ไทยหาม้าจากไหน 400 ตัวใช้เทียมรถม้าพระที่นั่ง-คณะต่างชาติช่วงพระราชพิธีสำคัญในร.6

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จขึ้นรถม้าพระที่นั่งซึ่งจอดเทียบอยู่หน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในคราวรับเสด็จพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเชียเมื่อครั้งยังเป็นมกุฎราชกุมาร ขณะเสด็จฯ มาเยือนสยาม

ที่เรียกมรดกอดีต หรือจะให้โก้หน่อยก็มรดกประวัติศาสตร์ ซึ่งผมหมายถึงมรดกอดีตหรือมรดกประวัติศาสตร์ของไทยเพื่อจะได้ชี้ชัดลงไปเลยทีเดียวว่า มิใช่ของใครที่ไหนและมรดกอดีตของไทย อันได้แก่มรดกที่บรรพบุรุษไทยทิ้งไว้ และยังเหลือมาจนถึงมือลูกหลานไทยรุ่นใหม่ มรดกจากอดีตสิ่งหนึ่ง คือ…รถม้าพระที่นั่ง

รถม้าพระที่นั่ง คือรถที่มีล้อใหญ่ ๆ 4 ล้อ ตัวเก๋งเป็นประทุนที่ปิดเปิดได้ และปิดเปิดไม่ได้ รถม้าพระที่นั่งแต่ละคันอาจเทียมด้วยม้าตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป จนถึง 4 ตัวและ 8 ตัวเป็นจํานวนสูงสุด

รถม้าพระที่นั่ง คือรถเทียมม้าสําหรับการเสด็จพระราชดําเนินของพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีต่าง ๆ ในยุคสมัยที่ยังไม่มีรถยนต์เข้ามายุ่มย่ามตามถนนหนทางในกรุงเทพฯจึงมีรถม้าใช้กันไม่น้อย นอกเหนือไปจากรถเจ๊กที่บอกยี่ห้อชัดเจนอยู่แล้วว่า คนลากรถต้องเป็นคนจีน ไม่งั้นก็ไม่เรียกว่ารถเจ๊ก

เชื่อได้อย่างหนึ่งว่า รถเจ๊กนั้น น่าจะรับใช้คนกรุงมาก่อนรถม้า และเมื่อรถม้ารับใช้คนกรุงระดับเจ้า ๆ นายแล้ว ทั้งรถม้ากะรถเจ๊กก็กลายเป็นพาหนะร่วมสมัยกันไป

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 รถม้าเริ่มเป็นที่รู้จักและนิยมใช้กันทั่วไปแล้ว แต่มาเฟื่องฟูจริง ๆ ก็ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แต่ที่ว่ารถม้าเริ่มในสมัยใด ยุคไหนของกรุงเทพฯ เรื่องนี้ผมไม่รู้เพราะเกิดไม่ทัน

เพราะถ้าผมเกิดทันในสมัยที่รถม้าครั้งแรกในกรุงเทพฯ และผมยังมีชีวิตอยู่จนกระทั่งเวลานี้ ผมก็กลายเป็นคนอายุยืนที่สุดของโลกไปแล้ว

เท่าที่อ่านเจอ ก็มีบอกกล่าวเอาไว้ว่ารถม้าหรือรถเทียมด้วยม้า น่าจะมีขึ้นครั้งแรกรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และรูปร่าง รูปทรงรถม้าเริ่มมีในยุคสมัยนั้น แน่ใจได้ว่าคงเป็นรูปทรงอย่างรถม้าต่างประเทศ

คงเป็นแบบรถเทียมม้าของอังกฤษ ไม่ใช่รถเทียมม้าอย่างรถม้าในหนังคาวบอยอเมริกันแน่ ๆ เพราะไทยเราติดต่อกับอังกฤษและชาติในยุโรปในครั้งนั้น ใกล้ชิดกว่าทางทวีปอเมริกา

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มีหลักฐานบ่งชี้ชัดเจนเรื่องหนึ่งว่าด้วยรถม้าซึ่งอังกฤษส่งมาถวายเป็นของขวัญ

รถม้าคันนี้ ยังหลงเหลืออยู่จนบัดนี้ (2529)

