ทำไมรัชกาลที่ 5 เปลี่ยนพระราชหฤทัย ไม่ทรงอัญเชิญพระพุทธชินราชมากรุงเทพฯ

พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก พิษณุโลก
พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก (ภาพจาก มติชนออนไลน์)

เพราะเหตุใด รัชกาลที่ 5 จึงเปลี่ยนพระราชหฤทัย ไม่ทรงอัญเชิญ พระพุทธชินราชจาก พิษณุโลก มายังกรุงเทพฯ …

“เมื่อเชิญออกจากพระวิหารนั้น ราษฎรพากันมีความเศร้าโศก ร้องไห้เป็นอันมาก เงียบเหงาสงัดไปทั้งเมืองเหมือนศพลงเรือน”

Advertisement

เป็นข้อความตอนหนึ่งในพระราชปรารภเรื่อง “พระพุทธชินราช ซึ่งมีพระราชประสงค์จะอัญเชิญจากเมืองพิษณุโลก มาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม แต่เมื่อทรงทราบถึงความหวงแหนของชาวเมือง จึงทรงหวนคิดถึงครั้งที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ได้ทรงอัญเชิญ พระพุทธชินสีห์ จากเมืองพิษณุโลก นำมาประดิษฐาน ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

ครั้งนั้นชาวเมืองแสดงออกถึงความหวงแหนพระพุทธชินสีห์ และคับข้องใจในการหักหาญกระทำตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจจากส่วนกลาง แต่มิอาจที่จะทำสิ่งใดอันเป็นการขัดขวางได้ จึงได้แต่ “มีความเศร้าโศก ร้องไห้เป็นอันมาก” ด้วยพระราชดำริถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้เข้าพระราชหฤทัยและทรงเห็นใจชาวเมืองพิษณุโลก อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เปลี่ยนพระราชหฤทัย ไม่อัญเชิญพระพุทธชินราชจากเมืองพิษณุโลกมายังกรุงเทพฯ

พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองพิษณุโลกมาตั้งแต่สร้าง แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง แต่จากเรื่องราวในพงศาวดารเหนือ และการวิเคราะห์ของนักประวัติศาสตร์ สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทยแห่งกรุงสุโขทัย ประมาณ พ.ศ. 1900 เป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว สูง 7 ศอก มีพุทธลักษณะที่งดงามสมบูรณ์ยิ่ง

พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก
พระพุทธชินราช ณ พระวิหารทิศตะวันตก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก ภาพถ่ายเมื่อคราวรัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ไปในการเททองหล่อพระพุทธชินราชจำลอง เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2444 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ตำนานการสร้าง “พระพุทธชินราช”

การสร้างพระพุทธชินราชครั้งนั้น เล่าลือสืบมาว่ากว่าที่จะสร้างสำเร็จ ก็มีเรื่องราวที่เต็มไปด้วยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ พระพุทธชินราชสร้างขึ้นพร้อมกับพระพุทธรูปอีก 2 องค์ คือ พระศรีศาสดา และพระพุทธชินสีห์ มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการสร้างพระพุทธรูป 3 องค์นี้ ในรูปของตำนาน กล่าวถึงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์และความพิเศษสุดของพระพุทธชินราชว่า แม้จะเป็นการสร้างโดยพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่มีบุญญาธิการมากล้น แต่การสร้างก็ยังไม่สำเร็จ ต้องร้อนถึงพระอินทร์ทรงลงมาช่วยสร้าง พระพุทธรูปองค์นี้จึงสำเร็จ

ในตำนานจากพงศาวดารเหนือกล่าวถึง พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก มีพระราชประสงค์จะสร้างพระพุทธรูป 3 องค์ ลักษณะเดียวกัน ขนาดเท่ากัน เพื่อประดิษฐานไว้ที่เมืองพิษณุโลก ครั้งนั้นโปรดให้หาช่างที่มีฝีมือดีที่สุด เพื่อมาปั้นหล่อพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ เช่น บาพิศณุ บาพรหม บาธรรมราช และบาราชกุศล เป็นต้น

การหล่อพระพุทธรูปสำเร็จสมบูรณ์เพียง 2 องค์ คือ พระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา ส่วนพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งนั้น แม้จะหล่อใหม่ถึง 3 ครั้ง ก็ยังปรากฏว่าทองไม่แล่นทั่วองค์พระ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกจึงทรงตั้งสัจจาธิษฐาน ขอให้ผลบุญทั้งหมดที่ทรงสร้างและสั่งสมมาทั้งอดีตชาติและชาติปัจจุบัน ช่วยดลบันดาลให้การหล่อพระพุทธรูปสำเร็จดังพระราชประสงค์

