ความขัดแย้ง อยุธยา-V.O.C. สมัยพระนารายณ์ ดัตช์ถึงขั้นส่งเรือรบปิดอ่าวไทย

เรือของฮอลันดา (วาดเมื่อ ค.ศ. 1714)

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 บริษัทอินเดียตะวันออก หรือ V.O.C. ของฮอลันดา (ดัตช์) ได้ขยายอิทธิพลในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนสามารถสร้างเครือข่ายการค้าอย่างเข้มแข็ง ทำการผูกขาดสินค้านานาชนิดโดยเฉพาะการค้าเครื่องเทศในหมู่เกาะโมลุกกะและหมู่เกาะบันดา ขณะเดียวกัน V.O.C. ยังได้ผูกขาดสินค้าอย่าง “หนังกวาง” ในอยุธยาไว้ด้วย ทั้งนี้เพื่อนำไปขายให้กับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่ต้องการมาก และฮอลันดายังเป็นชาติตะวันตกชาติเดียวที่สามารถค้าขายกับญี่ปุ่นในขณะนั้นได้

ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงอนุญาตให้ V.O.C. ผูกขาดการส่งออกสินค้าหนังกวาง อย่างไรก็ตาม ยังมีการลักลอบนำหนังกวางขายให้กับพ่อค้าอื่น ๆ เช่น พ่อค้าคนจีน เกิดขึ้นเป็นประจำ V.O.C. จึงไม่สามารถผูกขาดสินค้าชนิดนี้ได้อย่างแท้จริง และต่อมาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ก็ทรงแต่งเรือสำเภาหลวงโดยใช้คนจีนเดินเรือ นำสินค้าไปค้าขายกับญี่ปุ่นอีก เหล่านี้ทำให้ V.O.C. มีคู่แข่งมากยิ่งขึ้น จนต่อมานำไปสู่ความขัดแย้งระหว่าง V.O.C. กับราชสำนักอยุธยา

ความขัดแย้งเริ่มต้นใน ค.ศ. 1661 เมื่อเรือ Rode Hert ของ V.O.C. เข้ายึดเรือสินค้าของอยุธยาในทะเลจีนใต้ใกล้เกาะไหหลำ เรือลำนี้เป็นเรือของขุนนางมุสลิม Abdu’r – Razzaq โดยที่ฝ่าย V.O.C. อ้างว่า ขณะเข้ายึดเรือ เรือลำนี้กำลังชูธงโปรตุเกส ซึ่งในเวลานั้นฮอลันดากับโปรตุเกสเป็นศัตรูกัน

ข่าวการยึดเรือดังกล่าวมาถึงราชสำนักอยุธยาใน ค.ศ. 1662 ก่อให้เกิดความไม่พอใจของขุนนาง โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นคู่แข่งทางการค้ากับ V.O.C. คือ ขุนนางมุสลิม Abdu’r – Razzaq และได้สั่งห้ามไม่ให้ทำการค้าขายกับ V.O.C. ในอยุธยา

ขณะเดียวกัน เจิ้ง เฉิงกง หรือที่ชาวตะวันตกรู้จักในชื่อ คอซินก้า (Koxinga) ขุนนางจีนที่ต่อต้านราชวงศ์ชิงภายหลังราชวงศ์หมิงล่มสลาย ได้มายังเกาะไต้หวัน ขับไล่ชาวดัตช์ เข้ายึด Fort Zeelandia ป้อมปราการของ V.O.C. บนเกาะ V.O.C. เป็นฝ่ายพ่ายแพ้และทำให้รู้สึกเสียหน้าอย่างมาก นอกจากนี้ เจิ้ง เฉิงกง และพรรคพวกกลุ่มคนจีนได้ทำการค้าขายกับอยุธยา นั่นจึงทำให้ V.O.C. ซึ่งไม่พอใจราชสำนักอยุธยาอยู่แล้วที่ได้ค้าขายกับญี่ปุ่น พอทราบว่าอยุธยาค้าขายกับ เจิ้ง เฉิงกง ก็ยิ่งไม่พอใจมากยิ่งขึ้น

