ฝรั่งสลดใจ เห็นกรุงศรีอยุธยายุคพระเจ้าท้ายสระ หลัง “ห่าลง” บ้านเมืองเหมือนป่าไร้ผู้คน

ศพ ลอยน้ำ อีกา ปลา กินซาก สะท้อน โรคระบาด โรคห่า ห่าลง สมัยต้นรัตนโกสินทร์
จิตรกรรมเขียนบนแผ่นไม้คอสอง ศาลาการเปรียญ วัดท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ เขียนราวรัชกาลที่ 4 เป็นภาพศพลอยน้ำโดยมีทั้งอีกา และปลามากินซาก ซึ่งน่าจะเป็นภาพสะท้อนการระบาดของโรคห่าในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ (น่าจะเป็นภาพชายชาวจีนเห็นได้จากการไว้เปียแบบแมนจู)

ฝรั่งสลดใจ เห็น “กรุงศรีอยุธยา” ยุค “พระเจ้าท้ายสระ” หลัง “ห่าลง” บ้านเมืองเหมือนป่าไร้ผู้คน

คำว่า “โรคห่า” สุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายว่า เป็นคำที่หมายความถึง โรคระบาด ที่ทำให้มีคนตายคราวละมาก ๆ ซึ่งอาจเกิดจากฝีดาษ (ไข้ทรพิษ) อหิวาต์ หรือกาฬโรคก็ได้

Advertisement

ใน จดหมายของมองเซนเยอร์เดอบูร์ ถึงมองซิเออร์เตเซีย วันที่ 10 กันยายน ค.ศ. 1713 หรือ พ.ศ. 2256 ตรงกับรัชสมัย พระเจ้าท้ายสระ จาก ประชุมพงศาวดาร เล่มที่ 22 องค์การค้าของคุรุสภา พ.ศ. 2511 มองเซนเยอร์เดอบูร์ ได้พรรณนาถึง กรุงศรีอยุธยา ที่ได้พบเจอหลัง “ห่าลง” ในสมัยนั้นความว่า

“พวกข้าพเจ้าได้มาถึงเมืองไทยโดยสวัสดิภาพเมื่อวันที่ 1 เดือนมีนาคม มองเซนเยอร์เดอซาบูร์ ได้จัดการอย่างดีเหลือที่ข้าพเจ้าจะพรรณาได้ ข้าพเจ้ามีความประหลาดใจมากที่ได้เห็นบ้านเมืองร่วงโรยลงไปมากทั่วพระราชอาณาเขต เมืองไทยเวลานี้ไม่เหมือนกับเมืองไทยเมื่อครั้ง 50 ปีที่ล่วงมาแล้ว ซึ่งเป็นเวลาที่พวกเราได้มาเห็นเป็นครั้งแรก ในเวลานี้ไม่ได้มีเรือต่างประเทศจำนวนมากมายหรือเรือไทยไปมาค้าขายดังแต่ก่อนแล้ว ถ้าจะเทียบกับเมืองไทยในเวลานี้เท่ากับเป็นป่าที่ไม่มีคนอยู่ ด้วยราษฎรพลเมืองมีจำนวนน้อยลงกว่าครึ่งหนึ่ง

เมื่อต้นปีนี้ได้เกิดไข้ทรพิษขึ้น ซึ่งกระทำให้พลเมืองล้มตายไปครึ่งหนึ่ง ทั้งการที่ข้าวยากหมากแพงก็ทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนเป็นอันมาก ตามปกติในปีก่อน ๆ ข้าวที่เคยซื้อกันได้ราคา 1 เหรียญนั้น บัดนี้ 10 เหรียญ ก็ยังหาซื้อเกือบไม่ได้ การที่ข้าพเจ้ามาครั้งนี้ได้ทำให้มองเซนเยอร์เดอซาบูร์ ได้รับความลำบากขึ้นมาก เพราะต้องหาเลี้ยงผู้คนจำนวนมากขึ้น

การนี้ข้าพเจ้าก็ไม่ได้มีเจตนาอย่างใดที่จะทำให้ท่านสังฆราชได้รับความลำบาก เพราะไปเข้าใจเสียว่าการที่ข้าพเจ้าได้พาชาวตังเกี๋ยหนุ่มมา 20 คนนั้นจะไม่เดือดร้อนอะไร เพราะเข้าใจว่าเมืองไทยเคยเป็นเมืองที่บริบูรณ์ทั้งข้าวของก็ถูก ดังได้เคยเห็นมาแต่ก่อน ๆ ด้วย แต่การที่ข้าพเจ้าไปเข้าใจเช่นนี้ เป็นการเข้าใจผิดโดยแท้”

ทั้งนี้ ผู้จัดพิมพ์ได้ใส่หมายเหตุไว้ว่า มองเซนเยอร์เดอบูร์ เคยเป็น “วิแกอาปอศตอลิก (vicar apostolic ตำแหน่งของบาทหลวงระดับบิชอป) ที่เมืองตังเกี๋ยฝ่ายตะวันตก และเป็นผู้ที่ถูกไล่ออกจากเมืองนั้นแล้ว”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มกราคม 2560