“การถวายอยู่งานพัด” หน้าที่ถวายงานสมัยโบราณ ที่เปรียบดั่งผู้กำหนดภาพลักษณ์ของเหล่าเจ้านาย!

เจ้าฟ้าเพชร ดำรงพระอิสริยยศ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้า ก่อนเถลิงราชย์ พระนามพระเจ้าแผ่นดิน สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ พระเจ้าท้ายสระ การถวายอยู่งานพัด พัด
สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ในละครเรื่องพรหมลิขิต (ภาพจาก Facebook: Ch3Thailand)

เมื่อเราดูละครย้อนยุคหรือละครจักร ๆ วงศ์ ๆ มักจะต้องเห็นใครคนใดคนหนึ่งกำลังนั่งพับเพียบข้าง ๆ พลางปรนนิบัติพัดวีกษัตริย์และเหล่าขุนนาง ด้วยการใช้ “พัด” ปัดไปมาตามจังหวะ มีท่าทางคล้ายเสริมความเย็นให้กับคนบนตั่ง ขณะเดียวกันก็เหมือนกำลังปัดแมงหรือแมลงที่กำลังไต่ตอม หน้าที่นี้รู้จักกันในชื่อ “การถวายอยู่งานพัด”

การถวายอยู่งานพัด ถือเป็นหนึ่งในการถวายอยู่งาน ไม่ต่างจากการถวายอยู่งานแส้หรือถวายงานนวด ซึ่งเป็นหน้าที่ประจำของข้าหลวงแต่ละตำหนัก โดยการอยู่งานพัดมีจุดประสงค์เพื่อพัดบรรเทาความร้อน

การถวายงานพัดเป็นตำแหน่งที่ไม่ใช่ว่าใครจะมาทำได้ ทั้งยังไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องได้รับการฝึกฝนอย่างเข้มข้น เพื่อการปรนนิบัติที่ถูกต้อง ผู้พัดวีต้องบังคับแรงลมให้ถูกต้องกับความประสงค์ในหลายกรณี เช่น พัดในเวลาธรรมดาทั่วไป ต้องพัดให้ได้ลมเย็นระรื่น ไม่ใช่เป็นก้อนกระโชก, พัดในเวลาเหงื่อออก จะต้องพัดด้วยลมเบา ๆ, หากพัดช่วงที่เหล่าเจ้านายแต่งเครื่องแบบเต็มยศ ต้องบังคับไม่ให้ลมพัดโดนเส้นผม เน้นอยู่ใต้คอ รวมทั้งต้องพัดไม่ให้ลมต้องผ้านุ่งจนปลิว เป็นต้น 

นอกจากฝีมือบังคับลมในสถานการณ์ต่าง ๆ จะต้องไม่ผิดพลาดแล้ว การจับและการพัดก็ต้องมีวิธี โดยต้องจับเกือบกึ่งกลางด้ามพัด กำด้วยอุ้งมือ บังคับด้วยนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ นิ้วที่เหลือรวบอยู่ด้านล่าง คว่ำหลังมือขึ้นบนเฉียงทางขวาเล็กน้อย

ส่วนการพัด ครั้งแรกต้องพัดลงไปตรง ๆ ก่อน จากนั้นยกพัดขึ้นตรงเพื่อต้อนลมให้เข้ามาในอุ้งหน้าพัด แล้วพลิกพัดหงาย ม้วนมือ ช้อนหน้าพัดให้กลับอุ้มลมขึ้น แล้วคว่ำหน้าพัดส่งลงตรงไป วนเวียนไปเช่นนี้เพื่อให้บังคับลมได้ตามต้องการ

จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการถวายอยู่งานพัดเป็นตำแหน่งสำคัญ เพราะอยู่ถวายงานอย่างใกล้ชิด และไม่เพียงสร้างความรู้สึกผ่อนคลาย แต่ยังเป็นผู้กำหนดภาพลักษณ์ของเหล่าเจ้านายอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. “สี่แผ่นดิน” กับเรื่องจริงในราชสำนักสยาม. กรุงเทพฯ: มติชน, 2554.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 ตุลาคม 2566