เบื้องหลังภาพสะท้อน “เครื่องทองโบราณอยุธยา” พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา

ดาบ พระขรรค์ชัยศรี เครื่องทองโบราณ พิพิธภัณฑ์
“พระขรรค์ชัยศรี” ลวดลายสลักรูปดอกไม้ 3 กลีบ อิทธิพลศิลปะแบบเปอร์เซีย

เมื่อพูดถึง เครื่องทองโบราณ เครื่องทองจากกรุวัดราชบูรณะ ที่สร้างในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ปัจจุบันเก็บรักษา และจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คือหนึ่งในรายการที่หลายท่านนึกถึง

หาก เครื่องทองโบราณ ที่จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา ยังมาจากที่อื่นๆ อีกด้วย

รายละเอียดเรื่องนี้ กำพล จำปาพันธ์ เขียนอธิบายไว้ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนเมษายน 2566 กับบทความชื่อ “เครื่องทองอยุธยา เจ้าสามพระยา และโลกาภิวัตน์แรกในสยาม-อุษาคเนย์”

ผู้คนอยุธยาในอดีต ใช้ของมีค่าอย่าง “ทองคำ” หลายรูปแบบในชีวิตประจำวันทั่วไป สำหรับผู้มีฐานะ มีอำนาจ ชนชั้นปกครอง มีการถวายเครื่องทองเป็นพุทธบูชาแด่พระบรมธาตุนั้น จนเกิดเป็นประเพณี ก่อนรัชสมัยเจ้าสามพระยา ในอยุธยาเองจึงพบเครื่องทองตาม “กรุ” ของศาสนสถานต่างๆ เช่น ที่วัดพระราม วัดมหาธาตุ วัดพระศรีสรรเพชญ์ โดยพบมากที่สุดที่วัดราชบูรณะ และสภาพค่อนข้างสมบูรณ์เมื่อเทียบกับที่อื่น

เครื่องทองอยุธยาที่พบ หากพิจารณาจากแผนผังการจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา ก็พอจะจำแนกกว้างๆ ได้ดังนี้

ทองที่แปรรูปเป็นเครื่องราชูปโภค เช่น พระแสงดาบ เครื่องศิราภรณ์ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชบรรณาการต้นไม้ทอง ฉลองพระบาท เป็นต้น

เครื่องประทับ ทองคำ เครื่องทองโบราณ
เครื่องประดับพระราชอิสริยยศ

ทองแปรรูปและของเกี่ยวเนื่องกับศาสนาพุทธ-พราหมณ์ เช่น พระพุทธรูป พระพิมพ์ เจดีย์จำลอง แผ่นทองประกอบลายรอยพระพุทธบาทจำลอง เป็นต้น

ทองที่อยู่ในรูปของเกี่ยวเนื่องกับพระราชวงศ์ฝ่ายใน เช่น สุพรรณบัฏที่มีจารึกระบุถึงการแต่งตั้งสตรีนาม “แม่นางมงคล” กับ “แม่นางเกื้อ”

สุพรรณบัฏ แผ่นทองคำ จารึก
จารึกสุพรรณบัฏ กล่าวถึงสตรีนาม “แม่นางมงคล” ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 พบจากกรุเจดีย์วัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา

ทองที่อยู่ในรูปของเกี่ยวเนื่องกับขุนนาง เช่น แผ่นสุพรรณบัฏมีจารึกแต่งตั้งขุนนางให้ได้รับตำแหน่งต่างๆ

ฯลฯ

เครื่องทองข้างต้น ในฐานะของมีค่านอกจากจะเป็นมรดกของชาติ มันยังสะท้อนภาพการเชื่อมโยงกันระหว่างอยุธยากับโลกภายนอก หรือกระบวนการ “โลกาภิวัตน์” (Globalization) ที่พอจะสรุปผ่านสิ่งต่างๆ ดังนี้

1. ทองคำที่เป็นวัตถุดิบที่มาจากล้านช้าง ที่ต้องผ่านหัวเมืองต่างๆ ในไทย, รัฐเพื่อนบ้านใกล้เคียง และบางครั้งก็มาจากดินแดนแหล่งโพ้นทะเล เช่น ศรีลังกา มลายู อาเจะห์ หมู่เกาะอันดามัน ฯลฯ

