เปิดข้อสันนิษฐาน คำ “บางกอก” (Bangkok) มาจาก “ต้นมะกอก” หรือ “บางเกาะ” ?

บางกอก
ภาพประกอบเนื้อหา - “ทัศนียภาพของเมืองบางกอก” (View of the city of Bangkok) จากหนังสือ “บันทึกของทูตจากข้าหลวงใหญ่แห่งอินเดียประจำสยามและโคชิน-ไชนา” (Journal of an embassy from the Governor-General of India to the courts of Siam and Cochin-China) โดย จอห์น ครอว์เฟิร์ด ทูตอังกฤษผู้รับหน้าที่มาเจรจากับสยามก่อน เบอร์นีย์

เปิดข้อสันนิษฐาน คำ “บางกอก” (Bangkok) มาจาก “ต้นมะกอก” หรือ “บางเกาะ” ?

ก่อนสมัยพระชัยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ดินแดนฝั่ง “กรุงเทพฯ” และ “ธนบุรี” เป็นแผ่นดินเดียวกัน มีชื่อเรียกรวม ๆ กันว่า “บางกอก”

ที่ว่าเป็นดินเดียวกันก็เพราะแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่านั้นไหลลงมาจากทางเหนือ วกเข้าคลองบางกอกน้อยแล้วไปออกคลองบางกอกใหญ่ ต่อสมัยสมเด็จพระชัยราชาจึงได้โปรดให้ขุดคลองลัด เพื่อย่นระยะการเดินทาง ตั้งแต่บริเวณปากคลองบางกอกน้อยไปจรดปากคลองบางกอกใหญ่ หรือจะเรียกตามปัจจุบันว่า จากหน้าสถานีรถไฟบางกอกน้อยไปถึงหน้าวัดอรุณฯ

อันเนื่องมาจากการขุดคลองลัดนี้เอง ทำให้กระแสน้ำเจ้าพระยาไหลลัดตัดตรงในตอนนี้ ดังที่เห็นเป็นแม่น้ำใหญ่ปัจจุบัน เพราะกระแสน้ำไม่ไหลเข้าคลองบางกอกน้อยทั้งหมดเหมือนแต่ก่อน ทำให้แม่น้ำสายเดิมกลายเป็นคลอง และคลองที่ขุดใหม่ในสมัยพระชัยราชาดังกล่าวกลายเป็นแม่น้ำไป บริเวณผืนแผ่นดินเดียวกันของสองฟากแม่น้ำเจ้าพระยาตอนนี้ ได้ ชื่อเป็นทางการว่า “เมืองธนบุรี”

กฎหมายอาชญาหลวง ซึ่งตราขึ้นในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เขียนว่า “ทณบุรี” ต่อมาในพระราชกำหนดเก่าสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเขียนว่า “ทนบุรีย” (กฎหมายตราสามดวง, เล่ม : 2506 : หน้า 11) แสดงให้เห็นว่า ดินแดนแถบนี้เป็นชุมชนขนาดใหญ่มาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นหรือก่อนหน้านั้น และจนกระทั่งมีฐานะเป็น “เมือง” ในสมัย ต่อ ๆ มาโดยมี “เจ้าเมือง” เป็นผู้ดูแลต่างพระเนตรพระกรรณ

ลาลูแบร์ ราชทูตจากราชสำนักฝรั่งเศสที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จดบันทึกไว้ว่า พ้นฝั่งทะเลขึ้นไปตามลำน้ำเจ้าพระยานั้น เป็นที่ตั้งของ “เมืองบางกอก” และเล่าว่า

“ข้าพเจ้าต้องกล่าวตามที่เห็นแก่ตาว่ากรุงสยามมีราษฎรอยู่ตามฝั่งทะเลสยามนั้นน้อยนักน้อยหนา ที่จริงชายฝั่งทะเลก็ไม่ไกลจากบางกอกกระไรนัก แต่ราษฎรเกือบจะทั้งหมดตั้งบ้านเรือนอยู่แต่ตามลำแม่น้ำ ใช้เรือแพได้สะดวกพอที่จะช่วยให้ทำการค้าขายทางทะเลได้ ชื่อตำบลที่เหล่านี้โดยมาก โดยเหตุที่กล่าวแล้วน่าจะเรียกว่าเมืองท่าเรือ ที่ชาวต่างประเทศไปมาค้าขาย เมื่อเช่นนี้ เมืองบางกอก ฝ่ายสยามเรียกเมืองธน แต่ชาวต่างประเทศไม่มีใครรู้เหมือน ชื่อบางกอก ก็เป็นเมืองท่า”

จะเห็นว่าชื่อบางกอกแพร่หลายมากกว่า และเป็นที่รู้จักกว้างขวางมาแต่โบราณ

นิโกลาส์ แชรแวส เขียนหนังสือชื่อ “ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม” ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา กล่าวถึงเมืองบางกอกว่า

