ทำไม “พระพุทธชินราช” จึงเป็นพระพุทธรูปที่มีการจำลองมากที่สุด?

พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก
พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก (ภาพจาก มติชนออนไลน์)

พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปที่มีการจำลองมากที่สุด ดังที่เห็นกันทั่วไปว่า พระประธานในโบสถ์หรือวิหารทั่วเมืองไทย ตลอดจนวัดไทยในต่างประเทศ มักเป็นพระพุทธชินราช โดยองค์แรก ที่เป็นต้นแบบขององค์จำลอง ซึ่งแพร่หลายอยู่ทั่วไปนั้น ประดิษฐานอยู่ที่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก

ภาพถ่าย พระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก สมัยรัชกาลที่ 5
ภาพถ่าย พระพุทธชินราช ที่ จังหวัดพิษณุโลก ในสมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ตำนาน “พระพุทธชินราช” 

ตำนานพระพุทธชินราช มีปรากฏในพงศาวดารเหนือ ซึ่งได้รับการเรียบเรียงใหม่ตอนปลายรัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2350 โดยพระวิเชียรปรีชา เจ้ากรมราชบัณฑิตขวา

Advertisement

ประวัติความเป็นมาตามพงศาวดารเหนือนี้มีว่า มีกษัตริย์เชียงแสนองค์หนึ่ง ชื่อ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก มีบุญญาธิการมาก กษัตริย์เมืองเล็กเมืองน้อยต่างก็โอนอ่อนสวามิภักดิ์ พระองค์ได้ยกทัพมาทำศึกกับ พระเจ้าพสุจราช เมืองสัชนาไลย เมืองสัชนาไลยเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ได้ยกพระธิดาปทุมเทวีให้แก่พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก ต่อมาพระนางมีโอรส 2 พระองค์ คือ เจ้าไกรสรราช และ เจ้าชาติสาคร

ภายหลัง พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกได้มาสร้างเมืองใหม่ ด้วยความเชื่อว่า เป็นสถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าเคยได้เสด็จมาฉันจังหันใต้ต้นสมอแห่งนี้ แล้วตั้งชื่อเมืองใหม่นี้ว่า พิษณุโลก พระองค์ได้ให้เมืองใต้พระบรมโพธิสมภารทั้งหลายช่วยกันสร้างวิหารและพระธาตุขึ้นกลางเมือง

ส่วนพระองค์เองนั้นดำริจะสร้างพระพุทธสำริด 3 องค์คือ พระพุทธชินศรี พระศรีศาสดา และ พระพุทธชินราช มีช่างจากเมืองสัชนาไลย และหริภุญไชย มาสร้าง แต่สร้างสำเร็จเพียงสององค์แรกเท่านั้น เหลือแต่พระพุทธชินราชเพียงองค์เดียวที่ไม่ลุล่วง

ช่างทำการหล่อถึง 3 ครั้ง ก็ไม่สามารถหล่อองค์พระขึ้นมาได้ เพราะทองนั้นแล่นไปไม่ทั่วองค์พระ พระศรีธรรมไตรปิฏกจึงได้ตั้งจิตอธิษฐานถึงบุญบารมีที่ได้บำเพ็ญมาแล้วในกาลก่อน ร้อนไปถึงองค์อินทร์ต้องเสด็จลงมาช่วย โดยเนรมิตตนเป็นชีปะขาว ด้วยอิทธิฤทธิ์แห่งจอมสวรรค์ ทองนั้นก็แล่นทั่วองค์พระได้โดยพลัน

พระพุทธชินสีห์ พระสุวรรณเขต
พระพุทธชินสีห์ (หน้า) และ พระสุวรรณเขต (หลัง) ภายในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร

จากประวัติการสร้างพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์นี้ ชี้ให้เห็นฐานะของพระพุทธชินราช ว่าสูงกว่าพระพุทธชินศรี และพระศรีศาสดา เพราะต้องอาศัยเทวดามาสร้าง คนธรรมดาสามัญไม่อาจสร้างได้ ด้วยว่าบุญญาบารมีไม่ถึงพระพุทธชินราช ทั้งได้แสดงถึงบุญญาธิการยิ่งใหญ่ของพระศรีธรรมไตรปิฎกด้วย

