บางกอก-ตลาดแก้ว-ปากเกร็ด ชาวดัตช์สมัยพระเจ้าปราสาททอง ระบุ เป็นแหล่งรายได้ของอยุธยา

ภาพเขียนสีน้ำ รูป กองกำลังสยาม ปิดล้อม ป้อมฝั่งตะวันออก ที่ บางกอก เมื่อ พ.ศ. 2231 สมัย สมเด็จพระนารายณ์ สมัย กรุงศรีอยุธยา
ภาพเขียนสีน้ำรูปกองกำลังสยามปิดล้อมป้อมฝั่งตะวันออกที่บางกอก เมื่อพ.ศ. 2231 สมัยสมเด็จพระนารายณ์

บางกอก ตลาดแก้ว ปากเกร็ด ชาวดัตช์สมัย “สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง” ระบุ เป็นแหล่งรายได้ของ กรุงศรีอยุธยา

ไคสแบร์ต เฮ็ก (Gijsbert Heeck) ชาวดัตช์ (ฮอลันดา) เดินทางเข้ามายัง กรุงศรีอยุธยา เมื่อ ค.ศ. 1655 หรือ พ.ศ. 2198 ตรงกับรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ขณะที่เฮ็กได้เดินทางเยือน “บางกอก” ซึ่งตั้งอยู่เหนือโรงสินค้าของฮอลันดาที่ปากน้ำขึ้นมาราว 7 ลีก (1 ลีกเท่ากับระยะทางราว 3 ไมล์) ได้เล่าถึงบางกอกว่า

“รุ่งเช้าวันนี้ อากาศสดชื่นและสบายดี เรือเรามาถึงที่บางกอก ที่นี่เป็นสถานที่ใหญ่โต มีเรือนสร้างหันเข้าหากัน แต่ทั้งหมดดูสร้างอย่างลวก ๆ บนเสาสูง ซึ่งทั้งเสา ขื่อแป ฝาเรือน และส่วนประกอบอื่น ๆ ทำด้วยไม้ไผ่หนาแบบหวายอินเดียเพียงอย่างเดียว และมุงด้วยใบมะพร้าวหรือจาก เรือนหลายหลังมีฝาทำสาดฟางหรือไม่ก็ใบจากที่ผูกเข้ากับใบมะพร้าว ส่วนพระภิกษุอยู่กุฏิไม้มีกระเบื้องมุง แต่ก็ยกสูงบนเสาเพราะพื้นดินอ่อน

แม้พื้นดินจะชุ่มแฉะ แต่ก็อุดมสมบูรณ์มาก มีทั้งต้นมะพร้าว ต้นส้ม มะนาว กล้วย ต้นหมาก และอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้เอง บางกอกจึงเป็นตลาด (หรือที่เขาเรียกว่า ปสาน) ที่รู้จักกันดีที่สุดของแม่น้ำทั้งสาย และได้ทำรายได้อย่างมากมายให้แก่พระเจ้ากรุงสยามจากภาษีต่าง ๆ

การค้าขายทำกันในเรือทั้งใหญ่และเล็ก เรือยอชท์โปรตุเกสรวมทั้งเรือฟลุตที่ชื่อ ลูเบ็ก ก็จอดทอดสมอที่นี้ จำนวนทั้งหมด 4 ลำ ที่กลางแม่น้ำเลย เรายังได้เห็นพระอารามที่มีพระพุทธรูปซึ่งสร้างอย่างอลังการในแบบของเขาโดยใช้ทรัพย์จำนวนไม่น้อย”

ดังคำพรรณาของเฮ็กจะเห็นได้ว่า บางกอก หรือ ธนบุรีศรีสมุทร เป็นเมืองชุมทางการค้าคึกคักมากแห่งหนึ่ง มีชื่อเสียงเรื่องผลไม้เป็นอย่างมาก และเป็นแหล่งรายได้สำคัญของ กรุงศรีอยุธยา