“บางกอก (BANKOC) เป็นสถานที่อันมีความสำคัญที่สุดแห่งราชอาณาจักรสยามอย่างปราศจากข้อสงสัย เพราะว่าในบรรดาเมืองท่าด้วยกันแล้ว ก็เป็นแห่งเดียวเท่านั้นที่พอจะป้องกันข้าศึกได้ ผังเมืองนั้นมีส่วนยาวมากกว่าส่วนกว้าง มีอาณาบริเวณไม่เกินครึ่งลี้ มีกำแพงกั้นเฉพาะทางด้านชายแม่น้ำใหญ่ ซึ่งไหลผ่านตัวเมืองทางด้านทิศตะวันออกกับทิศใต้ เหนือจากปากอ่าวขึ้นมาประมาณ 12 ลี้ ตรงแหลมที่แม่น้ำแบ่งสายทางแยกนั้นมีพื้นที่เป็นรูปจันทร์ครึ่งซีก เป็นทำเลพอป้องกันได้ มีป้อมอยู่เพียงแห่งเดียว มีปืนใหญ่หล่ออยู่ 24 กระ…จะมีปืนใหญ่ตั้ง 30 กระบอกก็ตาม”

จะเห็นว่า “เมืองธนบุรี” ก็คือ “เมืองบางกอก” และหมายรวมดินแดนทั้งสองฟากแม่น้ำเจ้าพระยาในตอนนี้นั่นเอง มิได้หมายความตามปัจจุบันที่กล่าวกันว่า “บางกอก” คือฝั่งกรุงเทพฯ ส่วน “ธนบุรี” ก็คือฝั่งธนบุรี

ทำไมจึงเรียกบางกอก ?

มีผู้พยายามอธิบายคำว่า บางกอกมาจากเหตุผลว่าบางหรือหมู่บ้านที่มี ต้นมะกอก เป็นสัญลักษณ์ แต่นายขจร สุขพานิช กล่าวถึงชื่อบางกอก เอาไว้ว่า

“แผนที่ของวิศวกร เดอ ลามาร์ (บางแห่งเขียนว่าเดอ ลาแมร์) แสดงสายลำน้ำเจ้าพระยาจากปากน้ำถึงกรุงศรีอยุธยาที่มีปรากฏในหนังสือ LE SIAM ANCIEN หน้า 34 เป็นแผนที่ชัดเจนกว่าที่ปรากฏในที่อื่น แสดงเมืองบางกอกไว้ชัดเจนว่าเป็นเกาะอยู่กลางแม่น้ำ และท่าใช้คำอธิบายว่า “I. de Bankok” [คำย่อ “I.” คงหมายถึง “Ile” [île – กองบก.ออนไลน์] แปลว่า “เกาะ” ผู้เขียนเคยเห็นเอกสารรัชกาลที่ 1 เขียนบางกอกว่า “บางกอะ” อยู่แห่งหนึ่ง คำว่า “บางกอะ” ดูจะถูกต้องกว่าที่เขียน “บางเกอะ” เสียอีก…แต่อย่างไรก็ดี คำว่า “บางกอะ” มีความหมายตรงกับ Ile de Bankok ของวิศวกร เดอ ลามาร์ จากคำนี้กลายเป็นบางกอกอย่างไร ก็อธิบายไม่ถูก”

ถ้าหากพิจารณาตามสภาพภูมิศาสตร์แล้วจะเห็นว่า บริเวณเมืองธนบุรีเป็นลักษณะ “เกาะ” จริง ๆ เพราะแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าอ้อมจากคลองบางกอกน้อยไปออกคลองบางกอกใหญ่อยู่แล้ว และเมื่อมีคลองลัดสมัยสมเด็จพระชัยราชามาตัดระหว่างปากคลองสองแห่งนี้ จึงทำให้ดินแดนเมืองธนบุรี เป็นเกาะมีแม่น้ำหรือลำน้ำล้อมรอบ เช่นเดียวกันกับเกาะเมืองกรุงศรีอยุธยา

จากชื่อ “บางเกาะ” จึงแผลงหรือพลาดมาเป็นบางกอกได้ง่าย

ท่านผู้อ่านคิดว่าชื่อ “บางกอก” มาจาก “บางต้นมะกอก” หรือมาจาก “บางที่เป็นเกาะ” ล่ะ ? กรุณาร่วมกันพิจารณาและแสดงความเห็นด้วย

แต่ถ้าต้องการบอกเล่าเกี่ยวกับชื่อเสียงเรียงนามหรือชื่อบ้านนามเมืองอื่น ๆ ทั่วประเทศ ก็ขอได้โปรดร่วมกันบันทึกด้วย เพราะชื่อเหล่านั้นมีความเป็นมาสามารถบอกประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นนั้น ๆ ได้ดี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “บางกอก BANGKOK มาจาก ‘ต้นมะกอก’ หรือ ‘เกาะ'” โดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2535


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2565