การรับมือโรคระบาดสมัย ร.5 รัฐยุคใหม่เลิกไล่ผี-พิธีสวด เปลี่ยนมาใช้การแพทย์ตะวันตก

ตำรา สมุดไทย ฝีดาษ โรคระบาด
เวชศาสตร์ - แผนฝีดาษที่ฝีออก

“โรคระบาด” เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย แต่ละชุมชน แต่ละรัฐ ก็มีวิธีจัดการแตกต่างกันไป เช่นในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ไม่ทรงเชื่อว่าพิธีอาพาธพินาศมาจากพระพุทธเจ้า แล้วเลิกไล่ผี เปลี่ยนมาจัดการด้วยการแพทย์ตะวันตกในอรุณรุ่งของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์

การแก้ไขจัดการโรคระบาดที่มนุษย์เผชิญในทุกสังคมนั้นต่างมีความเปลี่ยนแปลงมาตามรูปแบบของรัฐและบทบาทหน้าที่ของรัฐ ดังนั้น ก่อนหน้ารัฐสมัยใหม่แม้รัฐจะไม่ได้มีหน้าที่ป้องกัน ควบคุม และรักษาเยียวยาความเจ็บป่วยคนในสังคมภาวะปกติ ซึ่งเป็นหน้าที่ของครอบครัวชุมชนเป็นหลัก แต่ในสถานการณ์ไม่ปกติอย่างเกิดโรคระบาดรุนแรง รัฐมีหน้าที่สำคัญในการจัดการผู้คนจากโรคระบาดกันทั้งสิ้น

สมัยโบราณโรคระบาดรวดเร็วรุนแรงที่ส่งผลให้คนตายมาก ๆ คนไทยเรียกว่า โรคห่า แต่เดิมหมายถึง 3 โรคคือ ทรพิษ ที่เก่าแก่สุด ต่อมาใช้เรียก อหิวาตกโรค และ กาฬโรค ที่ระบาดหนักหน่วงช่วงเปลี่ยนผ่านสยามเป็นรัฐสมัยใหม่ตรงกับยุคสมัยอาณานิคม

บทบาทของรัฐสยามโบราณในการจัดการโรคระบาดจะเป็นการย้ายเมืองหนีโรค (แต่บางครั้งชาวบ้านก็หนีกันเองไปอยู่ตามป่า) และใช้พิธีกรรมตามความเชื่อของคนในสังคม หรือทำพิธีจัดการโรคเยียวยาให้กำลังใจผู้คนในสังคมในการเผชิญร่วมกัน

ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เมื่ออหิวาตกโรคระบาดครั้งแรกเมื่อ .. 2363 ที่ถูกเรียกว่าโรคห่าเช่นกัน จากพงศาวดารรัชกาลที่ 2 ที่แต่งโดยเจ้าพระยาทิพกรวงศ์ในต้นรัชกาลที่ 5 เชื่อว่าสาเหตุมาจากผีโกรธ คนครั้งนั้นยังโง่เขลามากพูดซุบซิบกันว่า เพราะไปเอาก้อนสีลาใหญ่ ๆ ในทะเลมาก่อเขาในพระราชวังเจ้าโกรธผีโกรธจึ่งบันดาลให้เปนไข้เจบดั่งนี้

รัฐราชสำนัก ได้จัดการแก้ไขโรคดังนี้

“ซึ่งจะรักษาพยาบาลแก้ไข้ด้วยคุณยาเหนจะไม่หาย จึ่งให้ตั้งพระราชพิธีอาฏานาฏิยสูตร เมื่อ วันจันท์รเดือนเจดขึ้นสิบค่ำยิงปืนใหญ่รอบพระนครคืนหนึ่งยังรุ่ง แล้วเชิญพระแก้วมรกฏแลพระบรมธาตุทั้งพระราชาคณะออกแห่โปรยทรายประน้ำปริตรทั้งทางบกทางเรือ สมเดจพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงศีลทั้งพระราชวงษานุวงษ์ที่มีกรมหากรมมิได้แลให้จัดซื้อปลาแลสัตว์สี่เท้าสองเท้าที่มีผู้จะฆ่าซื้อขายในท้องตลาดในจังหวัดกรุงเทพมหานครทรงปล่อย สิ้นพระราชทรัพย์เป็นอันมาก”

