มนุษย์ (สมัย) อยุธยา ต้องมีหน้าตาแบบไหนถึงหล่อสวย ดูดี มีคลาส

อยุธยา เรือสำเภา ค้าขายทางเรือ คนอยุธยา คนกรุงศรีอยุธยา หน้าตา
นักเดินทางหลายชาติบนเรือสำเภาที่มาติดต่อการค้า และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับอยุธยา (ภาพจากหนังสือ สมุดข่อย จัดพิมพ์โดย โครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย พ.ศ. 2542)

มนุษย์ (สมัย) อยุธยา รูปร่าง หน้าตา เป็นอย่างไร? แบบไหนหรือเรียกว่าสวย ว่าหล่อ? แม้เราจะเกิดไม่ทันสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ถ้าลองพลิกบันทึกของชาวต่างชาติที่เข้ามาติดต่อกับสยามในสมัยนั้นอย่าง ลา ลูแบร์, นิโกลาส์ แชรแวส, กีย์ ตาชาร์ด, เดอ ซัวซีย์, วัน วลิต, แกมป์เฟอร์ ฯลฯ ก็คงหาคำตอบได้ไม่ยากว่า มนุษย์(สมัย)อยุธยา รูปร่าง น้าตา สวย หล่อขนาดไหน

แต่เมื่อมีหนังสือ “มนุษย์อยุธยา ประวัติศาสตร์จากข้าวปลา หยูกยา ตำรา SEX” งานเขียนล่าสุดของ กำพล จำปาพันธุ์ นักวิชาการที่ค้นคว้าหลักฐาน และเอกสารพยานอย่างรอบด้าน มาสรุปเป็นหนังสือที่อ่านง่าย การหาคำตอบข้างต้นจึงสะดวกรวดเร็วขึ้น ในที่นี้ขอสรุปเนื้อหาเฉพาะประเด็นเรื่อง “ร่างกาย” มนุษย์(สมัย)อยุธยา มานำเสนอโดยสังเขป

Advertisement

สาว สมัย อยุธยา อุ้ม เด็ก
สาวสวยสมัยอยุธยา ต้องรูปร่างแบบนี้ (ภาพจาก น. ณ ปากน้ำ, หนังสือวัดประดู่ทรงธรรม สำนักพิมพ์เมืองโบราณ)

รูปร่าง สาวชาวบ้านในผู้หญิงอยุธยา รูปร่างต้องท้วมใหญ่ ท้วมขนาดไหน ก็มีคติว่า “ช้างงามอยู่ในป่า” หญิงชาวบ้านที่ต้องดูแลบ้านช่องและปกป้องตัวเอง แต่ไม่ใช่ว่าสาวอยุธยาจะสวยบึกบึนเสียทั้งหมด บรรดาสตรีไฮโซและเซเลบล้วนแต่เอวบางร่างน้อยทั้งสิ้น

ขณะที่ผู้ชายอยุธยาไม่ได้ล่ำบึก ใหญ่โตไปทุกคนเช่นกัน บุคคลชั้นนำโดยเฉพาะพระเจ้าแผ่นดินไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีพระวรกายใหญ่โต และนั่นก็ไม่ใช่ลักษณะที่สง่างามในสังคมอยุธยา

ตามหลักฐานภาพวาดของชาวต่างชาติที่เข้ามาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น ลักษณะ “รูปร่าง” ที่ถือว่าสง่างามคือ พระวรกายสมส่วนไม่เล็กไม่ใหญ่ สรุปว่าชนชั้นนำทั้งชายหญิงที่ว่างามดั่งเทพ จึงไม่มีรูปร่างใหญ่โต ทั้งขนบวัฒนธรรมในอดีต ร่างกายใหญ่โตเป็นร่างกายของอสูร

สีผิว แต่เดิมคนกรุงศรีผิวสีคล้ำเข้มนั้นถือว่าสวยว่าหล่อ ความนิยมนี้เป็นอิทธิพลที่ได้มาจากเขมร พระพุทธสำคัญในขณะนั้นอย่างหลวงพ่อแก่วัดธรรมิกราชก็ยังทำให้ผิวองค์พระสีดำเข้ม แต่เมื่อมีชาวตะวันตกเดินทางเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา คนอยุธยาก็ได้รับรู้ค่านิยมอื่นๆ เพิ่มเข้ามา เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ความนิยมผิวขาวเป็นความงามในอุดมคติก็แพร่หลาย แต่สีผิวของชนชั้นที่แสดงถึงบุญญาธิการยังเป็นสีเหลืองทอง