รถม้าพระที่นั่ง ซึ่งอังกฤษส่งมาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ไม่มีใครบอกได้ว่า ได้ต่อเป็นรูปร่างเสร็จสมบูรณ์มาจากอังกฤษเลยทีเดียว หรือว่าส่งเป็นชิ้นส่วนเข้ามาประกอบขึ้นในเมืองไทยทีหลัง แต่รถม้าคันอื่นๆ นั้น เชื่อกันว่าน่าจะต่อขึ้นเองในเมืองไทย ตามรูปทรงที่เป็นรูปแบบอย่างรถม้าในอังกฤษ

รถม้าคันดังกล่าว ได้ใช้ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7

เป็นคันเดียวกับที่รัชกาลที่ 6 ทรงใช้เป็นรถม้าพระที่นั่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเป็นคันเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้เป็นรถม้าพระที่นั่งในพระราชพิธีเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก

ลุงผล คนเก่าคนแก่ผู้เป็นทายาทของนายสารถีสมัยรัชกาลที่ 6 บอกกับผมมาอย่างนั้นและดูเหมือนสายเลือดนายสารถีรถม้าพระที่นั่ง ซึ่งเหลืออยู่มาจนทุกวันนี้ จะเหลือหน่อเดียวโดดๆ คือลุงผล คนที่ผมอ้างถึงเท่านั้น

ในสมัยที่ถนนหนทางในกรุงเทพฯ ยังไม่มีมากสายเหมือนทุกวันนี้ และรถยนต์ยานพาหนะมีล้อ ใช้เครื่องยนต์ยังไม่มีให้พบเห็นเลยสักคันเดียว ชาวกรุงนิยมใช้รถม้ากันมากพอสมควร ที่ว่ามากพอสมควรก็คิดว่า น่าจะมีใช้ก็เพียงในหมู่เจ้านาย และพ่อค้า คหบดี

และทั้งหมดนี้ ผมก็คาดและเดาเอาเองอีกนั่นแหละ เพราะเกิดมาไม่ทันสมัยนั้น ที่เกิดไม่ทันสมัยนั้น เพราะดันเกิดมาสมัยนี้

ส่วนกรมพระอัศวราชในสมัยรัชกาลที่ 6 คงจะโก้น่าดู เพราะเพียงระยะเตรียมการก่อนงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็อลหม่านกันไม่เบาเลย ไหนจะต้องสร้างโรงฝึกม้า โรงเลี้ยงม้าขึ้นอย่างทันสมัยที่สุด

ว่ากันว่า ทันสมัยอย่างที่โรงเลี้ยงม้าและโรงฝึกม้าสมัยนี้ก็เทียบไม่เท่า

ก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเป็นช่วงที่กรมพระอัศวราชคึกคักมาก และอธิบดีกรมพระอัศวราชในครั้งนั้น ถึงกับต้องเดินทางไปกว้านซื้อมาจากประเทศออสเตรเลียด้วยตนเองทีเดียว

รถม้าสําหรับราชอาคันตุกะจากต่างประเทศซึ่งเดินทางเข้ามาร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ ถึง 7 ราชวงศ์ และยังมีผู้แทนจากประเทศที่ไม่มีพระมหากษัตริย์อีก 6 ประเทศ รวมเบ็ดเสร็จก็เป็นราชอาคันตุกะมากกว่า 13 ประเทศด้วยซ้ำ

คณะผู้แทนต่างประเทศเหล่านี้ นอกจากจะมีที่พักอย่างดีแล้ว จะต้องมีรถม้าสําหรับใช้เป็นการส่วนตัวอีกคณะละ 1 คัน แต่ละคันมีเจ้าหน้าที่ประจํารถพร้อมสรรพ คือมีทั้งนายสารถี และเจ้าหน้าที่ประจําท้ายรถ

นอกจากนี้จะต้องมีม้าสําหรับเทียมรถม้าพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งคงจะมิได้มีแค่ชุดเดียว อย่างน้อยก็ 2-3 ชุด ชุดละแปดตัว เพราะผมฟังจากลุงผล เจ้าหน้าที่เฝ้ารถม้าพระที่นั่งซึ่งไม่ได้นําออกมาใช้อีกต่อไปแล้วนั้นบอกผมว่า สําหรับงานพระราชพิธีขนาดใหญ่ รถม้าพระที่นั่งต้องเทียมม้าในอัตรา 8 ตัว

จํานวนม้าที่อธิบดีกรมพระอัศวราชจะต้องเดินทางไปกว้านซื้อจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์คราวนั้น ต้องใช้ม้าไม่น้อยกว่า 400 ตัว