ในตำนานอ้างถึงสัจจาธิษฐานของพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกว่า ทำให้ร้อนถึงอาสนะของพระอินทร์ ต้องทรงแปลงพระองค์เป็นชีปะขาวเสด็จลงมาช่วยในการหล่อพระพุทธรูปองค์นี้ นับแต่ทรงคุมพิมพ์ปั้นเบ้า คุมการเททอง จนการหล่อพระพุทธรูปองค์นี้สำเร็จสมบูรณ์งดงาม ทองแล่นทั่วทั้งองค์ และยิ่งเป็นมหัศจรรย์จนเกิดความเชื่อมั่นถึงอภินิหารของพระพุทธรูปองค์นี้เป็นทวีคูณ เมื่อปรากฏตรีศูล (อุณาโลม) อันเป็นเครื่องหมายแทนองค์พระอินทร์ที่พระนลาฏของพระพุทธรูป

และยิ่งตอกย้ำความเชื่อโดยกล่าวถึงสถานที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวพันกับการสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ เช่น บ้านปะขาวหาย คือสถานที่ที่ชีปะขาวหายตัวไป และเมื่อสร้างวัดขึ้นในบริเวณนั้น จึงตั้งชื่อวัดว่า วัดตาปะขาวหาย ยังมีศาลตาปะขาวซึ่งประดิษฐานรูปหล่อตาปะขาวเป็นรูปชายชรายืนสะพายย่าม มือขวาถือไม้เท้า ศาลตาปะขาวเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า ศาลาช่องฟ้า เพราะเป็นบริเวณที่ช่องฟ้าเปิดสำหรับให้พระอินทร์เสด็จขึ้นสู่สรวงสวรรค์

เรื่องราวในตำนานจบอย่างสมบูรณ์โดยมีชื่อสถานที่ที่สอดคล้องกับเหตุการณ์ จึงเป็นเรื่องที่เล่าขาน รับรู้ และเชื่อถือกันในหมู่ประชาชนคนทั่วไป โดยเฉพาะชาวพิษณุโลกและจังหวัดทางภาคเหนือ ที่ส่วนใหญ่ให้ความเชื่อถือตำนานนี้เป็นอย่างยิ่ง

พระพุทธรูปคู่เมืองพิษณุโลก สู่กรุงเทพฯ

แม้เรื่องราวในตำนานจะเป็นเรื่องราวที่เต็มไปด้วยปาฏิหาริย์ แต่ก็ยังมีหลักฐานอื่น ๆ ให้นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าพระเจ้าศรีธรรรมไตรปิฎกในตำนานคือ สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทย พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย และทรงเป็นผู้สร้างพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ขึ้นด้วยพระราชหฤทัยที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างสูง

พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ ได้ประดิษฐานอยู่ในเมืองพิษณุโลกตลอดสมัยอยุธยา จนชาวเมืองมีความรู้สึกว่าพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์คือสมบัติอันล้ำค่าของชาวเมืองพิษณุโลก จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น อันเป็นช่วงเวลาที่มีการอัญเชิญพระพุทธรูปจากหัวเมืองลงมาประดิษฐานยังพระอารามต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก ครั้งนั้นพระศรีศาสดาและพระพุทธชินสีห์ก็ได้ถูกอัญเชิญมายังกรุงเทพฯ

องค์แรกคือพระศรีศาสดา เจ้าอาวาสวัดบางอ้อยช้าง จังหวัดนนทบุรี ได้อัญเชิญพระศรีศาสดาจากเมืองพิษณุโลก มาประดิษฐานที่วัดบางอ้อยช้างระยะหนึ่ง ครั้นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) ทราบเรื่อง จึงได้ขออัญเชิญพระศรีศาสดามาประดิษฐานเป็นพระประธานที่วัดประดู่ฉิมพลี ซึ่งเป็นวัดที่ท่านสร้างขึ้น

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบและมีพระราชดำริว่า พระศรีศาสดานั้นสร้างขึ้นพร้อมกับพระพุทธชินสีห์ ซึ่งเวลานั้นได้ถูกอัญเชิญมาเป็นพระประธานที่วัดบวรนิเวศวิหาร จึงโปรดให้อัญเชิญพระศรีศาสดามาประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศวิหารด้วย ปัจจุบันพระศรีศาสดาประดิษฐานที่วิหารพระศาสดา วัดบวรนิเวศวิหาร

ส่วนพระพุทธชินสีห์นั้น เดิมประดิษฐานอยู่ที่วิหารด้านทิศเหนือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก ต่อมาพระวิหารนั้นชำรุดทรุดโทรมลง สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ จึงโปรดให้อัญเชิญพระพุทธชินสีห์มายังกรุงเทพฯ ครั้งนี้เองที่มีเรื่องเล่าลือกันถึงความรู้สึกหวงแหนในพระพุทธรูปองค์นี้ ในเวลาเดียวกันก็แสดงถึงความคับข้องใจในการหักหาญกระทำตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจจากส่วนกลาง