ฟัน ที่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ หน้าตา ไม่ใช่แค่มีฟันเรียงเป็นระเบียบแค่นั้นพอ มนุษย์อยุธยายังต้องมีฟันสีดำด้วยจะจึงจัดว่า “ฟันสวย” สีของฟันยังบอกถึงวัยวุฒิอีกด้วย ฟันยิ่งดำ ก็ยิ่งถือว่าเป็นผู้ใหญ่ สำหรับมนุนย์อยุธยาถ้าใครฟันขาว เป็นไปได้ 2 อย่าง คือ หนึ่งเป็นเด็ก หรือเป็นผี

ผม การติดต่อค้าขายกับจีน ทำให้ได้รับคติเรื่องความงามจากจีนมาด้วย สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ “การไว้ผมยาว” ทั้งในหญิงและชาย หากเป็นผู้ชายผมที่ยาวจะม้วนขึ้นมัดไว้บนศีรษะ แต่เมื่ออารยธรรมอิสลามและคริสต์เข้ามา ก็เริ่มมีความนิยมผมสั้นเกิดขึ้น การไว้ผมยาวกลายเป็นสิ่งฟุ่มเฟื่อยและยุ่งยากในการดูแลรักษาสำหรับคนทั่วไป คงเหลือแต่ชนชั้นนำที่ยังคงนิยมไว้ผมยาว ต่อมาผมยาวก็กลายเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่บอกความแตกต่างระหว่างไพร่กับเจ้า

ภาพลายเส้นฝรั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 แสดงการสักของ “ลาวพุงดำ” ที่นิยมสักตามร่างกายเป็นลายต่างๆ ตั้งแต่สะดือลงไปจนถึงหัวเข่า

รอยสัก เป็นความนิยมเฉพาะผู้ชาย นอกจากการสักยันต์ลงเลขเพื่อความอยู่ยงคงกระพัน เพราะต้องป้องกันภัยจากอาวุธต่างๆ ในการรบ หรือโจรปล้นทั้งหลาย การสักเพื่อแสดงถึงสังกัดของบุคคลนั้น ไม่ว่าจะเป็นสังกัดกรมกองที่ทำงานอยู่, สังกัดมูลนาย เพราะฉะนั้นผิวกายของชายชนชั้นนำส่วนใหญ่จึงไม่มีการสัก

อวัยวะเพศ ขนาดและรูปร่างของอวัยวะเพศชายเป็นความเชื่ออย่างหนึ่งในอุษาคเนย์ สำหรับมนุษย์อยุธยาในบันทึกของม้าฮวน-ราชทูตจีนสมัยราชวงศ์หยวน ที่เคยเดินทางเข้ามาสมัยอยุธยาตอนต้นกล่าวว่า ผู้ชายที่มีอายุ 20 ปี ขึ้นไปจะมีการผ่าตัดและฝังดีบุก, เงิน, มุก, ทอง ฯลฯ (ตามสถานะทางสังคม) ลงในอวัยวะเพศของตน เพื่อกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเพศมากขึ้น

การดูแล และเพิ่มเติมบางสิ่งบนเนื้อตัว เพื่อความงามของมนุษย์อยุธยา นอกจากจะทำให้เจ้าตัวพึงพอใจแล้ว ดึงดูดความสนใจของผู้พบเห็นแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับสถานะทางสังคมอีกด้วย และบอกให้เรารู้ข้อมูลประวัติศาสตร์อีกชิ้นหนึ่งของอยุธยา

แต่สิ่งที่เรียกว่าว่าสวย ว่าหล่อ ของมนุษย์(สมัย)อยุธยา มนุษย์(สมัย)รัตนโกสินทร์อาจไม่เห็นด้วยก็ได้ อย่างนี่แหละ! ความสวยไม่จีรัง

หมายเหตุ: หนังสือ มนุษย์อยุธยา ประวัติศาสตร์จากข้าวปลา หยูกยา ตำรา SEX ได้รับรางวัลชมเชยจากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำ พ.ศ. 2564 คลิกอ่านข่าวผลการประกวดเพิ่มเติมที่นี่

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

กำพล จำปาพันธุ์. มนุษย์อยุธยา ประวัติศาสตร์จากข้าวปลา หยูกยา ตำรา SEX, สำนักพิมพ์มติชน ตุลาคม 2563.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 กันยายน 2563