พระพุทธชินราช พระพุทธรูปงามที่กษัตริย์ตั้งแต่กรุงศรีฯ-กรุงเทพฯ ทรงศรัทธา

ภาพถ่ายเก่า พระพุทธชินราช
ภาพถ่ายพระพุทธชินราช สมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

“พระพุทธชินราช” พระพุทธรูปงามแห่งเมืองพิษณุโลก ที่กษัตริย์ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา-กรุงเทพมหานคร ทรงศรัทธา

“…ตั้งแต่ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธมานักแล้ว ไม่เคยรู้สึกว่าดูปลื้มใจจำเริญตาเท่าพระพุทธชินราชเลย…ถ้าพระพุทธชินราชยังคงอยู่ที่พิษณุโลกตราบใด เมืองพิษณุโลกจะเป็นเมืองที่ควรไปเที่ยวอยู่ตราบนั้น ถึงในเมืองพิษณุโลกจะไม่มีชิ้นอะไรเหลืออีกเลย ขอให้มีแต่พระพุทธชินราชเหลืออยู่แล้ว ยังคงจะอวดได้อยู่แล้ว ยังคงจะอวดได้อยู่เสมอว่ามีของควรดูควรชมอย่างยิ่งอย่างหนึ่งในเมืองเหนือหรือจะว่าในเมืองไทยทั้งหมดก็ว่าได้…” พระราชปรารภใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงความงามของ “พระพุทธชินราช”

จึงไม่น่าแปลกใจที่พระประธานในโบสถ์หรือวิหารทั่วไป มักจำลองแบบพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก ไปประดิษฐาน และด้วยความงามนี้เองที่ส่งให้พระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์เสด็จมาทรงสักการะ

สมัยกรุงศรีอยุธยา หลังชนะศึกที่เมืองหงสาวดี สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จพระราชดำเนินนมัสการพระพุทธชินราช และทรงเปลื้องเครื่องต้นถวายเป็นสักการะบูชาพระพุทธชินราช ต่อมาในรัชกาล สมเด็จพระเอกาทศรศ เมื่อเสร็จศึกมอญเขมร พระองค์เสด็จพระราชดําเนินขึ้นไปนมัสการพระพุทธชินราช และรับสั่งให้นำทองนพคุณ เครื่องราชูปโภคมาแผ่เป็นทองปิดพระพุทธชินราช

สมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงพระผนวชเป็นพระวชิรญาณภิกขุ เสด็จพระราชดําเนินประพาสหัวเมืองเหนือ ใน พ.ศ. 2376 ได้เสด็จพระราชดําเนินขึ้นไปทรงสักการบูชา พระพุทธชินราช และทรงพระราชอุทิศกําไลข้อพระกรหยกสวมถวายที่นิ้วพระหัตถ์พระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปบูชา

พ.ศ. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดําเนินยังเมืองพิษณุโลก ทรงเททองหล่อพระพุทธชินราช ที่หน้าพระวิหารหลวง วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เพื่ออัญเชิญลงมาประดิษฐาน ณ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร ในพระราชนิพนธ์จดหมายเหตุรายวันในจดหมายฉบับที่ 12 (วันที่ 17 ตุลาคม ร.ศ.120 (พ.ศ. 2444) ตอนหนึ่งว่า

“เวลาพลบค่ำไปที่วัดพระมาหธาตุ ปิดทองแล้วงามรุ่งโรจน์ เปนอันมาก ได้ถวายเครื่องบรรณาการแลต้นไม้ทองเงินแล้วถวายสังวาล…แลได้ถวายแพรคาดสพักพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระอัยยิกาเธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา ประทานที่ได้ใช้อยู่เสมอเปนเครื่องบูชา”

พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดําเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดําเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพ เพื่อทรงเยี่ยมราษฎร ตลอดจนทรงสักการะพระพุทธรูปและปูชนียสถานสําคัญต่างๆ

ในการนี้ได้เสด็จพระราชดําเนินถึงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก เพื่อทรงสักการะพระพุทธชินราช พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลื้องเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์อันเป็น โบราณมงคล ถวายคล้องที่นิ้วพระหัตถ์พระพุทธชินราช สมเด็จพระบรมราชินีถวายผ้าทรงสะพักครุยกรองทอง

พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ราชวรวิหาร เพื่อทรงสักการะบูชาพระพุทธชินราช

ในการนี้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเปลื้องเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ ถวายคล้องที่นิ้วพระหัตถ์พระพุทธชินราช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเปลื้องผ้าทรงสะพักถวายพระพุทธชินราช เป็นพุทธบูชา

พ.ศ. 2550 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการถวายสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์แด่พระพุทธชินราช

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

รศ.ดร. ปรีดี พิศภูมิวิถี.  มงคลนพรัตน, วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม จัดพิมพ์ เนื่องในศุภมงคลสมัย 150 ปี แห่งการสถาปนาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พุทธศักราชการ 2564  22 มกราคม พุทธศักราช 2564


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 เมษายน 2564