ครั้งนั้นชาวเมืองทั้งปวงแสดงออกถึงความรู้สึกนี้ในรูปของความโศกเศร้า ดังเป็นเรื่องที่เล่าขานกันสืบมาถึงความรู้สึกนี้ในรูปของความโศกเศร้า ดังเป็นเรื่องที่เล่าขานกันสืบมาถึงอาการของชาวเมืองพิษณุโลกครั้งนั้นว่า “เมื่อเชิญออกจากพระวิหารนั้น ราษฎรพากันมีความเศร้าโศก ร้องไห้เป็นอันมาก เงียบเหงาสงัดไปทั้งเมืองเหมือนศพลงเรือน”

และยังเล่าลือต่อถึงผลของการอัญเชิญพระพุทธชินสีห์ออกจากเมือง ตามความเชื่อของชาวเมืองว่า “แต่นั้นมาฝนก็แล้งไปถึง 3 ปี ชาวเมืองพิษณุโลกได้รับความยากยับไปเป็นอันมาก” และข่าวเล่าลือที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ “กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ก็ทรงพระประชวรพระโรคมานน้ำได้ปีเศษก็เสด็จสวรรคต”

อย่างไรก็ตาม พระพุทธชินสีห์ก็ได้ถูกอัญเชิญมายังกรุงเทพฯ ครั้งแรกโปรดให้ประดิษฐานที่มุขหลังพระอุโบสถจัตุรมุข วัดบวรนิเวศวิหาร ครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงผนวช ได้เสด็จไปประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร จึงโปรดให้อัญเชิญพระพุทธชินสีห์มาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ ครั้งนั้นโปรดให้หล่อแท่นฐานองค์พระพุทธรูปด้วยทองสำริด กะไหล่ทองคำที่พระรัศมี ฝังเพชรที่พระอุณาโลม พร้อมทั้งปิดทององค์พระพุทธรูป

อัญเชิญ พระพุทธชินราชจำลอง ประดิษฐาน ภายใน พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
อัญเชิญพระพุทธชินราชจำลอง เข้าประดิษฐานภายในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2444 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ร.5 เปลี่ยนพระราชหฤทัย จำลองแบบพระพุทธชินราช

เมื่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้าง วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามขึ้น ครั้งนั้นโปรดให้เสาะหาพระพุทธรูปที่มีพระพุทธลักษณะงดงาม เพื่อมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ ครั้งนั้นมีทั้งผู้อัญเชิญพระพุทธรูปจากที่ต่าง ๆ มาให้ทอดพระเนตร และที่ไม่สามารถอัญเชิญมาได้ก็ถ่ายรูปมาให้ทอดพระเนตร พระองค์พอพระราชหฤทัยพระพุทธลักษณะและความงามของพระพุทธชินราช ซึ่งไม่มีพระพุทธรูปองค์ใดจะงามเสมอ จึงตั้งพระราชหฤทัยจะอัญเชิญพระพุทธชินราชมาประดิษฐานเป็นประธานในพระอุโบสถ

แต่ครั้น สมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก กราบทูลถึงความรู้สึกหวงแหนพระพุทธชินราชของชาวเมือง และได้เท้าความถึงครั้งที่ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ทรงอัญเชิญพระพุทธชินสีห์จากพิษณุโลกมากรุงเทพฯ ความรู้สึกหวงแหนที่แสดงออกในรูปของความโศกเศร้าและเงียบสงัดทั้งเมืองเปรียบได้เหมือน “บรรยากาศเวลายกศพลงจากเรือน” ทำให้เข้าพระราชหฤทัยและทรงเห็นใจชาวเมืองพิษณุโลก

จึงเปลี่ยนพระราชหฤทัยให้ช่างจำลองแบบพระพุทธชินราช โดยมีพระประสิทธิปฏิมา จางวางช่างหล่อขวา เป็นหัวหน้าช่างถ่ายแบบและหล่อ ใช้ทองหนักทั้งหมด 3,940 ชั่ง เมื่อแล้วเสร็จจึงโปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานใน พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่สิ่งสำคัญที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนพระราชหฤทัยของ รัชกาลที่ 5 ในการที่จะไม่ทรงอัญเชิญ พระพุทธชินราช มาจาก พิษณุโลก คือพระเมตตาอันเป็นพระคุณสมบัติพิเศษของพระมหากษัตริย์สยาม ที่ทำให้ทรงสามารถครองใจประชาชนให้มีความจงรักภักดีในพระองค์ได้ตลอดพระชนมชีพ หรือแม้เสด็จสวรรคตตราบจนทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “ทำไมรัชกาลที่ ๕ เปลี่ยนพระราชหฤทัย ไม่ทรงอัญเชิญพระพุทธชินราชจากเมืองพิษณุโลกมากรุงเทพฯ” เขียนโดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2560  [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กันยายน 2566