ในพระราชนิพนธ์ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หนังสือพระราชพิธี 12 เดือน พระองค์ไม่ทรงเชื่อว่าพิธีอาพาธพินาศและการสวดอาฏนาติยสูตรโดยพระสงฆ์นั้น บัญญัติขึ้นโดยพระพุทธองค์ เนื่องจากทรงเห็นว่า การตั้งพระราชพิธีด้วยการสวดอาฏนาติยสูตรเพื่อปราบปรามภูติผีปิศาจไม่ให้ทำร้ายมนุษย์นั้นเป็นแต่ตั้งชื่อ ว่าอาพาธพินาศตามความต้องการมิใช่พิธีที่พระพุทธเจ้าสั่งสอนไว้ให้ทำสำหรับแก้ไขโรคภัย

เนื่องจากคนไทยสมัยนั้นเข้าใจว่าโรคนี้เกิดจากผีและคิดจะไล่ผี ซึ่งเข้าใจผิดเพราะโรคนี้ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยผี เกิดขึ้นด้วยดินฟ้าอากาศและความประพฤติที่อยู่ที่กินของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีวิญญาณจะขับไล่ได้ เพราะฉะนั้นการพระราชพิธีไม่ได้มีประโยชน์อันใด

พระราชวินิจฉัยการเลิกใช้พิธีการไล่ผี จึงแสดงให้เห็นถึงสมุหฐานของการเกิดโรคที่เปลี่ยนจากผีมาเป็นสิ่งแวดล้อมที่สกปรก หรือเรียกว่าอายพิศม์ทำให้เกิดโรค ซึ่งหมอบรัดเลย์นำเข้ามาเผยแพร่ในสยามอย่างชัดเจน

เราจึงไปดูกันว่ารัชกาลที่ 5 ทรงเถียงกับความรู้ใดอยู่ในคัมภีร์ไหน ก็ปรากฏว่ามีคัมภีร์แพทย์ที่เขียนว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้บัญญัติตั้งพิธีดังกล่าวขึ้นมาจริง และคงจะได้เอาไปใช้จัดการโรคระบาด ดังปรากฏในพงศาวดารขึ้นจริง ๆ ด้วยก่อนหน้านั้น

ตำราเวชศาสตร์โบราณ แหล่งที่มาของความรู้จัดการ “โรคระบาด” ของรัฐและสังคม

เวชศาสตร์ คัมภีร์แผนฝีดาด

ในคัมภีร์เวชศาสตร์ไทยสมัยจารีตที่เขียนขึ้นในสมุดไทย อันแสดงถึงยุคสมัยของการเขียนก่อนยุคสมัยใหม่ที่เขียนด้วยสมุดฝรั่ง ปัจจุบันส่วนใหญ่เก็บรักษาไว้ที่แผนกเอกสารโบราณตัวเขียนและจารึก ในหอสมุดแห่งชาติ

จากตำราหมวดเวชศาสตร์ ชื่อคัมภีร์แผนฝีดาด ที่ลงปีกำกับไว้ว่า .. 2321  (แต่ดูเนื้อความแล้วอาจจะคัดลอกมาหลายครั้งและฉบับนี้น่าจะไม่เก่าดังปีกำกับ แต่ก็ไม่น่าเกินสมัยต้นรัชกาลที่ 5 อย่างสูง) ในหน้าปกชื่อว่าสมุทตำราเล่ม หนังสือฝีดาษของพระม่วง นั้น ได้ขึ้นต้นว่าสิทธิการิยะจกล่าวคัมภีร์อะหิวาตะโรคไว้ให้แก่แพศยทั้งหลายพึงรู้ จำแนกถึงสาเหตุการเกิดโรคธอระพิดหิดฝีทั้งปวงด้วยโรค 3 ประการ สรุปใจความสำคัญว่า

หนึ่ง เกิดจากดอกไม้พิษ ออกฝีในเดือน 1-2-3-4 เป็นฤดูหนาว ดอกไม้พิษและว่านยาเห็ดเบื่อเมาลมพัดเอาเกษรดอกไม้ขึ้นมาต้องตัวฝูงคนจนเป็นไข้พิศต่าง ๆ

สอง เกิดจากพิษงู ในฤดูร้อนเดือน 5-8 เมื่อนาคพ่นพิษและเกล็ดร่วงถูกลมพัดไปต้องคนป่วย