2. ลวดลายบนเครื่องทอง เช่น ลายซุ้มเจดีย์แบบล้านนา ซุ้มเรือนแก้วพระพุทธรูปแบบล้านนา ฉลองพระบาท (รองเท้า) แบบล้านนา (พบที่เมืองฮอด เชียงใหม่) หรือลายพระภิกษุพนมหัตถ์และกระทำทักษิณาวรรตแบบสุโขทัย ซุ้มเรือนแก้วพระพุทธรูปแบบสุโขทัย อิทธิพลพระพุทธชินราช สะท้อนอิทธิพลของหัวเมืองฝ่ายเหนือซึ่งเป็นพันธมิตรกับราชวงศ์สุพรรณภูมิ

พระพุทธรูป ทองคำ พระพิมพ์ เครื่องทองโบราณ
พระพุทธรูปและพระพิมพ์ จะเห็นซุ้มเรือนแก้วแบบต่างๆ

3. ช่างทองเป็นชาวจีน ดังเห็นได้จากการจัดแสดงสิ่งของและเครื่องมือช่างทองด้วย เช่น เครื่องถ้วยโถสมัยราชวงศ์หยวน, เงินตราแลกเปลี่ยนที่เมืองจีน, กระจกเลนส์พิเศษจากญี่ปุ่น สำหรับใช้งานในการทำลวดลายขนาดเล็ก ฯลฯ

4. พระแสงดาบมีฝักและด้ามจับลวดลายแบบเปอร์เซีย ได้รับการแนะนำว่าเป็น “พระขรรค์ชัยศรี” พระแสงดาบแบบเปอร์เซียอันนี้น่าจะเป็นพระแสงดาบส่วนพระองค์ หากก็แสดงให้เห็นว่าเจ้าสามพระยาเป็นผู้มั่งคั่ง และมีของจากมหาอำนาจแดนไกลอย่างจักรวรรดิเปอร์เซีย

ส่วนที่มาของพระแสงดาบนี้เป็นไปได้ว่าอาจจะได้รับพระราชทานมาจากสมเด็จพระนครินทราธิราช (เจ้านครอินทร์) พระราชบิดาของพระองค์ ตามที่บันทึกไว้ใน “พระราชพงศาวดารฉบับฟาน ฟลีต” (วัน วลิต)

5. เหรียญทองจารึกอักษรอาหรับ จำนวน 2 เหรียญ มีพระนามสุลต่านชัยนุลอาบีดีน (ครองราชย์ระหว่างพ.ศ. 1926-1948) ผู้ปกครองรัฐซามูดรา (สมุทรา) อาณาจักรปาไซ (Pasai) ปัจจุบันคือบริเวณตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เป็นไปได้หรือไม่ว่า อาจจะเคยมีการส่งตัวเจ้าสามพระยาไปอยู่แถบชวา-มลายูตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เมื่อสุลต่านชัยนุลอาบีดีนสวรรคตจึงได้กลับสุพรรณภูมิ หรือไม่ก็ได้เหรียญทั้งสองนี้มาจากการค้า

เหรียญทองคำ เงินตรา อินโดนีเซีย
เหรียญทองอาหรับ มีจารึกกล่าวสรรเสริญสุลต่านชัยนุล อาบีดีนแห่งอาณาจักรปาไซ (ในเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซียปัจจุบัน) ว่าเป็นผู้ทรงธรรม

6. ตลับ กระปุก สิงห์ ปลา แมวหยกขาว อยู่ในรายการของสะสมขนาดเล็กแบบเวียดนามสมัยราชวงศ์เล บรรจุอยู่ในภาชนะรูปปลาช่อน  แสดงว่าเจ้าสามพระยาน่าจะเป็นกลุ่มอำนาจในอยุธยาที่มีการติดต่อค้าขายและสร้างสัมพันธ์กับราชวงศ์เลมาตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชย์ เมื่อยกทัพไปตีเมืองพระนครของกัมพูชา ไม่ปรากฏว่ากองทัพของเจ้าสามพระยาได้ปะทะกับกองทัพราชวงศ์เลแต่อย่างใด

ที่กล่าวมาก็แค่เนื้อหาบางส่วน หากยังมีเนื้อหาอีกมากมายไม่ว่า ทองคำที่ราชสำนักอยุธยาใช้นั้นมาช่องทางใด จากแหล่งผลิต หรือเหมืองทองคำที่ใด, มนุษย์อยุธยามีการค้า-การบริโภคทองคำอย่างไร, ย่านการค้าทองของกรุงศรีอยุธยาอยู่ที่ใด ทั้งหมดนี้ ขอท่านได้โปรดติดตามจาก “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนเมษายนนี้

หน้าปก นิตยสารศิลปวัฒนธรรม
ปก นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนเมษายน 2566

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 เมษายน 2566