ใน พ.ศ. 2409 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ประวัติของพระพุทธชินราชขึ้นมาใหม่ ชื่อเรื่อง “ตำนานพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี และพระศรีศาสดา” โดยได้ทรงอิงเนื้อหาจากพงศาวดารเหนือ และเพิ่มเติมขยายความบางตอนเข้าไป ปรับเน้นบางจุด ทำให้เกิดมิติมุมมองใหม่ขึ้น

โดยอธิบายการสร้างเมืองของพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกว่า เป็นเหตุผลทางการเมือง เพื่อป้องกันข้าศึกศัตรูในภายภาคหน้า ไม่ใช่เป็นสถานที่ซึ่งองค์ศาสดาเคยเสด็จมาประทับเป็นเหตุผลในการสร้าง

เช่นนี้ได้สะท้อนแนวความคิดของคำว่า รัฐ คือการถือครองอาณาเขตที่ชัดเจน ก่อนหน้าที่จะทรงพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริที่จะแบ่งเส้นเขตแดนไทยกับพม่าให้ชัดเจน ซึ่งบ่งบอกว่า พระองค์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของดินแดน ที่ผูกอยู่กับความเป็นรัฐ

พระองค์ยังได้ทรงสร้างความเชื่อมโยงให้พระพุทธชินราชเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สยามด้วย โดยกล่าวว่า พระพุทธที่สร้างขึ้นนั้น โดยรวมแล้วเป็นฝีมือของชาวสยาม (สวรรคโลก) ดังเนื้อความว่า

“…พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกจึงทรงพระวิตกว่า ถ้าจะทำพระพุทธรูปขึ้นแต่โดยลำพังฝีมือลาวชาวเมืองเชียงแสนกลัวเกลือกจะไม่งามดีสู้พระพุทธรูปเมืองสวรรคโลกได้…”

ทั้งยังเท้าความไปอีกว่า พระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี และพระศรีศาสดา ทั้ง 3 องค์ อันเผ่าพงศ์กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาเคยนมัสการมาแล้วหลายชั่วคน ได้เอ่ยนามกษัตริย์เป็นต้นว่า สมเด็จพระราเมศวร สมเด็จพระมหาธรรมราชา สมเด็จพระนเรศวร สมเด็จพระเอกาทศรถ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ฯลฯ ด้วยอานิสงส์แห่งการมาสักการะพระพุทธรูปที่เมืองสวรรคโลกนี้ ทำให้เป็นกษัตริย์ที่เกรียงไกร มีชัยเหนือศัตรูทั้งปวง พระเจ้าแผ่นดินสยามองค์ต่อ ๆ มา ก็ได้เสด็จมานมัสการพระพุทธรูปทั้ง 3 นี้เป็นธรรมเนียม

พระศรีศาสดา
พระศรีศาสดา ประดิษฐาน ณ วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร (ภาพจากหนังสือ “๑๐๘ องค์พระปฏิมา พระพุทธรูปคู่แผ่นดิน” จัดพิมพ์โดย กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม)

ราชวงศ์จักรีกับพระพุทธชินราช 

ไล่มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ได้กล่าวถึงต้นราชวงศ์จักรีว่า ล้วนมีความเกี่ยวพันกับพระพุทธชินราชทั้งสิ้น

นับตั้งแต่พระบรมราชชนกของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ เคยได้มารับราชการอยู่ที่เมืองพิษณุโลก กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (วังหน้าในรัชกาลที่ 1) ก็เคยได้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองที่นี่ ได้บูชาพระพุทธรูปทั้ง 3 อยู่ไม่ได้ขาด แม้แต่พระพุทธยอดฟ้าฯ เองก็เคยได้มีโอกาสมานมัสการพระพุทธชินราชที่เมืองพิษณุโลกนี้ เมื่อครั้งเป็นเจ้าพระยาจักรี

จากพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวข้างต้น ประสงค์จะแสดงให้เห็นว่า พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองมานาน กษัตริย์ไทยแต่โบราณให้ความสำคัญ เคารพสักการะถือปฏิบัติมิได้ขาด ผลงานชิ้นนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้พระพุทธชินราชเข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทในประวัติศาสตร์ของชาติ

