“ฉันไม่ได้คิดฆ่าเธอ เธอมีความหวาดหวั่นข้อไหน” พระราชหัตถเลขาร.5 ถึงวังหน้าช่วงวิกฤตการณ์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

เมื่อครั้งวิกฤตวังหน้า กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงไปอาศัยในสถานกงสุลอังกฤษนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงกรมพระราชวังบวรฯ ใจความในเอกสารนี้ทรงแสดงให้เห็นว่า พระองค์ไม่มีความคิดจะกำจัดกรมพระราชวังบวรฯ อย่างที่ทรงหวาดหวั่น

เมื่อครั้งเกือบเกิดสงครามกลางเมือง ในพ.ศ. 2417 จากเหตุการณ์ปะทะระหว่างวังหลวงกับวังหน้า ภายหลังเหตุเพลิงไหม้อาคารในวังหลวง วังหลวงกับวังหน้าต่างระแวงตั้งคำถามอีกฝ่าย เหตุการณ์นี้ทำให้กรมพระราชวังบวรฯ หวั่นว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงคิดกำจัดหรือลดอำนาจของพระองค์ กรมพระราชวังบวรฯ จึงทรงไปอาศัยในสถานกงสุลอังกฤษ

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (6 กันยายน 2381 – 28 สิงหาคม 2428)

เรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างเหตุการณ์ความสับสนนี้สร้างบรรยากาศน่าหวาดหวั่นในเมืองไปจนถึงสถานทูต แม้ว่าภายหลังต่อมาเหตุการณ์คลี่คลายลงได้จากพระปรีชาอันสุขุม และกำลังความสามัคคีของขุนนางและราชวงศ์ แต่เหตุการณ์ระหว่างนั้นยังมีเอกสารที่บอกเล่าความสัมพันธ์และการติดต่อระหว่างเจ้านายทั้งสองพระองค์หลงเหลืออยู่ด้วย

เอกสารที่ว่านี้คือเอกสารสำเนาพระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ 5 ถึงกรมพระราชวังบวรฯ ซึ่งนายไพโรจน์ โพธิ์ไทร อดีตบุคลากรพาณิชยการธนบุรี เล่าว่า ค้นพบโดยบังเอิญเมื่อครั้งไปเยี่ยมสถานทูตโปรตุเกสเพื่อค้นหาเอกสารเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโปรตุเกสและไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

เอกสารในรัชกาลที่ 5 ที่นายไพโรจน์ขออนุญาตถ่ายเอกสารมามีใจความว่า

“พระราชหัฐเลขา ถึงกรมพระราชวังบวรฯ
ลงวัน 3ฯ131 ค่ำปีจอฉศก

ด้วยการที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เปนการใหญ่ไม่เคยมีเลย ฉันมีความเสียใจมาก เธอไปอาไศรยอยู่ที่บ้านกงสุลอังกฤษนี้ ด้วยเหตุอันใด ฉันไม่ได้คิดจะฆ่าเธอ เธอมีความหวาดหวั่นข้อไหน เธอก็รู้อยู่เองว่าในแผ่นดินเราปัจจุบันนี้ ผู้ใดมีความผิดใหญ่หลวงที่ควรจะต้องตายก็ฆ่ากันไม่ได้ ด้วยอาไสการยุติธรรมเปนที่ตั้ง นี่เธอมีความสดุ้งหวั่นหวาดถึงชีวิต จะคิดการเกินไปดอกกระมัง ฤามีความผิดใหญ่อยู่ในใจ จึ่งได้มีความร้อนระแวงกัน ก็ไม่มีความสำคัญเลย ไม่ควรจะเปน ฉันไม่ได้โกรธเธอๆ มาโกรธฉันข้างเดียว ฉันเสียใจหนัก เธอทำการถึงเพียงนี้ จภา (จะพา-ผู้เขียน) ให้เสียชื่อแผ่นดินไปทั้งสองฝ่าย ก็เธอจะคิดต่อไปอย่างไร จึ่งจะเปนการดีการชอบ อย่าให้ราษฎรได้ความเดือดร้อน หวั่นหวาดต่อไป การที่เปนไปนี้ ฉันก็ไม่ได้ทราบชัด ต่อเจ้าคุณมาบอกว่า เธอกลัวฉันฆ่าเธอ การนี้ฉันไม่ได้คิดเลย ถ้าเธอคิดเหนการอย่างไร จะเปนการเรียบร้อยสิ้นสงไส เลิกแล้ว เปนการดี จงมีหนังสือสำคัญมาให้รู้ด้วย”

บันทึกเอกสารที่วังหน้ามีไปถึงรัชกาลที่ 5 ความว่า

“กรมพระราชวังบวรตอบ

นอมเกล้าคำนับทูลพระกรุณาให้ทรงทราบใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท ข้าพระพุทธเจ้าได้รับพระราชหัฐเลขา ทราบความทุกประการ พระเดชพระคุณหาที่สุทมิได้ ด้วยข้าพระพุทธเจ้าตั้งใจทำราชการฉลองพระเดชพระคุณโดยความสัจสุจริต มิได้คิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งเลย ข้าพระพุทธเจ้าเหนว่า ไม่ทรงชุบเลี้ยงแล้ว จึ่งได้มาพึ่งฅอเวอนแมนต์อังกฤษ ได้บอกหนังสือเขาไปแล้ว ควรมิควรสุทแล้วแต่จะโปรด นอมเกล้าถวายมาณวัน 4ฯ141 ค่ำปีจอฉศก”


สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ไพโรจน์ โพธิ์ไทร. “จริงหรือที่กล่าวกันว่าสงครามกลางเมืองเกือบจะเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5”. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 7 ฉบับที่  7 (พฤษภาคม 2529)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มกราคม 2562