ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
หลายคนอาจพอทราบว่าในสมัยอยุธยา กษัตริย์ผู้ทรงชื่นชอบการฆ่าสัตว์ คือ “สมเด็จพระเจ้าเสือ” หรือ “พระเจ้าเสือ” กษัตริย์องค์ที่ 29 แห่งอยุธยา เพราะมีบันทึกว่าพระองค์ทรงโปรดการฆ่าสัตว์และมีนิสัยโหดเหี้ยม จนได้รับฉายาว่า “เสือ” แต่รู้หรือไม่ว่าในสมัยอยุธยามีกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งที่โปรดฆ่าสัตว์ไม่ต่างกัน นั่นคือ “สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ” หรือ “พระเจ้าท้ายสระ” กษัตริย์องค์ต่อมาของราชวงศ์บ้านพลูหลวง
เรื่องราวนี้ปรากฏอยู่ใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 82 เรื่อง พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของ บริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน หน้า 310-311 ซึ่งกล่าวถึงพระอุปนิสัยของ “พระเจ้าท้ายสระ” ว่าโปรดการล่าสัตว์มาก โดยมักฆ่าสัตว์นานาชนิด ไม่ว่าจะเป็น ปลา นก รวมไปถึงช้าง ดังที่ปรากฏด้านล่างนี้…
“สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินนั้นพอพระทัยทําปาณาติบาต ฆ่ามัจฉาชาติปลาน้อยใหญ่ต่าง ๆ เป็นอันมาก ด้วยตกเบ็ดทอดแหแทงฉมวก ทำลี่กันเฝือก* ดักลอบ ดักไซ กระทำการต่าง ๆ ฆ่าสัตว์ต่าง ๆ ประพาสป่าฆ่าเนื้อนกเล่นสนุกด้วยดักแร้ว ดักบ่วง ไล่ช้าง ล้อมช้าง ได้ช้างเถื่อนเป็นอันมาก เป็นหลายวัน แล้วกลับคืนมายังพระนคร”
นี่จึงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า “พระเจ้าท้ายสระ” ทรงชื่นชอบการ “ล่าสัตว์” เหมือนพระราชบิดาของท่านมากเพียงใด
*พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหอสมุดแห่งชาติว่า ทำที่กันเฝือก
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 ตุลาคม 2566