Fort Zeelandia ป้อมปราการของชาวดัตช์สร้างบนเกาะนอกชายฝั่งไถหนาน ไต้หวัน

ช่วงเวลาของความขัดแย้งระหว่างราชสำนักอยุธยากับ V.O.C. นี้ ตรงกับช่วงที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงติดพันศึกที่เมืองเชียงใหม่ ขุนนางที่เป็นคู่ขัดแย้งกับ V.O.C. จึงเหิมเกริมกระทำการอุกอาจ ได้ขู่ขวัญพ่อค้าฮอลันดาในอยุธยา กลุ่มคนจีนและกลุ่มแขกมัวร์ (“เจ้าท่า” คนจีน และขุนนางมุสลิม Abdu’r – Razzaq เป็นผู้นำของทั้งสองกลุ่ม) ได้จัดการไม่ให้ใครเข้าไปติดต่อค้าขายกับ V.O.C. กลุ่มคนจีนยังจับอาวุธเข้าล้อมบ้านวิลันดา หมู่บ้านฮอลันดาในอยุธยา เพื่อข่มขวัญ การกระทำเหล่านี้ทำให้สำนักงาน V.O.C. ที่ปัตตาเวียโกรธเคืองมาก

เรื่องที่ V.O.C. ไม่พอใจอย่างยิ่ง คือ การที่ขุนนางมุสลิมได้นำสินค้าใส่เรือสำเภาหลวงนำไปค้าขายกับญี่ปุ่น ซึ่งสินค้าหนึ่งในนั้นมีหนังกวางอยู่จำนวนหนึ่ง ในเมื่อหนังกวางเป็นสินค้าส่งออกที่ V.O.C. ได้สิทธิ์ผูกขาดมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

ดังนั้น V.O.C. จึงถือว่า ขุนนางมุสลิม และโดยปริยายหมายถึงราชสำนักอยุธยาด้วยนั้น ได้จงใจละเมิดข้อตกลง V.O.C. จึงตัดสินใจตอบโต้ราชสำนักอยุธยา ด้วยการปิดสถานีการค้าในอยุธยาลงชั่วคราว โดยหัวหน้าพ่อค้าของ V.O.C. ประจำอยุธยาและพรรคพวกออกจากอยุธยาอย่างกะทันหัน ไม่ให้ราชสำนักอยุธยารู้ตัวว่า V.O.C. จะดำเนินการตอบโต้อย่างฉับพลัน และต่อมาได้ส่งเรือรบมาลาดตระเวนในบริเวณอ่าวไทย

V.O.C. ส่งเรือรบมาปิดอ่าวไทย 2 ลำ ลำหนึ่งรับหน้าที่ลาดตระเวนฝั่งตะวันตกของอ่าวไทย บริเวณแหลมกุยบุรี อีกลำหนึ่งรับหน้าที่ลาดตระเวนฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย บริเวณสัตหีบ-เกาะสีชัง การปิดอ่าวครั้งนี้กินเวลาราว 3 เดือน ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1663 – เดือนกันยายน ค.ศ. 1664

เรือรบของ V.O.C. ได้รับคำสั่งให้โจมตีและยึดแต่เพียงเรือที่เดินทางกลับมาจากญี่ปุ่นและจีน เผอิญเรือสำเภาหลวงของสมเด็จพระนารายณ์ลำหนึ่งกลับมาจากญี่ปุ่น จึงถูก V.O.C. ยึดสินค้าในเรือลำนั้นไว้ โดย V.O.C. พยายามย้ำให้ราชสำนักอยุธยาเห็นว่า ตนประสงค์ที่จะผูกขาดการค้าต่างประเทศกับญี่ปุ่น เหตุการณ์นี้ทำให้ราชสำนักอยุธยาตกใจและหวาดระแวง V.O.C. อย่างมาก

เมื่อสมเด็จพระนารายณ์เสร็จศึกเมืองเชียงใหม่ พระองค์ได้ทรงพยายามบรรเทาความขัดแย้งระหว่าง V.O.C. กับขุนนางในราชสำนักของพระองค์เอง โดยการปลดขุนนางมุสลิม Abdu’r – Razzaq ออกจากตำแหน่งออกญา โดยหวังว่า V.O.C. จะเลิกโกรธเคืองและการค้าขายจะกลับคืนดังเดิม อย่างไรก็ตาม V.O.C. ได้ตัดสินใจแน่แล้วว่า จะปิดสถานีการค้าที่อยุธยาลงชั่วคราว พร้อมทั้งให้เรือรบ 2 ลำ ลาดตระเวนรอบอ่าวไทยในระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อเป็นการตักเตือนและข่มขวัญราชสำนักอยุธยาให้เกรงอำนาจของ V.O.C. ไว้บ้าง

