ชาวบ้านย้าย “หลวงพ่อเพชรจังหวัดพิจิตร” หนี เหตุทางการเชิญไปไว้แทน “พระพุทธชินราช” 

หลวงพ่อเพชรจังหวัดพิจิตร
หลวงพ่อเพชร วัดท่าหลวง จังหวัดพิจิตร (ภาพจาก http://www.m-culture.in.th)

พระพุทธรูปในไทยหลายองค์มีชื่อว่า “หลวงพ่อเพชร” หากที่จะกล่าวนี้คือ “หลวงพ่อเพชรจังหวัดพิจิตร” พระพุทธรูปที่ครั้งหนึ่งทางการคิดจะอัญเชิญไปแทน “พระพุทธชินราช” ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก ที่จะไปประดิษฐานเป็นพระประธานที่อุโบสถวัดเบญจมพิตรฯ จนชาวเมืองพิจิตรร่วมใจกันย้ายหลวงพ่อเพชรฯ หนี

หลวงพ่อเพชรจังหวัดพิจิตร มาจากไหน

หลวงพ่อเพชรฯ มีประวัติว่า สมัยอยุธยาเกิดกบฏจอมทองเมืองเชียงใหม่ กองทัพอยุธยาจึงขึ้นไปปราบปราม ระหว่างทางมีการแวะพักที่เมืองพิจิตร ซึ่งเจ้าเมืองพิจิตรก็ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี

ก่อนเดินทัพต่อ เจ้าเมืองพิจิตรกล่าวกับแม่ทัพว่า ถ้าปราบกบฏเรียบร้อยดีแล้ว ขอให้หาพระพุทธรูปงามๆ มาฝากสักองค์หนึ่ง ทางแม่ทัพก็รับปาก

ขากลับหลังปราบกบฏจอมทอง กองทัพอยุธยาก็นำ “หลวงพ่อเพชร” มามอบให้ เจ้าเมืองพิจิตรพร้อมด้วยชาวเมืองจำนวนมาก จึงอัญเชิญ “หลวงพ่อเพชร” มาประดิษฐานที่ วัดนครชุม (เมืองพิจิตรเก่า) ปัจจุบันคือพื้นที่ ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร

หลวงพ่อเพชรจังหวัดพิจิตร
หลวงพ่อเพชร จังหวัดพิจิตร

บางกระแสอ้างอิงกับวรรณคดีไทย เรื่องขุนช้าง-ขุนแผน โดยแม่ทัพปราบกบฏจอมทองเมืองเชียงใหม่ครั้งนั้น คือ ขุนแผนกับจมื่นไวยวรนาถผู้เป็นลูกชาย เมื่อยกทัพมาถึงเมืองพิจิตร ได้หยุดพักกองทัพ ด้วยขุนแผนให้ความเคารพนับถือเจ้าเมืองพิจิตรเสมือนบิดาของตน เจ้าเมืองพิจิตรยังฝากว่า เมื่อปราบกบฏเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ช่วยหาพระเมืองเหนือมาฝากสัก 1 องค์

“ตำนานเสภา” พระนิพนธ์สมัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในบทเสภาขุนช้าง-ขุนแผน ฉบับหอสมุดแห่งชาติ ว่าด้วยเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน ตอนหนึ่งว่า ผู้อัญเชิญองค์หลวงพ่อเพชรจากเมืองเหนือมามอบให้เจ้าเมืองพิจิตรก็คือ ขุนแผน ซึ่งเป็นแม่ทัพฝีมือยอดเยี่ยมของกรุงศรีอยุธยา

ย้ายหลวงพ่อเพชรฯ

ราวปี 2442 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม” ทั้งมีพระราชประสงค์จะอัญเชิญ “พระพุทธชินราช” จากเมืองพิษณุโลกไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ

ภาพถ่ายพระพุทธชินราช สมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

รัชกาลที่ 5 จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้สืบหาพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงามอื่นไปประดิษฐานแทนพระพุทธชินราช 

เจ้าพระยาสุรสีห์วิศิษฐ์ศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) สมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก ทราบว่า “หลวงพ่อเพชรจังหวัดพิจิตร” วัดนครชุม เมืองพิจิตรเก่า มีพุทธลักษณะงดงาม ควรแก่การนำไปแทนพระพุทธชินราช จึงสั่งให้พระยาเทพาธิบดี (อิ่ม) เจ้าเมืองพิจิตร อัญเชิญหลวงพ่อเพชรฯ มาที่เมืองพิษณุโลก

