สำเนียง คน “กรุงเทพฯ” (บางกอก) เคยถูกเหยียดว่า “บ้านนอก” สมัยนี้เหยียดสำเนียงอื่นแทน

ภาพถ่าย ชาวสยาม ใน บางกอก กรุงเทพฯ
ชาวสยามในบางกอกสมัยอดีต (ภาพจาก "กรุงเทพฯ มาจากไหน?, 2548)

สำเนียง เป็นอีกหนึ่งอัตลักษณ์ซึ่งสามารถบ่งบอกที่มาที่ไปของแต่ละบุคคลได้ แต่ต้องยอมรับว่าบางครั้ง สำเนียง ของภาษาถิ่นมักถูก “คนจากศูนย์กลาง” ล้อเลียน หรือบางครั้งอาจถึงกับแฝงนัยยะเหยียดสำเนียงถิ่น อย่างเช่นกรณีของสำเนียงหลวงยุคกรุงศรีอยุธยาเคยเป็นราชธานี ก่อนที่ย้ายพระนครมาที่ธนบุรีก็เคยเป็น “สำเนียงหลวง” มาก่อน และมองสำเนียง “บางกอก” ว่า “บ้านนอก”

ยุคกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เคยรับรู้กันว่าย่านบางกอกอยู่ห่างไกล ลักษณะทางประชากรของคนบางกอกสมัยนั้น สุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายไว้ในหนังสือ “กรุงเทพฯ มาจากไหน” ว่า คนบางกอกมีหลายชาติพันธุ์ อาทิ มอญ-เขมร, ชวา-มลายู, มาเลย์-จาม จนถึงลาว-ไทย

ด้วยความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ แน่นอนว่า สำเนียง ในภาษาที่ใช้สื่อสารกันของแต่ละกลุ่มนั้นย่อมหลากหลายด้วย แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าการสื่อสารระหว่างชาติพันธุ์นั้นใช้สำเนียงภาษาอะไรสื่อสารระหว่างกัน จากความคิดเห็นของสุจิตต์ วงษ์เทศ มองว่า สำเนียงภาษากลางที่ใช้สื่อสารทั่วไประหว่างคนกลุ่มใหญ่เป็นภาษาไทยในตระกูลลาว-ไทย

สำหรับกรณีของ “บางกอก” อันเป็นชุมชนเก่าที่ขยับขยายจากชุมชนเดิมซึ่งเคยอยู่แถบย่านจอดเรือพักแรมมาก่อน และตั้งเรียงรายตามปากคลองสายเล็ก บริเวณที่มีลำน้ำเชื่อมต่อไปออกแม่น้ำท่าจีนที่จังหวัดสมุทรสาคร มาอยู่ที่ปลายคลองลัด หลังจากการขุดคลองลัดเพื่อขจัดอุปสรรคการเดินทางในแม่น้ำเจ้าพระยาในสมัยอยุธยา แล้วมีชื่อภายหลังว่า “บางกอก” สุจิตต์ วงษ์เทศ ตั้งข้อสันนิษฐานว่า อาจเป็นชื่อเก่าก่อนขุดคลองลัดที่มีคลองสาขาเล็ก ๆ เรียกว่า “คลองมะกอก” เนื่องจากมีต้นมะกอก(น้ำ)ขึ้นอยู่มาก นานเข้าก็เสียงกร่อนเหลือ “บางกอก”

หลังจากขุดคลองลัดแล้ว เมื่อประกอบกับกระแสน้ำไหลลัดอย่างหลากและแรงทุกปี เวลาผ่านไปก็ขยายกว้างออกตามธรรมชาติ กลายเป็นเส้นทางคมนาคมใหม่ระหว่างอ่าวไทยกับกรุงศรีอยุธยาที่สะดวก บริเวณบางกอกจึงกลายเป็นจุดที่มีความสำคัญ เป็นจุดพักเรือของนานาประเทศ ผู้คนตั้งหลักแหล่งแลกเปลี่ยนสินค้าจนกลายเป็นชุมชนเมือง ตั้งแต่นั้นก็เรียกกันต่อมาว่า “เมืองบางกอก”

บางกอกถูกยกฐานะเป็นเมืองในสมัยรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ. 2091-2111) มีชื่อในทำเนียบหัวเมือง โดยเรียกกันหลากหลาย แต่มาเรียกตรงกันในยุคหลังว่า “ธนบุรี” และมีสร้อยต่อท้ายว่า “ธนบุรีศรีมหาสมุทร” สืบเนื่องมาจากอยู่ใกล้ทะเลอ่าวไทย

กลับมาที่เรื่อง สำเนียง ในภาษาอีกครั้ง สมัยยุคกรุงศรีอยุธยา สำเนียงภาษาของคนบางกอกเป็นสำเนียงถิ่นย่อย ๆ ของสำเนียงหลวงที่อยู่ในราชธานีกรุงศรีอยุธยา สุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายรายละเอียดของสำเนียงหลวงยุคกรุงศรีอยุธยาว่ามีร่องรอยอยู่กับเจรจาโขน ซึ่งคนทั่วไปในปัจจุบันเรียกกันว่า “เหน่อ” คล้ายสำเนียงสุพรรณบุรีกับหลวงพระบาง

สำเนียงบางกอกของคนสมัยนั้นถูกคนในพระนครศรีอยุธยาที่ใช้สำเนียงหลวง (ซึ่งคนปัจจุบันมองว่า “เหน่อ”) เรียกว่า “บ้านนอก” และ “เยื้อง” เนื่องจากสำเนียงบางกอกไม่ตรงกับสำเนียงหลวงในสมัยนั้น

หลังจากกรุงแตก พ.ศ. 2310 ราชธานีย้ายจากพระนครศรีอยุธยาลงมาอยู่ที่ย่านบางกอกที่เมืองธนบุรี สำเนียงบางกอกก็ถูกยกเป็นสำเนียงหลวงสืบเนื่องถึงกรุงเทพฯ ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนสำเนียงหลวงแบบดั้งเดิมก็ถูกเหยียดว่า “เหน่อ” แทน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สุจิตต์ วงษ์เทศ. กรุงเทพฯ มาจากไหน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2548


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2561