“แผนหลั่งเลือดในวังปารุสก์” ปฏิบัติการปลิดชีพผู้นำคณะราษฎรของ “คณะกู้บ้านเมือง”

ทหารฝ่ายรัฐบาลใน กบฏบวรเดช วังปารุสกวัน
ทหารฝ่ายรัฐบาลในกบฏบวรเดช

ปฏิบัติการลอบสังหารผู้นำคณะราษฎร ณ วังปารุสกวัน ของแนวร่วมฝ่าย “คณะกู้บ้านเมือง”

“ยกทัพวันที่ 10 ถึงกรุงเทพฯ เช้าวันที่ 11”

ข้อความถอดรหัสจากโทรเลขที่ส่งตรงมาจากนครราชสีมาถึง “พ.27” เมื่อบ่ายวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2476 เป็นข้อความแจ้งว่า “คณะกู้บ้านเมือง” จะยกทัพออกจากนครราชสีมาในวันที่ 10 ตุลาคม และจะเดินทางถึงวันที่ 11 ตุลาคม เพื่อปฏิวัติโค่นรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา

พ.27 หรือ “สายลับพระปกเกล้า” หรือก็คือ “พโยม โรจนวิภาต” ข้าราชสำนักในรัชกาลที่ 7 ผู้ปฏิบัติราชการลับในฐานะสายลับรหัส พ.27 เขาเป็นผู้ที่ติดตามความเคลื่อนไหวของคณะกู้บ้านเมืองอย่างใกล้ชิด และล่วงรู้แผนการหลายแผนหลายขั้นตอนเป็นอย่างดี

นอกเหนือจากแผนการที่จะนำทหารหัวเมืองบุกกรุงเทพฯ แล้ว คณะกู้บ้านเมืองยังวางแผนการอีกแผนหนึ่ง เป็นปฏิบัติการจู่โจมผู้นำคนสำคัญของรัฐบาล มีเป้าหมายที่ “วังปารุสกวัน” อันเป็นศูนย์กลางสำคัญของรัฐบาล โดยหวังว่า หากแผนการนี้สำเร็จจะป้องกันไม่ให้ฝ่ายรัฐบาลมีโอกาสสั่งการต่อต้านหรือดำเนินการใด ๆ ได้ พ.27 เรียกแผนการนี้ว่า “แผนหลั่งเลือดในวังปารุสก์” เล่าไว้ในหนังสือ “พ.27 สายลับพระปกเกล้า” เขียนโดย อ.ก.รุ่งแสง (พโยม โรจนวิภาต) (สำนักพิมพ์ วสี ครีเอชั่น, 2547) ความว่า

“…แผนหลั่งเลือดในวังปารุสก์ ซึ่งกลุ่มผู้ก่อการในกรุงเทพฯ จัดขึ้น นอกเหนือแผนการของพระองค์เจ้าบวรเดช คือการบุกเข้าประหาร ‘คนสำคัญ’ ของฝ่ายรัฐบาล ซึ่งพักอยู่ในวังปารุสกวัน… ทราบว่ากลุ่มนี้ได้ว่าจ้างนักเลงปืนชั้นยอดจากต่างจังหวัดมากำจัดบุคคลสำคัญคนหนึ่ง ในจังหวะที่บุคคลนั้นพรวดพราดออกมาจากห้องนอน ขณะมีเสียงสัญญาณบอกเหตุร้ายดังขึ้น เมื่อกองทัพฝ่ายโคราชยกมาถึงสถานีจิตรลดา และกองหน้าส่วนหนึ่งกำลังบุกเข้าวังปารุสก์!…”

แม้ พ.27 จะไม่ได้ระบุว่า “คนสำคัญ” ในที่นี้เป็นใคร แต่ พ.27 อธิบายไว้ก่อนหน้าที่จะกล่าวถึงแผนการนี้ว่า “…เกี่ยวกับ ‘งาน’ ที่ฝ่ายก่อการภายในกรุงเทพฯ จะลุกขึ้น ‘จัดการ’ อย่างไรกับรัฐบาล โดยเฉพาะคือตัวพระยาพหลฯ และหลวงพิบูลฯ นั้น มีแผนการว่าบุคคลทั้งสองจะถูกจู่โจมเข้าจับกุมจากห้องนอน…พระยาพหลฯ ระยะนั้นไม่ได้พักอยู่ที่วังปารุสกวัน แต่หลวงพิบูลฯ พักอยู่บนตึกหลังหนึ่งในวังนั้น หลวงพิบูลฯ จะถูกจู่โจมเข้าถึงตัวในทันทีที่มีเสียงสัญญาณของกองทัพหัวเมืองว่าได้ยกเข้ามาถึงจุดหมายปลายทาง คือ สถานีจิตรลดาแล้ว…”

หลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป. พิบูลสงคราม)

ดังนั้น แผนการนี้มีเป้าหมายคือ “หลวงพิบูลสงคราม”

พ.27 อธิบายแผนการนี้ต่อไปว่า “…เมื่อมือปืน ‘ทำงาน’ สำเร็จแล้ว จะต้องวิ่งลงจากตัวตึก ผ่านไปตามเส้นทางที่กำหนดไว้บนแผนผังบริเวณวัง ตามที่เขาได้ศึกษาแล้วอย่างทะลุปรุโปร่ง… จะไม่รู้ก็เพียงว่า ‘จุดดับ’ ของตัวเขาเองอยู่ตรงไหนเท่านั้น!

