ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
รู้จัก “พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์” กรุงศรีอยุธยา สุดอลังการ ที่มาพระนาม “สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ”
กำพล จำปาพันธ์ นักวิชาการ เล่าถึงเรื่องนี้ไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมว่า พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ เป็นอาคารทรงตึกแบบยุโรป ตั้งอยู่ภายในเขตพระราชวังหลวงของอยุธยา
ตามประวัติที่ระบุไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และฉบับพระพนรัตน์ (แก้ว) หรือฉบับหมอบรัดเล (เพราะหมอบรัดเลเป็นผู้นำต้นฉบับตัวเขียนมาตีพิมพ์เป็นครั้งแรก) ต่างกล่าวว่า พระที่นั่งนี้สร้างในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา จนกลายเป็น “ความเชื่อทางประวัติศาสตร์” หนึ่งอ้างอิงสืบทอดกันต่อมา
ในขณะที่เอกสารหลักฐานอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือจากการชำระพระราชพงศาวดารในต้นรัตนโกสินทร์ ต่างระบุว่า พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ ซึ่งต่อมาจะเป็นที่มาพระนาม สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ เป็นของมีมาก่อนหน้านั้นแล้ว คือตั้งแต่ในรัชกาล สมเด็จพระนารายณ์ และสมเด็จพระนารายณ์เป็นกษัตริย์ผู้สร้างพระที่นั่งนี้อีกด้วย
ดังเห็นได้จากบันทึกชาวต่างชาติ เช่น บาทหลวงฝรั่งเศส นิโกลาส์ แชรแวส (Nicolas Gervaise) ที่กล่าวถึงการจัดงานเลี้ยงต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ในคราวที่คณะทูตชุดเชอร์วาริเอร์ เดอ โชมองต์ (Chevalier de Chaumont) เดินทางมาถึงเมื่อ พ.ศ. 2228 ณ สถานที่แห่งหนึ่งในพระบรมมหาราชวังกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีความงดงาม เอาไว้ว่า
“พระที่นั่งองค์ที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินอยู่ที่ลานชั้นในสุด เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ ทองคำที่ประดิดประดับไว้ให้รุ่งระยับอยู่ในที่ตั้งพันแห่งนั้น เป็นที่สังเกตได้โดยง่ายจากพระที่นั่งองค์อื่นๆ สร้างเป็นรูปกากบาท หลังคาพระที่นั่งประดับฉัตรหลายชั้นอันเป็นเครื่องหมายหรือตราแผ่นดิน กระเบื้องที่ใช้มุงนั้นทำด้วยดีบุก งานสถาปัตยกรรมที่ปรากฏอยู่ทุกด้านทุกมุมนั้นงดงามมาก” [1]
สถานที่ซึ่งแชรแวสได้กล่าวบรรยายถึงข้างต้นนี้ ไม่มีลักษณะตรงกับตึกเลี้ยงแขกบ้านแขกเมืองที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์ลพบุรี และก็ไม่ตรงกับพระที่นั่งสุริยาศอมรินทร์ที่อยุธยา นอกจากอาคารสถาปัตย์รูปกากบาทที่ตรงกับพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์แล้ว ในที่เดียวกันแชรแวสยังได้กล่าวถึงสถานที่ที่ตั้งอยู่ติดกัน ซึ่งตรงกับ พระที่นั่งโคหาสวรรค์ ที่ประทับของกรมหลวงโยธาเทพ ในพระราชวังหลวงอยุธยาอีกด้วย ดังจะเห็นได้จาก
“พระที่นั่งที่ประทับของสมเด็จพระราชินี พระราชธิดา และพระสนม ซึ่งตั้งอยู่ใกล้พระที่นั่งที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินนั้นดูจากด้านนอกแล้ว ก็เห็นว่างดงามดี หันหน้าเข้าสู่อุทยานทำนองเดียวกัน ทางเดินนั้นมีลำคูตัดผ่านเป็นตาหมากรุก เสียงน้ำไหลรินเชื้อเชิญบุคคลที่นอนอยู่บนสนามหญ้าเขียวขจีที่ขอบคันคูนั้นให้เคลิ้มหลับเป็นที่ยิ่งนัก” [2]
ขณะที่ “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง” ได้ให้รายละเอียดความงาม พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับพระที่นั่งไกรสรสีหรราช หรือตำหนักทะเลชุบศรที่ลพบุรีอยู่หลายประการ ไว้ว่า (จัดย่อหน้าใหม่โดย กอง บก.)
