รู้จักพระอิสริยยศ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล “วังหน้า” ว่าที่กษัตริย์องค์ต่อไป

เจ้าฟ้าเพชร ดำรงพระอิสริยยศ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้า ก่อนเถลิงราชย์ สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ พระเจ้าท้ายสระ
สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ในละครเรื่องพรหมลิขิต (ภาพจาก Facebook: Ch3Thailand)

ในละครอิงประวัติศาสตร์หลายเรื่อง เช่น เรื่องล่าสุดอย่าง “พรหมลิขิต” มีบุคคลในประวัติศาสตร์ที่ดำรงพระอิสริยยศ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ “วังหน้า” ซึ่งเป็นตำแหน่ง พระมหาอุปราช อยู่หลายพระองค์ คือ “หลวงสรศักดิ์” ต่อมาคือพระเจ้าเสือ, “เจ้าฟ้าเพชร” พระราชโอรสในพระเจ้าเสือ ต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ, “เจ้าฟ้าพร” พระอนุชาของเจ้าฟ้าเพชร ต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ 

“วังหน้า” เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีความสำคัญอย่างไรต่อการเป็นกษัตริย์

วังหน้าเป็นคำที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มีความหมาย 2 นัย นัยแรกคือ ผู้ดำรงพระอิสริยยศ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นตำแหน่งพระมหาอุปราช มีอำนาจรองลงมาจากพระเจ้าแผ่นดิน เรียกเป็นสามัญว่าวังหน้า มีอำนาจรักษาพระนครได้กึ่งหนึ่ง และอีกนัยคือ ที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานถึงสาเหตุการเรียกวังที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลว่าวังหน้า ไว้ใน “ตำนานวังหน้า” ว่า 

“ถ้าจะค้นหาว่าเหตุใดจึงเรียกว่าวังหน้า ดูเหมือนจะอธิบายได้ไม่ยาก เพราะตามศัพท์ความก็หมายว่าวังที่อยู่ข้างหน้า คือหน้าของพระราชวังหลวง ตามแผนที่กรุงศรีอยุธยา วังจันทรเกษม ซึ่งเปนที่ประทับของพระมหาอุปราชก็อยู่ทิศตะวันออก อันเปนด้านหน้าของพระราชวังหลวง อยู่ที่ซึ่งสมควรเรียกได้ว่าวังหน้าด้วยประการทั้งปวง”

วังจันทรเกษมนี้ เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จขึ้นครองราชย์ โปรดให้เปลี่ยนนามเป็นพระราชวังบวรสถานมงคล และตำแหน่งพระมหาอุปราช หรือวังหน้า คือ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล

สาเหตุที่พระราชวังบวรสถานมงคลตั้งอยู่ด้านหน้าพระราชวังหลวง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า มีที่มาจากลักษณะการจัดขบวนทัพออกรบ ทัพของพระมหาอุปราชจะยกออกเป็นทัพหน้า เรียกว่า “ฝ่ายหน้า” และเรียกวังที่ประทับของฝ่ายหน้าว่า “วังฝ่ายหน้า” และย่อมาเป็น “วังหน้า” ในที่สุด ดังที่ทรงระบุไว้ว่า

“…เมื่อมาพิเคราะห์ดูตามหลักฐานในทางโบราณคดี เห็นว่าน่าจะเกิดขึ้นแต่ลักษณพยุหโยธาแต่ดึกดำบรรพ์ที่จัดเปนทัพหน้าและทัพหลวง ผู้ที่รองพระมหากษัตริย์ถัดลงมา คือพระมหาอุปราชย่อมเสด็จเปนทัพหน้า ไปก่อนทัพหลวงเปนประเพณี จึงเกิดเรียกพระมหาอุปราชว่า ฝ่ายหน้า แล้วเลยเรียกที่ประทับของของพระมหาอุปราชว่า วังฝ่ายหน้า และย่อลงเปนวังหน้าโดยสะดวกปาก…” 

ตำแหน่ง พระมหาอุปราช ในสมัยอยุธยา มีศักดินา 100,000 สูงสุดในบรรดาเจ้านายและขุนนาง มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินรองจากพระมหากษัตริย์ ยามศึกสงครามก็เป็นจอมทัพ บัญชาการรบแทนพระองค์ ตำแหน่งนี้มักตกเป็นของพระราชโอรส แต่หากพระมหากษัตริย์ยังไม่ทรงมีพระราชโอรส หรือพระราชโอรสยังทรงพระเยาว์ ตำแหน่งก็จะตกแก่ผู้ใกล้ชิดรองลงมา ได้แก่ พระอนุชา นอกจากนี้ ก็อาจเป็นตำแหน่งที่พระมหากษัตริย์ทรงปูนบำเหน็จความชอบแก่ผู้เป็นกำลังสำคัญที่สนับสนุนให้ทรงขึ้นครองราชย์ เช่น พระราชนัดดา ข้าราชการ หรือคนสามัญก็ได้ 

พระมหากษัตริย์และเจ้านายสมัยอยุธยา ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชหรือวังหน้ามีหลายพระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช, สมเด็จพระเอกาทศรถ, เจ้าฟ้าสุทัศน์ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเอกาทศรถ, พระเจ้าศรีเสาวภาคย์, พระเจ้าทรงธรรม, พระเชษฐาธิราช, พระอาทิตยวงศ์, พระเจ้าปราสาททอง, สมเด็จพระนารายณ์มหาราช, ขุนหลวงสรศักดิ์ หรือพระเจ้าเสือ, พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ, พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ, เจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) และเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต (พระเจ้าอุทุมพร)

แต่ใช่ว่าเป็นวังหน้าแล้วจะได้ขึ้นครองราชบัลลังก์อย่างราบรื่น เพราะมีเหตุการณ์ที่วังหน้าต้องเปิดศึกกับวังหลวงชิงราชสมบัติ อย่างเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ทรงแต่งตั้ง เจ้าฟ้าพร พระอนุชา ให้เป็นวังหน้า แต่พอถึงปลายรัชกาล พระองค์กลับมอบราชสมบัติให้ เจ้าฟ้าอภัย ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 2 ทำให้วังหน้าไม่พอพระทัย กลายเป็นศึกกลางเมือง ท้ายสุดวังหน้าเป็นฝ่ายมีชัย ส่วนเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร พระอนุชาของเจ้าฟ้าอภัย ถูกประหารชีวิตด้วยท่อนจันทน์ในที่สุด

พระอิสริยยศ “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” ใช้สืบต่อมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และถูกยกเลิกไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง : 

พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า). กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, 2558.

ณัฎฐภัทร จันทวิช. กรมพระราชวังบวรสถานมงคล กับงานศิลปกรรมแบบพระราชนิยม. กรุงเทพ : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2545.

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม. องค์ความรู้ทางวิชาการ เรื่อง รู้จัก “วังหน้า” ในสมัยอยุธยา / https://www.facebook.com/chantharakasemmuseum/posts/5629344497123233/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 ตุลาคม 2566