ส่วนประการที่ สาม มีความคัดลอกจากต้นฉบับมาได้ว่า

“อนึ่งจะแก้ฝูงคนทั้งหลายออกฝีเพราะอุบัตก็มี อาพาษแห่งอำนาจแก่งดีศาส (ปิศาจผู้เขียนกระทำโทษมันให้เป็นต่าง ๆ มากนักจะพรระณา แต่เลหกะเทแต่สน้อย แต่ราวพึงรู้พึงเข้าใจ ในเมื่อเดือน 9-10-11-12 เป็นวะสันตะระดู เป็นเกษการพระญาไวยะราพหุงอยาพิศนั้น  ยาพิศที่หุงพลุ่งในนภากาศ ลมพัดไปทวีปเรานี้ คนทั้งหลายก็ออกฝีเรียกว่าเปนไข้ขี้ฉ้อ เหตุว่ามันแต่งดิศาสกำกับผีนั้น มันฉ้อเอาด้วยกลอุบายต่าง ๆ ลางครั้งมันแต่งทหารยกทับตั้งเปนทับผี ครั้งถึงบ้านเมืองใดมันก็ตั้งทับแล้วก็บอกหนังสือ เข้าไปในบ้านนั้น ฝูงคนทั้งบางก็ฝันเห็นว่าทับ จึงจะขอเข้าเปลือกเข้าสารเนื้อปลาผ้าผ่อนทั้งปวง จงทุก ๆ เรือน ถ้าแลมิได้ก็จะขอคนไปจงสิ้น ครั้นได้แล้วมันก็ยกทัพออกจากที่นั้นสมเด็จพระบรมครูจึงตรัสว่า ให้ทำโรงพิทธิทั้งแปดมุมเมือง มีพระอรหันต์ประจำทุกทิศทั้ง 8 ทิศ ให้สวดอัฏะนาติยาสูตรให้เอาคนโทษ หญิงหนึ่ง ชายหนึ่ง 2 คน ไสแพลอยไป ยิงปืนอัตะนาทั้ง 8 ทิศ เสียพระเคราะห์เมืองนี้เป็นที่พึ่งประทบกันมา ครั้งยิงอัฏะนา ฝูงดิสาศก็อยู่ไม่ได้ มันก็แล่นหนีไป”

การอ้างสมเด็จพระบรมครูในคัมภีร์นี้ คือการอ้างถึงพระพุทธองค์ที่เป็นบรมครูของการแพทย์ด้วย แต่รัชกาลที่ 5 ไม่ทรงเชื่ออีกต่อไปแล้วว่ามาจากพระพุทธเจ้าที่เป็นบุคคลจริงตามวิธีคิดสมัยใหม่

การแพทย์ตะวันตก สถาบันของรัฐสมัยใหม่ในการจัดการโรคระบาด

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ยกเลิกพิธีกรรมทางศาสนาในการปราบโรคระบาด หันมาใช้การแพทย์สมัยใหม่ที่ใช้การแจกยารักษาโรคแก่ราษฎร และใช้วิธีการด้านสาธารณสุขในการทำลายและป้องกันแหล่งแพร่โรคแทน

โดยในคราวโรคอหิวาต์ระบาดครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ .. 2416 ได้เกิดจุดพลิกผันสำคัญคือ การเปลี่ยนมารักษาด้วยยาแบบการแพทย์สมัยใหม่ แทนการทำพิธีทางศาสนาเช่นแต่ก่อนมา

ส่วนยาที่ใช้รักษาก็คล้ายกับตำรับของหมอเฮาส์ที่ใช้หัวแอลกอฮอล์และการบูรเป็นหลัก โดยโปรดให้พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ อธิบดีกรมหมอ ปรุงยาขึ้นมา 2 ขนาน คือ เอายาวิสัมพญาใหญ่ตามตำราไทยผสมกับแอลกอฮอล์ทำเป็นยาหยดในน้ำขนานหนึ่ง กับอีกขนานคือนำเอาการบูรมาทำเป็นยาหยดเรียกว่าน้ำการบูร แล้วนำไปแจกจ่ายให้กับราษฎรโดยตั้งโอสถศาลาตามที่ประชุมชนและบ้านข้าราชการ ปรากฏว่าได้ผลในการปราบอหิวาตกโรคพอสมควร