เมื่อวิ่งมาถึงมุมหนึ่งของตึก ซึ่งเป็น จุดจบ ตามแผนการอันโหดเหี้ยมตามแบบฉบับที่ผู้มีอำนาจใหญ่ในยุคทมิฬนั้นชอบใช้กัน การกระทำดังกล่าวนี้คือ การปิดปากมือปืน ที่เขาจ้างมาด้วยการยิงทิ้งเสียทันที ตรงจุดที่เขาจัดวางมือปืน ‘พวกของเขา’ ไว้คอยลงมือสังหาร ‘นักเลงมือปืนรับจ้าง’ เสียด้วย เพื่อเป็นการปิดปาก! ฆาตกรที่ถูกจัดเตรียมมาไว้ฆ่ามือปืนรับจ้างนั้น มีอยู่แล้ว 2 คน เพื่อช่วยกันปฏิบัติงานให้ได้ผลแน่นอน!…”

โดยผู้มีส่วนสำคัญในแผนการนี้คือ นายพันตรีทหารม้าคนหนึ่ง ที่ พ.27 เรียกว่า “ท่านขุน” ซึ่งวางแผนให้มือปืนเข้าไปสังหารผู้นำคนสำคัญของคณะราษฎร เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนภายในรัฐบาล ทำให้ขาดเสถียรภาพของการสั่งการหากถึงเวลาที่คณะกู้บ้านเมืองยกกองทัพมาถึง จากนั้นจึงให้มือปืนชุดที่สองสังหารมือปืนชุดแรก “เพื่อเป็นการปิดปาก!”

พ.27 ขออนุญาต “ท่านขุน” ไปแอบดูมือปืนปฏิบัติงาน เพื่อจะได้เขียนรายงานให้ถูกต้องชัดเจน แต่ “ท่านขุน” ได้หมอบหมายให้ พ.27 เป็นมือปืนชุดที่สองเพื่อสังหารมือปืนชุดที่หนึ่ง ซึ่งเขาก็พยายามปฏิเสธ ดังนั้น “ท่านขุน” จึงให้ พ.27 เป็น “ตัวสำรอง” ไปคุมเชิงอยู่

ท่านขุนมอบปืนที่ซื้อมากระบอกละ 400 บาท จำนวน 2 กระบอก ให้ พ.27 และผู้ช่วยของเขา ท่านมอบให้เก็บไว้ป้องกันตัวเผื่อจำเป็นต้องใช้ เพราะท่านเชื่อว่า มือปืนที่จัดหามานั้น “มือแน่มาก ไม่เคยพลาด!”

ตลอดทั้งคืนของวันที่ 10 ตุลาคมนั้น พ.27 พร้อมทั้งผู้ช่วยของเขาและ “ท่านขุน” ต่างเฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อ ให้ถึงเวลาที่คณะกู้บ้านเมืองเข้ายึดกรุงเทพฯ พ.27 ไม่ได้กลัวว่าตนจะถึงแก่ชีวิต “…แต่กลัวว่าจะกลายเป็นหลักฐานพยานให้ฝ่ายรัฐบาลกล่าวหาได้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงมีส่วนรู้ร่วมคิดกับฝ่ายทหารหัวเมือง…” เพราะกลัวว่าจะมีผู้มาล่วงรู้ว่า พ.27 ซึ่งเป็นข้าราชการในวังมา “เท่งทึง” อยู่ที่วังปารุสกวัน

ตั้งแต่ดึกคืนนั้นจวบจนพระอาทิตย์ขึ้น ก็ไม่มีวี่แววของทหารของคณะกู้บ้านเมืองแต่อย่างใด พ.27 และผู้ช่วยจึงส่งปืนคืนให้ “ท่านขุน” แล้วเดินทางกลับ จนทราบภายหลังว่า คณะกู้บ้านเมืองเลื่อนแผนการออกไป 1 วัน โดยออกเดินทางจากโคราชในวันนี้ วันที่ 11 ตุลาคม และจะเดินทางถึงกรุงเทพฯ ในวันรุ่งขึ้น

เป็นอันว่า “แผนหลั่งเลือดในวังปารุสก์” นี้ก็ไม่เกิดขึ้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มิถุนายน 2563