อธิบดีกรมพระอัศวราชในสมัยนั้น ต้องใช้เวลาเดินทางตระเวนอยู่ที่เกาะออสเตรเลีย เกาะนิวซีแลนด์ และเกาะแทสเมเนีย นานถึง 12 เดือน และต้องเช่าเหมาเรือเดินสมุทรทั้งลําสําหรับบรรทุกม้าทั้ง 400 ตัว จากออสเตรเลียมาเมืองไทย

แต่ก็ปะเหมาะเคราะห์ไม่ค่อยดีเสียด้วยที่บังเอิญเป็นช่วงที่อังกฤษประกาศสงครามกับเยอรมันพอดี กองทัพอังกฤษในอินเดียกําลังต้องการม้าไว้ใช้ในราชการ เมื่อเรือบรรทุกม้าของไทยเฉียดไปทางอินเดีย จะเป็นเมืองไหนฝั่งไหนก็ไม่รู้นะ แต่ทหารอังกฤษยึดเรือไว้ และบังคับให้ส่งม้าไปยังเมืองบอมเบย์ แต่เรื่องนี้อังกฤษก็ได้ให้รัฐบาลอินเดียจ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐบาลไทยตามมูลค่าของม้าและค่าเช่าเรือ แล้วยังเพิ่มให้อีก 10 เปอร์เซ็นต์ด้วย ใจดีชะมัด

รถม้าพระที่นั่ง และรถม้าบริการราชอาคันตุกะในครั้งนั้น เชื่อว่าจะเป็นไปตามแบบอย่างของรถม้าในราชสํานักอังกฤษเปี้ยบทีเดียว เพราะไทยเราใกล้ชิดกับอังกฤษไม่น้อย

ที่ทําการของกรมพระอัศวรารในสมัยก่อนจะตั้งอยู่ที่ใดในกรุงเทพฯ ผมก็ไม่ทราบอีก เพียงแต่ได้รับทราบมาว่า อยู่ที่ 1 บริเวณโรงเรียนราชวินิตเวลานี้ ถ้าเป็นโรงเรียนราชวินิต ก็ต้องอยู่ที่นางเลิ้ง

เมื่อโรงเรือน (ไม่ใช่ “โรงเรียน”) และอาคารที่เคยรุ่งโรจน์อยู่ในยุคที่ยังเป็นกรมพระอัศวราชถูกรื้อทิ้งไปเสียแล้ว บรรดารถม้าพระที่นั่ง รถม้าพระประเทียบ รถม้าติดตามขบวนเสด็จ รถม้าสําหรับใช้ฝึกม้าและฝึกคน ตลอดจนถึงเครื่องแต่งเนื้อแต่งตัวเครื่องใช้ไม้สอยสําหรับงานต่าง ๆ ของกรม พระอัศวราชที่ยังเหลืออยู่จะเอาไปเก็บไว้ที่ไหน

เพราะรถม้าพระที่นั่งก็ดูเหมือนจะนําออกมาใช้เป็นครั้งสุดท้ายสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จนิวัติพระนครครั้งแรก เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ หลังจากนั้นก็ถูกปล่อยปละละเลยเอาไว้นานปี จนกระทั่งมาถึงสมัยรัชกาลปัจจุบัน (ร.9) จึงได้มีที่ทางเก็บรักษาเอาไว้อย่างดีตามสมควร

แต่ถ้ารถม้าพระที่นั่งจะต้องเก็บรักษาไว้ในสภาพที่เป็นอยู่เวลานี้ ผมก็ว่าน่าจะเหมือนกับทอดทิ้งให้มรดกที่มีคุณค่าอย่างหนึ่งของเรากลายเป็นสิ่งเก่าเก็บที่รอเวลาชํารุดผุพังไปกับกาลเวลาเสียเปล่า ๆ ปล้ำ ๆ หากฟื้นฟูบูรณะขึ้นมาให้คนไทยรุ่นใหม่วันนี้และวันหน้าได้ชื่นชมกับมรดกจากอดีตที่ไม่มีวันจะหวนคืนมามีชีวิตได้อีกก็น่าจะทํา


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “รถม้าพระที่นั่ง มรดกอดีตที่ (น่าจะ) ถูกลืม” เขียนโดย ประพันธ์ ผลเสวก ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ 12 ตุลาคม 2529

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2562