แผนที่ แม่น้ำเจ้าพระยา ถึง ปากน้ำ บางกอก ตลาดแก้ว ปากเกร็ด
แผนที่ลำน้ำเจ้าพระยาจากอยุธยาถึงปากน้ำจะปรากฏชื่อของเมืองบางกอกอยู่ตรงจุดแยกที่จะออกปากน้ำด้านสมุทรปราการ และด้านท่าจีนได้ จึงกลายเป็นชุมทางการค้าที่สำคัญ

เมื่อเฮ็กเดินทางจากบางกอกขึ้นมา เขาได้พบกับบริเวณ ตลาดแก้ว หรือ บ้านตลาดแก้ว ซึ่งในปัจจุบันคือบริเวณสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แถบปากคลองบางกรวย วัดปากน้ำ และเลยวัดเขมาฯ ขึ้นมาจนถึงศาลากลางจังหวัดนนทบุรีหลังเก่า เขาบันทึกถึงย่านการค้าที่สำคัญแห่งนี้ไว้ว่า

“เมื่อก่อนเที่ยงวัน พวกเราได้มาถึงสถานที่ซึ่งเรียกว่า ตลาดแก้ว เมืองนี้ค่อนข้างใหญ่ และมีตลาดที่มีชื่อเสียงเปิดขายทุกวัน มีสินค้าทุกชนิด ตั้งขายเหมือนที่บางกอกในเรือทั้งเล็กและใหญ่ และยังมีเรือนแพที่สร้างขึ้นเพื่อการขายของโดยเฉพาะ ฝูงคนคับคั่งกันอย่างคึกคัก

เราได้ซื้อแตงโมหลายผล ผลหมาก และใบพลูให้คนงานและคนพายเรือ เราประสบปัญหาอยู่บ้างในเวลาซื้อของ เพราะพ่อค้าไม่ต้องการรับเงินดัตช์ และไม่ค่อยเต็มใจรับเหรียญสลึง เพราะเกรงว่าเป็นของปลอมหรือเก่าเกินไป และพิจารณาแล้วพิจารณาอีก เงินตราที่ใช้กันทั่วไปเป็นแผ่นเงินบริสุทธิ์ที่เอามาตีจนเกือบกลมและประทับตราเล็กรูปช้าง กวางหรืออะไรทำนองนั้น

ในภาษาสยามเรียกพวกนี้ว่า ทิกัล (tical) [คือ บาท – ผู้แปล] และทางเหนือน้ำขึ้นไปเหรียญหนึ่งมีค่าเท่ากับ 30 สไตเวอร์ (stivers) ของเรา แต่ทางใต้น้ำ เงินของเรามีค่าต่ำกว่า เหรียญทิกัลหนึ่งแลกได้ 8 ชิลลิง (หรือ 48 สไตเวอร์) สี่ทิกัลมีค่าเท่ากับ 1 ตำลึง (tael) และ 4 ตำลึงเท่ากับ 1 ชั่ง (catty) หรือเท่ากับ 120 กิลเดอร์ เวลาแตกเป็นเงินย่อยลงไป เงิน 1 ทิกัลบางทีแบ่งเป็นสองกิ่ง แต่แทบไม่ได้เห็นกัน

เงินที่เห็นบ่อยคือ มาส ซึ่งมีค่า 1 ใน 4 ของทิกัล และเฟื้องเท่ากับ 1 ใน 8 ของบาทหรือครึ่งมาส เงินครึ่งเฟื้องเรียกว่า สองไพ ซึ่งเป็นเหรียญที่ไม่ค่อยได้เห็น เงินสองไพมีค่าเท่ากับ 300 เบี้ย (cowries) ซึ่งเป็นหอยสีขาวหม่น อันเป็นที่รู้จักกันดีว่าเรียกอย่างเดียวกัน และใช้ซื้อของเล็ก ๆ น้อย ๆ ในเบงกอล

