ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2525 |
---|---|
ผู้เขียน | อภิภัทร อังสนันท์ |
เผยแพร่ |
ร่องรอยของ “วังเก่า” หลายแห่ง (ที่ถูกลืม) ตั้งแต่ครั้งสร้าง กรุงเทพฯ สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ บางแห่งยังพบเห็นร่องรอยได้ในปัจจุบัน
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีในปี พ.ศ. 2325 แล้ว ได้ทรงย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีทางฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยามาสร้างทางฟากตะวันออก เนื่องจากตั้งแต่ครั้งยังทรงรับราชการในสมัยกรุงธนบุรี ทรงพิจารณาเห็นว่ากรุงธนบุรีนั้นเป็นเมืองอกแตก เวลาต่อสู้จะเสียเปรียบข้าศึก ด้วยมีลำน้ำกีดขวางอยู่กลางเมือง หากเกิดศึกหนักด้านใดจะส่งกำลังจากอีกด้านไปช่วยไม่ทันเวลา
ครั้นเสด็จเถลิงราชสมบัติ จึงทรงย้ายพระนครมาสร้างทางฟากตะวันออกแต่ฝั่งเดียว พร้อมกับสร้างพระราชวังหลวงและวังต่างๆ ประทานเจ้านายพระองค์ชายที่เจริญพระชันษาสมควรจะเสด็จอยู่วังแล้ว 10 พระองค์ ด้วยกฎมณเฑียรบาลระบุไว้ว่าพระราชฐานชั้นในจะเป็นที่ประทับของพระเจ้าอยู่หัว ผู้หญิงและเด็กเท่านั้น ซึ่งบางวังก็ยังปรากฏให้เห็นจนถึงปัจจุบัน ได้แก่
พระราชวังบวรสถานมงคล
ในสมัยรัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราชเป็นพระมหาอุปราชจึงมีการสร้างพระราชวังบวรสถานมงคลขึ้นที่เหนือวัดสลัก (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์) ไปจนถึงคลองคูเมืองเพื่อเป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พระราชวังหลัง
สร้างขึ้นบริเวณตำบลสวนลิ้นจี่ ตั้งแต่กรมพระราชวังบวรสถานพิมุขยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ด้วยที่บริเวณนั้นเป็นป้อมปราการมาแต่ครั้งกรุงธนบุรี จึงเป็นที่สำคัญสำหรับปกป้องพระนครและยังอาจสร้างตรงที่พระนิเวศน์เดิมของกรมพระราชวังหลังด้วย ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลศิริราช
วังริมป้อมพระสุเมรุ
ที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา เดิมอยู่ในเขตพระราชนิเวศน์เดิมของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ตั้งอยู่มุมพระนครด้านทิศเหนือ เป็นที่สำคัญสำหรับรักษาพระนครทางด้านทิศเหนือ ปัจจุบันเหลือเพียงซากประตูวัง ส่วนตัววังและตำหนักถูกรื้อลงหมดแล้ว
วังริมป้อมจักรเพชร
พื้นที่สำคัญสำหรับรักษาพระนครทางด้านทิศใต้อันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ตั้งอยู่ใต้วัดเลียบ (วัดราชบูรณะ) ริมป้อมจักรเพชร
วังริมวัดโพธิ์
วังของกรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ พระภัสดาของพระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้ากุ โดยยังเป็นพระนิเวศน์เดิมของพระองค์ด้วย ตั้งอยู่ริมวัดโพธิ์ บริเวณพระวิหารพระนอนในปัจจุบัน
วังปากคลองวัดชนะสงคราม
ที่ประทับของกรมขุนสุนทรภูเบศร์ นามเดิมว่า หม่อมเรือง เมื่อครั้งเสียกรุงมีอุปการะแก่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท จึงได้ปฏิญาณเป็นพี่น้องกัน ครั้นสถาปนาพระราชวงศ์ กรมพระราชวังฯ จึงทูลขอให้ยกขึ้นเป็นเจ้า ปัจจุบันเป็นที่อยู่อาศัยของเอกชน ตั้งอยู่ริมถนนเจ้าฟ้าระหว่างโรงกษาปน์เก่าและโรงทหาร
วังสวนมังคุด
เป็นพระนิเวศน์สถานเดิมของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดีแต่ครั้งกรุงธนบุรี เมื่อทรงสร้างราชธานีใหม่แล้ว สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดีทรงเสด็จไปประทับในพระราชวังหลวง จึงประทานให้เป็นวังเจ้าฟ้ากรมหมื่นนรินทรรณเรศร์ พระโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดีได้เสด็จประทับต่อมา ปัจจุบันเหลือเพียงแนวกำแพงอิฐ
วังบ้านปูน
ที่ประทับของพระองค์เจ้าขุนเณร พระอนุชาต่างพระชนนีของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ตั้งอยู่บริเวณวัดระฆัง ปัจจุบันไม่ปรากฏสภาพของวังให้เห็นแล้ว
พระราชนิเวศน์เดิม
เดิมเป็นพระราชนิเวศน์แต่ครั้งกรุงธนบุรีของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อทรงเสด็จมาประทับในพระราชวังหลวง จึงทรงประทานให้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จไปประทับ ณ พระราชวังเดิม จึงทรงโปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ เสด็จไปประทับที่พระราชนิเวศน์เดิมจนสิ้นรัชกาลที่ 1 ปัจจุบันเป็นกรมอู่ทหารเรือ
พระราชวังเดิม
พระราชวังเดิมในพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นป้อมปราการสำหรับรักษาพระนครด้านทิศใต้ฝ่ายตะวันตก ในชั้นแรกโปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศร์บดินทรเสด็จไปประทับ ครั้นกรมหลวงธิเบศร์บดินทรสิ้นพระชนม์ จึงโปรดให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จไปประทับจนตลอดรัชกาลที่ 1 ปัจจุบันเป็นกองบัญชาการทหารเรือ
ซึ่งวังทั้ง 10 วังนั้น บางแห่งก็ยังเป็นที่รู้จัก บางแห่งยังปรากฏบางส่วนของวัง แต่บางแห่งก็ถูกทำลายและถูกลืมเลือนไปแล้วตามกาลเวลา เพราะโลกนี้ล้วนเป็นอนิจจัง คือ สิ่งใดเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วย่อมดับไปเป็นธรรมดา
อ่านเพิ่มเติม :
- เจาะลึกพระราชวังเดิมของพระเจ้าตาก จากที่ประทับ ถึงยุคกองทัพเรือเมื่อกว่า 30 ปีก่อน
- ความเป็นมาตำแหน่ง “วังหน้า” ใครคือวังหน้าองค์แรกในประวัติศาสตร์ไทย?
- “วังปารุสกวัน” ทำเนียบและที่พักแห่งแรกของนายกรัฐมนตรีไทย
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “’ไล่ที่ทำวัง’ เมื่อแรกสร้างกรุงเทพฯ” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2525
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 สิงหาคม 2560