ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
รถยนต์มีครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปลายรัชกาลที่ 5 ในระยะแรกใครมีรถยนต์ขับขี่ได้ต้องเป็นเจ้านาย, เป็นขุนนางราชสำนัก, เป็นคฤหบดีผู้มีเงินมาก ฯลฯ หลังจากที่เมืองไทยสั่งรถยนต์เข้ามาใช้กันเรื่อย ๆ รถยนต์เริ่มเป็นที่นิยมกว้างขวาง แม้แต่พ่อค้าพาณิชย์และราษฎรทั่ว ๆ ไปก็นิยมขี่ด้วย ห้างร้านในกรุงเทพฯ จึงเริ่มเป็นเอเย่นต์ หรือตัวแทนจําหน่ายรถยี่ห้อต่าง และกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ตามมา
มาดูกันว่ารถยนต์สมัยนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร ซื้อกันที่ไหน แล้วเติมน้ำมันที่ปั๊มอะไร
ร.อ.หลวงอายุทธประดิษฐ์ (สุข อามระดิษ) อายุ 84 ปี หนึ่งในผู้ที่มีรถยนต์ขี่มาตั้งแต่ พ.ศ. 2454 (ร.ศ. 130) บอกเล่าว่า รถยนต์ที่เข้ามาขายในประเทศไทยสมัยแรก ๆ เป็นรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด ซึ่ง ร.อ.หลวงอายุทธฯ ซื้อมาจากอู่บางกอกด็อคในราคา 1,200 บาท เป็นรถสีดำ 4 ประตู นั่งได้ 5 คน คือข้างหน้า 2 คน และข้างหลัง 3 คน วิ่งได้เร็วชั่วโมงละ 4-8 ไมล์
ร.อ.หลวงอายุทธฯ เล่าถึงรายละเอียดของรถยนต์สมัยนั้ยว่า เป็นรถไม่มีเกียร์ ใช้คลัชแทนเกียร์ เดินหน้า ถอยหลัง ก็ใช้คลัชคือเหยีบข้างซ้ายเต็มที่เป็นเกียร์ 1 เหยียบเบาเป็นฟรี ถ้าปล่อยเป็นเกียร์ 2 ถ้าเหยียบข้างขวาเต็มที่เป็นห้ามล้อ และมีห้ามล้อมือถืออีกอันหนึ่งอยู่ขวามือ ภายหลัง ร.อ.หลวงอายุทธฯ เปลี่ยนไปใช้รถเปอโยต์ และรถเฟียตตามลำดับ
ส่วนบริษัทห้างร้านต่าง ๆ เป็นเอเย่นต์รถยนต์ และเครื่องอะไหล่รถยนต์ยี่ห้อต่าง ๆ ดังนี้
ห้าง ย.ร. อันเดร อยู่สี่กั๊กพระยาศรี เป็นเอเย่นต์รถยนต์ห้างอาดัมโอเปิล เมืองรัซเซลไฮม์
บริษัทอู่บางกอกทุนจํากัด อยู่ยานนาวา เป็นเอเย่นต์รถยนต์ซิดเดเล รถยนต์ไซเล็นไนต์ รถยนต์โฟ๊ด (ฟอร์ด) รถยนต์บรรทุกของและรถโดยสารห้างสตาร์ กับเป็นเอเย่นต์ขายเครื่องอะไหล่รถยนต์ยี่ห้อต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น ตลอดจนทําการขายยางรถยนต์ทั้งยางนอกยางในของยี่ห้อมิเชลินด้วย อนึ่ง ที่บริษัทนี้มีโรงแก้รถยนต์ (อู่ซ่อม) ขนาดใหญ่ สามารถรับแก้ได้พร้อม ๆ กันทีเดียวถึง 20 คัน ซึ่งนับว่าเป็นอู่ซ่อมรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย สมัยนั้น
ห้างคอมตัวร์ ฟรังแซซ ดูเซียม ตั้งอยู่ที่ถนนสี่พระยา เจ้าของห้างเป็นชาวฝรั่งเศส ชื่อ มองซิเออร์ เป แอม ลอร์เต เป็นเอเย่นต์รถยนต์ของฝรั่งเศส
ห้าง เอส. เอ. บี. (โซไซเอเต อานอน นีม เบลช) ออฟฟิศใหญ่อยู่ถนนเจริญกรุง (สี่แยก เอส. เอ. บี. ในปัจจุบันสี่แยกนี้ได้มาจากชื่อห้างนี้ซึ่งตั้งอยู่) เป็นเอเย่นต์รถยนต์และเครื่องอะไหล่โคมรถยนต์เบลอริโอและยางมิเชลิน กับมีโรงแก้รถยนต์เสียอีก 1 โรง
บริษัทสยามฟอเรซต์ทุนจํากัด เป็นเอเย่นต์รถยนต์เปอยู (เปอโยต์)