“อนึ่งพระที่นั่งบัญญงครัตนาศนมหาปราสาทนั้น เปนยอดมณฑปยอดเดียว มีมุขโถง ยาวออกมาจากมุขใหญ่ทั้งสี่ด้าน มุขโถงทั้งสี่ทิศนั้น มีพระแท่นแว่นฟ้าบุษบกตั้งในมุขโถงทั้งสี่มีเกย น่ามุขโถงมีบันไดนาคราชข้างเกยทั้งสี่เกย มีกำแพงแก้วล้อมรอบชาลาพระมหาปราสาท แล้วมีสระล้อมรอบกำแพงแก้วทั้งชาลาพระมหาปราสาททั้งสี่ด้าน สระกว้างด้านละ 6 วา
ในสระระหว่างมุขโถงมุมพระมหาปราสาท ด้านเหนือนั้นมีพระตำหนักปลูกปักเสาลงในสระ ด้านเหนือหลังหนึ่งห้าห้อง ฝากระดานเขียนลายรดน้ำทองคำเปลวพื้นทารักมีฉ้อฟ้าหางหงษมุขซ้อนสองชั้น มีพระบัญชรลูกกรงเหลก ระเบียงชานเฉลียงรอบนั้นมีลูกมะหวดกลึงล้อมรอบ มีตะพานลูกกรงค่ามมาจากพระมหาปราสาทถึงพระตำหนักๆ นี้เปนที่มีเทศนาพระมหาชาติคำหลวงทุกปีมิได้ขาด
ในสระระหว่างมุขโถงด้านใต้นั้น ปลูกพระที่นั่งปรายข้าวตอกหลังหนึ่ง เสาลงในสระหลังคามีฉ้อฟ้าหางหงษมุขซ้อนสองชั้น ฝาไม่มีมีแต่ลูกกรงมะหวดรอบพระเฉลียง เสารายทารักเขียนทองคำเปลวลายทรงข้าวบิณฑ์มีภาพพรหมศรต้นเสาปลายเสา มีตะพานลูกกรงข้ามมาจากพระมหาปราสาทถึงพระที่นั่งปรายข้าวตอก
พระที่นั่งปรายข้าวตอกนี้สำหรับเสด็จทรงประทับโปรยข้าวตอก พระราชทานปลาหน้าคนแลปลากะโห้ปลาตะเพียนทองแลปลาต่างๆ ในท้องสระ ในระหว่างมุมมุขโถงด้านตระวันออกนั้น ปลูกเป็นพระที่นั่งทอดพระเนตรดาวเสาลงในท้องสระ ไม่มีหลังคา มีแต่พื้นแลลูกกรมมะหวดรอบ มีตะพานข้ามสระออกมาจากมุมมาพระมหาปราสาท ถึงพระที่นั่งทรงดาวๆ นี้สำหรับทอดพระเนตรดาว แลทอดพระเนตรสุริยุปราคาแลจันทรุปราคา ชีพ่อพราหมณ์ทำพิธีถวายน้ำกรดน้ำสังข์ในวันสุริย วันจันทร เมื่อโมกขบริสุทธบนพระที่นั่งทรงดาวทุกคราวไป
ในท้องสระระหว่างมุมมุขโถงด้านตระวันตกนั้น ปลูกเปนตะพานพระฉนวน มีหลังคาร่มตะพานข้ามออกมาจากพระมหาปราสาท เสาตะพานพระฉนวนนั้น ระยะห่างๆ แต่พอเรือน้อยพายลอดได้ใต้ตะพานๆ ข้ามมาขอบสระถึงพระที่นั่งทรงปืน เปนตึกใหญ่ฉ้อฟ้าหางหงษมุขศร (ซ้อน) เปนท้องพระโรงสำหรับเสดจออกว่าราชการแผ่นดิน พระราชวงษาแลข้าทูลละอองธุลีพระบาทเข้าเฝ้า” [3]
หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2231 (ค.ศ. 1688) สมเด็จพระเพทราชาเมื่อให้ย้ายศูนย์กลางจากลพบุรีกลับมาอยุธยา ทรงโปรดประทับ ณ พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ จะเนื่องด้วยเพราะเป็นพระที่นั่งที่สร้างอย่างวิจิตรงดงาม หรือเพราะ กรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาในสมเด็จพระนารายณ์ ที่กลายมาเป็นพระมเหสีฝ่ายซ้ายในสมเด็จพระเพทราชา ทรงประทับอยู่พระตำหนักโคหาสวรรค์ใกล้พระที่นั่งนี้ และมีความคุ้นเคยมาแต่เดิมก็ตามที อย่างไรก็ตาม พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์นับเป็นพระที่นั่งสำคัญตลอดสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง
ดังจะเห็นได้จากหลายกรณี อาทิ เป็นที่โปรดประทับของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ซึ่งคำว่า “ท้ายสระ” ในพระนามนี้ ก็คาดว่าหมายถึงสระพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์, เป็นที่ประทับและที่สวรรคตใน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ต่อมาไม่นานหลังจากนั้นเมื่อ กรมพระเทพามาตุ สิ้นพระชนม์ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ได้ให้เชิญพระศพขึ้นประทับไว้คู่กันทั้งสองพระองค์ เมื่อสร้างพระเมรุมาศเสร็จก็อัญเชิญลงไปทำพิธีถวายพระเพลิงที่ท้องสนามหลวง จนถึงพระที่นั่งทรงปืนอันถือเป็นส่วนหนึ่งของเขตพระราชฐานฝ่ายใน ซึ่งมีพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์เป็นศูนย์กลาง ก็ใช้เป็นที่ว่าราชกิจหลายรัชกาลในสมัยอยุธยาตอนปลาย
เมื่อ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงได้ชัยชนะในศึกปราบก๊กสุกี้พระนายกอง ก็มีเรื่องว่าทรงเสด็จมาบรรทม ณ พระที่นั่งทรงปืน แล้วมีพระสุบินนิมิตว่า อดีตกษัตริย์อยุธยามาไล่ไม่ให้อยู่ เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม :
- สมเด็จพระเจ้าเสือ เป็นพระราชโอรสลับ? พระราชโอรสจริง? หรือพระราชโอรสใคร?
- ฝรั่งสลดใจ เห็นกรุงศรีอยุธยายุคพระเจ้าท้ายสระ หลัง “ห่าลง” บ้านเมืองเหมือนป่าไร้ผู้คน
- “พระเจ้าท้ายสระ” โปรดการฆ่าสัตว์เหมือน “พระเจ้าเสือ” เคยฆ่านก ปลา ช้าง จำนวนมาก?
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 ตุลาคม 2566