ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
รู้หรือไม่ “สีเขียว” คือสีประจำกรุงเทพมหานคร แต่ทำไมต้องสีเขียว ที่มาของการใช้สีประจำเมืองมีความหมายหรือนัยอะไรซ่อนอยู่บ้าง?
ที่สีเขียวมาเป็นสีประจำกรุงเทพฯ นั้น เกี่ยวข้องโดยตรงกับ “สีกาย” ของ “พระอินทร์” สัญลักษณ์ประจำกรุงเทพฯ ดังจะเห็นว่า ตราสัญลักษณ์ประจำกรุงเทพฯ คือตราพระอินทร์ทรงช้าง (ช้างเอราวัณ) มีพระหัตถ์ทรงวชิราวุธ หรือวัชระ และใช้สีเขียวตัดเส้นบนพื้นขาว ส่วนธงจะใช้สีขาวเขียนเส้นบนพื้นเขียว
ต้นแบบพระอินทร์ทรงช้างอราวัณบนตราประจำกรุงเทพฯ จำลองจากภาพฝีพระหัตถ์ของพลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งได้ทรงทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 6 ต่อมาจึงถูกใช้เป็นตราประจำองค์การบริหารราชการปกครองส่วนท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร (กทม.)
ตามเทวตำนาน พระอินทร์มีหน้าที่ปราบเหล่าอสูร หรือฤๅษีผู้มีฤทธิ์ ที่มักนำความมัวหมองมาสู่โลก กล่าวคือ หากฤๅษีตนใดบำเพ็ญตบะแก่กล้า โลกจะบังเกิดความมืดมัว เกิดภัยแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล พระอินทร์จะทรงใช้อสนีบาต (สายฟ้า) หรือให้นางอัปสรไปยั่วยวนทำลายตบะฤๅษี จากนั้นจะมีฝนดังเดิม ท้องฟ้าแจ่มใส เกิดความสว่างไสว และความชุ่มชื้นแก่โลก
รูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณเหนือหมู่เมฆ จึงสื่อความหมายถึงการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่ปวงประชา
นอกจากนี้ ตราพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ยังผูกกับคติโบราณที่ว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองเทวดา เมืองของพระอินทร์ ดังปรากฎหลักฐานว่า รัชกาลที่ 1 พระราชทานนาม “กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์” ก่อนรัชกาลที่ 4 จะทรงแก้สร้อยชื่อเมืองเป็น “กรุงเทพมหานคร ‘อมร’ รัตนโกสินทร์”
โดยคำว่า “โกสินทร์” มาจากคำว่า “โกสิย” สนธิกับ “อินทร” หมายถึง พระอินทร์ ส่วนคำว่า “รัตน” คือ แก้ว หรือแก้วอันประเสริฐ
“รัตนโกสินทร์” จึงหมายถึง แก้ว (อันประเสริฐ) ของพระอินทร์ ในที่นี้คือ พระพุทธมณีรัตนปฏิมากร หรือ “พระแก้วมรกต” ซึ่งมีสีเขียวเหมือนสีกายของพระอินทร์
เหตุเพราะกรุงเทพฯ เป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกต เป็นเมืองพระแก้วฯ กรุงเทพฯ จึงเป็นเมืองของพระอินทร์
นี่คือที่มาของการใช้ “สีเขียว” โทนเขียวมรกต เป็นสีประจำกรุงเทพมหานคร
อ่านเพิ่มเติม :
- กรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 1 ผ่านฟ้าเปลี่ยวสุด พญาไทมีโขลงช้าง
- ทำไม รัชกาลที่ 1 ทรงศรัทธา “พระแก้วมรกต” ถึงขั้นโปรดอัญเชิญเป็น “ใจเมือง”
- เผยร่องรอย “วังเก่า” ในอดีตที่ถูกลืม ตั้งแต่ครั้งสร้างกรุงเทพฯ สมัยต้นรัตนโกสินทร์
- ไขปัญหา “พระอินทร์” จากเทพเจ้า-แม่ทัพสวรรค์ของชนเผ่าอารยัน สู่ความเสื่อมถอยในอินเดีย
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
เฟซบุ๊ค กรุงเทพมหานคร, วันที่ 29 พฤษภาคม 2567 (ออนไลน์)
ศูนย์สารสนเทศกรุงเทพมหานคร. คำถามที่พบบ่อย : ที่มาของเครื่องหมายกรุงเทพมหานคร และ สัญลักษณ์พระอินทร์. สืบค้นเมื่อ 29 พฤษภาคม 2567 (ออนไลน์)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 พฤษภาคม 2567