ้าพระยารามราฆพ (ซ้าย) อุ้ม “ย่าเหล” สุนัขทรงเลี้ยง (ภาพจาก พระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 (สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น สมัยรัชกาลที่ 6))

ในประเด็นเรื่องสีนี้ วรชาติ มีชูบท ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัชกาลที่ 6 เคยได้อธิบายไว้ในเว็บไซต์พันทิปว่า “การที่กำหนดสีรถยนต์พระที่นั่งเป็นสีเหลืองนวลนั้น น่าจะสืบเนื่องมาจากสีรถม้าพระที่นั่ง ที่เป็นสีเหลืองนวลมาแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งน่าจะมีที่มาจากสีทองของราชรถในสมัยโบราณ ส่วนสีแดงสำหรับรถขบวนนั้น น่าจะมีที่มาจากสีบานเย็นซึ่งเป็นสีประจำกระทรวงวัง เพื่อให้ทราบชัดว่าเป็นรถหลวง

ส่วนรถพระประเทียบที่เป็นสีเหลืองอ๋อยนั้นคงให้รับกับจีวรพระ เพราะนอกจากเป็นพาหนะประจำพระองค์สมเด็จพระสังฆราชแล้ว เวลาเชิญพระไชยวัฒน์ประจำรัชกาลต่าง ๆ ไปในการบำเพ็ญพระราชกุศลภายนอกพระบรมมหาราชวัง ก็จะเชิญพระไชยวัฒน์ไปโดยรถยนต์พระประเทียบนี้”

ดังนั้น รถยนต์ใน ขบวนเสด็จฯ ในปัจจุบันจึงมีแบบแผนปฏิบัติสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 โดยเฉพาะเรื่อง “สี” และ “เลขทะเบียน” ที่หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ เป็นผู้ต้นคิดขึ้น

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 ธันวาคม 2562