ความเป็นมาตำแหน่ง “วังหน้า” ใครคือวังหน้าองค์แรกในประวัติศาสตร์ไทย?

พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ ทุ่งภูเขาทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วังหน้า พระองค์แรก
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ ทุ่งภูเขาทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

“วังหน้า” หรือกรมพระราชวังบวรสถานมงคล คือตำแหน่งสำคัญแต่โบราณของไทย ปรากฏครั้งแรกในสมัยอยุธยา วังหน้ามีศักดิ์และศรีเป็นรองเพียงพระมหากษัตริย์เท่านั้น โดยมากมักเป็นผู้มีสิทธิสืบราชสมบัติต่อจากพระมหากษัตริย์ บ้างเป็นพระราชโอรส บ้างเป็นพระอนุชาธิราช พระมหากษัตริย์บางพระองค์จึงทรงเคยดำรงตำแหน่งวังหน้าก่อนเสด็จเสวยราชสมบัติ

ตำแหน่งวังหน้าถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) กรมพระราชวังบวรฯ องค์สุดท้ายคือ “กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ” พระราชโอรสองค์โตในพระปิ่นเกล้าฯ ภายหลังพระองค์ทิวงคต รัชกาลที่ 5 ทรงแทนที่ด้วยตำแหน่ง “สยามมกุฎราชกุมาร” อันเป็นตำแหน่งรัชทายาทอย่างเป็นทางการ

การสถาปนาวังหน้าเป็นส่วนหนึ่งของพระราชประเพณีการสืบราชสมบัติ หลักฐานแรก ๆ ของตำแหน่งนี้มีตั้งแต่เมื่อแรกสถาปนากรุงศรีอยุธยา คือสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1(พระเจ้าอู่ทอง, พ.ศ. 1893-1912) ในตรา “กฎมณเฑียรบาล” มีการกล่าวถึงพระราชโอรสอันประสูติด้วยพระอัครมเหสี เรียกว่า “สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า” ซึ่งอนุมานได้ว่าหมายถึงองค์รัชทายาท

ส่วน “พระมหาอุปราช” คือพระราชโอรสที่เกิดด้วย “แม่หยัวเมือง” (แม่อยู่หัวเมือง) หรือพระสนมเอก จะถือว่ามีลำดับขั้นต่ำลงมาจากสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า

หลักฐานต่อมาคือ “พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน” ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991-2031) ไม่มีการกล่าวถึงสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าแล้ว แต่ระบุถึง “พระเจ้าลูกเธอ” โดยระบุว่ามีนา (ศักดินา) 15,000 หากทรงกรม (รับราชการ/มีไพร่พลในสังกัด) นา 40,000 ถ้าเป็นพระอุปราช นา 100,000

ศักดินาของพระเจ้าลูกเธอในเบื้องต้นจะต่ำกว่า “พระอนุชา” (น้องชาย) ซึ่งมีนา 20,000 ถ้าทรงกรม นา 50,000 และถ้าเป็นพระอุปราช นา 100,000 เช่นเดียวกับพระเจ้าลูกเธอที่ได้ขึ้นเป็นพระอุปราช ซึ่งเป็นศักดินาสูงสุดในบรรดาเจ้านายและขุนนาง

ตำแหน่งพระอุปราชหรือพระมหาอุปราชนี้เองที่ต่อมารู้จักกันในชื่อ “วังหน้า”

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงให้ความเห็นไว้ในพระนิพนธ์ ตำนานวังหน้า ว่า วังหน้าเริ่มมีในสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 1 (พระมหาธรรมราชา, พ.ศ. 2012-2133) เมื่อพระราชโอรสองค์โต คือ พระนเรศ หรือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นพระมหาอุปราช เสด็จจากเมืองพิษณุโลกลงมาประทับที่พระราชวังจันทรเกษม พระนครศรีอยุธยา เนื่องจากตั้งอยู่ทิศตะวันออก ด้านหน้าของพระราชวังหลวง ผู้คนจึงเรียกพระองค์ว่า “วังฝ่ายหน้า” หรือวังหน้าตั้งแต่นั้น

“สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” จึงเป็นวังหน้าพระองค์แรก

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงสันนิษฐานที่มาของวังหน้าด้วยว่า เกี่ยวข้องกับการจัดขบวนทัพออกศึกสงคราม เพราะทัพของพระอุปราชจะเคลื่อนออกไปเป็นทัพหน้าเสมอ เรียก “ฝ่ายหน้า” วังที่ประทับจึงพลอยถูกเรียกว่า “วังฝ่ายหน้า” ไปด้วยนั่นเอง

ดังที่รัชกาลที่ 5 ทรงอธิบายไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง ราชประเพณีการตั้งพระมหาอุปราช ความว่า “(ที่) ตั้งพระราชโอรสองค์ใหญ่ ที่จะรับราชสมบัติแทนพระองค์นั้นมีมาก (บ้าง) ตั้งพระราชอนุชาซึ่งได้ทุกข์ได้ยากมาด้วยกัน… (แต่) มิใช่จะเป็นธรรมเนียมว่า มีวังหลวงแล้วต้องมีวังหน้า ที่แต่ก่อนท่านไม่ตั้งก็มีมาก”

รัชกาลที่ 5 ทรงอธิบายเพิ่มเติมว่า พระเจ้าแผ่นดินไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงรัชสมัยของพระองค์ มีพระมหากษัตริย์รวมทั้งสิ้น 39 พระองค์ มีวังหน้าเป็นเหมือนกษัตริย์องค์ที่ 2 อยู่ 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเอกาทศรถและสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ส่วนวังหน้าที่เป็นพระมหาอุปราชมี 16 พระองค์

“วังหน้า” จึงไม่ได้มีทุกยุคสมัยของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ ไม่ใช่ธรรมเนียมตายตัว เรียกว่า “มีกฎ แต่ยังไม่เป็นเกณฑ์” ขึ้นอยู่กับความพอพระทัยของกษัตริย์แต่ละพระองค์ ความไม่เคร่งครัดนี้เองนำมาสู่ปัญหาตำแหน่งรัชทายาทและการชิงราชบัลลังก์ในราชสำนักอยุธยาอยู่เนือง ๆ

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม. (2558). พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า). PDF Online. (www.finearts.go.th)

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. (2476). ตำนานวังหน้า. กรุงเทพฯ : โสภณพรรฒธนากร. พิมพ์ในงานปลงศพ นางราชรูปิยารักษ์ (เชย การสมดี)

วุฒิชัย มูลศิลป์. “มหาชนนิกรสโมสรสมมุติ” : พระราชประเพณีการสืบราชสมบัติสมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325-2429. ใน วารสารราชบัณฑิต ปีที่ 39 ฉบับที่ 1 ม.ค.-มี.ค. 2557.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มิถุนายน 2567