ห้างของหลุยส์ เลียวโนแวนซ์ เป็นเอเย่นต์ยางรถยนต์หลายยี่ห้อ
บริษัทวินด์เซอร์ (ห้างสี่ตา) เป็นเอเย่นต์รถยนต์ แกก เยนอ ขนาด 18 แรงม้า 4 สูบ ของบริษัท สูเอด ดูเชอ อโทโมบิล แฟปริก กับมีโรงแก้รถยนต์ 1 โรง
ห้างแอล. โบเฮนสกี ตั้งอยู่ที่ถนนมหาชัย ประตูสามยอดเป็นเอเย่นต์รถยนต์โปรโตส รถยนต์อากา และ รถยนต์ยี่ห้ออื่น ๆ อีก 2-3 ยี่ห้อ
ห้างบัตเลอร์ แอนด์ เว็บสเตอร์ ตั้งอยู่ที่ สี่กั๊กพระยาศรี เป็นเอเย่นต์รถยนต์เอสเซกส์ ซึ่งกินน้ำมันเบนซินเพียง 25 ไมล์ ต่อ 1 แกลลอน คุณภาพของรถยี่ห้อนี้ ที่พิเศษกว่ายี่ห้ออื่น ๆ อีกก็คือ ใช้เหล็กกันชนอย่างดี ประตูหน้าต่างปิดเปิดได้สะดวก
ยี่ห้อติ๊ดเฮง ตั้งอยู่ที่หน้าวังบูรพา ขายเครื่องอะไหล่ รถยนต์ และเป็นเอเย่นต์ยางรถยนต์ของห้างนอรทบริตติช รับเบอร์กลินเชอร์ กับรับจ้างปะยางรถยนต์ด้วยเครื่องไฟฟ้า รวมถึงขายน้ำมันเบ็นซิน น้ำมันเครื่องและจาระบี
รถยนต์ขับไปก็ต้องหาที่เติมน้ำมัน เวลาจะเติมน้ำมันรถยนต์ตามร้านขายน้ำมัน ก็เอากรวยน้ำมันแหย่ลงไปในที่เติมน้ำมันรถยนต์ แล้วก็เอาน้ำมันซึ่งบรรจุปี๊บเทลงไปตามความต้องการ ซึ่งการเติมน้ำมันด้วยวิธีนี้ บางครั้งก็เกิดไฟลุกไหม้ถลอกปอกเปิกทั้งคนขับและคนเติมน้ำมัน เนื่องจากความสับเพร่าเผลอเรอไม่ดับบุหรี่ที่สูบ
สําหรับร้านค้าน้ำมันในสมัยนั้นก็ปรากฏมีอยู่ทั่วพระนคร แต่ไม่มากเหมือนสมัยนี้ อาทิ
ห้างนายเลิศ (ของนายเลิศ เศรษฐบุตร หรือพระยาภักดีนรเศรษฐ ผู้ริเริ่มตั้งบริษัทรถเมล์ขาว) อยู่ที่ปากคลองขุดใหม่ (คลองผดุงกรุงเกษม) คือที่สี่พระยาเวลานี้ ก็ทําการขายน้ำมันเบ็นซินของแสตนดาร์ด ออยล์ และน้ำมันก๊าด ตอลดจนสินค้าอื่น ๆ
กวางเชียง ตั้งอยู่ที่ถนนจักรวรรดิ์ และร้านอื่น ๆ อีกหลายสิบแห่ง
ส่วนบริษัทน้ำมันในสมัยนั้น ก็มีบริษัท แสตนดาร์ด ออยล์ (บริษัทต้นกําเนิดของบริษัท เอสโซ่ แสตนดาร์ด ประเทศไทย จํากัด) ซึ่งเข้ามาดําเนินกิจการเมื่อ พ.ศ. 2437 (สมัยรัชกาลที่ 5) มีผู้จัดการชื่อ มร. ชาลส์ รอเบิร์ตส
บริษัทเอเชียติกเปโตรเลียมทุนจํากัด โดยบริษัทบอร์นิโอทุนจํากัด ก็เป็นเอเย่นต์จําหน่ายน้ำมันยี่ห้อต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ด้วย
นี่คือเรื่องของการค้าการขายรถยนต์และสิ่งที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ในสมัยโน้น ซึ่งแน่ละ คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ก็ได้ตื่นกันซื้อรถยนต์มาใช้แล้ว เพราะได้เล็งเห็นประโยชน์ของรถยนต์ ซึ่งมีความสะดวกสบายกว่ารถม้าเป็นอันมาก และท่านเหล่านั้นบางคนที่มีหัวการค้าก็ถึงกับซื้อรถยนต์ไว้ตั้งหลายคันก็มีแล้วก็ให้คนเช่าขับเที่ยว หรือบรรทุกของก็มี
ข้อมูลจาก :
เทพชู ทับทอง. กรุงเทพฯ ในอดีต, ห้างหุ้นส่วนจำกัด อักษรบัณฑิต 2518
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 เมษายน 2562