ในสมัยรัชกาลที่ 6 ตอนนั้นประเทศไทยกำลังประสบปัญหาเรื่องความเป็นไทย คือจะคิดหาหนทางอย่างไรให้ตะวันตกยอมรับในความเป็นไทย ว่าเรานั้นเป็นผู้มีอารยะทัดเทียมตะวันตก ปัญหาที่ว่านี้ส่งเสริมให้มีการพัฒนาความรู้ทาง “โบราณคดีสยาม” โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้เป็นเครื่องมือแสดงความมีอารยะสูงของชาติ เพื่อต่อสู้กับการดูถูกของยุโรป หรือเรียกว่า “โบราณคดีชาตินิยม” นั่นเอง

พระพุทธชินราชจึงถูกเพิ่มความหมาย คือ เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความเจริญสูงสุดในงานศิลปะของไทย

นักวิชาการต่างก็มีความเห็นว่า พระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปที่มีความงามมาก จะเรียกว่างามที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้ แม้แต่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เคยได้ตรัสชมความงามของพระพุทธชินราช

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงปรารภถึงความงามของพระพุทธชินราชไว้ดังนี้

“…พระพุทธชินราช ตั้งแต่ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธมานักแล้ว ไม่เคยรู้สึกว่าดูปลื้มใจจำเริญตาเท่าพระพุทธชินราชเลย…ถ้าพระพุทธชินราชยังคงอยู่ที่พิษณุโลกตราบใด เมืองพิษณุโลกจะเป็นเมืองที่ควรไปเที่ยวอยู่ตราบนั้น ถึงในเมืองพิษณุโลกจะไม่มีชิ้นอะไรเหลืออีกเลย ขอให้มีแต่พระพุทธชินราชเหลืออยู่แล้ว ยังคงจะอวดได้อยู่แล้ว ยังคงจะอวดได้อยู่เสมอว่ามีของควรดูควรชมอย่างยิ่งอย่างหนึ่งในเมืองเหนือหรือจะว่าในเมืองไทยทั้งหมดก็ว่าได้…”

ความงามของพระพุทธชินราช ไม่เพียงแต่ได้รับการยกย่องชื่นชมจากคนในประเทศเท่านั้น แม้แต่ฝรั่งมังค่า เมื่อได้มาเห็นก็ปลื้มปิติยิ่งนัก เห็นได้จากคำกล่าวของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งพาฝรั่งไปชมพระพุทธชินราชว่า “…พวกฝรั่งพากันออกปากว่ายังไม่เคยเห็นของโบราณที่แห่งอื่นในเมืองไทยจับใจ Impressive เหมือนพระชินราช…”

คำกล่าวของ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ “…ข้าพเจ้าเคยไปราชการที่จังหวัดพิษณุโลกกับฝรั่งหลายคราว เขาเคยกล่าวแก่ข้าพเจ้าว่า พระพุทธรูปองค์นี้สวยเหลือเกิน เขาอาจนั่งดูอยู่ในวิหารนี้ได้โดยไม่เบื่อตั้ง 2-3 ชั่วโมง บางคนถึงกับกล่าวว่าเขารู้สึกอิจฉาคนไทยมากที่มีพระพุทธรูปงามเช่นนี้ ฯลฯ ถ้าท่านเป็นคนไทย…ความงามของพระพุทธชินราชจะปรากฏแก่ท่านในขณะที่นั่งอยู่ในวิหาร ถึงทำให้น้ำตาไหลออกมาได้โดยไม่รู้สึกตัว…”

อัญเชิญ พระพุทธชินราช
พิธีอัญเชิญพระพุทธชินราชจำลองเข้าประดิษฐานภายในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ภาพถ่ายเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

เพราะพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีอิทธิพลอย่างยิ่ง คือ ร่วมสร้างประวัติศาสตร์ชาติและสัญลักษณ์ของความเป็นไทย สะท้อนถึงความเจริญในศิลปวัฒนธรรมของชาติให้ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก และสามารถอนุมานได้ว่า พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปที่สวยที่สุดในประเทศไทย หรืออาจเป็นพระพุทธรูปที่งามที่สุดในโลก

ดังที่ได้กล่าวมาทั้งหมดแล้วนั้น คงจะเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะอธิบายได้ว่า ทำไมพระพุทธชินราชถึงถูกจำลองมากที่สุดในไทย และทำไมจึงเป็นพระพุทธรูปที่ถูกเลือกให้เป็นแบบของพระประธานแก่วัดไทยในต่างแดน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ที่มา :

ชาตรี ประกิตนนทการ. พระพุทธชินราชในประวัติศาสตร์สมบูรณาญาสิทธิราชย์. นนทบุรี : โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด, 2551


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2562