ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“วังปารุสกวัน” เป็นวังที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริให้สร้างเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ 2 พระองค์ โดยโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปี 2446 มีตำหนัก 2 หลังสำคัญคือ พระตำหนักสวนจิตรลดา (ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ) ให้เป็นที่ประทับของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร (รัชกาลที่ 6) และพระตำหนักสวนปารุสกวัน (ตั้งอยู่ทางทิศใต้) ให้เป็นที่ประทับของ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถฯ
สถาปนิกที่ร่วมกันสร้างวังปารุสกวันมี 3 คน คือ นายทามาโย นายสก็อตส์ และนายเบย์โรเลรี มีเพียงนายเบย์โรเลรีคนเดียวเท่านั้นที่รับผิดชอบการก่อสร้างจนแล้วเสร็จในปี 2448 ในสมัย รัชกาลที่ 5 ส่วนนายทามาโยป่วยอหิวาตกโรค ต้องเดินทางกลับยุโรปไปก่อน ส่วนนายสก็อตส์ป่วยเป็นไข้ทรพิษจนถึงแก่กรรม
ภายหลังจากรัชกาลที่ 6 เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงย้ายไปประทับที่อื่น จึงพระราชทานพระตำหนักสวนจิตรลดาและที่ดินโดยรอบให้แก่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ แลกกับที่ดินบริเวณท่าวาสุกรี ดังนั้น สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ จึงได้ซ่อมแซมพระตำหนักใหม่ทั้งหมด โดยมีหม่อมแคทยา พระภรรยา เป็นผู้ช่วยดูแลการประดับตกแต่ง นอกจากนี้ ยังได้รื้อกำแพงที่แบ่งเขตพระตำหนักทั้ง 2 หลังออก รวมเป็นพื้นที่เดียวกันเรียกว่า วังปารุสกวัน และได้ประดับตราประจำพระองค์ คือ จักรและกระบอง ไว้ที่ประตูและกำแพงวังโดยรอบ
ชื่อของวังปารุสกวันได้มาจากชื่อสวนของพระอินทร์บนสวรรค์ อันประกอบด้วย สวนมิสกวัน สวนปารุสกวัน สวนจิตรลดาวัน และสวนนันทวัน
เมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ สิ้นพระชนม์ วังปารุสกวันได้กลับคืนเป็นของหลวง รัชกาลที่ 6 ทรงใช้วังปารุสกวันเป็นที่รับรองพระราชอาคันตุกะและจัดพระราชพิธีสำคัญ กระทั่งถึงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 คณะราษฎรใช้วังปารุสกวันเป็นสถานที่ทำการของรัฐบาลหรือทำเนียบ และใช้เป็นที่พักของนายกรัฐมนตรี โดยพระตำหนักสวนจิตรลดาใช้เป็นที่อยู่ของคณะราษฎร ส่วนพระตำหนักสวนปารุสกวันใช้เป็นทำเนียบและที่พักของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรก
วังปารุสกวันแห่งนี้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญหนึ่งของไทย นั่นคือ การประชุมเค้าโครงร่างเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ ปรีดี พนมยงค์ โดยได้จัดประชุมคณะกรรมานุการพิจารณาเค้าโครงเศรษฐกิจ ในวันที่ 12 มีนาคม ปี 2476 ณ วังแห่งนี้
อีกเหตุการณ์หนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน แต่ไม่เป็นที่รู้กันมากนัก นั่นคือ แผนลอบสังหารผู้นำรัฐบาลคณะราษฎร ในเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” โดย “คณะกู้บ้านกู้เมือง” ได้ประสานงานกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในกรุงเทพฯ วางแผนลอบสังหารแกนนำรัฐบาลที่วังปารุสกวัน โดยเฉพาะพระยาพหลพลพยุหเสนา กับหลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป. พิบูลสงคราม)
ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลคาดการณ์ว่า รัฐบาลจะตื่นตระหนกเมื่อทราบข่าวว่า คณะกู้บ้านกู้เมืองยกทัพประชิดกรุงเทพฯ เมื่อแกนนำรัฐบาลเดินออกมาสั่งการเมื่อใด มือปืนที่แอบซุ่มอยู่ก็จะลงมือสังหารทันที แล้วจะใช้มือปืนชุดที่สองสังหารมือปืนชุดแรกอีกทีเพื่อเป็นการปิดปาก แผนการนี้เรียกว่า “แผนหลั่งเลือดที่วังปารุสก์” อย่างไรก็ตาม การยกทหารบุกกรุงเทพฯ ของคณะกู้บ้านกู้เมืองถูกเลื่อนออกไป 1 วัน ทำให้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในกรุงเทพฯ ไม่สามารถปฏิบัติตาม “แผนหลั่งเลือดที่วังปารุสก์” ได้อย่างที่มุ่งหวัง
วังปารุสกวันได้ใช้เป็นทำเนียบและที่พักสืบต่อมาจนถึงสมัยพระพระยาพหลฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนจะย้ายทำเนียบไปยังวังสวนกุหลาบในเวลาต่อมา ส่วนวังปารุสกวันยังคงใช้เป็นที่พักของพระพระยาพหลฯ จวบจนท่านถึงแก่อสัญกรรมในปี 2490
จากนั้นมา วังปารุสกวันได้ใช้เป็นที่ทำงานของหน่วยงานราชการหลายหน่วยงาน ทั้งกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, สถานที่พักของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะเข้าประชุมรัฐสภาที่พระที่นั่งอนันตสมาคม, และสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจเอเชียและตะวันออกไหล หรือ ECAFE
จวบจนถึงปี 2495 กรมตำรวจได้ใช้เป็นกองบัญชาการ และในปี 2518 กรมประมวลข่าวกลาง (สำนักข่าวกรองแห่งชาติ) ได้ใช้พระตำหนักสวนปารุสกวัน เป็นที่ทำการ ส่วนพระตำหนักสวนจิตรลดาได้ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ตำรวจวังปารุสกวัน มาตั้งแต่ปี 2533
อนึ่ง พระตำหนักสวนจิตรลดาในวังปารุสกวัน มิใช่ พระตำหนักสวนจิตรลดา ซึ่งหมายถึง พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในพระราชวังดุสิต
อ่านเพิ่มเติม :
- “แผนหลั่งเลือดที่วังปารุสก์” ปฏิบัติการปลิดชีพผู้นำคณะราษฎรของ “คณะกู้บ้านเมือง”
- พระยาพหลฯ หลังวางมือการเมือง บั้นปลายชีวิตเหลือเงินติดบ้านร้อยกว่าบาท
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ประวัติวังปารุสกวัน. (เมษายน-มิถุนายน, 2555). วารสารตำรวจ. ปีที่ 48 ฉบับที่ 431.
นริศรา จักรพงษ์ และไอลีน ฮันเตอร์. แคทยา และเจ้าฟ้าสยาม. (2539). แปลโดย พันขวัญ ทิพม่อม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ริเวอร์ บุ๊คส์.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 ธันวาคม 2563