ช่วงที่เกิดการระบาดของอหิวาตกโรคใหญ่ครั้งที่ 2 ในรัชกาลที่ 5 .. 2424 นั้น คาร์ล บ็อค (Carl Bock) นักธรรมชาติวิทยาเดินทางอยู่ในกรุงเทพฯ และได้ประสบเหตุการณ์โดยตรงและป่วยด้วยโรคนี้จนแทบเอาชีวิตไม่รอด ได้บรรยายถึงสภาพของกรุงเทพฯ ไว้ว่าตลอดระยะนี้ทั้งเมืองมีแต่กลิ่นเหม็นคลุ้งไปหมด ในครั้งนี้การฝังศพก็ชักช้า ไม่ทันต่อเหยื่อของอหิวาต์ที่หามไปวัดสระเกศ จำนวนซากศพบางครั้งมีตั้งแต่ 60 จนถึง 120 ต่อวัน

แม้ว่ารัฐบาลสยามจะได้หันไปใช้การแพทย์สมัยใหม่ในการจัดการกับโรคระบาด โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงสนพระทัยตรวจตราดูการขยายตัวของโรคนี้ด้วยพระองค์เอง ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ แพทย์หลวงประจำพระองค์ที่สำเร็จการแพทย์แผนตะวันตกมา จัดเรือกลไฟ 3 ลำปักธงขาวเป็นเครื่องหมาย แล่นขึ้นล่องไปตามแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ ในเรือมีหมอไทยคอยให้คำแนะนำรักษาโรค และแจกยาให้ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า

รัชกาลที่ 5 ยังได้ทรงนำพระอนุชาและข้าราชการผู้ใหญ่ให้จัดตั้งโรงพยาบาลชั่วคราวขึ้นด้วย เงินค่าใช้จ่ายในการนี้ใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และต้องรายงานการระบาดและกิจการที่ได้ทำช่วยเหลือประชาชนให้พระองค์ทราบทุกวัน จนกระทั่งโรคอหิวาตกโรคสงบลงในเวลา 6 สัปดาห์ต่อมา หลังจากนั้นได้พระราชทานเหรียญที่ระลึกให้แก่ผู้ได้ทำหน้าที่ช่วยเหลือต่าง ๆ ทั่วหน้ากัน

บ็อคยังเล่าสภาพของสามัญชนชาวสยามได้เผชิญหน้ากับโรคอหิวาต์ระบาดร้ายแรงนี้ ด้วยความกลัวและอธิบายว่าเกิดจากผี และเพื่อระงับซึ่งความกลัวผีร้ายจะมาทำอันตรายให้เป็นโรคขึ้น ชาวบ้านจึงได้ใช้เครื่องรางของขลังในการป้องกันความกลัวและสร้างความมั่นใจ ด้วยการพกพาเครื่องรางตลอดเวลาที่โรคกำลังระบาดและพากันเชื่อว่าเครื่องรางของเขาจะคุ้มครองป้องกันโรคได้ดีกว่ายาที่ได้รับแจก

หลังการระบาดของอหิวาตกโรคครั้งนี้ยุติลง 4 ปี รัฐสยามได้เดินหน้าตั้งสถาบันทางการแพทย์เพื่อสร้างบทบาทใหม่ของรัฐในการดูแลสุขภาพของประชาชนไปพร้อม ๆ กับการกำเนิดขึ้นของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยมีการตั้งคณะกรรมการจัดสร้างโรงพยาบาลถาวรของรัฐเพื่อดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนขึ้น ดำเนินการจัดตั้ง โรงศิริราชพยาบาล จนสามารถที่เปิดดำเนินการใน .. 2431 ถือเป็นฐานสถาบันทางการแพทย์ของรัฐด้านการแพทย์ที่สำคัญ

แผนฝีดาษที่ฝีออก

การสาธารณสุข เทคโนโลยีแห่งอำนาจที่รัฐสยามใช้จัดการ “โรคระบาด”

รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามยังมีบทบาทจัดการสิ่งแวดล้อมในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ที่กำลังขยายตัวให้สะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้น จนกลายเป็นที่มาของการจัดการสุขาภิบาลเพื่อต่อสู้และจัดการไม่ให้เกิดโรคระบาด

