“ทองอยุธยา” มาจากไหน?

ทองอยุธยา เครื่องทอง

หลักฐานการพบแหล่ง “ทอง” เพิ่งมีช่วงปลายสมัย “อยุธยา” แล้วก่อนหน้านั้น “ทองอยุธยา” มาจากไหน?

อยุธยาทั่วทั้งราชอาณาจักรและตลอด 417 ปี มีหลักฐานแน่ชัดถึงการพบแหล่งทอง ก็ในรัชกาล สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ พบที่ตำบลบางสะพาน (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) แต่เครื่องทองที่พบจาก กรุปรางค์วัดราชบูรณะและวัดพระราม เป็นสิ่งยืนยันว่า อยุธยามีทองมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นแล้ว

Advertisement

คำถามก็คือ ในเมื่อไม่มีแหล่งทองหรือเหมืองขุดทองของตนเอง อยุธยาไปได้ทองมาจากไหน?

พระคชาธารจำลองในท่าหมอบ ทองคำสลักดุน ประดับอัญมณี พบในกรุของปรางค์ประธาน วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พุทธศักราช ๑๙๖๗ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา (ภาพจากเพจ: กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร)

“ทองอยุธยา” มาจากไหน?

ความเป็นไปได้จากการประมวลข้อมูลประวัติศาสตร์ที่มีอยู่ พบว่าอยุธยาได้ทองมาจากภายนอกด้วยวิธีการ 3 อย่างด้วยกันดังนี้

1. เป็น “ส่วยบรรณาการ” ที่ได้รับมาจากหัวเมืองประเทศราช จากบันทึกของ โยสต์ เซาเต็น (Joost Schouten) พ่อค้าฮอลันดา ที่เข้ามาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมถึงสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ได้ระบุไว้ว่า ในรายการส่วยบรรณาการที่อยุธยาได้จากหัวเมืองขึ้นของตนนั้นมี “ทอง” รวมอยู่ในนั้นด้วย

อำนาจต่อหัวเมืองแสดงออกผ่านการเป็นผู้ครอบครองทองเป็นอันมาก เซาเต็นยังได้บอกด้วยว่า การที่กษัตริย์อยุธยาเป็นผู้ครอบครองทองเป็นอันมากนี้ทำให้ “ทรงได้รับสมญาว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่มั่งคั่งพระองค์หนึ่งทางแถบอินเดีย”

2. เป็น “สินสงคราม” ได้มาจากการเก็บริบเอาจากบ้านเมืองที่แพ้สงคราม แม้ว่าส่วนนี้จะไม่ปรากฏหลักฐานอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นที่คาดได้ว่า ในจำนวนทรัพย์สินของมีค่าต่าง ๆ ที่อยุธยาได้รับมาเนื่องจากชัยชนะในสงครามกับเพื่อนบ้านนั้น ต้องมีทองรวมอยู่ด้วย และเมื่ออยุธยาตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ทองและอัญมณีมีค่าส่วนหนึ่งก็จะถูกถ่ายโอนไปยังบ้านเมืองอื่นเช่นกัน

3. ได้มาจากการค้า สองปัจจัยข้างต้น (ส่วยกับสินสงคราม) ส่วนใหญ่เมื่อได้มาแล้วย่อมตกไปอยู่กับราชสำนักและชนชั้นนำ บันทึกของ โยสต์ เซาเต็น ในที่เดียวกันยังได้กล่าวถึงการที่เหล่าพ่อค้าต่างชาติมักนำทองเข้ามายังอยุธยาตลอดปีอีกด้วย

โดยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของพระคลังสินค้า ตามบันทึกของอาลักษณ์ในคณะทูตเปอร์เซียที่เข้ามาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ได้ระบุถึงดินแดนแหล่งทองโพ้นทะเลที่มีการติดต่อกับอยุธยา อาทิ ศรีลังกา คาบสมุทรมลายู อาเจะห์ หมู่เกาะอันดามัน มะนิลา ญี่ปุ่น เป็นต้น

โดยเฉพาะที่มะนิลาภายใต้การปกครองของสเปนสมัยนั้น อาลักษณ์ของคณะทูตเปอร์เซียยังระบุด้วยว่า “มีชาวจีนมาอาศัยที่เกาะนี้ ส่วนมากเป็นช่างทองและช่างแกะสลัก”

นอกจากนี้ แหล่งอัญมณีสำคัญของภูมิภาคอุษาคเนย์ที่มีการทำเหมืองขุดทองมาแต่โบราณ เช่น ล้านช้างและกัมพูชา ก็มีหลักฐานข้อมูลกล่าวถึงการนำทองจากบริเวณดังกล่าวนี้มายังอยุธยา อาทิ จดหมายเหตุแกมป์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) ระบุว่า พ่อค้าลาวล้านช้างได้นำเอาแร่อัญมณีที่ขุดได้จากเหมืองของตนเอง เช่น ทองคำ ทับทิม มุกดาหาร” ไปขายให้แก่อยุธยา ล้านนา และกัมพูชา

จากเอกสาร “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง” ได้ระบุถึงพ่อค้าเกวียนชาวเขมรจากเมืองพระตะบองได้นำเอา ทองพรายพลอยแดง” เข้ามาขายยังตลาดที่อยุธยาเป็นประจำทุกปี

ใน 3 วิธีการข้างต้นนี้ การค้าดูจะเป็นเหตุปัจจัยให้ได้ทองมามากที่สุดและอย่างสม่ำเสมอด้วย การค้าทองที่แพร่หลายทำให้ “เหรียญทอง” ที่ผลิตจากอยุธยา เป็นของมีค่า สามารถใช้แลกเปลี่ยนกันได้แม้ในดินแดนห่างไกล

จาก “Suma Oriental” บันทึกของ โตเม ปิเรส (Tomé Pires) ชาวโปรตุเกส เขียนระหว่าง ค.ศ. 1512-15 (พ.ศ. 2055-58) ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงระยะแรก ๆ ที่โปรตุเกสเข้ามาติดต่อกับสยาม ก็ได้ระบุถึงการแพร่หลายของเหรียญเงินและเหรียญทองของสยามในระบบการค้าพื้นเมืองแถบมะละกา เคดะห์ และคาบสมุทรมลายู โดย “เหรียญเงินและทองของสยาม มีค่าเท่ากับหนึ่งมะละกาครึ่ง… มีใช้ทั่วราชอาณาจักร… เหรียญเงินและทองนั้นเป็นเหรียญที่ใหญ่และมีค่ามาก”

ดังนั้น จึงไม่เป็นที่แปลกใจเลยว่า เหตุใดโปรตุเกสจึงได้ติดต่อเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีและทำการค้ากับอยุธยา อย่างเกือบจะทันทีที่ยึดเมืองท่ามะละกาได้

ในเมื่ออยุธยาเวลานั้นเป็นแหล่งที่มีเหรียญทอง ซึ่งเป็นที่ต้องการของชาวยุโรปเป็นอันมาก อีกทั้งทองอยุธยายังมีค่าในระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรามากกว่าเหรียญพื้นเมืองในมลายูสมัยนั้น

พระแสงขรรค์
พระแสงขรรค์ จากกรุวัดราชบูรณะ จัดแสดงในนิทรรศการ “เครื่องทองอยุธยา” ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งจาก “เครื่องทองอยุธยา เจ้าสามพระยา และโลกาภิวัตน์แรกในสยาม-อุษาคเนย์” เขียนโดย กำพล จำปาพันธ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2566 [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 สิงหาคม 2566