ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ในละครอิงประวัติศาสตร์หลายเรื่อง เรามักได้ยินคำว่า “วังหน้า” อยู่บ่อยครั้ง วังหน้าเป็นคำเรียกพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงดำรงพระอิสริยยศ “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” ซึ่งเป็นตำแหน่งพระมหาอุปราช หรือว่าที่กษัตริย์องค์ต่อไป มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แล้ว วังหน้า กรุงรัตนโกสินทร์ มีกี่พระองค์ และเป็นใครบ้าง?
วังหน้า กรุงรัตนโกสินทร์ มีทั้งหมด 6 พระองค์ ดังนี้
วังหน้าในรัชกาลที่ 1 คือ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (พระนามเดิมคือ บุญมา) พระอนุชาธิราชในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทว่าพระองค์สวรรคตใน พ.ศ. 2346
ต่อมา รัชกาลที่ 1 จึงทรงตั้ง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และทรงขึ้นครองราชย์เป็น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2)
วังหน้าในรัชกาลที่ 2 คือ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 1 ประสูติแต่สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี และทรงเป็นพระอนุชาธิราชในรัชกาลที่ 2 พระองค์สวรรคตใน พ.ศ. 2360 หลังจากนั้นรัชกาลที่ 2 ก็มิได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดเป็นวังหน้า
วังหน้าในรัชกาลที่ 3 คือ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 1 ประสูติแต่เจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่ เมื่อครั้งทรงเป็นกรมหมื่นศักดิพลเสพ ทรงทำศึกร่วมกับกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุลาลัย)
เมื่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 3 ก็ทรงสถาปนากรมหมื่นศักดิพลเสพขึ้นเป็นวังหน้า ต่อมาวังหน้าสวรรคต รัชกาลที่ 3 ก็มิได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดเป็นวังหน้า
วังหน้าในรัชกาลที่ 4 คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระอนุชาธิราชในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่ง
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย” พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 ทรงเล่าถึงเรื่องนี้ไว้ใน “นิทานโบราณคดี/นิทานที่ ๑๙ เรื่อง เมืองไทยมีพระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์” โดยอิงจากที่พระองค์ทรงได้ยินจากเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) อีกต่อหนึ่งว่า
“เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวใกล้จะสวรรคต สมเด็จเจ้าพระยาฯ [สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ บิดาของเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ] ไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงผนวชอยู่ ณ วัดบวรนิเวศฯ กราบทูลให้ทรงทราบว่า จะเชิญเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสว่า ถ้าจะถวายราชสมบัติแก่พระองค์ ขอให้ถวายแก่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ซึ่งตรัสเรียกว่า ‘ท่านฟากข้างโน้น’ ด้วย เพราะพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ พระชาตาแรงนัก
ตามตำราโหราศาสตร์ว่า ผู้มีชาตาเช่นนั้นจะต้องได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ถ้าทรงรับราชสมบัติแต่พระองค์เดียว จะเกิดอัปมงคล ด้วยไปกีดบารมีของสมเด็จพระอนุชา แม้ถวายราชสมบัติด้วยกันทั้งสองพระองค์ จะได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระอนุชาให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยอีกพระองค์หนึ่ง เหมือนอย่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสถาปนาสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยกัน เช่นนั้นจึงจะพ้นอัปมงคล”
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สวรรคตใน พ.ศ. 2408 จากนั้นรัชกาลที่ 4 ก็มิได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดเป็นวังหน้า
วังหน้าในรัชกาลที่ 5 คือ สมเด็จกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พระราชโอรสองค์ใหญ่ใน “พระปิ่นเกล้า” ประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาเอม พระองค์ทิวงคตเมื่อ พ.ศ. 2428
จะเห็นได้ว่า วังหน้าไม่จำเป็นต้องเป็นพระราชโอรสของพระมหากษัตริย์ เช่น วังหน้า กรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนมากทรงเป็น “น้องชาย” ของพระมหากษัตริย์รัชกาลนั้นๆ
สมเด็จกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงเป็นวังหน้าพระองค์สุดท้ายแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์สุดท้าย เพราะหลังจากทิวงคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกเลิกตำแหน่งวังหน้า และทรงสถาปนาตำแหน่ง “มกุฎราชกุมาร” ขึ้นแทน เพื่อความชัดเจนเรื่องรัชทายาท
อ่านเพิ่มเติม :
- รู้จักพระอิสริยยศ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล “วังหน้า” ว่าที่กษัตริย์องค์ต่อไป
- คำร่ำลืออาถรรพ์ “วังหน้า” กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ ตรัสสาปแช่ง
- “พระแสงราวเทียน” ของ “วังหน้าพระยาเสือ” สมบัติชาติที่สูญหาย คืนสู่วัดมหาธาตุฯ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
กรมศิลปากร. “วังหน้า”. https://www.finearts.go.th/storage/contents/detail_file/pG0eXGBSEpBkuWlYqoqpwhR5GE0k0jqFu05dWu6u.pdf
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มิถุนายน 2567