เมื่อชาวเมืองพิจิตรทราบข่าวดังกล่าว ด้วยความเคารพศรัทธาและหวงแหนหลวงพ่อเพชร จึงคิดอ่านวางแผนช่วยกันยกหนีไปซุกซ่อนไว้ในป่า แต่ก็หนีไม่พ้นมือเจ้าหน้าที่ ในที่สุดก็อัญเชิญหลวงพ่อเพชรมาจากเมืองพิจิตรเก่าจนได้ และนำมาพักไว้ที่วัดท่าหลวงเมืองพิจิตรใหม่ เพื่อรอการนำไปเมืองพิษณุโลก

เวลาเดียวกันนั้น เจ้าพระยาสุรสีห์วิศิษฐ์ศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) นำความกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 ว่า ชาวเมืองพิษณุโลกหวงแหนพระพุทธชินราช พากันโศกเศร้ากันทั้งเมือง เพราะก่อนหน้าเคยอัญเชิญ “พระพุทธชินสีห์” และ “พระศรีศาสดา” จากเมืองพิษณุโลกไปประดิษฐานที่กรุงเทพฯ

รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นใจชาวเมืองพิษณุโลก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ระงับการอัญเชิญพระพุทธชินราช โดยให้หล่อพระพุทธชินราชจำลองประดิษฐานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรแทน การอัญเชิญ “หลวงพ่อเพชรฯ” จึงระงับไปด้วย แต่ไม่ได้อัญเชิญหลวงพ่อเพชรฯ กลับไปที่วัดนครชุม หากประดิษฐานที่ วัดท่าหลวง (เมืองพิจิตรใหม่) จนถึงปัจจุบันนี้ 

ความงาม “หลวงพ่อเพชร”

หลวงพ่อเพชรจังหวัดพิจิตร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยโลหะสําริดนั่งขัดสมาธิเพชร ชายสังฆาฏิสั้น เหนือพระอุระ ขนาดหน้าตักกว้าง 2 ศอก 1 คืบ 6 นิ้ว สูง 3 ศอก 3 นิ้ว พระเกศเป็นรูปบัวตูม ประทับนั่งบนฐานรูปบัวคว่ำบัวหงาย

จากข้อมูลต่างๆ สันนิษฐานเบื้องต้นว่า หลวงพ่อเพชรฯ รับอิทธิพลศิลปะของพระพุทธรูปในหลายรูปแบบ เช่น  รับอิทธิพลการสร้างแบบศิลปะล้านนา พระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์หนึ่ง มีรัศมีเปลวเหนืออุษณีษะ, นิ้วมืออวบอ้วน ที่เป็นลักษณะเฉพาะ แต่ก็มีซุ้มเรือนแก้วที่เป็นเอกลักษณ์ของศิลปะอยุธยา เพื่อต้องการให้คนทั่วไปมองว่า หลวงพ่อเพชรฯ เป็นพระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์หนึ่ง

ผู้ชำนาญการด้านการตรวจพุทธลักษณะขององค์พระปฏิมากรหลายท่านให้ความเห็นตรงกันว่า องค์หลวงพ่อเพชร เป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนรุ่นแรก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 1160-1800

เมื่อปี 2483 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ และยกย่อง “หลวงพ่อเพชรจังหวัดพิจิตร” เป็น 1 ใน 108 องค์พระปฏิมา พระพุทธรูปคู่แผ่นดิน หมวดพระพุทธปฏิมา ศิลปะล้านนา 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ฉลอง สุวรรณโรจน์. “หลวงพ่อเพชร, พระพุทธรูปจังหวัดพิจิตร” ใน, สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง, มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาส พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2552.

ไม่ระบุชื่อผู้เขียน. “หลวงพ่อเพชร พระพุทธรูปประจำจังหวัดพิจิตร” ใน http://www.m-culture.in.th

กองบรรณาธิการข่าวสด. ไหว้พระประธาน 77 จังหวัด , สำนักพิมพ์มติชน 2557.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 ตุลาคม 2567