ต่อมา ราวเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1664 ราชสำนักอยุธยารีบตกลงทำสนธิสัญญาเจรจากับ V.O.C. เมื่อสำนักงาน V.O.C. ที่ปัตตาเวีย ได้ส่ง Pieter de Bitter มาเจรจากับฝ่ายอยุธยา เป็นการปูทางให้ V.O.C. กลับเข้ามาอยุธยาอีกครั้ง โดยมีเงื่อนไขที่ทำให้ V.O.C. ได้เปรียบราชสำนักอยุธยาหลายเรื่อง สนธิสัญญาฉบับนี้นับเป็น Unequal treaty ฉบับแรกของไทยที่ลงนามกับชาติตะวันตก ข้อตกลงในสนธิสัญญานั้นระบุว่า ฝ่ายอยุธยาต้องยอมให้ V.O.C. มีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ไทยยอมให้ชาวตะวันตกมีสิทธิพิเศษนี้

ป้อมปราการที่ปัตตาเวียของดัตช์ ราว ค.ศ. 1656

ซึ่งเข้าใจได้ว่า V.O.C. เคยขัดแย้งกับราชสำนักอยุธยามาก่อน ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ที่พระองค์ทรงเคยข่มขู่ว่าจะประหารชีวิตลูกจ้างของ V.O.C. ในอยุธยาทั้งหมด พอถึงเวลานี้ V.O.C. มีโอกาสที่จะขอสิทธิสภาพนอกอาณาเขต จึงรีบทำข้อตกลงลักษณะนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้ลูกจ้างของ V.O.C. ต้องตกอยู่ใต้กฎหมายของไทยอีกต่อไป

ข้อตกลงในสนธิสัญญาอีกประการที่ฝ่ายอยุธยาเสียเปรียบ คือ การห้ามไม่ให้ไทยใช้คนจีนค้าขายหรือเดินเรือให้ในการค้าทางทะเลของกษัตริย์ โดย V.O.C. มีจุดประสงค์ที่จะกีดกันมิให้เรือสำเภาหลวงของราชสำนักอยุธยาไปค้าขายกับญี่ปุ่น โดยเฉพาะการค้าของป่าอย่างหนังสัตว์และไม้ฝาง สินค้าทั้งสองประเภทนี้เป็นสินค้าส่งออกของอยุธยา มีแหล่งที่มาในป่าของไทย ซึ่ง V.O.C. ทราบดีว่า กษัตริย์อยุธยาทรงใช้พ่อค้าและคนจีนเป็นส่วนใหญ่ในการเดินเรือสำเภาหลวงไปค้าขาย ไม่ว่าจะที่ไต้หวัน ญี่ปุ่น หรือจีน

ในระยะแรก ๆ หลังการลงนามในสนธิสัญญา ค.ศ. 1664 สมเด็จพระนารายณ์ทรงเป็นห่วงมากว่า จะไม่สามารถค้าขายกับญี่ปุ่นและจีนได้อีก เพราะถูกห้ามไม่ให้ใช้ชาวจีนเดินเรือสำเภาหลวง ดังนั้น สมเด็จพระนารายณ์จึงทรงส่งผู้แทนไปเจรจา ขอร้องให้ V.O.C. ยกเลิกข้อตกลงในสนธิสัญญาข้อหลังนี้ โดยอ้างว่า คนจีนในอยุธยาที่รับใช้พระองค์นั้นล้วนแต่เป็นคนภายใต้การปกครองของพระองค์ทั้งสิ้น มิได้เป็นคนของ เจิ้ง เฉิงกง

อย่างไรก็ตาม V.O.C. ไม่ยอมตกลงตามที่ราชสำนักอยุธยาร้องขอ เพียงแต่พยายามมิให้ทางฝ่ายอยุธยารู้สึกสิ้นหวังเสียหมด โดยการยอมส่งนักเดินเรือของ V.O.C. ไปช่วยการเดินเรือของราชสำนักอยุธยาไปจีนและญี่ปุ่น แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือ V.O.C. ไม่พร้อมที่จะลงทุนลงแรงนำเรือรบไปลาดตระเวนเพื่อคอยตรวจว่า เรือของอยุธยาแต่ละลำที่แล่นเข้ามาในทะเลจีนใต้ มีคนจีนเป็นผู้เดินเรือ หรือเป็นพ่อค้าประจำเรือหรือไม่ ซึ่ง V.O.C. คงจะเห็นว่า ไม่คุ้มค่าที่จะทำเช่นนั้น กระนั้น ภายใน 3-4 ปี หลังการลงนามในสนธิสัญญา ค.ศ. 1664 ฝ่ายอยุธยาก็กลับไปค้าขายกับญี่ปุ่นได้เหมือนเดิม และสมเด็จพระนารายณ์ก็ยังทรงใช้คนจีนค้าขายเดินเรือสำเภาหลวงได้เหมือนเดิมเช่นเดียวกัน

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ธีรวัต ณ ป้อมเพชร. (2533). ไทยเปิดประเทศ. ใน นโยบายต่างประเทศไทยบนทางแพร่ง. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มิถุนายน 2564