ต่อมาใน .. 2461 ก็ได้ตั้ง กรมสาธารณสุข ขึ้นให้มีอำนาจใช้วิธีการป้องกันและควบคุมโรคทั่วราชอาณาจักร การใช้วิธีการทางการสาธารณสุขที่รัฐจัดให้เพื่อป้องกันและควบคุมโรระบาดนั้นถือว่าได้ผล หลังจากมีความก้าวหน้าของการแพทย์ จนทำให้ทราบว่าเชื้อโรคชนิดต่างกันทำให้เกิดโรคเฉพาะเจาะจงตามเชื้อโรคอันเป็นชื่อเฉพาะของโรค

ทำให้ชาวสยามในทศวรรษ  2440 เป็นต้นมา เลิกการเรียกว่าโรคห่าแทนโรคระบาด มาเรียกด้วยชื่อเฉพาะที่เกิดจากเชื้อโรคนั้น ๆ เป็นทรพิษ อหิวาตกโรค กาฬโรคแทน

แต่กระนั้น มนุษย์ก็ยังไม่มีการค้นพบยาวิเศษที่กำจัดเชื้อโรคแต่ละโรคด้วยยาที่จำเพาะ เหมือนดังการค้นพบเพนนิซิลินช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เป็นยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อโรคได้ชะงัด โดยเฉพาะรักษาโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย และจุลินทรีย์หลายชนิดได้ดี (แต่กับไวรัสการค้นพบยาแบบนี้ยังยากจนปัจจุบันดูไข้หวัดเป็นตัวอย่างที่ยังไม่มียาเฉพาะกำจัดเชื้อ)

ในช่วงเวลาที่ยารักษายังไม่มีประสิทธิภาพนักนี้ รัฐสยามสมัยใหม่เน้นใช้วิธีการควบคุมและป้องกันในเชิงสาธารณสุขเป็นหลักในการควบคุมโรค เช่น การรักษาความสะอาดของเมือง บ้านเรือนและสุขอนามัยส่วนบุคคล การหลีกเลี่ยงกินดื่มสิ่งปะปนเชื้อ การกำจัดพาหะของโรค อย่าง ยุง แมลงวัน หมัดหนู ฯลฯ ซึ่งก็ได้ผลดีในการควบคุมโรคระบาด

ส่วนการแพทย์ที่เป็นการรักษานั้น แม้จะใช้ยาที่เคยใช้รักษาโรคมานานานอย่าง ควินิน คลอโรดิน ทิงเจอร์การบูร ก็ตาม แต่ก็สามารถรับมือกับโรคระบาดได้ดี ทำให้อัตราตายน้อยลงและการระบาดก็ไม่รุนแรงเหมือนเก่า

สิ่งที่เราสามารถจะเรียนรู้และเลือกรับปรับใช้จากประสบการณ์ของสังคมไทยในการจัดการโรคระบาดในอดีตที่สำคัญคือ มาตรการป้องกันและควบคุมโรคนั้นสำคัญกว่ารักษาและเยียวยาเสมอมา และเป็นมาตรการที่ประชาชนทุกคนสามารถร่วมมือกันทำเองได้

ในขณะที่ส่วนของการรักษาและเยียวยานั้นจะเป็นหน้าที่หลักของรัฐคือสถาบันทางการแพทย์ แต่คนธรรมดาที่เป็นคนป่วยจะไร้อำนาจในการจัดการ แต่รัฐเองก็มีทรัพยากรทางการแพทย์จำกัดทั้งบุคลากร เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์

ดังนั้น จงอย่าให้ถึงมือหมอมาจัดการโรคของเราอันจะควบคุมชะตาของเราเองยาก แต่จงให้มือเราเองจัดการจะดีกว่าคือควบคุมตัวเอง ครอบครัว และชุมชนอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันโรค อันเท่ากับประกันได้ว่าเราเองจะมีอำนาจช่วยสังคมไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกันด้วยตัวเราเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เอกสารอ้างอิง :

ชาติชาย มุกสง (2562). จากความหวาดกลัวปิศาจสู่เชื้อโรค: ประวัติศาสตร์อารมณ์ความรู้สึกของอหิวาตกโรคในสังคมไทยในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 25. หน้า 89-107. ใน รายงานสืบเนื่องการจัดประชุมวิชาการเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการวิจัยสายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ครั้งที่ 12. วันที่ 24-25 ตุลาคม 2562, คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มีนาคม 2563