คนธรรมดาสามัญพอใจรับเบี้ย เพราะหอยชนิดนี้ปลอมยากและเป็นเงินที่ใช้ซื้อเข้าของกันประจำวัน เงินดัตช์ที่ควรนำมาใช้ที่นี่เพื่อไม่ให้ลดค่ามากคือเหรียญริกซ์ดอลลาร์ ซึ่งแลกเงินสยามได้ 6 มาสครึ่ง เงินเหรียญจากบราบันต์ (brabant) ซึ่งประทับรูปกางเขนแคว้นเบอร์กันดีได้รับการยอมรับน้อยที่สุด และแลกได้เพียง 6 สลึง โดยเกลี้ยกล่อมกันนาน แต่ที่บางกอกเหรียญริกซ์ดอลลาร์ที่ประทับตราอย่างอื่นสามารถใช้ในการค้าขายได้

เงินเรียลของสเปนใช้กันที่นี่ได้เหมือนกัน แต่จะหาแลกเปลี่ยนได้ช้าสักหน่อย เหรียญคราวน์ของฮอลันดาได้ราคา 5 บาท เหรียญอื่น ๆ นั้นไม่เป็นที่พอใจรับกันทั้งทางเหนือน้ำ แต่ด้านใต้น้ำพวกเขาใช้เงินค่าน้อย ๆ แลกเปลี่ยนกับเรา เช่น ในการซื้อขายสินค้ากัน เขาให้ราคาแลกเปลี่ยน 10 ชิลลิงหรือกว่านั้นสำหรับ 1 ริกซ์ดอลลาร์ ตามอัตราแลกเปลี่ยนนี้ เราเป็นฝ่ายได้กำไร แต่ชาวสยามก็ไม่ค่อยมีเงินเหรียญเล็ก ๆ นัก และมักใช้อยู่ในกลุ่มพวกเขาเอง ที่ตลาดแก้วมีชาวจีนอยู่บ้าง และเลี้ยงชีพด้วยการรับย้อมผ้า”

ดังคำพรรณาของเฮ็กจะเห็นได้ว่า ตลาดแก้วแห่งนี้เป็นตลาดที่คึกคักมากอีกแห่ง พบการค้าขายแลกเปลี่ยนด้วยเงินตราหลากหลายสกุลเงิน ซึ่งก็เป็นไปตามความน่าเชื่อถือของเงินเหรียญฝรั่ง ที่น่าสนใจคือ อัตราแลกเปลี่ยนด้านเหนือน้ำ คือเหนือบางกอกขึ้นไป กับอัตราแลกเปลี่ยนด้านใต้น้ำ คือใต้บางกอกลงไป แตกต่างกันพอสมควร

นอกจาก บางกอก และ ตลาดแก้ว แล้ว เฮ็กยังกล่าวถึง ปากเกร็ด อีกด้วยว่า เป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ อยู่ห่างจาก กรุงศรีอยุธยา ราว 10 ลีก ที่นี่ก็มีตลาดใหญ่เช่นกัน และมีครัวจีนอยู่ เขาวิจารณ์ว่า รู้สึกอัศจรรย์ที่คนจีนสามารถอยู่อาศัยได้ทุกที่ เพราะว่า “แน่นอนว่า พวกจีนมีจิตใจละเอียดอ่อน ขยันและพากเพียรมาก”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

วินัย พงศ์ศรีเพียร และศศิกานต์ คงศักดิ์. (2544). เอกสารลำดับที่ 39 จดหมายเหตุไคสแบร์ต เฮ็ก ค.ศ. 1655 (พ.ศ. 2198) สยามเทศ-สยามชนในรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง. ใน 100 เอกสารสำคัญ : สรรพาสาระประวัติศาสตร์ไทย ลำดับที่ 7. กรุงเทพฯ : ศักดิโสภาการพิมพ์.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 สิงหาคม 2563